xs
xsm
sm
md
lg

จีนโดนสหรัฐฯ-ตะวันตกสกัดทุกทาง “อินเดีย-เวียดนาม” ขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตใหม่แทนได้หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนโดนสหรัฐฯ และชาติตะวันตกสกัดทุกทาง อินเดียจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตใหม่ของโลกแทนได้หรือไม่ “สนธิ” ย้ำเป็นไปได้ยาก แม้อินเดียมีจำนวนประชากรแซงขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก และขนาดเศรษฐกิจแซงอังกฤษขึ้นอันดับ 5 ของโลก แต่ด้วยคุณภาพแรงงาน-โครงสร้างพื้นฐานยังล้าหลัง สังคมที่แบ่งชั้นวรรณะ มีเชื้อชาติ-ศาสนาที่หลากหลาย กลายเป็นตลาดเบี้ยหัวแตก ขณะที่การส่งออกก็ยังต้องพึ่งพาจีน จึงยากจะขึ้นมาแทนจีนได้ ส่วนเวียดนามก็ยังเป็นไปได้ยากเช่นกัน



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของขั้วอำนาจใหม่ซึ่งมีประเทศจีนเป็นผู้นำ ในการขับเคลื่อนชาติต่างๆ ขึ้นมาท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2566 ที่ผ่านไป ได้ปรากฏภาพของระเบียบโลกใหม่ที่ชัดเจนที่สุด อย่างไรก็ตาม มีคนสงสัยว่านอกจากจีนแล้ว อินเดีย ซึ่งเป็นชาติใหญ่เหมือนกัน เป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เหมือนกันมีโอกาสขึ้นมาแทนที่จีนซึ่งกำลังโดนสกัดกั้นทุกทางจากสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ได้หรือไม่

ทั้งนี้ ในปี 2566 เป็นปีแรกที่อินเดียแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เมื่อเดือนเมษายน 2566 ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,430 ล้านคน บ่งบอกให้เห็นแนวโน้มการขยายตัวของกำลังแรงงาน และขนาดเศรษฐกิจของอินเดียที่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต


นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2565 ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียได้เติบโตแซงสหราชอาณาจักร กลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม รายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” เคยพูดถึงมาแล้วใน EP.209 วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 ว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่อินเดียจะก้าวขึ้นมาแทนที่จีนในระยะเวลาอันใกล้นี้

จุดเปลี่ยนสถานะและโอกาสทางการค้าของจีน เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่จีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการ ใน ปี 2544 ซึ่งช่วยปูทางให้จีนก้าวไปสู่เส้นทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจสังคมประเทศจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าทึ่ง โดยจีนพัฒนาจาก “ประเทศผู้รับจ้างผลิต” กลายเป็น “มหาอำนาจด้านการผลิต” แถวหน้าของโลก

ประเทศจีนกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่เน้นการส่งออก และเป็นศูนย์กลางสำหรับสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ ของเล่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ความสามารถในการผลิตของประเทศได้ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่วิธีการผลิตที่ซับซ้อนและก้าวล้ำหน้ามากขึ้น


เมื่อเวลาผ่านไป จากเดิมที่จีนได้วางตำแหน่งตัวเองเป็นโรงงานต้นทุนต่ำของโลก ผลิตสินค้าที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ ของเล่น เสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ ให้กับบริษัทและผู้บริโภคทั่วโลก อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้จีนก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่นเดียวกับเส้นทางเศรษฐกิจของประเทศ และภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เมื่อการศึกษาและค่าจ้างเพิ่มขึ้น ต้นทุนของจีนก็ลดลง ข้อได้เปรียบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

จีนตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไปมุ่งเน้นที่การผลิตระดับไฮเอนด์ โดยมีแผนที่จะพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปล่อยให้ประเทศอื่นเป็นโรงงานผลิตสินค้าราคาไม่แพงและใช้แรงงานเข้มข้นแทน

แต่หากยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนประสบความสำเร็จ คำถามสำคัญคือ ใครจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างโรงงานโลก เมื่อจีนก้าวไปสู่การผลิตระดับไฮเอนด์?

