xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางการเมืองไทยหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ราชบัณฑิต

จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ทำให้เกิดภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มนักการเมืองเดิมซึ่งเป็นนักการเมืองอาวุโส รวมทั้งนักการเมืองที่คร่ำหวอดถูกเพิกถอนสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 5 ปี ทำให้บทบาทที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแข็งขันเป็นไปไม่ได้

วิกฤตของนักการเมืองรุ่นเดิมอาจเป็นการเปิดช่องให้เปิดโอกาสกับนักการเมืองรุ่นใหม่ซึ่งอายุยังเยาว์วัยเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เลือดใหม่ดังกล่าวนี้จะต้องสามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักการเมืองที่มีคุณลักษณะดีกว่ารุ่นก่อนตน เพราะมิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการเดินซ้ำรอยเท้าของคนรุ่นเดิมซึ่งมีลักษณะในทางลบอยู่ไม่น้อย

โอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการทางการเมืองและกลายเป็นจักรกลสำคัญของการสร้างระบอบการปกครองขึ้นใหม่นี้ เปรียบได้กับการที่ไฟไหม้ป่าซึ่งทำให้ต้นไม้สูงใหญ่ถูกไฟไหม้จนเหลือแต่ตอ อันเป็นความเสียหายอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันการสูญเสียต้นไม้ใหญ่ดังกล่าวนี้ได้เปิดช่องทางให้แสงแดดส่องเข้าไปในพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำให้ต้นไม้ชนิดอื่นซึ่งเป็นต้นเล็กกว่าและไม่มีโอกาสได้เติบโตในขณะที่ต้นไม้ใหญ่บังเงาก็ได้เติบโตขึ้นมาแทนต้นไม้ใหญ่ อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของการทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป

แต่อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสมากน้อยเพียงใดหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับระบบการเมืองที่จะเกิดขึ้น อาจเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลที่จะตั้งขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

ทิศทางของการเมืองไทยที่จะเกิดขึ้นนั้นน่าจะอยู่ในกรอบดังต่อไปนี้

1. พรรคที่เป็นพรรคมาแทนพรรคพลังประชาชน และพรรคที่แทนพรรคอีกสองพรรคที่ถูกยุบไปนั้น รวมทั้งพรรคเดิมที่ยังไม่ถูกยุบพรรคยังผนึกกำลังกันเหมือนเดิม และยังให้พรรคที่เป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชนเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะได้บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคดังกล่าวโดยมีการเปิดเผยรายชื่อมาแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้คณะรัฐมนตรีมีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิม เพียงแต่จำนวน ส.ส. ของพรรคดังกล่าวนี้มีการแปรเปลี่ยน และต้องรอการเลือกตั้งซ่อมเพื่อจะทราบผลต่อไป

แต่รัฐบาลที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้คงไม่เข้าเงื่อนไขอันเป็นที่ยอมรับของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และน่าจะนำไปสู่การชุมนุมประท้วงกันอีก เพราะนี่เป็นเงื่อนไขที่ประกาศไว้อย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ต้องการให้ ส.ส. ที่มาจากพรรคเดิมหรือพรรคตัวแทนมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2. พรรคต่างๆ ยังจับขั้วเหมือนที่กล่าวมาในข้อหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่ใช่พรรคที่เป็นพรรคตัวแทนพรรคพลังประชาชนเสนอชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในส่วนนี้ก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนที่มาจากพรรคอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสองประการ คือ

ก) ข้ออ้างที่ว่าพรรคพลังประชาชนเคยตั้งรัฐบาลมาแล้วสองครั้ง และไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น และไม่สามารถแก้ปัญหาของชาติได้ จึงควรเปิดโอกาสให้บุคคลที่มาจากพรรคอื่นเป็นหัวหน้ารัฐบาล

ข) เงื่อนไขที่ตั้งขึ้นโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะไม่ได้รับตัวแทนจากพรรคพลังประชาชนหรือพรรคตัวแทน ก็จะได้รับการสนองและจะทำให้ไม่สามารถยกเป็นข้ออ้างได้

