โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ถูกยื่นฟ้องข้อหาพยายามล้มผลเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2020 ซึ่งถือเป็นการถูกตั้งข้อหาคดีอาญาครั้งที่ 3 ในรอบ 4 เดือน ท่ามกลางความพยายามของเจ้าตัวที่เร่งเดินสายหาเสียงจากบรรดาแฟนคลับด้วยความหวังที่จะกลับมาทวงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาวอีกครั้งในปี 2024
อัยการสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องดำเนินคดี ทรัมป์ รวม 4 กระทง โดยเอกสารคำฟ้องความยาว 45 หน้ากระดาษ ระบุว่า ทรัมป์ มีเจตนาสมคบคิดฉ้อโกงสหรัฐฯ ด้วยการขัดขวางไม่ให้สภาคองเกรสรับรองชัยชนะของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และมีพฤติกรรมอันเข้าข่ายลิดรอนสิทธิของชาวอเมริกันที่จะได้มีกระบวนการเลือกตั้งที่ยุติธรรมโปร่งใส
อัยการยังระบุด้วยว่า ทรัมป์ พยายามเผยแพร่ข้ออ้างที่เขารู้ดีว่าเป็นเท็จ ใช้อำนาจประธานาธิบดีกดดันเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง รวมถึงรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ให้เปลี่ยนแปลงผลการนับคะแนน และสุดท้ายถึงขั้นปลุกปั่นให้มวลชนผู้สนับสนุนก่อเหตุจลาจลบุกรุกอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ม.ค. ปี 2021 ซึ่งถือเป็นการบั่นทอนระบอบประชาธิปไตยอเมริกันเพื่อที่จะยื้ออำนาจของตนเองไว้
ทรัมป์ ถูกออกหมายเรียกให้ไปขึ้นศาลครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันพฤหัสบดีที่ 3 ส.ค. โดยคดีนี้ถูกมอบหมายให้อยู่ในความดูแลของ ทันยา ชัตแคน (Tanya Chutkan) ผู้พิพากษาศาลแขวงซึ่งได้รับการแต่งตั้งในสมัยของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา
การยื่นฟ้องครั้งนี้เป็นผลมาจากกระบวนการสอบสวนโดยอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ (Jack Smith) ซึ่งรับหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่ ทรัมป์ ถูกกล่าวหาว่าพยายามล้มผลเลือกตั้ง
ทรัมป์ ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้สนับสนุนของเขาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ปี 2021 โดยอ้างว่าตนถูกขโมยชัยชนะ และศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนั้นเต็มไปด้วยการทุจริต หลังจากนั้นไม่นานมวลชนที่หนุนหลัง ทรัมป์ ก็พากันเฮโลเข้าไปในอาคารรัฐสภา และก่อเหตุวุ่นวายทำลายทรัพย์สิน โดยหวังขัดขวางไม่ให้สภาคองเกรสประกาศรับรองชัยชนะของ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต
ระหว่างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอังคาร (1 ส.ค.) สมิธ ซึ่งเป็นอดีตอัยการฝ่ายคดีอาชญากรรมสงครามประจำศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ได้กล่าวโทษ ทรัมป์ ว่าเป็นตัวการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในวันนั้น
“เหตุโจมตีรัฐสภาของเราเมื่อวันที่ 6 ม.ค. ปี 2021 ถือเป็นการโจมตีศูนย์กลางของระบอบประชาธิปไตยอเมริกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังที่ได้ระบุเอาไว้แล้วในเอกสารคำฟ้อง เหตุการณ์นี้ถูกโหมกระพือด้วยถ้อยคำหลอกลวงของจำเลย ซึ่งมีเจตนาที่จะสกัดขัดขวางรากฐานการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่กระบวนการรวบรวม นับคะแนน และรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี” สมิธ กล่าว
เหตุจลาจลดังกล่าวได้นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดมากกว่า 1,000 คน
อัยการยังได้ยกตัวอย่างหลายกรณีเพื่อชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์ จงใจแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับผลเลือกตั้ง และยังระบุด้วยว่าที่ปรึกษาคนสนิทของ ทรัมป์ หลายคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงเคยเตือนเขาหลายครั้งว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมทุกอย่าง
“คำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นเท็จ และจำเลยก็ทราบดีว่ามันเป็นเท็จ” อัยการระบุ
เอกสารคำฟ้องยังอ้างถึง “ผู้ร่วมสมคบคิด” อีก 6 รายที่มีส่วนในความพยายามล้มผลเลือกตั้งปี 2020 ทว่ารายชื่อของบุคคลทั้ง 6 ยังไม่ได้รับการเปิดเผย และคนเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกอัยการ สมิธ ตั้งข้อหาแต่อย่างใด
