xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานแจงเหตุน้ำเค็มแทรกทำนาข้าวแปดริ้วเสียหายยับนับแสนไร่เกิดจากน้ำเค็มหนุนสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัมรินทร์ ชากะสิก นายช่วงชลประทาน 8 ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต
ฉะเชิงเทรา - ชลประทานแจงเหตุน้ำเค็มแทรก ทำนาข้าวแปดริ้วเสียหายยับนับแสนไร่ เกิดจากน้ำเค็มหนุนสูงผิดปกติ ไหลบ่าข้ามฝากถนนพื้นที่ต่ำแถบชายทะเลเข้าสู่ระบบชลประทาน ตั้งแต่เมื่อต้นปี ยอมรับความเค็มสูงจัด และแทรกซึมเข้าพื้นที่สูงขึ้นจริง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะการช่วยเหลือเบื้องต้นได้ขอน้ำจากทางภาคเหนือ วันละกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรลงมาช่วยทุเลาความเสียหายแล้ว

วันนี้( 8 เม.ย.51) เวลา 17.00 น. นายอัมรินทร์ ชากะสิก นายช่วงชลประทาน 8 ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต พร้อมด้วยผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ นายพร วินโกมินทร์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวถึงกรณีปัญหาน้ำเค็มเข้าพื้นที่ในระบบคลองชลประทานที่รับผิดชอบ จนทำให้ชาวนาที่สูบน้ำในคลองชลประทานเข้าสู่แปลงนาได้รับความเสียหาย ต้นข้าวยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมากว่า

ปัญหาดังกล่าว ทางโครงการฯ ได้รับทราบจากการร้องเรียนของชาวบ้านแล้ว และได้เข้าไปตรวจสอบ วัดความเค็มยังบริเวณคลองหลวงแพ่ง ในพื้นที่ ที่มีเกษตรกรทำนาข้าวได้รับความเสียหายแล้ว และพบว่าระดับความเค็มของน้ำอยู่ที่ 6 กรัมต่อลิตร ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อพืชต่างๆ โดยเฉพาะต้นข้าว จะได้รับความเสียจากระดับความเค็มของน้ำในระดับนี้

ที่ผ่านมาได้มีการตรวจวัดพบ และได้แจ้งไปยังหน่วยงานในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบก่อนหน้าแล้ว ซึ่งยอมรับว่าอาจไม่ทั่วถึง และในปีนี้ถือว่าน้ำในคลองพระองค์ไชยานุชิต มีความเค็มสูงจัดมาก ผิดไปจากปกติจริง และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน โดยส่วนใหญ่น้ำเค็มที่เคยรั่วไหล เข้ามาได้นั้นจะมีปริมาณไม่มาก และจะมาหยุดอยู่แค่ในคลองย่านถนนสายบางนา-ตราด เท่านั้น ส่วนในปีนี้น้ำเค็มได้ขยับขึ้นสูงลึกเข้าไปในพื้นที่มาก จนถึงเขตนาข้าวคลองหลวงแพ่ง อ.เมืองฉะเชิงเทรา

โดยปัญหาการรั่วไหลของน้ำเค็ม ที่ไหลเข้าสู่ระบบคลองชลประทานนั้น เกิดจากน้ำเค็มได้หนุนขึ้นสูงในช่วงเกิดน้ำใหญ่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.ของทุกปี จนน้ำทะเลที่เกิดมากได้ไหลบ่าทะลักข้ามถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ลงสู่คลองชลประทานที่ทอดยาวเลียบถนนสายดังกล่าว ระยะทางกว่า 50 กม.จากพื้นที่ ต.ท่าสะอ้าน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ไปจนถึง พื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ โดยในปีนี้น้ำทะเลใหญ่เกิดมากผิดปกติ จนไหลข้ามถนนเข้ามามากกว่าเก่า จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงขึ้นเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมดังกล่าว

ปัญหาไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของระบบประตูระบายน้ำของชลประทาน เพราะได้ปิดประตูระบายน้ำทุกด้าน ตั้งแต่ก่อนน้ำเค็มหนุนตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค. ปลายปีที่แล้ว และมีการตรวจสอบวัดความเค็มอยู่ทุกวัน

ทั้งนี้ ได้เคยแจ้งเตือนไปยังแขวงการทาง จ.สมุทรปราการ ให้ทราบแล้ว แต่ทราบว่ายังไม่มีงบประมาณในการดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะหากจะแก้ปัญหาต้องทำคันดินขอบถนนสูงขึ้น หรือไม่ก็ต้องยกระดับถนนให้สูงขึ้นอีก 1.5- 2 เมตรในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของแขวงการทาง จ.สมุทรปราการ นอกจากนี้ในปีนี้เกษตรใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากกว่าปกติ เพราะข้าวมีราคาแพง จึงพากันสูบน้ำจากคลองชลประทานไปเป็นจำนวนมาก จนทำให้น้ำเค็มที่อยู่ตอนล่างขึ้นมาแทน

ส่วนการแก้ปัญหา ช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ขณะนี้ทางโครงการได้พยายามขอน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิต ให้ปล่อยน้ำลงมาช่วยเหลือในอัตรา 10 คิว ต่อวินาที หรือประมาณวันละ 7 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน จึงจะมาถึงยังจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากต้องไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ในภาคกลางเป็นระยะทางกว่า 200 กม.นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ต้องการใช้น้ำสูบน้ำขึ้นไปใช้ตามรายทางอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่แห่พากันปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางชลประทานก็อยากให้ปลูกเพราะเห็นใจชาวนาที่ข้าวขายได้ราคา

คาดว่าทางชลประทานจะสามารถปล่อยน้ำจืดลงมาช่วยเหลือเกษตร ชาวนา ได้จนถึงช่วงปลายเดือนนี้ โดยระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงมีน้ำเหลืออยู่อีกประมาณร้อยละ 30 หรือ 300 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนภูมิพลมีน้ำเหลืออยู่ร้อยละ 50 หรือ ประมาณ 5-6 พันล้าน ลบ.ม. และเขื่อนสิริกิต มีน้ำเหลืออยู่ประมาณ 4 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งทางชลประทานได้ขอน้ำไปยังเขื่อนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวนารวม 2 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะกระจายออกไปทั้งฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนน้ำจากแม่น้ำบางปะกงนั้น ขณะนี้ไม่สามารถสูบเข้ามาใช้ได้เพราะมีความเค็มจัดมากถึงกว่า 20 กรัมต่อลิตรแล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับความเค็มของน้ำทะเล ที่มีความเค็ม 37 กรัมต่อลิตรขึ้นไป

สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต แห่งนี้ มีพื้นที่รับผิดชอบรวม 5 แสนไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรรวม 4 แสนไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 1 แสนไร่ แยกเป็นพื้นที่นาข้าว 2 แสนไร่ บ่อกุ้งบ่อปลา 1 แสนไร่ และเกษตรกรรมอื่นๆ อีก 1 แสนไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น