xs
xsm
sm
md
lg

แม้ไม่เห็นสุริยุปราคา แต่ที่ “เพลินพัฒนา” ได้เรียนรู้ผ่านละคร “อาซิมอฟ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้จะไม่ได้ดูสุริยุปราคาบนท้องฟ้าบ้านตัวเอง แต่ก็มีการถ่ายทอดสดสุริยุปราคาแบบเต็มดวงจากประเทศจีนให้ชมกันแทน
เพลินพัฒนา - แม้จะไม่ได้ชมปรากฎการณ์สุริยคราส เพราะสภาพอากาศไม่อำนวย แต่นักเรียน ครู และผู้ปกครองที่โรงเรียนเพลินพัฒนาได้เรียนรู้ “สุริยุปราคา” ผ่านละครไซไฟ “สนธยาเยือน” ของ “ไอแซค อาซิมอฟ” ก่อนชมการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์จากจีนแทน

ปรากฎการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ที่นักดาราศาสตร์คำนวณว่าจะได้เห็นที่ท้องฟ้าเหนือประเทศไทย เมื่อช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 1 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ทำให้ใครๆ ต่างเตรียมการสังเกตและศึกษาปรากฎการณ์ดังกล่าว รวมถึงที่โรงเรียนเพลินพัฒนา กรุงเทพฯ ซึ่งนำโดยผู้ปกครองเด็กนักเรียนชั้น ป.6 และคุณครู ร่วมกันจัดกิจกรรม ชวนนักเรียนในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลถึงมัธยมปลาย พ่อแม่ และผู้ปกครอง ชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นี้ร่วมกัน

กิจกรรมดังกล่าวจัดเป็นเทศกาลกลางแจ้ง ยามเย็นหลังเลิกเรียน มีเด็กนักเรียนและพ่อแม่ผลัดเปลี่ยนกันมาเล่นดนตรีสร้างบรรยากาศ และชมละครเวทีแนวไซไฟของเด็กนักเรียนชั้นประถมเรื่อง “สนธยาเยือน” ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น “ไนต์ฟอล” (Nightfall) ของไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยที่เขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสุริยุปราคา ก่อนถึงเวลาเกิดปรากฏการณ์จริง

นายพิชิต อิทธิศานต์ นักวิจัยและนักเขียนบทความวิทยาศาสตร์ หนึ่งในทีมผู้ปกครองที่เป็นโต้โผจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ จึงอยากให้เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองได้มาเรียนรู้ทำความเข้าใจร่วมกัน แต่แทนที่จะบอกเล่าให้ข้อมูลกันตรงๆ ก็ดูไม่น่าสนใจ จึงนำรูปแบบการแสดงละครเวทีวิทยาศาสตร์มาใช้ดึงดูดความสนใจ และสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวไปพร้อมกัน

“ผมเลือกบทประพันธ์ที่โด่งดังของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่าง อาซิมอฟ เรื่องไนต์ฟอล เพราะเรื่องนี้อธิบายถึงผลกระทบของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงไว้อย่างน่าสนใจ จึงนำข้อมูลเรื่องสุริยุปราคาและภาพยนตร์ไปปรึกษากับครูวิชาการช่วงชั้นที่ 2 ซึ่งเก่งเรื่องการละคร และช่วยนำไปดัดแปลงเป็นบทละครเวที พร้อมทั้งช่วยซ้อมละครให้กับเด็กๆ ชั้น ป.3-ม.1 ที่สมัครเข้ามาช่วยทำละครเรื่องนี้ ทั้งเป็นนักแสดง ฝ่ายฉาก เครื่องแต่งกาย เครื่องประกอบฉาก และระบบเสียง โดยมีพ่อแม่และคุณครูเป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง” นายพิชิตกล่าว

อีกทั้งเขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องไนต์ฟอลนี้มีผู้แปลชื่อไทยไว้สองชื่อ คือ “สนธยาเยือน” โดยนายประมุข ลิมปนันท์ และ “รัตติกาล” โดยนายนภดล เวชสวัสดิ์ แต่ในการแสดงครั้งนี้เลือกใช้คำว่า “สนธยาเยือน” เพราะตรงกับช่วงเวลาหกโมงเศษ ที่จะได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วนจนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ณ ตำแหน่งของโรงเรียนเพลินพัฒนา

ด้านนางสาวจันทร์ทิพย์ ปิยะวรธรรม หัวหน้าวิชาการและการจัดการความรู้ ช่วงชั้นที่ 2 โรงเรียนเพลินพัฒนา ผู้รับหน้าที่เขียนบทและกำกับละครเรื่องนี้ กล่าวว่า เมื่อได้เรื่องสนธยาเยือนมาจากผู้ปกครอง ก็นำมาศึกษาแล้วดัดแปลงเป็นบทละครเวที พร้อมทั้งตีความเรื่องการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างเข้าไปด้วย

