ชลาสินธุ์ ชลจร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อครั้งที่มีวาระขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคากุ้ง คุณญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคก้าวไกล เสนอแนวทางแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ซึ่งมีการเตรียมข้อมูลอ้างอิงมาอย่างดี นับว่าเป็น ส.ส.รุ่นใหม่ที่รู้จักทำการบ้าน ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของเกษตรกรคนเลี้ยงกุ้งที่มีผู้แทนราษฎรใส่ใจและตั้งใจช่วยเหลืออย่างจริงจัง
ข้อมูลที่เตรียมมา เริ่มตั้งแต่แสดงให้เห็นผลผลิตกุ้งของทั้งโลกที่มีผลผลิตรวม 3.34 ล้านตัน แต่มีการนำเข้ากุ้งจากประเทศผู้สั่งซื้อเพียง 2.87 ล้านตัน เกิดเป็นภาวะกุ้งล้นโลก มีส่วนเกินอยู่ที่ 5.57 แสนตัน ขณะที่เอกวาดอร์ขายกุ้งราคาถูกได้เพราะมีต้นทุนต่ำกว่ากุ้งไทยถึง 40% จึงกวาดยอดสั่งซื้อจากทั่วโลกได้ถล่มทลาย กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกไปทันที ขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 2.8 แสนตัน เป็นอันดับ 5 ของโลกทั้งๆ ที่เคยเป็นอันดับ 1 ของโลกเมื่อหลายปีก่อน
เมื่อดูราคาต้นทุนและราคาขายของกุ้งไทย ณ เดือน พ.ค.2566 กุ้งขนาด 80 ตัว/กก. มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 134 บาท/กก. แต่ราคาขายปากบ่อ อยู่ที่ 115 บาท/กก. ขาดทุนแล้ว 19 บาท/กก. ยิ่งเลี้ยงมากก็ยิ่งขาดทุนมาก เมื่อผนวกค่าไฟฟ้าและราคาอาหารกุ้งที่สูงขึ้น (เพราะวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญและสงครามรัสเซีย-ยูเครน) เมื่อเทียบกับราคาขายกุ้งที่ลดลงอีกในเดือน ก.ย.2566 เช่น กุ้งขนาด 70 ตัว/กก. ราคาเหลือเพียง 104 บาท/กก. ต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะออกมาเรียกร้องขอการแก้ปัญหาจากรัฐหลายครั้งหลายครา เพราะพวกเขาอยู่ไม่ได้
ท่าน ส.ส.มาพร้อมแนวทางที่เสนอต่อสภา 5 ข้อ ได้แก่ 1.) ขอให้ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยคิดค่าไฟในอัตราภาค 2.) ขอให้แสดงข้อมูลปริมาณวัตถุดิบในฉลากอาหารกุ้ง 3.) ขอให้รัฐขยายตลาดภายในประเทศ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภค 4.) ขอให้รัฐควบคุมปริมาณนำเข้ากุ้งให้เหมาะสม และ 5.) ขอให้กรมประมงและกระทรวง อว.ช่วยในเรื่องการควบคุมคุณภาพกุ้งอย่างถูกวิธี ป้องกันการกีดกันการส่งออกกุ้งไทยไปต่างประเทศ ซึ่งดูจะเป็นแนวทางที่ดี แต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมที่จะสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน
นโยบายยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งอย่างจริงจัง เป็นสิ่งที่รัฐบาล “เศรษฐา 1” ควรกลับมาทบทวนและเร่งทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพราะหากยังจำกันได้เมื่อปี 2553 ไทยมีผลผลิตกุ้งสูงสุดถึง 640,000 ตัน ส่งออกได้ถึง 427,580 ตัน มูลค่า 100,948 ล้านบาท และในปี 2554 ไทยสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกสูงสุดที่ 110,278 ล้านบาท โดยเป็น Local Content กว่า 90%
แต่ผ่านไป 10 ปี ในปี 2564 ข้อมูลจากกลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง กรมประมง ระบุว่า ไทยส่งออกกุ้งได้เพียง 158,420.99 ตัน มูลค่า 49,872.86 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 ส่งออกในปริมาณลดลงอีก เหลือเพียง 147,704.93 ตัน มูลค่า 52,603.36 ล้านบาท (มูลค่าเงินสูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่า)
สำหรับเป้าหมายในปี 2566 ที่กรมประมงตั้งเป้าผลผลิตไว้ที่ 400,000 ตัน ผ่านมาจนถึงเดือนกันยายน ไม่แน่ใจนักว่าผลผลิตกุ้งไทยทำได้กี่เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย
ประเด็นสำคัญของการเลี้ยงกุ้งคือโรคระบาด ที่ผ่านมา ผลผลิตกุ้งไทยลดฮวบจากโรคระบาดในกุ้ง หรือที่เรียกว่า โรคตายด่วน (EMS) จนถึงวันนี้ต้องถามว่าภาครัฐสามารถแก้ไขได้เบ็ดเสร็จแล้วหรือยัง มีความคืบหน้าในแผนยกระดับการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างถูกหลักวิชาการ และผลักดันการเลี้ยงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปถึงไหน เพื่อลดโอกาสการกีดกันการค้าจากประเทศคู่ค้า รวมถึงรัฐกระตือรือร้นที่จะวิจัยพัฒนาและนำเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรมากน้อยเพียงใด มีการวางยุทธศาสตร์สินค้ากุ้งไทยในตลาดโลกให้มีความเป็นกุ้งคุณภาพระดับพรีเมียมแล้วหรือยัง และยังมีอีกหลากหลายแนวทางที่จะพาให้ “กุ้งไทย” กลับมาแข่งขันได้ในเวทีโลกอีกครั้ง
ทั้งหมดนี้ต้องมี “ภาครัฐ” เป็นแกนนำ บนความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนใน “ห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้งไทย” ไม่ใช่ว่าเมื่อใดกุ้งไทยมีไม่พอหรือราคาสูงนักก็จัด “นำเข้ากุ้ง” ชาติอื่นซะเลย แบบนี้มันเรียก...ทุบหม้อข้าวตัวเอง