เปิด "แล็บฟ้าผ่า" ทดลองให้เห็นมือถือไม่ใช่สื่อล่อฟ้า พร้อมเผยผู้ที่ถูกฟ้าผ่าคือ "ผู้โชคร้าย" ที่เข้าไปอยู่ในจังหวะที่ก้อนเมฆสะสมประจุจนสูงพอให้เปรี้ยงปร้าง ด้านทีโอที-กฟผ.ลุยเก็บข้อมูลฟ้าผ่า เพื่อป้องกันอุปกรณ์องค์กรเสียหาย แต่ยังไม่มีคนไทยวิจัยฟ้าผ่าอย่างจริงจัง ด้านหมอแจงกรณีเจอคนถูกฟ้าผ่าให้ช่วยคนหยุดหายใจก่อนเพราะมีโอกาสรอด
ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า อาคารปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดห้องจำลองฟ้าผ่าเพื่อสาธิตการทดลองที่พิสูจน์ว่าโทรศัพท์มือถือและสัญญาณโทรศัพท์ฝืมือถือไม่ใช่สื่อล่อฟ้า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.52 โดยมีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าชมการสาธิตดังกล่าวจำนวนมาก ทั้งนี้การทดลองดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนา "ฟ้าผ่า ข้อเท็จจริงที่ควรรู้" ซึ่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมจัดกับ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย และสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
ภายในห้องจำลองฟ้าผ่ามีอุปกรณ์สำคัญ คือ ชุดหม้อแปลงแรงสูง ที่สร้างความต่างศักย์ได้สูง 500 กิโลโวลต์ ซึ่งสูงเพียงพอสำหรับทดสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟาและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานที่ 220 โวลต์ และเครื่องจำลองฟ้าผ่าที่สร้างกระแสไฟฟ้าได้ 1.4 ล้านแอมแปร์
แต่กระแสดังกล่าวต่ำกว่ากระแสที่เกิดจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าจริง 10-100 เท่า ซึ่งทาง ดร.คมสันย้ำว่าห้องจำลองฟ้าผ่านี้ไม่สามารถสร้างฟ้าผ่าขึ้นมาได้เหมือนในธรรมชาติ แต่สามารถทำการทดลองเพื่อศึกษาคุณสมบัติบางอย่างได้ อาทิ การแสดงผลด้านความร้อนของฟ้าผ่า ผลที่เกิดขึ้นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
เมื่อเริ่มการทดลอง ได้นำโทรศัพท์มือถือจากผู้ร่วมสังเกตการณ์ไปวางไว้ใต้ชุดแรงดันระยะใกล้ที่ใช้ส่งไฟฟ้ากระแสสลับผ่านตัวนำ แล้วให้อาสาสมัครโทรเข้ามือถือดังกล่าว และพบว่าไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นกับมือถือ เช่นเดียวกับกรณีนำมือถือวางไว้ที่ฐานเสาโลหะ ซึ่งใช้ล่อฟ้าจากการทดลองและให้อาสาสมัครโทรเข้าเช่นกัน ซึ่งก็ปรากฏว่าโทรศัพท์มือถือยังคงใช้งานได้
อย่างไรก็ดี ดร.คมสันย้ำว่า แม้มือถือจะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ก็ไม่ใช่ว่าฟ้าผ่าจะไม่มีอันตรายต่อมือถือ เนื่องจากฟ้าผ่ามีสนามแม่เหล็กที่รุนแรงมาก ซึ่งจะทำให้มือถือเกิดลัดวงจรและเสี่ยงระเบิดได้ โดยเฉพาะแบตเตอรีปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน
สำหรับกระบวนการเกิดฟ้าผ่านั้น หัวหน้าห้องจำลองฟ้าอธิบายกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าต้องมีก้อนเมฆ เมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ต่ำลงและเกิดการเสียดสีระหว่างก้อนเมฆ จะทำให้เกิดการแยกประจุ โดยประจุบวกยู่ด้านบนของก้อนเมฆ และประจุลบอยู่ด้านล่างของก้อนเมฆ ซึ่งทำให้บนพื้นดินมีประจุบวกมารวมกันบริเวณผิวดินมากขึ้น ซึ่งถ้ามีมากพอจะทำให้เรารู้สึกขนลุก
ทั้งนี้มีตัวอย่างในต่างประเทศ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่ใต้ก้อนเมฆและเกิดผมตั้ง ก็ถ่ายรูปไว้ และมีคนอีกกลุ่มเห็น แล้วก็เข้าไปยืนตำแหน่งเดียวกันเพื่อถ่ายรูปบ้าง แต่โชคไม่ดีถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต เนื่องจากเป็นจังหวะที่ก้อนเมฆสะสมประจุสูงพอ
"ต่างประเทศมีผู้เข้าใจฟ้าผ่าอยู่เยอะ เขามีคนที่สำรวจว่าเกิดฟ้าผ่ากี่ครั้ง ที่ไหนบ้าง เฝ้าดูก้อนเมฆที่ทำให้เกิดฟ้าผ่า วัดความรุนแรงของฟ้าผ่า แต่เมืองไทยยังไม่มี มีทาง กฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ที่เริ่มมาได้ 3-4 ปี แต่ข้อมูลยังไม่ครบถ้วน สำหรับผมก็อาศัยความรู้จากต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งที่ผมทำตรงนี้ เพราะส่วนหนึ่งผมเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูงมาก่อน แต่มีคำถามเกี่ยวกับฟ้าผ่าเยอะ ผมจึงทำให้ดูว่าเกิดปรากฏการณ์อะไรขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถแทนปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ เราบอกได้เพียงบางอย่างเท่านั้น" ดร.คมสันกล่าว
