xs
xsm
sm
md
lg

บางเรื่องราวที่ลำพะเนียง ...รัฐไม่ยอมพูดความจริง (อีกแล้ว)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลำพะเนียงในวันที่ถูกขุดลอก
หลังขดหลังแข็งอยู่บนรถตู้กว่า 7 ชั่วโมง จากบางกอกถึงอุดรธานี

ท้ายที่สุดแล้วเพียงเพื่อจะพบว่า--อาจดูเป็นการย่อส่วนปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้ลดเหลือระดับคนกับคน แต่เรารู้สึกว่าในกรณีนี้ทั้งภาพใหญ่และภาพเล็กต่างก็คล้ายคลึงและสะท้อนกลับไปกลับมา--เพียงเพื่อจะพบว่าเราไม่เคยคุยกันอย่างเปิดเผยและจริงใจ

มากกว่า 1 ครั้ง ที่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช พูดถึงการผันน้ำโขงเข้าสู่แผ่นดินอีสาน เพื่อขยายพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก แต่สิ่งที่นายกฯ ลืมพูดก็คือการศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา เพราะโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เกิดผลข้างเคียง

และโดยสิทธิพื้นฐานแล้ว เมื่อรัฐคิดจะทำอะไรสักอย่างที่แม้ว่าจะเป็นความปรารถนาดี แต่ประชาชนก็ควรรู้มิใช่หรือว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต

แต่การกลับกลายเป็นว่าภาครัฐกำลังปิดบังซ่อนเร้น อาศัยช่องว่างเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย และต่อจิ๊กซอว์บนแผ่นดินอีสานอย่างเงียบเชียบ

ลำพะเนียง

ลำพะเนียง ลำน้ำสายเล็กและคดโค้งในจังหวัดหนองบัวลำภู ยาว 150 กิโลเมตร กว้างไม่เกิน 10 เมตร ไหลเลี้ยงผู้คนสองฟากฝั่งมาเนิ่นนาน แล้วในปี 2547-2550 ลำน้ำกะทัดรัดสายนี้ก็ถูกมือที่มองไม่เห็นจับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ (Water Grid) ของภาคอีสาน ...แน่นอน ไม่มีใครบอกชาวบ้านสองฝั่งลำพะเนียง

วันร้ายคืนร้ายแผ่นดินที่เคยใช้ปลูกข้าวอยู่ดีๆ ก็หายไปเฉยๆ

ชาวบ้านลำพะเนียงเล่าให้ฟังว่ากรมชลประทานนำเอกสารมาให้เซ็น ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารอยหมึกจะทำให้เกิดผลอะไรตามมา ที่น่าเจ็บปวดคือผู้เฒ่าผู้แก่บางคนกำลังทำบุญ ฟังเทศน์สงบๆ ก็มีคนมาสะกิดหลังให้เซ็นเอกสาร ท่านก็หันมาเซ็น แล้วเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

กรมชลฯ จึงเข้ามาทำการขุดลอกลำพะเนียงด้วยการกล่าวอ้างกับชาวบ้านว่าเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม ชาวบ้านดีใจ แต่ดีใจได้ไม่นาน เมื่อเห็นพบว่าการขุดลอกของกรมชลฯ กำลังทำให้ป่าละเมาะตามสองฝั่งลำน้ำเหลือแค่ดินแดงๆ และขยายลำน้ำจากเดิมไม่เกิน 10 เมตรเป็น 70 เมตร ตลิ่งที่ชาวบ้านพาวัว ควายลงไปกินน้ำก็สูงขึ้นจนควาย วัวลงไปกินน้ำไม่ได้อีกต่อไป พอถึงฤดูน้ำหลากน้ำจากลำพะเนียงที่เคยเอ่อเข้านาก็เข้าไม่ได้ เนื่องจากคันคลองที่ถมจนสูง ชาวบ้านจึงต้องใช้เครื่องสูบน้ำซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการปลูกข้าวขึ้นไปอีก ที่น่าขำปนขมก็คือแทนที่น้ำจะท่วมแค่ 1 อาทิตย์ดังที่เป็นมาในอดีต น้ำกลับท่วมยาวไป 2-3 อาทิตย์ เพราะน้ำจากในนาไม่สามารถระบายลงลำพะเนียงได้ เนื่องจากติดคันคลอง

ฝาย-ภูมิปัญญาในการจัดการน้ำ วังปลา และสิ่งละอันพันละน้อยที่ยึดโยงกับการดำรงชีวิตของชาวลำพะเนียงค่อยๆ ถูกรุกราน

นอกจากนั้น กลวิธีในการขุดลอกของกรมชลฯ เองก็น่าสนใจมิใช่น้อย แทนที่จะทำเป็นโครงการเดียวเพื่อขุดลอกลำพะเนียงทั้งสาย กรมชลฯ กลับซอยย่อยโครงการเป็น 3 ช่วง อยากทายมั้ยว่าทำไม?

