กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 เรียกร้องวานนี้ (29 ต.ค.) ให้ทุกประเทศหยุดกีดกันการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณถึง "จีน" ที่ใช้มาตรการแบนอาหารทะเลจากแดนปลาดิบตั้งแต่มีการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเมื่อเดือน ส.ค.
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์จากกลุ่ม G7 ได้ออกคำแถลงร่วมภายหลังการประชุมเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่นครโอซากา โดยแม้จะไม่มีการเอ่ยถึงจีนตรงๆ แต่ก็ติเตียนพฤติกรรมการค้าที่ G7 ชี้ว่าเข้าข่ายเป็น "การข่มขู่ทางเศรษฐกิจ"
"เราขอตำหนิการใช้ความพึ่งพิงทางเศรษฐกิจมาเป็นอาวุธ และขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง เป็นธรรม และได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย" ส่วนหนึ่งในคำแถลงยาว 10 หน้ากระดาษ ระบุ
จีนได้มีคำสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นแบบครอบคลุมมาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว หลังจากที่ญี่ปุ่นเริ่มระบายน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดเจือจางแล้วออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
ในขณะที่ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โวยวายว่าจีนกีดกันการค้าอย่างไม่เป็นธรรม รัสเซียกลับเป็นอีกชาติที่ตัดสินใจใช้มาตรการแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเช่นกันตั้งแต่เมื่อต้นเดือนนี้
จีนออกมาแถลงตอบโต้ท่าทีของ G7 โดยชี้ว่าเป็นการ "ข่มขู่ทางเศรษฐกิจ" เหมือนกัน และเรียกร้องให้ G7 "อย่าดึงดันใช้ 2 มาตรฐาน" แต่ให้ใช้แนวทางที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อคงไว้ซึ่งกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนสากลที่เป็นปกติ
"รัฐสมาชิก G7 เองก็บ่อนทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรม ขัดขวางความปลอดภัยและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและการผลิตของโลก" สถานทูตจีนประจำญี่ปุ่นระบุในถ้อยแถลงเมื่อค่ำวานนี้ (29)
G7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส และแคนาดา ยังแสดงความกังวลเรื่องที่จีนควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญต่างๆ
จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตกราไฟต์ (graphite) รายใหญ่ของโลกได้ประกาศควบคุมการส่งออกแร่ดังกล่าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ปักกิ่งใช้ตอบโต้ชาติตะวันตกที่พยายามสกัดไม่ให้จีนมีอิทธิพลครอบงำสายการผลิตของโลก
ยาสุโตชิ นิชิมุระ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่น ระบุในงานแถลงข่าวว่า บรรดารัฐมนตรี G7 "ต่างเล็งเห็นความจำเป็นร่วมกันที่จะต้องลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง" ในด้านทรัพยากรที่สำคัญยิ่งยวด
"เราเห็นตรงกันว่า จะต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อถือได้" สำหรับวัตถุดิบที่สำคัญยิ่งยวดต่างๆ รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่
รัฐมนตรีกลุ่ม G7 ยังย้ำความกังวลเกี่ยวกับ "นโยบายที่ไม่อิงกลไกตลาด ซึ่งมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในหลายรูปแบบ" ตัวอย่างเช่น "การอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุม คลุมเครือ และบิดเบือนกลไกการค้า" และการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี เป็นต้น
ในประเด็นรัสเซีย เจ้าหน้าที่ G7 ได้ประณามกรณีที่รัสเซียรุกรานทางทหารและทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งออกธัญพืชของยูเครน รวมถึงการที่รัสเซียตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงเปิดทางให้เคียฟสามารถส่งออกข้าวสาลีและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ผ่านทางทะเลดำ
ในขณะที่บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง G7 ได้ออกคำแถลงประณาม “การโจมตีก่อการร้าย” ต่ออิสราเอลโดยพวกฮามาสเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ที่ประชุมรัฐมนตรีพาณิชย์ G7 กลับไม่ได้มีการเอ่ยถึงวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลาง โดยระบุแต่เพียงว่าทางกลุ่ม “ต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาท้าทายในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามพรมแดนนานาชาติ ในยามที่เกิดภัยธรรมชาติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ”
แม้ชาติตะวันตกส่วนใหญ่จะสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “สิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล” ทว่าจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฝั่งปาเลสไตน์จากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลก็ทำให้หลายประเทศเริ่มกังวลและออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดทางช่วยเหลือพลเรือนในกาซา
ที่มา : รอยเตอร์