แม้จะไม่มีนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องฟ้าผ่าอย่างจริงจัง แต่หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากฟ้าผ่าศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้อยู่บ้าง โดยนายสรรเสริญ ทรงเผ่า วิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนา "ระบบป้องกันฟ้าผ่า" และได้รับรางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2548 กล่าวว่า ทีโอทีได้ศึกษาเรื่องฟ้าผ่าอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2534 โดยพบปัญหาว่า ฟ้าผ่าคือสาเหตุที่ทำให้ทีโอทีเสียค่าบำรุงอุปกรณ์สูงถึง 27%
"ทีโอทีเป็นหน่วยงานที่ซื้อระบบป้องกันฟ้าผ่าทุกชนิดในโลกมาใช้ แต่ก็ยังถูกฟ้าผ่า เราจึงได้พัฒนาระบบ ที่ลดความเสียหายจากฟ้าผ่าให้กับเสาส่งสัญญาณของเราขึ้นมา เมื่อเห็นว่าได้ผลจึงส่งเข้าประกวดและได้รางวัล วิธีแก้ปัญหาคือด้านบนของเสาสัญญาณเรายังติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่าที่ซื้อมา แต่ใต้ดินเราต้องลดค่าความต้านทานกระแสไฟฟ้าให้ต่ำที่สุด หลักการคือเมื่อฟ้าผ่าแล้วต้องทำให้กระแสไฟฟ้าลงดินเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่ออุปกรณ์ให้น้อยที่สุด ซึ่งพบว่าหลังจากทำแล้วทำให้การซ่อมบำรุงลดลง" นายสรรเสริญกล่าว
นายสรรเสริญกล่าวภายหลังเสวนา กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า ที่สถานีสังสัญญาณของทีโอทีนั้น ได้ติดตั้งระบบที่ช่วยลดความเสียหายจากฟ้าผ่าลงทั้งหมด 200 สถานีจาก 3,000 สถานี แต่ติดตั้งเฉพาะในจุดที่เสียหายบ่อยๆ และคงไม่ได้ติดตั้งเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันการสื่อสารทางแสงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่บางพื้นที่ก็ยังคงใช้งานสถานีส่งสัญญาณนี้อยู่บ้าง นอกจากนี้ที่สถานีส่งสัญญาณยังมีระบบวัดการเกิดฟ้าผ่าและบอกระดับความรุนแรง โดยพบว่าในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. เป็นช่วงที่มีฟ้าผ่าสูงสุด
เช่นเดียวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อุปกรณ์ได้รับความเสียหายและขัดข้องเนื่องจากฟ้าผ่า 30-40% ซึ่ง นายกิตติ เพ็ชรสันทัด หัวหน้ากองเทคโนโลยีสายส่งและการบิน กฟผ.ได้บอกกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า กฟผ.ได้ลงทุนติดตั้งระบบตรวจหาตำแหน่งฟ้าผ่า (Lightning Location System: LLS) บางส่วนในปี 2537 ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งเซนเซอร์ทั้งหมด 11 จุดทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมการตรวจหาตำแหน่งฟ้าผ่าทั่วประเทศ
เซนเซอร์จากแต่ละจุดสามารถวัดสัญญาณได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อจับสัญญาณฟ้าผ่าจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลง เซนเซอร์แต่ละตัวจะส่งสัญญาณเข้าไปยังหน่วยประมวลผลกลางผ่านดาวเทียม เพื่อหาตำแหน่งฟ้าผ่าที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากข้อมูลปรากฏการณ์ฟ้าผ่ามีมากนับล้านชุด จึงจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ ซึ่งนายกิตติกล่าวว่าขณะนี้ กฟผ.กำลังจัดหาซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลฟ้าผ่า ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท และในส่วนของเซนเซอร์ทั้งหมดนั้นมีมูลค่าประมาณ 70 ล้านบาท
ส่วนข้อมูลฟ้าผ่าที่ได้รับจากระบบนั้นพบว่า ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเกิดขึ้นทุกเดือนและตลอดทั้งปีมีฟ้าผ่าเกือบทุกวัน โดยกระแสไฟฟ้าที่วัดได้น้อยสุดต่ำกว่า 1 กิโลแอมแปร์ และสูงสุดประมาณ 250 กิโลแอมแปร์ แต่ค่าที่สนใจคือฟ้าผ่าที่สูงกว่า 5 กิโลแอมแปร์ ซึ่งเป็นค่าที่มีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนกระแสฟ้าผ่าที่พบเยอะที่สุดคือ 20-30 กิโลแอมแปร์ ทั้งนี้ช่วงที่ฟ้าผ่าแล้วให้กระแสสูงสุดคือช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านฤดู เม.ย.-มิ.ย.