ถูก-เพื่อจะได้ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เซ็นชื่อ กลับมี วิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ที่ไม่ยอมเซ็น ไม่ยอมให้ใครหน้าไหนเข้ามาขุดแผ่นดินในที่ของตน นี่ถึงกับต้องใช้ปืนขู่กันเลย วิเชียรเล่าว่าวันหนึ่งผู้รับเหมาก็ขับรถแบ็กโฮกับอุปกรณ์เกี่ยวข้องเข้ามาในที่ของตน ทั้งที่ตนเองไม่ยินยอม เขาเลยต้องใช้ไม้แข็ง

“เขาเอารถมาจอดบนเถียงนาผม ผมก็คว้าปืนวิ่งออกไปบอกว่า มึงเอารถออกไปเดี๋ยวนี้ ผู้รับเหมาก็เดินเข้ามา จะมาเจรจา ผมก็ตะโกนไปว่ากูขออีกก้าวเดียว เขาก็เลยเดินหนีไป”

ออกจะรุนแรงและนักเลงลุ่นๆ ไปสักหน่อย แต่นั่นก็ทำให้ที่ดินของวิเชียรรอดมาได้

ความเดือดร้อนดำเนินไปถึงจุดแตกหัก เมื่อการขุดลอกของกรมชลฯ ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น อย่าง สุชาดา ช่วยเงิน ที่นาหายไป 3 ไร่ จากที่เคยมีอยู่ 11 ไร่ ขณะที่บางรายหายไปทั้งหมด

เป็นเหตุให้ชาวลำพะเนียงรวมตัวกันเรียกร้องต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความเป็นธรรม

“กรณีลำพะเนียงเป็นความเจ็บปวดที่ชาวบ้านถูกหลอกให้เซ็น ชาวบ้านนึกว่าจะมาขุดลอกให้ดีขึ้นเท่าที่มีอยู่เดิม ชาวบ้านจึงเซ็นยินยอม ชาวบ้านที่นี่ไม่มีเอ็นจีโอ สู้แบบชาวบ้าน ฟ้องศาลปกครองทีละคนสองคน กรรมการสิทธิและสภาทนายก็จัดทีมทนายลงไป ใช้ทนายเยอะมาก เคสนี้เป็นตัวอย่างว่าชาวบ้านควรจะสู้ตั้งแต่ประชาพิจารณ์ และถ้าจะฟ้อง 200 กว่าคนต้องฟ้องเป็นคดีเดียว แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้เกมจึงสู้เป็นคนๆ ไป กลายเป็น 148 คดี ต้องใช้ทนายมหาศาล ใช้เวลามากมาย แต่ชาวบ้านก็สู้จนศาลตัดสินให้ชนะมา 20 คดี จาก 148 คดี แต่กรมชลฯ ก็ยังอุทธรณ์ ชาวบ้านจึงยังไม่ได้รับเงิน และขณะนี้รัฐมนตรีกับ ส.ส. ในพื้นที่ก็พยายามจะดันโครงการต่อ” สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น

(ศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาให้กรมชลฯ จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านตารางวาละไม่เกิน 150 บาท ตามราคาประเมินของที่ดินจังหวัดหนองบัวลำภู แต่กรมชลฯ อุทธรณ์ ได้ยินมาว่าเพื่อลดค่าชดเชยเหลือตารางวาละ 50 บาท!!)

