xs
xsm
sm
md
lg

ลิงตัวผู้รู้จักกลไกตลาดยอมจ่ายแลกเซ็กซ์ หญิงมากให้น้อย-หญิงน้อยให้มาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งานวิจัยชิ้นใหม่พบ ไม่เฉพาะคนเราเท่านั้นที่ยอมแลกเซ็กซ์กับอะไรบางอย่าง แต่สังคมของลิงแสมก็ไม่แตกต่างกัน แถมยังมีเรื่องการตลาดมาเกี่ยวข้องอย่างน่าอัศจรรย์ (ภาพจาก www.nal.usda.gov)
เอพี/เอเอฟพี - อาจไม่แปลกนักที่เราจะเห็นบางคนยอมแลกอะไรสักอย่างเพื่อมี "เซ็กซ์" แต่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าลิงกังเองก็มีพฤติกรรมอย่างว่าเหมือนกัน แถมเจ้าจ๋อเหล่านี้ยังรู้จักกฎอุปสงค์-อุปทาน ทั้งที่ไม่เคยผ่านการอบรมใดๆ มาเลยแม้แต่น้อย

ดร.ไมเคิล กูเมิร์ต (Micheal Gumert) นักสัตววิทยาด้านไพรเมต (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างคนและลิง) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University) ในสิงคโปร์เผยว่า ในสังคมของไพรเมตนั้น การดูแลแต่งเนื้อแต่งตัวให้ดูดีดูเป็นเรื่องสำคัญมากของทุกๆ เรื่องทีเดียว

ทั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญญาณของมิตรภาพ เครือญาติ และบางทีอาจแลกเปลี่ยนกับเซ็กซ์ได้อย่างไม่น่าแปลกใจ

กูเมิร์ตกล่าวว่า หลังจากเขาใช้เวลาร่วม 20 เดือนเฝ้าสังเกตลิงแสม 50 ตัวในเขตอนุรักษ์ของเกาะกาลิมันตันกลาง ประเทศอินโดนีเซีย เขาก็พบว่า ลิงแสมเพศเมียจะมีเพศสัมพันธ์กับตัวผู้ที่ตกแต่งขนและกำจัดไข่เหาให้มัน บ่อยกว่าตอนที่ไม่ได้ทำถึง 3 เท่า แถมพวกมันยังมองเซ็กส์ว่าเหมือนสินค้า ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดอีกด้วย

"ตัวผู้จะสางขนให้ตัวเมียนานกว่า 16 นาทีหากไม่มีตัวเมียอื่นๆ ล้อมรอบอยู่เลย แต่เวลาให้บริการจะลดลงครึ่งหนึ่งทันทีเมื่อมีตัวเมียมากขึ้น การจับคู่ผสมพันธุ์จึงมีราคาถูกลง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของตลาด" กูเมิร์ตกล่าว โดยภาวะปกติลิงแสมเพศเมียจะมีเซ็กส์เฉลี่ยชั่วโมงละ 1.5 ครั้ง แต่เพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ครั้งต่อชั่วโมงหลังจากตัวผู้เข้ามาตกแต่งขนให้

สำหรับตัวงานวิจัย เขาทำเสร็จตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่เพิ่งจะได้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์รายเดือน "แอนนิมอล เฮลธ์" (Animal Health) ใน พ.ย.50 และตีพิมพ์อีกครั้งในวารสารนิวไซเอนทิสต์เมื่อต้น ม.ค.51

นักวิจัยหลายรายซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยแสดงความคิดเห็นว่า การค้นพบนี้ถือเป็นการใช้ความพยายามครั้งสำคัญ และทำอย่างเป็นระบบมากในการเฝ้าติดตามพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างสิ่งมีชีวิต หรือที่รู้จักกันในชื่อทฤษฎีว่าด้วยการตลาดเชิงชีววิทยา (biological market)

แนวคิดนี้ ศ.ดร.เพเทอร์ แฮมเมอร์สไตน์ (Peter Hammerstien) แห่งสถาบันทฤษฎีชีววิทยา มหาวิทยาลัยฮัมโบลด์ (Humboldt University) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และ ดร.โรนัลด์ โนว์ (Ronald Noe) ผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเมต มหาวิทยาลัยหลุยส์-ปาสเตอร์ (Luise-Pastuer University) ในสตาร์บวร์ก ประเทศฝรั่งเศส ได้เสนอขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2537

แฮมเมอร์สไตน์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ยาก เมื่อสัตว์ตัวผู้จะใช้ความพยายามเพื่อแลกกับโอกาสจับคู่ผสมพันธุ์กับตัวเมีย ซึ่งความพยายามนั้นก็เปรียบได้กับค่าบริการหรือตัวเงินที่ตัวผู้ยินดีจ่าย

"แต่สิ่งที่กูเมิร์ตค้นพบได้แสดงให้เห็นด้วยว่า ลิงสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมันให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของตลาดเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย" แฮมเมอร์สไตน์กล่าว
 การตกแต่งขนให้เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพ เครือญาติ และนำสู่การมีเซ็กซ์ได้ (ภาพจาก img.lenta.ru)
กำลังโหลดความคิดเห็น