คำตอบดูเหมือนจะไม่มีประเทศอื่นใดสามารถมาแทนที่จีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตของโลกได้

แล้วจริงหรือไม่ที่มีคนพยายามบอกว่า “เวียดนาม คือ จีนรายต่อไป” กระแสในสื่อออนไลน์ก็พาดหัวข่าว ยกตัวอย่างเช่น“ลาก่อนจีน สวัสดีเวียดนาม (Goodbye China, Hello Vietnam)”หรือ“การส่งออกของเวียดนามแซงหน้าเซินเจิ้นเรียบร้อยแล้ว”เป็นต้น


กระแสข่าวเหล่านี้สะท้อนถึงความคิดเห็นว่า เวียดนามอาจเข้ามาแทนที่จีนในฐานะโรงงานหลักของโลก เพราะเวียดนามได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งของ“สงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา” ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ 5 ปีก่อน คือในช่วงปลายปี 2561 จากนโยบายของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ บริษัทต่างชาติหลายแห่งต้องการลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน จึงมีแนวทางจัดตั้งโรงงานผลิตในเวียดนามและประเทศอื่นๆ นอกประเทศจีน

เวียดนามใช้กุศโลบายไผ่ลู่ลม จัดการกับความสัมพันธ์กับทั้งสองมหาอำนาจในข้อพิพาททางการค้า โดยรักษาสถานะตำแหน่งระดับภูมิภาค ด้วยนโยบายที่ตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายได้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน กรณีปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างเวียดนามกับจีน เวียดนามก็ระมัดระวังและประคับประคองความสัมพันธ์กับจีน โดยชูผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนำการเมือง

วันที่ 12-13 ธันวาคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญขึ้น คือ การเยือนเวียดนามครั้งแรกในรอบ 6 ปีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน โดยการเดินทางไปเวียดนามของ ประธานาธิบดีจีนครั้งนี้นั้น มีความมุ่งหวังกระชับสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น และอาจจะยกระดับไปสู่จุดใหม่ ภายหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเข้ามาแทรกกลาง


นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหลายสิบฉบับ และเห็นพ้องให้จัดทำโทรศัพท์สายด่วนระหว่างเพื่อรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินในน่านน้ำที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์

ข้อมูลจากทางการเวียดนามชี้ว่า ข้อตกลงที่ทั้งสองประเทศลงนามในครั้งนี้ ยังรวมถึงการลงทุนในการก่อสร้างรางรถไฟ ด้านความมั่นคง การสื่อสารโทรคมนาคม และความร่วมมือด้านข้อมูลดิจิทัลซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าอาจเป็นการปูทางสู่การติดตั้งเครือข่ายสื่อสาร 5G ของจีนในเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม มีสาเหตุสำคัญ 2 ประการที่ทำให้เวียดนามไม่สามารถแทนที่จีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตของโลกได้

ประเด็นสำคัญ คือ ผู้ผลิตของเวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมาก ตั้งแต่หนังสัตว์ไปจนถึงเครื่องประดับอื่น ๆ


นอกจากนี้ การพัฒนาของเวียดนามยังมีความเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่การผลิตที่ใกล้ชิดกับศูนย์กลางการผลิตบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Pearl River Delta) หรือ ฉางเจียงซานเจี่ยว (长江三角洲) ของจีนในมณฑลกวางตุ้ง เป็นผลประโยชน์ต่อเนื่องมาจากการผลิตของจีน ที่ถ่ายทอดต่อมายังภาคการผลิตของเวียดนาม ที่สำคัญคือ ประชากรเวียดนามไม่สามารถดูดซับผลผลิตของจีนได้ทั้งหมด เพราะจีนมีประชากร 1,400 พันล้านคน ในขณะที่ประชากรเวียดนามมี 100 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าจีนประมาณ 14 เท่า

คำถามต่อไป ถ้าเวียดนามไม่สามารถแทนที่จีนได้ แล้วอินเดียล่ะจะแทนที่จีนได้ไหม?

