xs
xsm
sm
md
lg

STARTชี้อ่าวไทยโอกาสเกิด Storm Surge น้อย คนกรุงอย่าตระหนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุทธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระแสวิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดคลื่นพายุหมุน (Storm Surge) ขึ้นฝั่งที่จังหวัดสมุทรปราการ จนอาจเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานครนั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก โดยระบุว่า เป็นการคาดการณ์ตามช่วงเวลาที่มักเกิดพายุ ประกอบกับเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงพัดผ่าน และมีฝนตกมากจึงทำให้มีการพูดถึงมากในสังคม ซึ่งหากดูจาก สถิติพายุหมุนที่ขึ้นฝั่งไทยและมาเลเซีย ของกรมอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่ปี 2494 - 2550 พบว่าในรอบ 60 ปีเกิดพายุที่มีความเร็วลมในระดับพายุโซนร้อน (60-120 กม./ชม.) 12 ครั้ง และเกิดขึ้นหลังช่วง กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และส่วนใหญ่จากทางทะเลจีนใต้ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดพายุพัดแล้วเลี้ยวเข้าทางจังหวัดริมฝั่งอ่าวไทย เช่น จังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการเกิด Storm Surge ในประเทศไทยทั้ง พายุแฮร์เลียส ที่แหลมตะลุมพุก ปี 2505 พายุเกย์ ปี 2536 หรือ ล่าสุดคือ พายุลินดา ปี 2540 มีจุดบ่งชี้ตรงกันว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เหมือนกรณีคลื่นสึนามิ แต่จะสะสมระดับน้ำทะเลหนุนหลายวัน ซึ่งเชื่อว่าด้วยวิทยาการของกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอุทกศาสตร์สามารถคาดการณ์ว่าพายุจะพัดขึ้นฝั่งบริเวณใดได้อย่างแม่นยำล่วงหน้า 48 ชั่วโมง ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกินเหตุ
ดร.อานนท์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยพื้นที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงที่มีโอกาสเกิด Storm Surge จากลักษณะกายภาพที่เป็นอ่าวปิดน้ำลึกเข้ามาในแผ่นดินระยะทางยาว ที่อำเภอบางสะพาน และลักษณะที่ราบชายฝั่งที่แบนราบซึ่งเสี่ยงน้ำท่วม ประกอบกับน้ำจืดที่หนุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ระดับน้ำจะขึ้นสูงสุดในรอบปีเดือนธันวาคมประมาณ 1 เมตร ซึ่งควรเตรียมรับมือทั้งการอพยพซึ่งเป็นแผนระยะสั้น และการวิเคราะห์ความเสี่ยงและความเปราะบางด้านเศรษฐกิจ เพื่อรับมือในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น