xs
xsm
sm
md
lg

เผยเหตุน้ำทะเลบางแสนแดง เกิดจากแพลงก์ตอนกลุ่มคีโตเซอรอส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการเผยปรากฏการน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงที่บางแสน เกิดจากแพลงก์ตอนกลุ่มคีโตเซอรอส (Chaetoceros spp.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยมีรายงานการสร้างสารพิษมาก่อน พร้อมเตือนประชาชนกรณีปลา ปู กุ้ง หอย ตายจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี อาจไม่สามารถนำมาบริโภคได้ทุกครั้ง ระบุต้องรอผลการวิเคราะห์ให้แน่ชัดก่อน เพราะแพลงก์ตอนบางชนิดสร้างสารพิษได้

จากกรณีข่าวน้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 12 ตุลาคม บริเวณชายหาดบางแสน ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี จนเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตตายลงจำนวนมากนั้น ผศ.ดร.สมถวิล จริตควร ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายว่า เป็นปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ (water discolouration หรือ red tide) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว(บลูม หรือ Bloom)ของแพลงก์ตอนพืช เนื่องจากแพลงก์ตอนเหล่านี้ต่างก็มีสีในตัวเอง เมื่อเกิดการเจริญเติบโตจำนวนมาก จึงทำให้สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนชนิดที่มีมากในขณะนั้น เช่น สีแดง เกิดจากแพลงก์ตอนสกุลเซอราเตียม (Ceratium sp.) สีส้มเกิดจากสกุลเพอริดิเนียม(Peridinium sp.) หรือ สีเขียวเกิดจากสกุลนอคติลูกา ( Noctiluca sp.) เป็นต้น

“ ทั้งนี้ผลการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลบางแสนมาวิเคราะห์พบว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการบลูมของแพลงก์ตอนกลุ่มคีโตเซอรอส (Chaetoceros spp.) ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดเล็กที่เซลล์มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกต่อกันเป็นสายยาว โดยแต่ละเซลล์จะมีรยางค์ยื่นออกทางด้านข้างมุมละ 1 เส้น ( 1 เซลล์มีรยางค์ 4 เส้น) เคลื่อนที่ไม่ได้ อาศัยล่องลอยไปตามกระแสน้ำ หากอยู่รวมกันจำนวนมากจะเห็นเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลแดง และยังไม่เคยมีรายงานว่าสร้างสารพิษ

ส่วนสาเหตุการเกิดปรากฏการณน้ำทะเปลี่ยนสี คาดว่าเกิดจากช่วงนี้มีฝนตกหนักบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการชะล้างเอาแร่ธาตุจากหน้าดินไหลลงสู่ทะเลจำนวนมาก กอปรกับน้ำทิ้งจากบ้านเรือนที่มีปริมาณธาตุอาหาร เช่น ไนโตรเจนและฟอสเฟตมากอยู่แล้ว จึงยิ่งเหมือนเติมปุ๋ยลงน้ำทะเล ขณะเดียวกันอุณหภูมิ ความเค็มของน้ำทะเล รวมถึงแสงแดดอยู่ในช่วงพอเหมาะจึงทำแพลงก์ตอนให้เกิดการสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วปกคลุมผิวหน้าน้ำ

ดังนั้นเมื่อมีปริมาณแพลงก์ตอนมากก็ยิ่งทำให้มีการใช้ออกซิเจนในการหายใจมากตามไปด้วย ออกซิเจนที่อยู่ในน้ำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเมื่อแพลงก์ตอนหนาแน่น เซลล์บางส่วนก็จะตาย แบคทีเรียจะย่อยสลายโดยต้องใช้ออกซิเจนอีก ส่งผลทำให้น้ำเริ่มเน่า สิ่งมีชีวิตทั้งในน้ำ สัตว์หน้าดิน และสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ตัวในดินเริ่มขาดอากาศหายใจและตายเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นว่ามีทั้งปลา ไส้เดือนดิน หอยทับทิม ปูเสฉวน หอยเสียบ ปูม้า ปลาลิ้นหมา ขึ้นมาตายจำนวนมาก”

ผศ.ดร.สมถวิล กล่าวว่า ขณะที่เดินสำรวจพบชาวบ้านมาเก็บปู ปลาเพื่อนำไปประกอบอาหารจำนวนมาก จึงอยากเตือนว่าไม่สามารถทำได้เช่นนี้ทุกครั้งไป เพราะแม้ว่าการบลูมของแพลงก์ตอนกลุ่มคีโตเซอรอส ครั้งนี้จะไม่มีพิษ แต่ในน้ำทะเลมีแพลงก์ตอนมากกว่า 5,000 ชนิด ซึ่งชนิดที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีมีถึง 300 ชนิด

และในจำนวนนั้นมีกว่า 40 ชนิดที่ผลิตสารพิษได้ โดยสารพิษนี้จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้จากการที่สัตว์น้ำกินแพลงก์ตอนพืชกลุ่มนี้เข้าไป พิษจะถูกสะสมอยู่ในตัวของสัตว์ทะเล เช่น หอย โดยที่ไม่เกิดอันตราย แต่จะไปมีผลต่อผู้บริโภคแทน ทั้งนี้พิษบางชนิดรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้ อาทิ พิษอัมพาตในหอย (paralytic shellfish poison, PSP) เกิดจากการบริโภคหอยสองฝา เช่น หอยแมลงภู่ และหอยนางรมที่กรองแพลงก์ตอนพืชบางชนิดของกลุ่มอเล็กซานเดรียม (Alexandrium sp.) หรือกลุ่มไพโรดิเนียม (Pyrodinium sp.) เป็นต้น

แพลงก์ตอนเหล่านี้จะสร้างสารพิษต่อระบบประสาท ที่สำคัญสารพิษนี้ละลายได้ในน้ำ และมีคุณสมบัติทนต่อความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหาร จึงไม่สามารถทำลายด้วยการหุงต้ม โดยผู้ที่ได้รับสารพิษจะมีอาการชาบริเวณปาก ลิ้น และปลายนิ้ว หายใจลำบาก กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต และอาจเสียชีวิตเนื่องจากการล้มเหลวของระบบหายใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ในเมืองไทยได้มีรายงานการเกิดน้ำแดงที่เป็นพิษอัมพาต(PSP) ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2526 โดยเกิดที่ปากแม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ป่วย 63 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เนื่องจากกินหอยแมลงภู่ที่จับมาจากบริเวณที่เกิดน้ำแดง ในปัจจุบันถึงแม้จะมีรายงานการเกิดน้ำแดงบ้างแต่ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษเกิดขึ้นอีก แต่ก็ควรระมัดระวัง ดังนั้นทุกครั้งที่เกิดกรณีเช่นนี้จึงต้องรอให้มีการตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าสาเหตุที่ปลาตายจำนวนมากเป็นเกิดจากอะไร เป็นกลุ่มแพลงก์ตอนที่มีพิษหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น