xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนโมเดิร์น“ปาย” ก่อนจะสายเกินไป/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว...

สมัยผมเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ที่หัวใจเต็มไปด้วยความฝัน ร้อนวิชา บ้าระห่ำ

“ปาย” (จ.แม่ฮ่องสอน) คือหนึ่งในดินแดนในฝัน ที่ผมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งราว 4-5 คน ร่วมเดินทางไปล่าฝันกันที่นั่น

ปายยุคแรก : สาวบริสุทธิ์ ซื่อใส

ปายยุคแรก เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วที่เพิ่งเริ่มมีการท่องเที่ยวเข้ามา ถือเป็นหนึ่งในเมืองสงบงามท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขาอันเปี่ยมไปด้วยวิถีที่เรียบง่าย แต่กลับมากมายด้วยเสน่ห์ชวนสัมผัส แถมค่าครองชีพยังต่ำอีกต่างหาก

ยามเช้าที่ปาย เราจะได้เห็นภาพชาวบ้านทำบุญตักบาตรกันเป็นกิจวัตร ที่ตลาดเช้าเราจะได้เห็นชาวบ้านในชุดไทยใหญ่ ชุดชาวเขา จับจ่าย ซื้อขายของ จำพวกของกินพื้นเมือง พืชผลทางการเกษตรอยู่ทั่วไป ยามสายเห็นชาวบ้านจับจอม เสียม ไปทำไร่ ไถนา

ใครที่มาเที่ยวปายแบบคนเดียวโดดๆในยุคนี้ หากไม่ใช่พวกอีโก้จัดจนไหลล้นหรือพวกโลกนี้มีข้าคนเดียว รับรองว่าจะต้องได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนชาวบ้าน ชาวเขา เพื่อนนักเดินทาง หรือเพื่อนต่างชาติ

ปายในยุคนั้นจึงดูอบอุ่นอบอวลไปด้วยรอยยิ้ม รุ่มรวยน้ำใจ มิตรไมตรี และความช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นดัง“ยูโทปาย”ในดวงใจของใครหลายๆคน

ผมกับเพื่อนๆ เริ่มต้นปั้นฝันกันที่นั่น เป็นฝันที่ปั้นจากศูนย์+ เพราะเริ่มต้นด้วยทุนเพียงน้อยนิด แต่โชคดีที่ในช่วงนั้นเพื่อนผมที่เป็นตัวตั้งตัวตีในโครงการนี้มันมีโอกาสขึ้น-ลงปายอยู่บ่อยครั้ง จนไปสนิทกับคนปายครอบครัวหนึ่ง ถึงขั้นสามารถขอเช่าที่และบ้านเก่าของเขาได้ในราคาไม่กี่พันบาทต่อปี มันจึงชวนผมและเพื่อนคนอื่นๆไปร่วมหุ้นทำรีสอร์ตเล็กๆกันที่นั่น ซึ่งพวกเราต่างฝันว่า...ในอนาคตมันจะเป็นรีสอร์ตเล็กๆ จุดพักพิงราคาถูกแต่รุ่มรวยน้ำใจไมตรีของนักเดินทาง...

ทว่า ถึงแม้ค่าเช่าที่มันจะถูกมากก็จริง แต่หากคิดจะทำรีสอร์ตไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ต้องลงทุนอย่างอื่นด้วย ซึ่งแต่ละคนเพิ่งจบจึงมีเงินกันคนละเล็กละน้อยมาร่วมหุ้นกัน ส่วนผมตอนนั้นจนสุด ไม่มีเงินลงขัน จึงขอลงแรงลงใจไปก่อน ส่วนเงินนั้นเอาไว้ทำงานเก็บเงินได้เมื่อไหร่ก็จะมาร่วมทุนด้วยเพราะช่วงนั้นผมเพิ่งได้งานทำพอดี

สำหรับช่วงแรกของการปั้นฝันดูหนักหนาสาหัสมาก เพราะพวกเรามีใจมากกว่าทุน แต่ประทานโทษ ใจใช้ซื้อข้าว ซื้อเหล้า เติมน้ำมันไม่ได้ หลายๆสิ่งหลายๆอย่างเราจึงต้องลงมือทำด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่มีปัญญาจ้าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ และแรงงานในการแผ้วถางดงกล้วย-ดงไมยราพยักษ์ ให้เหี้ยนเตียนเพื่อปรับระดับพื้นที่อันสุดโหดหิน

งานนี้ผมไปร่วมหักร้างถางพงกับกลุ่มเพื่อนๆได้ไม่กี่วันก็ถูกเรียกตัวให้ไปทำงาน ซึ่งก่อนจากกัน พวกเราดื่มล่ำลากันยกใหญ่(จากปกติที่ดื่มยกเล็กๆกันเป็นประจำทุกวัน)

