xs
xsm
sm
md
lg

จี้รื้อโครงการหมื่นล้านแยกน้ำจืด ฟื้นนาข้าวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ หยูทอง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ –แกนนำชาวนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาวอนรัฐบาล ฟื้นโครงการแยกน้ำจืด-น้ำเค็มให้ชัดเจน ระหว่างทะเลสาบตอนบนกับตอนกลาง อ้างภูมิปัญญาชาวบ้านให้ทำเป็นสะพานและมีประตูเปิด-ปิดน้ำ หวังทดแทนโครงการหมื่นล้านเขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา ซึ่งที่ผ่านมาสร้างกระแสขัดแย้งจน ครม.มีมติเก็บเข้าลิ้นชักไปแล้ว ชี้ใช้เงินลงทุนไม่มาก ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเอื้อประโยชน์ทุกกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรของทะเลสาบ เตรียมร่อนหนังสือและเอกสารจี้ “รัฐบาลหมัก” ตัดสินใจอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะด้านการเกษตรที่ใช้ที่ราบรอบๆ ทะเลสาบเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นและข้าว มากถึงร้อยละ 60.9 ของพื้นที่ลุ่มน้ำเกือบทั้งหมด แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้แผ่นดินลุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้มีความยั่งยืน ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของประชากรที่มีราว 1.8 ล้านคนได้

ทว่า ก่อนที่แผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะเกิดโครงการขึ้นมารองรับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่หลากหลาย ซ้ำร้ายโลกกำลังมีแนวโน้มประสบกับปัญหาการขาดแคลนอาหารและข้าว โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ และสามารถผลิตข้าวส่งออกเลี้ยงประชากรโลกอีกด้วย ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาขาดแคลนข้าวจะเกิดขึ้นกับประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวเสียเอง

นายวิรัตน์ หยูทอง แกนนำชาวนาในพื้นที่ทุ่งระโนด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวขนาดใหญ่ของภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และอดีตผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผย “ผู้จัดการรายวัน” ว่า บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาถือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญในภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งกินพื้นที่ในหลายอำเภอของ จ.สงขลา บางส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช และครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของ จ.พัทลุง ซึ่งแต่ละปีนอกจากจะมีผลผลิตข้าวพอเลี้ยงคนในพื้นที่แล้ว ยังมีปริมาณเหลือที่จะส่งไปจำหน่ายยังนอกพื้นที่ รวมถึงส่งออกไปขายยังต่างประเทศอีกด้วย

เฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวใน อ.ระโนด กระแสสินธุ์ สิงหนคร และ สทิงพระ ของ จ.สงขลา มีนาเกือบ 200,000 ไร่ และมีการทำนาอย่างต่ำปีละ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตต่อปีราว 320 ล้านกิโลกรัม โดยคิดจากผลผลิตต่อไร่ประมาณ 800 กิโลกรัม ซึ่งยังไม่รวมพื้นที่บางส่วนของ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และ อ.ควนขนุน เขาชัยสน จ.พัทลุง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ต้องเร่งทบทวนแผนการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อให้เกิดโครงการที่เอื้อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์การพัฒนา และทำให้ชาวนาและเกษตรกร สามารถใช้ประโยชน์ในการผลิตอาหารได้อย่างเต็มที่

นายวิรัตน์กล่าวว่า ในภาวะที่กำลังขาดแคลนและระบาดไปทั่วประเทศเช่นนี้ ตนจึงอยากเสนอให้มีการรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อม ระหว่างบ้านแหลมจองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง - บ้านเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา พร้อมมีประตูปิด-เปิดเพื่อแยกน้ำเค็มกับน้ำจืด ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ในการป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร โดยที่ผ่านมาโครงการนี้ก็ได้มีการประชุมในระดับเวทีชาวบ้านมากว่าร้อยครั้ง และนักการเมืองท้องถิ่นก็ยอมรับแนวคิดนี้ เพื่อไปทดแทนที่แนวคิดของนักวิชาการที่เสนอให้ก่อสร้างเขื่อนกั้นทะเลสาบสงขลา

“ชาวบ้านในพื้นที่ได้ปรึกษาถึงโครงการที่นักวิชาการเสนอว่า จะทำเขื่อนหรือคันกั้นน้ำเค็มบริเวณจุดเชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลาตอนกลางกับตอนบนให้ แต่เมื่อมีการลงความเห็นของหลายๆ ฝ่ายแล้วเห็นว่า ต้องลงทุนสูง หากทำแล้วมีปัญหาภายหลังก็จะรื้อทำลายยาก จึงนำมาสู่การคัดค้านและเสนอให้ทำเป็นประตูปิด-เปิดน้ำ ควบคู่สะพานแทน ด้วยเหตุผลว่า น่าจะใช้งานได้จริง และยังเป็นการลงทุนที่ไม่สูง แต่ใช้หลักตามภูมิปัญญาชาวบ้าน และหากภายหลังสร้างความเดือดร้อนมากกว่าประโยชน์ ก็สามารถรื้อได้ง่ายกว่า” นายวิรัตน์กล่าวและว่า