ด้านนายชูเกียรติ ไทยจรัสเสถียร หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุฯ ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับฟ้าผ่าไว้บ้าง จากการเก็บข้อมูล "ฟ้าแลบ" ซึ่งเป็นลักษณะอากาศที่ผิดปกติ เป็นฟ้าคะนองที่ทำให้ฝนตกตามมา และยังเป็นสัญญาณอันตรายต่อมนุษย์ แต่บางครั้งมีปรากฏการณ์ฟ้าแลบ แต่ไม่มีฝนตามมา ส่วนอุปกรณ์เก็บข้อมูลฟ้านั้นกรมอุตุฯ เพิ่งติดตั้งได้ไม่นาน ซึ่งถ้ามีข้อมูลมากพอก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปวิจัยเพื่อวิเคราะห์ว่ามีผลต่อสภาพอากาศและมนุษย์อย่างไรต่อไป
ในส่วนของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากฟ้าผ่านั้นถือเป็นการเสียชีวิตโดยธรรมชาติ เพราะไม่มีใครทำให้เกิดฟ้าผ่าได้ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมจากข้อมูลกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพไทย พบว่า 45% ของฟ้าผาเกิดขึ้นในทุ่งโล่ง จึงเป็นสถานที่มีความเสี่ยงที่สุด
ทั้งนี้ไม่ใช่ทุกคนที่ถูกฟ้าผ่าแล้วจะเสียชีวิต บางคนที่กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านด้านนอกร่างกายก็อาจไม่เสียชีวิตเนื่องจากอวัยวะภายในไม่ถูกทำลาย แต่บางครั้งแม้ไม่เสียชีวิตก็จะพบผู้พิการจากฟ้าผ่า
การช่วยชีวตและปฐมพยาบาลผู้ถูกฟ้าผ่านั้น นพ.ประวิทย์บอกว่า เราเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกฟ้าผ่าได้ โดยไม่ต้องกลัวไฟดูด เนื่องจากกระแสไฟได้ไหลผ่านผู้ถูกฟ้าผ่าไปหมดแล้ว ต่าจากผู้ที่ถูกไฟดูด และหากมีผู้บาดเจ็บหลายรายให้เลือกช่วยผู้ที่หัวใจหยุดเต้นหรือหยุดหายใจก่อน ส่วนคนที่หัวใจไม่หยุดเต้นหรือยังหายใจได้อยู่มีโอกาสรอดสูงกว่า ทั้งนี้พบด้วยว่าหลายคนที่รอดชีวิตจากฟ้าผ่าแล้ว มีร่างกายกลับเป็นปกติไม่พิการ
สำหรับห้องจำลองฟ้าผ่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นั้นเป็นห้องทดลองแห่งแรกของไทยที่ตั้งขึ้นในปี 2510 โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเขื่อนภูมิพลเพิ่งสร้างเสร็จในยุคนั้น และเตรียมทดลองส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง จึงจำเป็นต้องทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง
ปัจจุบันห้องจำลองฟ้าผ่ามี 3 จุดหมายมั่งหลัก คือ เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนิสิตศึกษาไฟฟ้าแรงสูง เป็นห้องวิจัยสำหรับนิสิตปริญญาโท และได้รับมอบหมายจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ให้เป็นสถานที่ทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง โดยมีการทดสอบอุปกรณ์ อาทิ ลูกถ้วยไฟฟ้า หม้อแปลง สานเคเบิล รางรถไฟฟ้า และเหล็กรางรถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น.