ชาวบ้านลำพะเนียงยังคงสู้คดีต่อไปเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะที่ยังมีแรงผลักดันที่เดินหน้าโครงการ แม้ว่า ศ.ดร.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะทักท้วงว่าควรหยุดโครงการไว้ก่อนเพื่อศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน เปิดข้อมูลให้ประชาชนได้รับรู้ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

แต่ชาวลำพะเนียงหารู้ไม่ว่าสายน้ำของพวกเขาเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ของแผนการใหญ่ยักษ์ที่จะพลิกภาคอีสานทั้งภาคให้เปลี่ยนโฉมหน้า

อีกครั้ง--แน่นอนที่สุด ไม่เคยมีใครบอกชาวอีสาน

โขง ชี มูล กับการต่อจิ๊กซอว์

หลายคนน่าจะเคยได้ยินโครงการโขง ชี มูล ซึ่งเป็นโครงการที่มีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเป็นต้นคิด และมีมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการในปี 2532 สมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอภิโครงการที่ใช้เงินนับแสนล้านและมีแผนพัฒนาโครงการแบ่งเป็น 3 ระยะกินเวลาถึง 42 ปี (2535-2576) ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่ชลประทานถึง 2.323 ล้านไร่ แต่ใน 2 ล้านกว่าไร่นี้จะเป็นพื้นที่ชลประทานที่ใช้น้ำภายในประเทศเพียง 734,540 ล้านไร่เท่านั้น ที่เหลืออีกล้านกว่าไร่จะต้องใช้น้ำจากแม่น้ำโขง

ถ้ามองกันเฉพาะแค่การหาน้ำให้เกษตรกร ใครจะปฏิเสธความห่วงใยของรัฐได้ลงคอ

แต่แล้วในปี 2536 ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ขอให้มีการชะลอโครงการส่วนที่ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำโขงไว้ก่อนและศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมเนื่องจากเกรงว่าจะสร้างปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็มในพื้นที่ภาคอีสาน เป็นเหตุให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานต้องดำเนินโครงการเฉพาะส่วนที่ใช้น้ำจากภายในประเทศเท่านั้น (ว่ากันว่ากรมพัฒนาฯ ใช้งบเกือบ 40 ล้านบาทเพื่อศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครได้ยลโฉมรายงานที่ว่า)

เป็นเหตุให้เกิดเขื่อน เกิดฝายมากมายตามแม่น้ำต่างๆ ในภาคอีสาน ที่ถึงทุกวันนี้ชาวบ้านบางแห่งก็ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษาได้ชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานราชการของไทยช่างเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็งและกระตือรือร้นในการทำงานสูง แม้ว่าโครงการโขง ชี มูลจะมีคำสั่งให้ชะลอไว้ก่อน แต่หน่วยราชการไทยก็ได้หาช่องทางต่างๆ ที่จะดำเนินโครงการด้วยวิธีที่น่าจะเรียกได้ว่า ‘การต่อจิ๊กซอว์’

อธิบายความก็คือเป็นการดำเนินโครงการขนาดเล็ก โดยอ้างการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือการขาดแคลนน้ำ แต่หากนำชิ้นส่วนเล็กๆ เหล่านี้มาปะติดปะต่อกันแล้ว จะพบว่ามันคือการตระเตรียมการเพื่อรองรับการผันน้ำโขงในวันข้างหน้า เราจึงเห็นภาพซ้อนขนาดใหญ่ของโครงการโขง ชี มูลอยู่ด้านหลังอีกทีหนึ่ง ซึ่งยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงการพัฒนาระบบเครือข่ายน้ำแห่งชาติ (Nation Water Grid) ที่เป็นนโยบายในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

มากกว่าแค่การขุดลอก

การขุดลอกลำพะเนียงจึงไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมดังที่กรมชลฯ อ้างถึง แต่เป็นการขุดลอกลำน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำมหาศาลที่จะได้รับจากการผันน้ำโขงเข้ามา เพื่อส่งน้ำต่อไปยังหนองหาน กุมภวาปี จากนั้นน้ำจะถูกส่งต่ออีกครั้งหนึ่งไปยังเขื่อนลำปาวในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งถ้าน้ำโขงผันมาจริง ความจุของเขื่อนลำปาวจะไม่สามารถรองรับได้ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม บอกว่าขณะนี้กำลังจะมีการก่อสร้างสันเขื่อนให้สูงขึ้นอีก 2 เมตรเพื่อรองรับน้ำจากน้ำโขง หมายความว่าจะต้องมีพื้นที่ของประชาชนที่ถูกน้ำท่วม เลิศศักดิ์ตั้งคำถามว่ารัฐบาลได้หามาตรการเยียวยาหรือยัง

