xs
xsm
sm
md
lg

แรงไปไหม! รมว.ต่างประเทศเยอรมนีซัด ‘จีน’ เป็นความท้าทายต่อวิถีชีวิตร่วมของคนทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุวานนี้ (22 ส.ค.) ว่า จีนกำลัง “เป็นความท้าทายต่อหลักการขั้นพื้นฐานที่คนทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน” พร้อมยืนยันว่าเบอร์ลินจะทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศขนาดกลาง เช่น ออสเตรเลีย เพื่อลดความตึงเครียดในอินโด-แปซิฟิก

ระหว่างให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอลิงก์กับสถาบันคลังสมอง Lowy Institute ในออสเตรเลีย แบร์บ็อค ชี้ว่าประสบการณ์ของออสเตรเลียซึ่งถูกจีนใช้มาตรการกีดกันการค้ามีส่วนทำให้เยอรมนีตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อปักกิ่ง

“จีนเปลี่ยนไป ดังนั้นนโยบายที่เรามีต่อจีนก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน” เธอกล่าว

แบร์บ็อค ยังระบุด้วยว่า แม้จีนจะเป็นหุ้นส่วนในด้านการต่อสู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การค้า และการลงทุน แต่ถือเป็น “คู่แข่ง” เมื่อมองในแง่ของหลักการขั้นพื้นฐานที่คนทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

“เราได้เห็นโลกที่มีการแข่งขันอย่างเป็นระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ระบอบเผด็จการบางรายพยายามที่จะบิดเบือนกฎระเบียบสากลเพื่อขยายอิทธิพลของตนเอง และไม่เพียงใช้อำนาจทางการทหาร แต่รวมถึงพลังทางเศรษฐกิจด้วย” เธอกล่าว พร้อมระบุว่า การที่หลายประเทศหันไปพึ่งพาจีนก็เพราะพวกเขา “ไม่มีทางเลือกอื่น” และเยอรมนีต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้

แบร์บ็อค ย้ำว่า รัฐบาลเยอรมนีไม่สนับสนุนการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่จะเพิ่มความหลากหลายของประเทศคู่ค้าเพื่อลดความเสี่ยง (de-risk)

“เราได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วว่า การพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากรัสเซียฝ่ายเดียวนั้นทำให้ยุโรปอ่อนแออย่างไร และเราไม่ต้องการที่จะทำผิดพลาดซ้ำอีก”

แบร์บ็อค ระบุว่า เยอรมนีมุ่งหวังที่จะนำเข้าแร่หายากและลิเธียมโดยตรงจากออสเตรเลีย และการที่ลิเธียมจากเหมืองในออสเตรเลียส่วนใหญ่ถูกส่งไปผ่านกระบวนการแปรรูปในจีนถือเป็น “ความเสี่ยง” ที่จำเป็นจะต้องแก้ไข เนื่องจาก “การทำเหมืองและการแปรรูปนั้นถือเป็นเรื่องทางภูมิรัฐศาสตร์” เธอบอก

ออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ผลิตลิเธียมราวๆ ครึ่งหนึ่งของโลกต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อสร้างฐานแปรรูปภายในประเทศ แต่ได้ปิดกั้นการลงทุนจากบริษัทจีนไปแล้วถึง 2 รายในปีนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศเมืองเบียร์ยังเอ่ยถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจที่อินโด-แปซิฟิกมีต่อยุโรป โดยระบุว่าเรือสินค้าครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องใช้เส้นทางผ่านช่องแคบไต้หวัน

“ความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันของช่องแคบไต้หวันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และยิ่งรับไม่ได้เลยหากมีการข่มขู่หรือใช้ปฏิบัติการทางทหาร” เธอย้ำ

เยอรมนีเป็น 1 ใน 13 ชาติที่ส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการซ้อมรบภายใต้รหัส Talisman Sabre ที่ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนที่แล้ว และยังได้เปิดสถานทูตขึ้นที่ฟิจิเป็นแห่งแรกในหมู่เกาะแปซิฟิกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20)

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น