การทำงาน 1 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก...ผมได้ข่าวว่ากิจการรีสอร์ตของเพื่อนๆ ดำเนินไปด้วยดี แม้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็มีคนเข้าพักไม่ได้ขาดทั้งคนไทยและต่างชาติ

อีก 1 ปี ผ่านไป ไวเหมือนโกหกกว่า...ผมทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง เพียงพอต่อการร่วมทุนกับโครงการรีสอร์ตในฝันของพวกเรา แต่ครั้นเมื่อไถ่ถามไปยังเพื่อนผู้เป็นดังเจ้าของโครงการ มันบอกผมว่า

“มึงไม่ต้องขึ้นมาแล้วล่ะ กูจะกลับกรุงเทพฯ ไม่อยู่แม่ม!!!แล้ว ปาย”

ผมฟังแล้วรู้สึกตกใจ แต่ก็ไม่ได้ไถ่ถามอะไรมันมาก หากแต่มารู้เมื่อมันกลับมาว่า รีสอร์ตในฝันของพวกเรานั้น ปรากฏว่า ฝันสลายแล้วครับทั่น เพราะแต่ละคนต่างแยกทางกันเดิน(แบบจากกันด้วยดี) หนึ่งในนั้นรวบทุนทำรีสอร์ตที่เดิมต่อแต่เปลี่ยนแนวคิดเป็นธุรกิจจ๋า อีกหนึ่งในนั้นทำธุรกิจเล็กๆเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ปายต่อ ส่วนมันและเพื่อนอีกคนกลับมาหางานทำที่กรุงเทพฯ

เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่า พวกมันแยกทางกันเดินด้วยเหตุผลกลใด รู้แต่ว่า “โลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความจริง” เริ่มสำแดงความแตกต่างให้เห็นแล้ว...

แม้รีสอร์ตในฝันที่ปายจะล่มสลายไป แต่ปายกับผมยังตัดกันไม่ขาด ผมยังแวะเวียนขึ้นไปเที่ยวไปหาเพื่อนที่ปายเท่าที่โอกาสอำนวย ตกประมาณ 2 ปีต่อครั้ง

จากการสังเกตผมรู้สึกตะหงิดๆอยู่ในใจว่า ทำไมปายนับวันยิ่งมายิ่งเปลี๊ยนไป๋ นับวันยิ่งดูพลุกพล่านมากขึ้น หนาแน่นขึ้น ในขณะที่รอยยิ้มกลับลดน้อยถอยลง ชาวบ้านในตัวเมืองปายย้ายถิ่นออกไปอยู่รอบนอกมากขึ้น ส่วนคนต่างถิ่นก็เดินทางเข้าไปทำมาหากินในปายมากขึ้น

ดูเหมือนว่าปายช่วงนั้นกำลังจะเริ่มเดินทางเข้าสู่วงจรของเมืองท่องเที่ยวแบบไทยๆ ที่เป็นไปแบบฉาบฉวย เน้นกอบโกยกำไร ความเจริญทางวัตถุ เม็ดเงิน และมวลชน มากกว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่เน้นในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตวัฒนธรรม

แต่กระนั้นผมก็ยังคงมองโลกในแง่ดีว่า เดี๋ยวปายก็คงจับทางตั้งตัวได้ เพราะเมืองนี้มีพวกอุดมการณ์อยู่เยอะ

กระทั่งในปี 47 ผมขึ้นไปปายอีกครั้ง ไปเจอกับเพื่อนรุ่นน้องกับพี่สาวของเธอที่หลีกหนีความวุ่นวายในเมืองกรุงไปเปิดร้านอาหารเล็กๆอยู่ที่นั่น

“หนู คิดว่าคงอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน ปายตอนนี้มันไม่เหมือนยุคที่เคยมาเที่ยวสมัยเรียน คนกรุงเทพฯ คนต่างถิ่น เริ่มมาอยู่ที่นี่มากขึ้น มีทั้งพวกมาดี และพวกที่มาหาผลประโยชน์ มากอบโกย พี่รู้มั้ยเดี๋ยวนี้ปายมีปาร์ตี้ฟูลมูน ดูดยา แบบบางเกาะทางใต้แล้วน่ะ แล้วคนที่จัดก็มาจากต่างถิ่นทั้งนั้น เป็นพวกหากินกับการจัดฟูลมูนไล่จากทางใต้มาเรื่อย”

รุ่นน้องคนนั้นบอกกับผม ก่อนพาไปพบปะพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนๆของเธอ ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันผมรับรู้ได้ว่าพวกเขายังเป็นกลุ่มคนที่มองปายในเชิงอุดมคติอยู่ หลายคนหวังว่าปายจะเป็นเมืองแห่งอุดมคติ เมืองแห่งศิลปะ เมืองแห่งดนตรี เมืองแห่งแบ็คแพ็คเกอร์ เมืองแห่งจักรยาน เมืองแห่งโปสการ์ด เมืองแบบหลวงพระบาง และเมืองอย่างโน้นเมืองอย่างนี้

เรียกว่าแต่ละคนที่เป็น“คนนอก” ปากก็บอกว่า“รักปาย”ด้วยกันทั้งนั้น แต่ประทานโทษ ดูเหมือนพวกเขาจะลืมนึกถึง“คนใน” อย่างคนปายเจ้าของพื้นที่ไปเสียสนิท ?!?