ขณะที่ห้วยโมง-แม่น้ำสายเล็กๆ อีกสายหนึ่งในจังหวัดหนองคายที่ถูกขุดลอกเช่นเดียวกับลำพะเนียง (สุนี ไชยรส ได้พูดคุยกับชาวบ้านคนหนึ่งที่บังเอิญเดินผ่านมา พบว่าเธอเสียที่ดินไป 8 ไร่ จาก 15 ไร่ โดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ) ซึ่งปัจจุบันมีเขื่อนขนาดเล็กกั้นบริเวณปากน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะเป็นช่องทางรับน้ำจากแม่น้ำโขงเพื่อผันน้ำโขงเข้าสู่ลำพะเนียงอีกทางหนึ่ง โดยการเจาะอุโมงค์ผันน้ำผ่านภูเขา

แต่เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่หากจะนำน้ำโขงผันเข้าสู่ห้วยโมงและจากห้วยโมงสู่ลำพะเนียงนั้น จำเป็นจะต้องสร้างเขื่อนขนาดเล็กกั้นห้วยโมงเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับน้ำ แล้วจึงใช้เครื่องสูบน้ำสูบย้อนกลับขึ้นไป เนื่องจากน้ำไม่สามารถไหลย้อนขึ้นที่สูงได้ สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานขนาดไหนกว่าจะน้ำจะเดินทางถึงลำพะเนียงโดยสวัสดิภาพ
และแล้วทุกอย่างก็ปรากฏ

25 พฤษภาคม 2551 ในรายการ ‘สนทนาประสาสมัคร’ นายกรัฐมนตรีผู้เป็นที่รักยิ่งของเราได้ประกาศว่าจะดำเนินโครงการผันน้ำโขงและแม่น้ำสาขาในประเทศลาวมายังประเทศไทย และจะสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนปากชม เขื่อนบึงกาฬ และเขื่อนบ้านกุ่ม (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นพดล ปัทมะ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาว ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนบ้านกุ่มที่จังหวัดอุบลราชธานีไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยแทบจะไม่มีใครรู้)

โดยที่นายกฯ ได้พยายามบิดเบือนเพื่อหวังลดแรงเสียดทานด้วยการกล่าวว่าเขื่อนที่จะสร้างเป็นเพียง ‘ฝาย’ ชะลอน้ำ หรือ Check Dam แต่ที่น่าแปลกก็คือเขื่อนบ้านกุ่ม ที่ท่านนายกฯ เรียกว่าฝายนั้น กลับสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,872 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าเขื่อนภูมิพลถึง 3 เท่า

เลิศศักดิ์ บอกกับเราว่าตั้งแต่เรื่องราวของลำพะเนียงจนถึงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงล้วนแต่เกี่ยวโยงกันหมด เพราะการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง นอกจากเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว เป้าหมายอีกประการหนึ่งก็คือการรักษาระดับน้ำให้สูงพอที่จะผันเข้าสู่ภาคอีสาน

“การนำน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าของลาวและจีนเป็นทิศทางที่มีพลังมากกว่าที่ไทยจะนำน้ำไปใช้ในเรื่องชลประทาน ไทยจึงยอมจะสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงเพื่อหวังผลพลอยได้ คือหลังจากปั่นไฟแล้วก็กักน้ำโขงให้สูงเพื่อผันน้ำเข้ามาในน้ำเลยและห้วยหลวง และความเป็นจริงอีกประการหนึ่งที่อยู่ดีๆ ไทยจะสูบน้ำจากน้ำโขงเข้ามาไม่ได้โดยไม่สร้างเขื่อน ก็คือที่ต้นน้ำโขง จีนได้สร้างเขื่อนไว้หลายตัว ตอนนี้เสร็จแล้ว 2 และวางแผนจะสร้างอีกประมาณ 6 เพื่อปั่นกระแสไฟฟ้าทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งอิทธิพลให้ปริมาณน้ำโขงตอนล่างต่ำ ไม่สม่ำเสมอ จากเดิมที่มีการศึกษาว่าในช่วงน้ำมาก ไทยสามารถผันน้ำโขงได้โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนประมาณ 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่เป็นจริง ทำให้จำเป็นต้องสร้างเขื่อน”