สำหรับโครงการประตูปิด-เปิดน้ำควบคู่สะพาน จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้งกลุ่มชาวประมงและเกษตรกรรอบๆ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งการศึกษาเบื้องต้น เห็นว่า ควรจะเปิดประตูน้ำในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคมของทุกปี เพื่อให้ชาวประมงใช้ประโยชน์ และปิดประตูน้ำในเดือนเมษายน-กันยายน เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าไปและเก็บกักน้ำจืดสำหรับชาวนาและเกษตรกรชาวสวน โดยยกระดับน้ำให้ขึ้นสูงตั้งแต่ 70 เซนติเมตร-1 เมตร ทั้งนี้ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าพรุที่เกิดขึ้นในหน้าแล้งทุกปีด้วย

ทั้งนี้ ได้มีการเก็บน้ำจืดไว้ที่ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งใช้ได้เฉพาะ อ.ระโนด แต่ถ้ามีโครงการประตูปิด-เปิดน้ำควบคู่สะพานดังกล่าวนี้ พื้นที่ทั้ง 9 อำเภอใน 3 จังหวัดของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด และรักษาพื้นที่น้ำจืดของทะเลสาบตอนบน ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค ซึ่งเมื่อปี 2548-2549 เกือบจะเกิดวิกฤตต่อพื้นที่การเกษตรโดยรวม เนื่องจาก น้ำเค็มจากอ่าวไทยได้รุกเข้ามาถึงทะเลสาบสงขลาตอนบนที่บ้านหัวป่า อ.ระโนด จนมีระดับความเค็มสูงถึง 4.3 มิลลิกรัม/ลิตร แต่ก็โชคดีเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ยังมีน้ำจืดให้ชาวนาได้ทำนาข้าวต่อ

“แต่หากไม่รีบแก้ไขตอนนี้แล้ว โอกาสที่น้ำเค็มจะรุกทำลายพื้นที่การเกษตรแบบเดิมๆ ก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่การปลูกข้าวที่ต้องสงวนไว้สำหรับการเลี้ยงประชากรในประเทศ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลนำเรื่องนี้มาพิจารณาถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง และเรียกร้องให้นักวิชาการลงมาสำรวจวิจัย รวมถึงชี้แนะแนวทางว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โดยขณะนี้ตนกำลังทำหนังสือร้องเรียนและเตรียมเอกสารเพื่อยื่นต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาดำเนินโครงการ เพราะขณะนี้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเสื่อมโทรมมาก และยังเกิดปัญหาความขัดแย้งด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์ทับซ้อนกัน ” นายวิรัตน์กล่าว

เปิดแผนพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

จากทั้งความสำคัญของพื้นที่และปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของจัดทำแผนบูรณาการงบประมาณการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พ.ศ. 2547-2550 ซึ่งเกิดขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา เป็นผู้ศึกษา เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน ประหยัดงบประมาณ และก่อให้เกิดการประสานประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นกลาง

แผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มุ่งเน้นการบริกหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบบูรณาการที่เน้นให้เกิดความสมดุลของมิติการพัฒนาพื้นที่ 3 มิติ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ 1.นิเวศ อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศในลุ่มน้ำทะเลสาบ เพื่อสงวนรักษาและส่งมอบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าของลุ่มน้ำ ได้แก่ ทรัพยากรป่าไม้ ป่าชายเลน ป่าพรุ ความสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพของทะเลสาบ ทรัพยากรน้ำ สภาพภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์และสวยงามทั้งทางธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่คนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและสังคมได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง เพียงพอและมีคุณภาพที่เหมาะสม

2. เศรษฐกิจ เป็นการจัดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพื่อสนับสนุนการผลิตทางเศรษฐกิจและอุปโภคบริโภค โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการทำงายและสร้างมลพิษให้แก่สิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำ เพื่อให้มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอ และมีคุณภาพสนองความต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

3.สังคม จัดสรรและแบ่งปันบทบาทในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสงวนรักษาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมร่วมรับผิดชอบ โดยไม่ก่อให้เกิดผลเสียหรือผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นๆ

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างบ้านแหลมจองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง - บ้านเกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา พร้อมมีประตูปิด-เปิดเพื่อแยกน้ำเค็มกับน้ำจืดตามความเห็นของชาวนาในทุ่งระโนด เป็นแนวคิดที่กลุ่มชาวนาคิดขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาโครงการสร้างเขื่อนหรือคันกั้นน้ำเค็มในทะเลสาบสงขลา ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย

โครงการหลังเกิดขึ้นและผลักดันโดยกรมชลประทานเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้กระแสสังคมคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท อีกทั้งมีความวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมมหาศาล และเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เก็บโครงการนี้เข้าลิ้นชักไปแล้วด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น