xs
xsm
sm
md
lg

วาติกันจวกยับนักวิทย์มะกันโคลนตัวอ่อนมนุษย์เอาสเต็มเซลล์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 และคณะขณะเดินทางมายังพอล 6 ฮอลล์ ในรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. และในวันที่ 18 ม.ค. พระราชาคณะตัวแทนของสำนักวาติกันก็ได้กล่าวประนามงานวิจัยของสเตมาเจน คอร์ป ในสหรัฐฯ ว่ากระทำการอย่างเห็นแก่ตัวที่ฆ่าตัวอ่อนเพื่อนำสเต็มเซลล์มาใช้
เอเยนซี/เอพี/เอเอฟพี - ทีมนักวิจัยมะกันประกาศความสำเร็จโคลนนิงตัวอ่อนมนุษย์ที่มีดีเอ็นเอเหมือนเซลล์ต้นแบบได้สำเร็จ เตรียมต่อยอดใช้เทคนิคนี้สร้างสเต็มเซลล์เพื่อศึกษาวิจัยและหาวิธีรักษาโรค ทว่าชาวคริสตจักรไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าวที่ต้องทำลายตัวอ่อน ถึงกับต้องออกโรงประนามทีมนักวิจัยทำผิดชีวจริยธรรม

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสังกัดสเตมาเจน คอร์ป (Stemagen Corp.) บริษัทเอกชนด้านการแพทย์แห่งหนึ่งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเปิดเผยผลสำเร็จการโคลนนิงตัวอ่อนมนุษย์ได้เซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ที่มีดีเอ็นเอเหมือนผู้ป่วยเจ้าของเซลล์ต้นแบบ ซึ่งหวังใช้เทคนิคนี้หาวิธีรักษาโรค และได้เผยแพร่งานวิจัยผ่านวารสารออนไลน์ สเต็มเซลล์ (Stem Cells) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.51 ทว่าอีก 3 วันให้หลัง ตัวแทนของสำนักวาติกันก็ออกมาประณามการวิจัยดังกล่าวว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวที่สุด

สเตมาเจน คอร์ป เปิดเผยว่าพวกเขาสามารถโคลนนิงตัวอ่อนมนุษย์ได้ 5 ตัวอ่อน จากเซลล์ผิวหนังส่วนที่เรียกว่า ไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ของอาสาสมัครชาย 2 คน และพบว่ามี 3 ตัวอ่อน ที่มีดีเอ็นเอเข้ากันกับดีเอ็นเอของเซลล์ต้นแบบ (DNA matching)

"นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ซึ่งเรายังต้องศึกษากันต่อไปอีก แต่อย่างไรก็ดี เราก็หวังว่าวิธีนี้จะช่วยสร้างสเต็มเซลล์ที่มีพันธุกรรมเข้ากันกับผู้ป่วยได้" แอนดรูว์ เฟรนซ์ (Andrew French) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว และพวกเขายังสนใจที่จะสร้างเซลล์ไลน์จากตัวอ่อนเพื่อการวิจัยต่อไปอีก ทั้งการศึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆ และค้นหาวิธีการบำบัดรักษา ตลอดจนการสร้างอวัยวะใหม่สำหรับเปลี่ยนถ่ายให้ผู้ป่วย ซึ่งการรักษาโรคให้ผู้ป่วยด้วยสเต็มเซลล์ที่ได้รับบริจาคจากผู้อื่นหรือแม้แต่ญาติพี่น้องของผู้ป่วยเองมักพบปัญหาว่าพันธุกรรมของผู้ป่วยกับสเต็มเซลล์ที่ใช้รักษาเข้ากันไม่ได้ เป็นผลให้การรักษาสำเร็จได้ยาก

อย่างไรก็ตาม วิธีที่พวกเขาใช้คือการโคลนนิงเพื่อให้ได้ตัวอ่อนโดยใช้เซลล์ร่างกายเป็นต้นแบบ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับที่เซอร์เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) ใช้สร้างชีวิตให้แกะดอลลีเมื่อกว่า 10 ปีก่อน

ทว่าการได้มาซึ่งสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนเท่ากับเป็นการทำลายตัวอ่อนไม่ให้มีชีวิตต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการวิจัยในลักษณะนี้ และเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยชาวญี่ปุ่น ชินยา ยามานากะ (Shinya Yamanaka) ก็เพิ่งเปิดเผยผลสำเร็จในการทำให้เซลล์ผิวหนังมีคุณสมบัติเหมือนสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องโคลนนิงเพื่อให้ได้ตัวอ่อนแล้วค่อยเก็บเอาสเต็มเซลล์มาใช้อีกต่อไป แม้แต่เซอร์เอียนเองก็ยังขานรับกับวิธีดังกล่าวของยามานากะ

หลังจากทราบข่าวความสำเร็จของสเตมาเจน คอร์ป ฝ่ายต่อต้านการโคลนนิงตัวอ่อนและการกระทำที่ผิดหลักชีวจริยธรรมก็ออกมาประณามการทำวิจัยดังกล่าวว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวที่สุดของมนุษย์ เพราะสร้างตัวอ่อนขึ้นมาเพื่อทำลายเพราะจะนำไปทำประโยชน์ให้กับอีกคนหนึ่ง

"การกระทำเยี่ยงนี้เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมและจริยธรรมอย่างที่สุด อีกทั้งยังขาดความเป็นธรรมต่อชีวิตน้อยๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ งานวิจัยนี้ต้องไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน และเป็นการทำที่ล้าหลังอย่างมาก เพราะงานวิจัยทำนองเดียวกันของนักวิจัยอื่นๆ เขาสามารถพัฒนาไปได้โดยไม่ต้อง ทำลายตัวอ่อนกันแล้ว" พระราชาคณะ เอลิโอ สเกรซเซีย (Elio Sgreccia) ประธานสถาบันแห่งพระสันตะปาปาที่ดำเนินการด้านสิ่งมีชีวิต (Pontifical Academy for Life) สำนักวาติกัน แสดงความเห็นต่อต้านงานวิจัยของสเตมาเจน คอร์ป เมื่อวันที่ 18 ม.ค.51


กำลังโหลดความคิดเห็น