3. การตั้งรัฐบาลอาจจะทำโดยการเปลี่ยนขั้ว โดยพรรคร่วมรัฐบาลเดิมซึ่งเป็นพรรคเล็กหันไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ ในกรณีเช่นนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีทำการบริหารประเทศ คล้ายๆ กับตอนที่นายชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารประเทศแทนพรรคความหวังใหม่ หลังจากพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีได้ลาออกจากตำแหน่ง

แต่รัฐบาลเช่นนี้คงไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มเสื้อแดง การชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยก็จะเกิดขึ้น ซึ่งก็จะกลายเป็นสถานการณ์เหมือนกับที่เกิดขึ้นก่อนมีการยุบพรรค เพียงแต่เปลี่ยนข้างของกลุ่มผู้ประท้วง

4. ทางออกอีกทางหนึ่งคือการตั้งรัฐบาลพรรคใหญ่สองพรรค แต่ทางออกที่เสนอนี้คงเป็นไปได้ยาก นั่นคือ กรณีที่พรรคซึ่งเป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลพรรคใหญ่สองพรรค และให้พรรคเล็กๆ เป็นพรรคฝ่ายค้านซึ่งคงไม่มีน้ำหนักอะไร การจับมือกันตั้งรัฐบาลกึ่งๆ รัฐบาลแห่งชาติเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับปูพื้นสำหรับการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น แม้จะเป็นไปได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่โอกาสของความเป็นไปได้แทบจะไม่มี และหลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ฝันไกลเกินความเป็นจริง

5. ถ้าไม่สามารถจะตกลงกันได้จากทั้งสองฝ่าย โอกาสของการที่จะกระทบกระทั่งกันในวันเปิดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะนำไปสู่การประจันหน้ากันโดยใช้ความรุนแรงจนเกิดความเสียหาย และนำไปสู่การเข้าระงับเหตุด้วยการยุติระบบการเมืองที่เป็นอยู่ชั่วคราว เพื่อจะให้มีการเว้นวรรคการเมืองและตั้งรัฐบาลขึ้นมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เรียกว่า รัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งในกรณีนี้นั้นน่าจะเป็นทางออกสุดท้ายหลังจากสังคมเข้าสู่กลียุคและมิคสัญญี ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นอย่างมหันต์ และจะส่งผลระยะยาวทั้งทางกายภาพ จิตใจ และจิตวิญญาณ ซึ่งคงไม่มีฝ่ายไหนอยากให้เกิดขึ้นเช่นนี้

6. อาจมีการยุบสภาฯ เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะรักษาการ แต่ก็ไม่มีข้อห้ามอันใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้มีการยุบสภาฯ เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม โดยเจตนารมณ์และมารยาททางการเมืองการยุบสภาฯ โดยนายกรัฐมนตรีที่มีลักษณะเป็นรักษาการนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่เนื่องจากไม่มีข้อห้ามที่เด่นชัดอาจจะมีการหาทางออกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการยุบสภาฯ ให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ ซึ่งถ้ายังมีการใช้กฎกติกาเดิมก็คงขัดกับเงื่อนไขของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผลที่ออกมาก็มีลักษณะไม่ต่างจากการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 สภาพการเมืองก็จะวนกลับไปที่เดิมไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้

จากการวิเคราะห์ดังกล่าวมาเบื้องต้น ก็มาถึงจุดที่สังคมไทยจะต้องหาทางออกให้กับอนาคตของประเทศว่าจะเอาอย่างไรกัน เพราะการเมืองไทยต่อจากนี้คงหนีไม่พ้นข้อใดข้อหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว จุดสำคัญที่สุดก็คือการยุติวิกฤตและการสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองเพื่อจะผจญกับวิกฤตเศรษฐกิจ มิฉะนั้นปัญหาต่างๆ ที่โถมเข้ามาจะแก้ไขเยียวยาไม่ได้ และจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

การแก้วิกฤตในครั้งนี้ต้องอาศัยการเสียสละและปัญญาเป็นอย่างมาก สังคมไทยกำลังเผชิญกับการท้าทายจากคำกล่าวที่ว่า “อยุธยาไม่สิ้นคนดี” คนดีในที่นี้อาจจะหมายถึงคนทั้งสังคม ที่จะช่วยกันนำชาติไทยให้พ้นจากขวากหนามและอุปสรรคต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มีความหวังและมีอนาคตสำหรับคนรุ่นหลังต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น