ด้วยปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน สร้างความกังวลว่าปักกิ่งอาจชดเชยมันด้วยการโหมกระพือความเสี่ยงทำสงครามกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นไต้หวัน ตามรายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา อ้างความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามความเป็นคู่อริระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งอย่างใกล้ชิด
รายงานของวอยซ์ออฟอเมริกา ระบุว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีน ซึ่งพบเห็นหลักฐานในการเติบโตแบบชะลอตัว การส่งออกดำดิ่ง พันธบัตรเมือง (Municipal Bond) ที่เพิ่มขึ้น อัตราคนว่างงานระดับสูงและภาวะเงินฝืด มีความเป็นไปได้ว่าอาจเลวร้ายลงไปกว่า หากประเทศต่างๆ เดินตามสหรัฐฯ ในการกำหนดข้อจำกัดด้านการลงทุนในจีน
"จีนอาจเคลื่อนไหวก้าวร้าวมากขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากแสนยานุภาพทางทหารสุกงอมแล้ว ดังนั้นมันจึงมีโอกาส" จากคำกล่าวของ ฮัล แบรนด์ ซึ่งเคยทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงกลาโหม ในด้านวางแผนยุทธศาสตร์ ระหว่างปี 2015-2016 ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา
"นี่คือเหตุผลว่าทำไมความอันตรายเกี่ยวกับสงครามไต้หวันจึงอยู่ในระดับสูงสุดในทศวรรษนี้ เพราะว่าจีนมีแสนยานุภาพด้านการทหารมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในขณะที่เศรษฐกิจของพวกเขาเลยจุดพีกและเริ่มเสื่อมถอยลง เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ" คำกล่าวของ แบรนด์ส ผู้เขียนหนังสือโซนอันตราย : ความขัดแย้งกับจีนกำลังมาถึง
แบรนด์ส อ้างว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นมาจะมีความก้าวร้าวมากกว่าเดิม ครั้งที่เศรษฐกิจของพวกเขาชะลอตัวและประสบปัญหาสะสมทางภูมิรัฐศาสตร์ "จีนกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ในวันนี้ ด้วยเศรษฐกิจจีนกำลังมีปัญหา พวกเขาจะพบว่าเป็นเรื่องยากกว่าเดิมที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจผู้นำโลก"
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามในคำสั่งพิเศษเมื่อวันพุธที่แล้ว (9 ส.ค.) ห้ามธุรกิจร่วมลงทุนสหรัฐฯ และบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากการลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัยของจีน ที่อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอเมริกา
หลิว เผิงหยู โฆษกสถานทูตจีน ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออฟอเมริกาในวันพฤหัสบดี (10 ส.ค.) ว่าปักกิ่งมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวของไบเดน ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนก็ออกคำแถลง แสดงความกังวลอย่างยิ่งกับคำสั่งดังกล่าว และขอสงวนสิทธิในการใช้มาตรการตอบโต้
วอยซ์ออฟอเมริการะบุว่า จีนเริ่มมีความเคลื่อนไหวก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในทะเลจีนใต้ ส่งกองเรือเข้าประจำการเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของพวกเขาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะขนาดเล็กต่างๆ และบริเวณแหล่งสำรองทางน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันกว้างขวางที่ยังไม่ขุดเจาะของทะเลแห่งนี้ คำกล่าวอ้างของปักกิ่ง กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ออกมากล่าวอ้างแย่งชิงกรรมสิทธิ์ด้วยความเดือดดาล ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย และบรูไน
นอกจากนี้ ปักกิ่งยังเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในช่องแคบไต้หวัน บริเวณที่สหรัฐฯ ดำเนินปฏิบัติการในสิ่งที่อ้างว่าเป็นการแสดงสิทธิเสรีภาพการเดินเรือ ตอบโต้ท่าทีก้าวร้าวของจีน ต่อเกาะปกครองตนเองไต้หวัน ซึ่ง ปักกิ่ง มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
เส้นทางการค้าเสรีผ่านช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ถูกมองว่ามีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก โดยสินค้ามูลค่ามากกว่า 3.4 ล้านล้าน หรือ 21% ของการค้าโลก ลำเลียงผ่านช่องแคบไต้หวันในแต่ละปี และการเปิดฉากรุกรานไต้หวันของจีน อาจตัดขาดเส้นทางการค้าโลกอันสำคัญนี้
แมตธิว โครนิก รองประธานและผู้อำนวยการอาวุโสแห่งสถาบัน Atlantic Council กล่าวว่า "การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ในภาวะทรงตัวและมีความเป็นไปได้ว่าจะตกต่ำลงในอนาคตอันใกล้"
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าหากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่มีความสามารถที่จะมองเห็นข้อเท็จจริงดังกล่าว มันอาจนำพาให้เขาคำนวณพลาดแบบเดียวกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่เคยคิดว่าจะสามารถบุกยึดยูเครนได้อย่างง่ายดาย
(ที่มา : วอยซ์ออฟอเมริกา)