xs
xsm
sm
md
lg

พบกลไกไข้หวัดแพร่จากคนสู่คน แต่หวัดนกไม่สามารถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี/ฟาร์มาบิซดอทคอม - ไข้หวัดนกกลายเป็นเชื้อมรณะชนิดใหม่ที่จ้องทำลายล้างมนุษย์ หลังจากอาละวาดจนสัตว์ปีกสังเวยชีวิตนับไม่ถ้วน ทว่ายังหาวิธีโจมตีเซลล์เป้าหมายในคนไม่ได้เหมือนไข้หวัดใหญ่ จึงทำได้แค่แพร่จากสัตว์สู่คน ฝ่ายนักวิจัยคอยสอดส่องพฤติกรรมของเชื้อร้ายรู้เหตุหวัดนกไม่แพร่จากคนสู่คน พร้อมติดตามต่อเพื่อหาทางสกัดกั้น

นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาค้นพบกระบวนการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดจากคนสู่คน และยังพบอีกว่าเหตุใดเชื้อไข้หวัดนกที่ติดต่อสู่คนแล้วไม่สามารถแพร่ไปยังคนอื่นๆ ได้อีก เห็นทางสว่างในการป้องกันไม่ให้ไข้หวัดนกระบาดในคน ซึ่งได้รายงานผลการศึกษาลงในวารสารเนเจอร์ไบโอเทคโนโลจี (Nature Biotechnology) เมื่อเร็วๆ นี้

ศ.ราม ซาซิเซการัน (Ram Sasisekharan) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิศวกรรม สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เมืองแคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ หัวหน้าคณะวิจัย เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza) ที่เป็นโรคติดต่อในคน สามารถแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยการไอหรือจาม ทว่าเชื้อไวรัส เอช5เอ็น1 (H5N1) ที่ระบาดในสัตว์ปีก หรือไข้หวัดนก (avian flu) แล้วติดต่อสู่คนนั้น จะไม่สามารถแพร่จากคนหนึ่งสู่คนอื่นๆ ได้

"เชื้อเอช5เอ็น1 จะต้องติดต่อสู่คนในลักษณะของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนให้ได้ก่อน คือบริเวณโพรงจมูกหรือลำคอ แล้วจึงจะมีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยการไอหรือจามรสกันเช่นเดียวกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคน" ศ.ซาซิเซการันอธิบาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็กังวัลกันว่าหากเชื้อไข้หวัดนกเกิดการกลายพันธุ์และสามารถปรับตัวเข้ากับเซลล์ของมนุษย์ได้อาจกลายเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ระบาดรุนแรงมากกว่าเดิม

เชื้อไวรัสสามารถติดต่อเข้าสู่คนได้โดยอาศัยโปรตีนบนเปลือกหุ้มไวรัสที่สามารถจับกับตัวรับ ซึ่งเป็นโมเลกุลของน้ำตาลที่เกาะอยู่บนผิวเซลล์ของคนได้ น้ำตาลนี้เรียกว่า ไกลแคน (glycan) ทำหน้าที่เหมือนยามเฝ้าประตู คอยควบคุมการผ่านเข้าออกเซลล์ของสารต่างๆ และจะไม่ยอมให้โมเลกุลแปลกปลอมที่ไม่รู้จักผ่านเข้าออกได้โดยง่าย

ศ.ซาซิเซการัน อธิบายว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดมี ฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin) เป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยให้มันผ่านเข้าออกเซลล์ของคนได้โดยสะดวก โดยฮีแมกกลูตินินของเชื้อไข้หวัดชนิดต่างๆ จะจับกับไกลแกนที่มีรูปร่างหน้าตาต่างกันไป โดยฮีแมกกลูตินินของเชื้อไข้หวัดในคนจะจับกับไกลแคนบนผิวเซลล์บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract) ส่วนฮีแมกกลูตินินของเชื้อไข้หวัดนกเลือกจับกับไกลแคนบริเวณทางเดินหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract) เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังพบว่าโปรตีนฮีแมกกลูตินินของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสามารถจับกับโมเลกุลไกลแคนของเซล์ที่อยู่ในส่วนของทางเดินหายใจส่วนบนได้ แต่ที่น่ายินดียิ่งคือเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่ระบาดต่อไปได้อีก

"สิ่งสำคัญที่เราพบคือความต่างของโมเลกุลไกลแคนบนผิวเซลล์มนุษย์ที่สามารถจับกับโปรตีนของเชื้อไข้หวัดและเชื้อไข้หวัดนกได้ ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเชื้อไข้หวัดนกจึงยังไม่สามารถแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้" ศ.ซาซิเซการันเผย

นักวิจัยพบว่าโปรตีนแมกกลูตินินของเชื้อไข้หวัดที่แพร่จากคนสู่คนได้จะมีความจำเพาะกับไกลแคนหรือตัวรับชนิด แอลฟา 2-6 รีเซพเตอร์ (alpha 2-6 receptor) ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายร่มบนผิวเซลล์ทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนแมกกลูตินินของเชื้อไข้หวัดนจะจับกับตัวรับชนิด แอลฟา 2-3 รีเซพเตอร์ (alpha 2-3 receptor) ได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เชื้อไข้หวัดนกจึงยังไม่ติดต่อจากคนสู่คนได้

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเชื้อเอช5เอ็น1 สาเหตุของไข้หวัดนก กำลังหาทางปรับตัวเพื่อให้จับกับตัวรับชนิดคล้ายร่มให้ได้ เพื่อที่พวกมันจะได้แผลงฤทธิ์ในฝูงชนได้อย่างเต็มที่

"กระทั่งเดี๋ยวนี้เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับฮีแมกกลูตินินของเชื้อไข้หวัดนกมากนัก และยังไม่รู้ด้วยว่ามันปรับตัวเข้ากับคนได้อย่างไร แต่องค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาจะช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อได้มากกว่าเดิม พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการรักษาและค้นหาตัวยาใหม่ๆ ได้" ศ.ซาซิเซการันกล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น