เวลานี้ ไม่ว่าหน่วยงานไหนก็หันมาแก้ปัญหาวิกฤติข้าวกันหมด จนที่สุดก็ถึงคิว “กรมการข้าว” กระทรวงเกษตรฯ ที่จับมือแหล่งทุนวิจัยอย่างสภาวิจัยแห่งชาติ ระดมวิธีลดต้นทุนการปลูกข้าวให้แก่ชาวนาไทยในโครงการ “2 –V Research Program” เพื่อให้เกิดการงอกเงยทั้ง “ห่วงโซ่คุณค่า” (Value Chain) นำงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง จนถึงการวิจัยเพื่อ “มูลค่าเพิ่ม” (Value Added) ภายใต้ความร่วมมือนำร่องที่มีกรอบเวลานาน 2 ปี
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในงานเปิดตัวความร่วมมือกับสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.51 ว่า จากวิกฤติข้าวขาดแคลน อันเป็นผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้หลายประเทศไม่ได้ผลผลิตข้าวเหมือนทุกปี
กรมการข้าวในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่วิจัยเรื่องข้าว ทว่าขาดแคลนเงินทุนวิจัย จึงร่วมกับสภาวิจัยแห่งชาติในฐานะแหล่งทุนวิจัย นำผลงานวิจัยที่มีอยู่เดิมของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งโดยมากมักสิ้นสุดลงในห้องปฏิบัติการไปใช้ในพื้นที่ปลูกจริง เพื่อเฟ้นหาวิธีลดต้นทุนการปลูกข้าวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีกรอบระยะเวลาเบื้องต้นนาน 2 ปี
สำหรับความร่วมมือนำร่องนี้ กรมการข้าวและสภาวิจัยแห่งชาติจะเข้าศึกษาวิธีลดต้นทุนการปลูกข้าวตั้งแต่ระยะก่อนการปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวรวม 7 ขั้นตอน คือ การเตรียมเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การเตรียมต้นข้าว การกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ยเคมี การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การจัดการน้ำอย่างเหมาะสม การเก็บเกี่ยวไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว
เดือน มิ.ย. 51 นี้จะมีการนำร่องปลูกใน 9 จังหวัดภาคกลางซึ่งมีการปลูกข้าวตลอดปี อาทิ จ.ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี อ่างทอง อุทัยธานี พิษณุโลก และเชียงราย คิดเป็นรอบการปลูกข้าวนาปีได้ 2 รอบ และรอบการปลูกข้าวนาปรังได้ 4 รอบ ซึ่งเพียงพอแก่การสรุปผลการทดลองภายในปี 52
นอกจากนั้น กรอบความร่วมมือนี้ยังจะทำให้มีการศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าวทนโลกร้อนด้วย ซึ่งเชื่อว่าจากธนาคารยีนข้าว 24,000 สายพันธุ์ ที่กรมการข้าวรวบรวมจากข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทย 18,000 สายพันธุ์ ข้าวต่างประเทศ 3,000 สายพันธุ์ และข้าวที่เกิดจากการผสมขึ้นใหม่อีกราว 3,000 สายพันธุ์จะช่วยให้ไทยไม่ต้องเริ่มต้นการวิจัยจากศูนย์ โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวทนโลกร้อนจากพันธุ์ข้าวทนแล้งที่มีอยู่ และใช้เวลาพัฒนาสายพันธุ์เพียง 3 ปี จากปกติการพัฒนาพันธุ์ข้าวอาจต้องใช้เวลาถึง 8 ปี
“ทั่วไปแล้ว ชาวนาปลูกข้าว 1 ไร่จะมีต้นทุนการผลิต 4,000-5,000 บาท โดยหวังว่าหลังความร่วมมือจะทำให้ต้นทุนลดลง 500-1,000/ไร่ เช่น การเปลี่ยนวิธีหว่านข้าวที่ทำให้ใช้ข้าวมากถึง30-40 กก./ไร่ ทั้งที่จริงแล้วใช้เพียง 15-20 กก./ไร่ก็เพียงพอ แถมยังไม่ทำให้เกิดโรคแมลงและวัชพืชข้าวที่ไม่ต้องการอย่าง ข้าวหาง ข้างแดง ข้าวดีดมารบกวนชาวนาด้วย” นายชัยฤทธิ์กล่าว
ที่สำคัญ จากความร่วมมือในครั้งนี้ ยังจะทำให้กรมการข้าวมีคณะกรรมการวิจัยข้าวและกรอบการวิจัยข้าวที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการวิจัยข้าวอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อกรมการข้าวไม่ต้องแก้ปัญหากันอย่างฉุกละหุกทุกทีที่เกิดปัญหาด้วย
คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ ผลิตภัณฑ์ข้าวไทยจากกรมการข้าวเพิ่มเติม