ไม่จำเป็นต้องอธิบายแล้วว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 3 เขื่อน จะทำให้ชาวบ้านตลอดสองฝั่งลำนำโขงต้องเจอะเจอกับอะไรบ้าง (ทุกวันนี้แค่เขื่อนปากมูลและเขื่อนราษีไศลก็ยังต้องแบกรับความเสียหายจนไหล่ลู่) ยังไม่ต้องพูดถึงว่าผลจากการสร้างเขื่อนจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนหรือเขตอำนาจของรัฐหรือไม่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วหากการดำเนินโครงการใดๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ โครงการนั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ใช่หลบๆ ซ่อนๆ ทำกันไป

ถ้ามองไกลถึงผลลัพธ์ในวันข้างหน้าด้วยแล้วจะยิ่งทำให้เห็นภาพใหญ่ทั้งหมดที่จะเกิดกับภาคอีสาน ลองฉุกคิดดูก็ได้ว่าหากรัฐต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อสร้างระบบเครือข่ายน้ำต่างๆ น้ำที่ได้ย่อมต้องมีต้นทุนที่คนใช้น้ำจะต้องจ่าย เชื่อมโยงถึงพระราชบัญญัติน้ำที่จะกินหัวกินหางทรัพยากรน้ำทั้งหมดเป็นของรัฐ วันข้างหน้าที่ไม่ไกลจากนี้ เราคงได้เห็นชาวนาต้องซื้อน้ำทำนา

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตั้งข้อสังเกตว่าระบบเครือข่ายน้ำเป็นโครงการที่จะเข้ามาสอดรับกับแผนพัฒนาภาคอีสาน ที่จะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งเหมืองแร่โปรแตซและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่อง รวมถึงการทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในลักษณะอุตสาหกรรม (มีข่าวว่าบริษัทธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่กำลังกว้านซื้อที่กันสนุกมือ)

คำถามสำคัญที่สันติภาพทิ้งไว้ก็คือเมื่อถึงวันที่ชาวนาตัวเล็กๆ ต้องซื้อน้ำทำนา พวกเขาจะมีพลังเพียงพอที่จะต่อรองกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้หรือไม่ ถามว่าพ่อค้าน้ำจะจ่ายน้ำให้ใครระหว่างชาวนากับมหาเศรษฐี สุดท้าย อาจนำไปสู่วิกฤตการแย่งชิงน้ำดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในภาคตะวันออก

.............

อะไรคือสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและ ‘พ่อเอ็นจีโอ’ (เป็นคำที่ท่านนายกฯ ใช้) กำลังจะบอกแก่สังคมและผู้นำประเทศ?

ค้านเขื่อนอีกแล้ว?

วิตกจริตเกินเหตุหรือเปล่า?

เปล่า, เสียงทัดทานไม่ใช่เพื่อล้มโครงการ แต่มันเป็นเรื่องพื้นๆ และเรียบง่ายกว่านั้น

ย้อนกลับไปสู่สิ่งที่ ศ.ดร.เสน่ห์ บอกไว้คือจะต้องหยุดโครงการเพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และศึกษาเป็นภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่แยกเป็นโครงการย่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ อย่างที่ทำกันอยู่ ทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีโอกาสรับรู้ แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ และหาแนวทางจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรัดกุม โดยเฉพาะกับคนอีสานที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลร้ายก็ตาม พวกเขาจะต้องไม่ถูกกีดกันออกไปจากการรับรู้อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดที่รัฐจะต้องตระหนัก

มิใช่การแอบทำ ปกปิด บิดเบือน ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือนึกอยากจะพูดอะไรก็พูดโดยไม่ต้องรับผิดชอบ...

*****************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
แผ่นดินลำพะเนียงอันอุดมสมบูรณ์
ชาวบ้านริมน้ำห้วยโมง ลำน้ำอีกแห่งหนึ่งที่ถูกขุดลอก ที่นาของเธอหายไป 8 ไร่ จาก 15 ไร่ เธอบอกว่ามีใครก็ไม่รู้เอาเอกสารมาให้เธอเซ็น
วิถีชีวิตปากน้ำห้วยโมง
ริมน้ำโขงยามเช้า จังหวัดหนองคาย
สภาพฝายดั้งเดิมในลำพะเนียงที่ได้รับความเสียหายจากขุดลอกของกรมชลประทาน
ศ.ดร.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมพิธีสืบชะตาลำพะเนียง
การเสวนางานสืบชะตาลำพะเนียง
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ (คนขวา) จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม และ สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ภาพนิทรรศการที่ชาวลำพะเนียงร่วมกันจัดทำขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น