ทั้งนี้ ในเรื่องเป็นความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายนักบวชที่มองเรื่องสุริยุปราคาในลักษณะของตำนานเทพเจ้า และมองฝ่ายวิทยาศาสตร์ว่าเป็นศัตรูที่ไม่เคารพในเทพเจ้า ขณะที่ฝ่ายนักวิทยาศาสตร์มองเรื่องสุริยุปราคาในแง่มุมของปรากฏการณ์ธรรมชาติ แล้วชี้ว่าความเชื่อของฝ่ายนักบวชเป็นเรื่องงมงาย แต่สุดท้ายทั้งสองฝ่ายก็เรียนรู้ที่จะเคารพในความเชื่อของกันและกัน และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“ละครเวทีครั้งนี้ไม่เพียงแต่ให้ความรู้เรื่องปรากฏการณ์สุริยุปราคาเท่านั้น แต่เรายังแฝงเรื่องการยอมรับและเคารพในความคิดความเชื่อของผู้อื่น ให้เด็กๆ ซึมซับความคิดที่ว่า คนเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งตั้งแต่เริ่มซ้อมจนกระทั่งถึงวันแสดง รู้สึกดีใจว่าเด็กๆ จะรับสารตรงนี้ได้ นอกเหนือไปจากการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ จากการทำงานตั้งแต่วันซ้อมจนถึงวันแสดงในวันนี้” นางสาวจันทร์ทิพย์ กล่าว

ละครวิทยาศาสตร์เรื่อง “สนธยาเยือน” บอกเล่าเรื่องราวของดินแดนสุดขอบกาแล็กซีแห่งหนึ่งที่มีดวงอาทิตย์ถึง 6 ดวง ผู้คนในดินแดนนี้ไม่เคยรู้จักเวลากลางคืนหรือความมืด แต่ในทุกรอบพันปีจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ในโมงยามแห่งความมืดที่เข้าห่มคลุมดินแดนดังกล่าว เป็นความมืดแรกที่มาเยือนในชั่วชีวิตของคนที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น ท่ามกลางความตื่นตระหนกและสงสัย แต่ละคนต่างมุ่งตรงไปยังผู้นำทางความในคิด 2 ฝ่าย คือ ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย และนักบวชในวิหาร

นอกจากจะมีตัวละครแสดงเป็นผู้นำทางความคิดและผู้คนที่มีความเชื่อแตกต่างกันแล้ว บทละครยังเขียนให้นักเรียนแสดงเป็นโลก พระจันทร์ และดวงอาทิตย์ทั้ง 6 ดวง ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่ายรำตามแบบการโคจรจริงของดวงดาวแต่ละดวงในระบบสุริยะ ทั้งในภาวะปกติและในภาวะที่เกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคา เพื่อฉายภาพให้ผู้ชมที่เป็นนักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครูมองเห็นการโคจรของดวงดาวดวงต่างๆ ในระบบสุริยะ นอกเหนือไปจากบทพูดของตัวละครในเรื่อง

แม้ว่าหลังการแสดงละครจบลง จะมีเมฆครึ้มบดบังดวงอาทิตย์ ทำให้กำหนดการเดิมที่จะชักชวนกันดูสุริยุปราคาบนฟากฟ้าทิศตะวันตกเหนือแนวต้นไม้ของโรงเรียนต้องล้มเลิกไป กล้องสุริยะวิถีอย่างง่ายที่นักเรียนช่วยกันประดิษฐ์ไว้เพื่อใช้ดูปรากฏการณ์นี้ต้องพับเก็บเข้ากล่อง แต่ถึงกระนั้นทางโรงเรียนและผู้ปกครองได้จัดเตรียมจอโปรเจ็กเตอร์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายของโรงเรียน (Wi-Fi) ถ่ายทอดสดการเกิดสุริยุปราคาแบบเต็มดวง ที่ประเทศจีนผ่านทางเว็บไซต์ดาราศาสตร์ให้นักเรียน ผู้ปกครองและคุณครูเพลินพัฒนานับร้อยคนได้เฝ้าชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นี้อย่างใกล้ชิดแทน.
เด็กๆ และผู้ปกครองลองใช้กล้องสุริยะวิถี ที่จะใช้สังเกต

สนธยาเยือน
โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ทั้ง 6 ดวง
ศาสตราจารย์ผู้เชื่อในโลกวิทยาศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น