xs
xsm
sm
md
lg

อ่าวไทยเสี่ยงภัยพิบัติ นักวิชาการแนะสร้างกำแพงป้องกันคลื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญพิบัติภัยแนะสร้างกำแพงป้องกันคลื่น หอหลบภัยเตือน สร้างแนวปะการังเทียมรับมือพายุหมุนโซนร้อนถล่ม กทม.-ชายฝั่งอ่าวไทย ชี้พนังกั้นน้ำเจ้าพระยาเสี่ยงพังทลายสูง

ภาพประกอบจากเว็บไซต์
วานนี้ (22 ก.ค.) ที่อาคารสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประชุมสัมมนาการบริหารจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่อง Strom Surge มหันตภัยของคนกรุงเทพฯ และคนชายฝั่ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการร่วมสัมมนา

นาวาเอกกตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย มีโอกาสเสี่ยงต่อภัยพิบัติจากพายุหมุนโซนร้อนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นกว่าระดับปกติ เกิดลมพายุพัดแรง และฝนตกหนักเกิน 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยชายฝั่งด้านอ่าวไทยน่าเป็นห่วงเพราะอาจเกิดการเคลื่อนตัวของมวลน้ำโถมเข้าชายฝั่งดังกล่าวจนเข้ามาถึงพื้นที่ กทม.และ จ.สมุทรปราการ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังและอาจส่งผลกระทบต่อระบบประปาและแหล่งน้ำจืดในชั้นใต้ดิน

นาวาเอกกตัญญู กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดพายุหมุนโซนร้อนในประเทศไทย พบว่าเคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์พายุถล่มที่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ปี 2505 พายุเกย์ จ.ชุมพร ปี 2532 และพายุลินดา ปี 2540 อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่พบว่ามีพายุพัดเข้าถึงพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แต่หากสภาพภูมิอากาศมีความเปลี่ยนแปลงตามสภาวะโลกร้อน ก็อาจมีผลทำให้เกิดพายุหมุนโซนร้อนที่กระทบถึงพื้นที่ กทม.ได้ เพราะพื้นที่ กทม.และ จ.สมุทรปราการ เป็นที่ราบลุ่ม มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร ถึงแม้ กทม.จะมีแนวพนังกั้นน้ำเจ้าพระยาความสูง 2-3 เมตร แต่หากเกิดคลื่นพายุหมุนเขตร้อนก็อาจทำให้มวลน้ำเคลื่อนตัวด้วยความเร็วและเกิดแรงดันสูง ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร
 
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ พนังกั้นน้ำเจ้าพระยาจะมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับมือต่อความแรงของมวลน้ำที่จะกระแทกเข้ามาด้วยความรุนแรงหรือไม่ โดยเฉพาะหากเกิดปรากฏการณ์พายุหมุนเขตร้อนพัดเข้าอ่าวไทย ความเร็วและความแรงของคลื่นอาจทำให้แนวเขื่อนกั้นน้ำพังทลายได้” ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ฯ กล่าว

ขณะที่ นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปรากฏการณ์คลื่นพายุหมุนโซนร้อนจะเกิดขึ้นหากมีลมพายุในระดับรุนแรง โดยจะทำให้เกิดคลื่นซัดเข้าชายฝั่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 60-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความสูงของคลื่น 1.2-5.5 เมตร และหากมีความเร็วลมมากเท่าใดก็จะทำให้อานุภาพความรุนแรงของคลื่นสูงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้พายุหมุนโซนร้อนจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ก็สามารถคาดการณ์ล่วงได้ 1-2 สัปดาห์ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการความรับมือได้ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงจนทำให้น่าตื่นตระหนกเหมือนที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ทำนายไว้
 
“แนวโน้มที่จะเกิดคลื่นพายุหมุนพัดเข้าอ่าวไทยและทวีปเอเชียจะมีความถี่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศของโลกร้อนขึ้น เห็นได้จากน้ำแข็งในทวีปต่างๆ เริ่มละลาย และอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรสูงขึ้น สอดคล้องกับจำนวนและความรุนแรงของพายุที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความถี่มากขึ้นจาก 2.8 ลูกต่อปี เป็น 4.2 ลูกต่อปี ”
นายธนวัฒน์ กล่าว

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวทางการลดพิบัติภัยจากคลื่นพายุหมุนโซนร้อนสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การสร้างแนวป้องกันทางทะเลและชายฝั่งเพื่อลดพลังงานของพายุ การสร้างกำแพงป้องกันคลื่นและหอหลบภัย รวมถึงการใช้มาตรการป้องกันตามธรรมชาติ เช่น ปลูกป่าชายเลน สร้างแนวปะการังเทียม
 
ด้าน นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ปรากฏการณ์พายุหมุนโซนร้อนนับเป็นประเด็นปัญหาใหม่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างองค์ความรู้เผยแพร่ไปยังประชาชา เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินไป โดยกทม.ได้ติดตามปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเตรียมความพร้อมรับมือทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนของสำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา และสำนักงานเขต เตรียมความพร้อมประจำทุกพื้นที่ รวมถึงมีระบบสื่อสารการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น