โมเดิร์นปาย : เมื่อเธอถูกคนต่างถิ่นรุมโทรม

เรื่องราวของปายยังคงดำเนินต่อไป กระทั่งในปี 48 ที่ปายถูกน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งผมได้แต่ภาวนาว่านี่จะเป็นเหตุการณ์ที่จะทำให้บรรดานักลงทุนทั้งหลายในปายได้หันมาทบทวน ตั้งหลัก เพื่อพัฒนาให้ปายเดินไปอย่างมีทิศทางสู่เมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

แต่ปรากฏว่า เหตุการณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะดูเหมือนว่า นับวันยิ่งมาปายยิ่งเปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด เปลี่ยนไปอย่างหน้าใจหาย จนคนที่เคยมีโอกาสไปสัมผัสกับปายรุ่นแรกๆ ตั้งคำถามแบบติดอาการงุนงงว่า...มันเกิดอะไรขึ้นกับปาย??? เมืองในฝัน ยูโทปาย ของพวกเขาหายไปไหน???

บางคนบอกว่าปายยุคใหม่ เธอเป็นดังสาวงามที่ถูกคนต่างถิ่นจำนวนหนึ่งที่เห็นแก่ตัว(ไม่ใช่ผู้รักปายด้วยใจบริสุทธิ์) เข้าไปกอบโกยข่มขืนรุมโทรมจนยับเยิน ซึ่งคำเปรียบเปรยนี้แม้จะฟังดูรุนแรง แต่จากการขึ้นไปสัมผัสปายหนล่าสุดเมื่อต้นปีที่แล้ว ผมว่ามันก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อยเลย

เพราะเห็นได้ชัดว่า ปายยุคใหม่(เฉพาะในเขตเมือง)กลายเป็นแหล่งทำมาหากินทางการท่องเที่ยวแหล่งใหญ่ นักท่องเที่ยวแย่งกันกิน แย่งกันเที่ยว ราคาที่ดินพุ่งพรวดๆ เกสเฮาต์ ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ขึ้นเต็มไปหมด ดูๆไป ปายเริ่มเดินเข้าสู่วังวนของ พัทยา ภูเก็ต สมุย เกาะช้าง ส่วนถนนคนเดินยามค่ำคืนนั้นนับวันก็ยิ่งดูใกล้เคียงถนนข้าวสารมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้นปายยุคใหม่ยังถูกมายาคติจากสื่อจำนวนหนึ่งเสกสรรค์ปั้นแต่งให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวประเภทแฟชั่นฉาบฉวย เป็นเมืองที่ถูกจุดพลุให้โด่งดังปานประหนึ่ง"กระเพราะไก่ไข่ดาว" ที่พอช่วงหยุดยาว ใครนึกอะไรไม่ออกก็ให้นึกถึงปายก่อนเป็นลำดับแรก

ถึงกระนั้น สำหรับบางคนที่เพิ่งขึ้นไปปายครั้งแรกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปายยุคใหม่อาจดูเปี่ยมเสน่ห์น่าหลงใหลในสายตาของเขา แต่โดยส่วนผมกลับเห็นว่า ปายยุคใหม่นั้นเปลี่ยนแปลงไปจากปายยุคแรกแรง แต่กระนั้นปายวันนี้ก็ยังไม่ได้ฟอนเฟะเละเทะจนเกินเยียวยา เพียงแต่ว่าปายอาจจะออกอาการ“ป่วย” ไปบ้าง(ในสายตาของผมและใครอีกหลายๆคน) ซึ่ง ณ วันนี้ ผมว่ามันถึงเวลาที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปาย(คนท้องถิ่น นายทุน-นักธุรกิจต่างถิ่น รัฐ ข้าราชการ ภาคการท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยว)จะต้องทบทวน เพื่อตั้งหลักว่า ปายจะเดินไปทางไหน???

เดินไปทางเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือเดินไปทางเมืองท่องเที่ยวที่ยุ่งเหยิง ซึ่งหากไม่รีบทบทวนเสียตั้งแต่วันนี้ ปล่อยให้ปายเดินไปตามกลไกการท่องเที่ยวแบบไทยๆที่ไร้ทิศไร้ทาง มุ่งเน้นแต่เม็ดเงิน ผลประโยชน์ ปริมาณ จนส่งผลกระทบต่อ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

บางทีพรุ่งนี้...อาจจะสายเกินไป เพราะปายอาจป่วยหนัก กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอันยุ่งเหยิง ยากเกินเยียวยา จนห้ามญาติเยี่ยม ชนิดกู่ไม่กลับก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น