แม้ว่าอินเดียจะใช้ประโยชน์จากข้อวิตกกังวลของชาติมหาอำนาจตะวันตกเกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีนด้านความมั่นคงและห่วงโซ่อุปทานของจีนที่ครองโลก อินเดียก็ได้โอกาสในดึงดูดการลงทุนจากชาติตะวันตกที่เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลนายนเรนทรา โมดีเชื่อมั่นว่า ความช่วยเหลือและแรงสนับสนุนจากอเมริกาและชาติพันธมิตรตะวันตก จะทำให้อินเดียสามารถผงาดขึ้นมาแทนที่จีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลก และเติมเต็มความทะเยอทะยานของอินเดียในการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลกได้

แต่ช้าก่อน อินเดียยังไม่สามารถแทนที่จีนได้ ด้วยเหตุผล 4 ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก คุณภาพแรงงานและความล้าหลังด้านโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียยังตามหลังจีนอยู่ไกลมาก แม้ว่าบางคนมองว่าค่าแรงที่ต่ำของคนอินเดียเป็นข้อได้เปรียบเหนือจีน แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงกลับค่อนข้างต่ำ ดูจากรายได้เฉลี่ยต่อวันในเขตเมืองของอินเดียเมื่อปี 2560 อยู่ที่วันละ 4.21 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าของจีนที่ได้วันละ 12.64 ดอลลาร์อย่างมากถึงประมาณ 3 เท่า


นอกจากนี้ ความสามารถของรัฐแต่ละรัฐของอินเดียยังน้อยกว่าระดับมณฑลของจีน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการปรับปรุงขีดความสามารถทักษะด้านแรงงานมากขึ้น เป็นความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าฝ่ายบริหารของรัฐบาลโมดี จะพยายามแก้ไขในปัจจุบัน แต่ผลตามมาอาจคุกคามทัศนคติเรื่องความมั่นคงทางสังคมของอินเดีย

ประการที่สอง สังคมที่หลากหลาย แต่กลับมีกำแพงเรื่องชนชั้นวรรณะ ชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาตามเผ่าพันธุ์ของอินเดียยังลดความได้เปรียบของประเทศที่มีประชากรหนุ่มสาวจำนวนมากอีกด้วย ลักษณะการค้าขายของอินเดีย เป็นที่รวมของตลาดเล็ก ๆ ย่อย ๆ ที่เปรียบเหมือนเบี้ยหัวแตกนับพันแห่งทั่วประเทศ แทนที่จะมีพลังการตลาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันถึง 1,400 ล้านคน สิ่งนี้ขัดขวางความสามารถของอินเดียในการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกก็ตาม

ประการที่สาม ยิ่งไปกว่านั้น ประเพณีการแทรกแซงตลาดและลัทธิกีดกันการค้าที่มีมายาวนานของอินเดีย ได้สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนจากต่างประเทศและไม่เป็นมิตรกับการส่งออก


ประการที่สี่ การปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียในช่วงทศวรรษที่ 1980 ไม่ค่อยได้สนับสนุนธุรกิจและตลาดมากเท่าที่ควร เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปของจีนแล้ว กฎระเบียบปัจจุบันของอินเดีย เช่น ข้อกำหนดสำหรับบริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 300 คนต้องขออนุญาตจากรัฐบาลในการเลิกจ้าง มีส่วนทำให้เกิดบริษัทขนาดเล็กๆกระจายในเศรษฐกิจอินเดีย เพื่อเลี่ยงข้อพิพาทแรงงานกรณีเลิกจ้าง

