xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ” กล่อมผู้บริหาร ธ.ก.ส.เตรียมรื้อโครงสร้างสังคมเกษตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอเลี้ยบ” กล่อมพนักงาน ธ.ก.ส.จุดประเด็นการปฏิวัติเขียว เตรียมเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเกษตรเข้าสู่ระบบทุน เตรียมเร่งผลักดัน โครงการฝึกอาชีพ คาดเริ่มได้ มิ.ย.นี้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชน รองรับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูงจากน้ำมันที่แพงขึ้นต่อเนื่อง
วานนี้ (10 พ.ค.) นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาเรื่องการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ฟื้นฟูชนบท แก่ผู้บริหารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยกล่าวว่า จากสังคมที่เปลี่ยนไปในหลายประเทศได้มีความเป็นสังคมเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ดินเพื่อการเกษตรมีน้อยลง เป็นที่มาของคำว่า “ปฏิวัติเขียว” เช่น กรณีของประเทศอินเดีย ที่มีการปฏิวัติเขียว ได้จัดสรรที่ดินทางการเกษตรและรณรงค์ให้เกษตรกรเพาะปลูกเพิ่มขึ้น แต่ก็ถึงจุดอิ่มตัว เพราะไม่มีการพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ประเทศไทยก็เช่นกัน หากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง และไม่มีการพัฒนาทางวิชาการ ภายในปีหน้า ประเทศไทยอาจประสบกับวิกฤตเช่นกัน

ดังนั้น หน้าที่หลักของ ธ.ก.ส.จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะเมื่อเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น จะเป็นส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และแหล่งการเรียนรู้ได้ เปิดโอกาสให้เกษตรกรใช้โอกาสในช่วงที่สินค้าเกษตรมีราคาสูงได้อย่างเต็มที่

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงลี ยังกล่าวถึงเรื่องที่มีเกษตรกรชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส.เร็วกว่ากำหนดถึง 20,000 ล้านบาท โดยบอกว่าเป็นแนวโน้มและทิศทางที่ดี แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาได้ถูกทางแล้ว

ทั้งนี้ ตนเองยังได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ทำสัญญารับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกรล่วงหน้า โดยเริ่มจากข้าวเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกษตรกรมีสัดส่วนรายได้ถึงมือโดยตรงมากขึ้น ไม่ต้องผ่านคนกลาง และเพื่อดูแลราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ ให้เป็นราคาตลาด คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้ทันที ส่วนพืชผลอื่นๆ จะพิจารณาต่อไป

“จากการประชุมร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้เสนอให้เอดีบีเข้ามาสนับสนุนการทำตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อให้พืชผลสินค้าเกษตรราคาดีขึ้นและเกษตรกรได้รับเงินโดยตรงมากขึ้น เพราะเกษตรกรคือผู้ที่ใช้หยาดเหงื่อและน้ำตา ไม่ใช่ให้ราคาที่ดีตกแก่ผู้ที่ใช้สมองเท่านั้น เรื่องนี้เหมาะสมถูกต้องโดยเกษตรกรจะมีหลักประกันที่ดีว่าจะขายได้ราคาดีขึ้น ส่วนเอดีบีก็มั่นใจได้ว่ามีพืชอาหารหรือข้าวเพียงพอให้ประชากรทั่วโลกรับประทาน ซึ่งเอดีบีก็รับฟัง แต่ยังไม่ได้ตอบกลับใดๆ เราจึงจะเริ่มดำเนินการเองก่อน โดยให้ ธ.ก.ส.ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับเกษตรกรโดยตรง เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าจะขายได้ราคาดีจริงๆ”

นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และคาดอาจปรับขึ้นถึงบาร์เรลละ 200 เหรียญสหรัฐฯภายในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร โดยหากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นไป 20-50% จะมีผลต่อต้นทุนการจัดการน้ำและปุ๋ยให้สูงขึ้นไปด้วย 30-50% จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับเดิม และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราคาธัญญาหารเพิ่มขึ้น 100% ทั้งจากปัญหาภัยธรรมชาติ และสาเหตุเชิงโครงสร้างจากค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนตัวลง ดังนั้น จึงไม่มีทางที่ราคาสินค้าเกษตรจะกลับไปในราคาเดิมอีกแล้ว ซึ่งรวมถึงการปรับฐานรายได้ในภาคอื่นๆ ที่จะปรับตัวตามฐานรายจ่ายที่มีการปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ ผลกระทบราคาน้ำมัน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รัฐบาลจึงมีภารกิจสำคัญ คือการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน โดยก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน มีรายได้เพิ่มจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และชาวนามีรายได้เพิ่มจากราคาข้าวที่สูงขึ้นแล้ว หลังจากนี้จะมีโครงการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาชนออกมาในช่วงเดือนหน้า เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่า ค่าครองชีพคงไม่กลับไปต่ำเหมือนช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลอีกแล้ว

นพ.สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 4 ออกมาอีก รวมถึงมาตรการในการเพื่อรายได้ให้ประชาชนในเดือนมิ.ย.ต่อไปด้วย ซึ่งยังไม่เปิดเผย กำลังดูรายละเอียดรอบสุดท้ายอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น