นอกจากนี้ การที่อินเดียต้องพึ่งพาจีนถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ มากกว่าหนึ่งในสี่ของมูลค่าเพิ่มในการส่งออกของอินเดีย มาจากจีนเพียงประเทศเดียว การพึ่งพาจีนของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงฟันธงได้เลยว่า ในระยะเวลาอันสั้นนี้จะไม่มีประเทศใดสามารถก้าวขึ้นมาทดแทนจีนได้ จากบทบาทสำคัญของจีนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั่วโลก ด้วยระบบอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม ทำให้เป็นประเทศเดียวที่ครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “กำลังการผลิต” ที่กว้างขวาง และ “ขนาดตลาดภายใน” ที่กว้างใหญ่ ข้อได้เปรียบเหล่นี้ของจีนจึงไม่มีประเทศใดสามารถเทียบได้


นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานของที่สมบูรณ์และเครือข่ายโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพของจีน ยังมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนทางธุรกิจโดยรวม เมื่อเทียบกับเครือข่ายของประเทศอื่น ๆ ที่กำลังปรับปรุงการเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานกับจีน ดังนั้น จีนยังคงเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพัฒนาระดับโลก

ผลลัพธ์ของการบูรณาการทางเศรษฐกิจที่ผูกสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ระหว่างภาคการผลิตของจีนกับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากภาคการผลิตขนาดใหญ่ของจีน จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชีย

มีความเป็นไปได้ที่การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นจะยังคงอยู่ในจีนแต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ระบบอัตโนมัติ ที่มีศักยภาพ หุ่นยนต์ที่จัดการกับงานที่ยากลำบาก ส่วนหน้าที่ของมนุษย์ก็มุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าที่มีทักษะมากกว่า

จีนยืนหยัดในฐานะผู้นำระดับโลกด้านงานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม การจำกัดเทคโนโลยีหุ่นยนต์นี้มาใช้ในการผลิตสินค้าราคาประหยัดนั้น เพราะจีนมีแรงงานราคาถูกจำนวนมาก นอกจากนั้น การผลิตของจีนอาจมีวิวัฒนาการ กระจายจากเมืองใหญ่สู่ภูมิภาค


โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจุกตัวของการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่สุดในเมืองใหญ่ ๆ ที่คล้ายคลึงประวัติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งการผลิตเปลี่ยนจากศูนย์กลางเมืองไปสู่เมืองเล็ก ๆ ทั่วประเทศ ที่ได้รับความสะดวกจากโครงการขยายทางหลวงระหว่างรัฐ

แต่ในประเทศจีน บริษัทต่าง ๆ ไม่เต็มใจที่จะอพยพย้ายฐานการผลิตจำนวนมากจากศูนย์กลางชายฝั่งที่เจริญไปยังเมืองต่างๆ ภายในประเทศ เพราะขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรมในพื้นที่เหล่านี้ ที่เป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพการผลิต ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามจูงใจผู้ผลิตให้ย้ายไปตั้งยังภูมิภาคเหล่านี้ แต่สำเร็จน้อยมากและไม่บรรลุการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบริษัทชั้นนำด้านห่วงโซ่อุปทานของจีน จะทำงานอย่างแข็งขันเพื่อขยายการจัดหาแหล่งผลิต นอกเหนือจากจีนและบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สำรวจความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าใกล้กับผู้บริโภคปลายทางในยุโรปและสหรัฐอเมริกามากขึ้น แต่ผู้ประกอบการหลายคนยังคงพบว่าเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนราคาแพงมากที่จะละทิ้งจีน

บทบาทของจีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตของโลกจึงยังคงโดดเด่นที่สุด และจะไม่ถูกแทนที่ด้วยประเทศอินเดียหรือเวียดนามหรือประเทศอื่น ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะ จีนมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก และใครที่คิดจะเข้ามาแทนที่จีน จะต้องปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ซับซ้อนครั้งใหญ่และสูญเสียประสิทธิภาพอย่างมาก

จีนมีระบบนิเวศธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่แรงงานที่มีทักษะสูง ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่กว้างขวาง ทำให้ระบบนิเวศดังกล่าวเป็นรากฐานที่สำคัญของภูมิทัศน์การผลิตทั่วโลกที่ใครก็ไม่อาจทดแทนจีนได้ ในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน !


กำลังโหลดความคิดเห็น