ทรัมป์ และผู้สมคบคิดเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการล่อลวงบุคคลจาก 7 รัฐที่เขาแพ้เลือกตั้งให้ปลอมแปลงเอกสารรับรองว่าตนเองเป็นคณะผู้เลือกตั้ง (electors) ที่ชอบธรรม โดยหวังที่จะสร้างความสับสนในกระบวนการรับรองผลเลือกตั้งในรัฐเหล่านั้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ปี 2020
หลังจากที่ความพยายามดังกล่าวไร้ผล ทรัมป์ ก็หันไปใช้วิธีกดดันรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ให้สกัดขัดขวางกระบวนการรับรองชัยชนะของ ไบเดน และใช้เหตุวุ่นวายที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. เป็นเครื่องมือในการยื้ออำนาจ แม้ที่ปรึกษาหลายคนจะเรียกร้องให้เขาออกคำแถลงเพื่อเบรกความโกรธเกรี้ยวของมวลชน ทว่า ทรัมป์ ก็ไม่สนใจ
ทีมหาเสียงของ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อกล่าวหาของอัยการ โดยยืนยันว่าอดีตประธานาธิบดีวัย 77 ปี ไม่เคยละเมิดกฎหมาย และยังประณามคำสั่งฟ้องครั้งนี้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งที่ชวนให้นึกถึงพฤติกรรมของพวกนาซีเยอรมัน
“ประธานาธิบดี ทรัมป์ จะไม่ยอมแพ้ต่อความพยายามกลั่นแกล้งทางการเมืองที่น่าละอายและไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นนี้!” คำแถลงจากทีมหาเสียง ทรัมป์ ระบุ
ทั้งนี้ สื่อสหรัฐฯ ได้มีการคาดเดาว่า ในบรรดาผู้ร่วมสมคบคิด 6 รายน่าจะรวมถึง รูดี จูเลียนี (Rudy Giuliani) อดีตทนายส่วนตัวของทรัมป์ ซึ่งพยายามต่อสายคุยสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐต่างๆ เพื่อกดดันไม่ให้รับรองผลการเลือกตั้งในปี 2020 เจฟฟรีย์ คลาร์ก (Jeffrey Clark) อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งพยายามผลักดันตนเองขึ้นสู่เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เพื่อที่จะเปิดการสอบสวนข้อกล่าวหาโกงเลือกตั้งที่รัฐจอร์เจียและรัฐสวิงสเตตอื่นๆ จอห์น อีสต์แมน (John Eastman) ซึ่งออกมาชูทฤษฎีทางกฎหมายอย่างผิดๆ ที่ว่ารองประธานาธิบดี เพนซ์ มีอำนาจที่จะขัดขวางกระบวนการรับรองผลเลือกตั้งได้ และ ซิดนีย์ พาวเวลล์ (Sidney Powell) หนึ่งในทีมกฎหมายของ ทรัมป์ ซึ่งเคยพยายามยื่นฟ้องเพื่อล้มผลเลือกตั้ง และมีบทบาทสำคัญในการกระพือข้อกล่าวอ้างเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง
ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สุดที่ ทรัมป์ เผชิญนั้นมีอัตราโทษจำคุกถึง 20 ปี ทว่าคำตัดสินนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมไปถึงดุลพินิจของผู้พิพากษาด้วย
ทรัมป์ นับเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ถูกฟ้องคดีอาญา ซึ่งตัวเขาเองอ้างว่าคดีความเหล่านี้มีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝง และเป็นเครื่องมือที่ฝ่ายตรงข้ามหวังใช้สกัดกั้นไม่ให้ตนได้กลับสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง
สำหรับ แจ็ค สมิธ นั้นได้รับการแต่งตั้งโดย เมอร์ริค การ์แลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ให้เข้ามาทำหน้าที่สอบสวนความผิดของทรัมป์ ซึ่งในบางครั้งกระทรวงยุติธรรมก็จะมีการตั้งอัยการพิเศษให้เข้ามาสอบสวนคดีซึ่งมีความเปราะบางมากๆ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทรวงเองถูกครหาได้ว่ามีความลำเอียงทางการเมือง
ทรัมป์ ถูกอัยการสหรัฐฯ ยื่นฟ้องมาแล้วถึง 3 คดีภายในปีนี้ โดยเมื่อเดือน มิ.ย. สำนักงานของ สมิธ ได้ฟ้องร้องเอาผิด ทรัมป์ รวมทั้งสิ้น 37 กระทงฐานจัดการเอกสารชั้นความลับสุดยอดอย่างผิดกฎหมาย โดยขนเอาเอกสารเหล่านั้นไปเก็บไว้ที่คฤหาสน์ส่วนตัวในรัฐฟลอริดาหลังพ้นตำแหน่ง และยังพยายามขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งติดตามทวงคืนเอกสารเหล่านั้นด้วย
อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ยังถูกสำนักงานอัยการแมนฮัตตันยื่นฟ้องดำเนินคดีฐานจ่ายเงินปิดปาก “สตอร์มมี แดเนียลส์” ดาราหนังโป๊ ไม่ให้ออกมาเปิดเผยความสัมพันธ์ฉันชู้สาวในช่วงก่อนศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016
ทรัมป์ ยังคงปฏิเสธความผิดในทั้ง 2 คดี และอ้างว่ากระบวนการสอบสวนเหล่านี้ รวมไปถึงคดีล้มผลเลือกตั้ง เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ “ล่าแม่มด”
ฟานี วิลลิส อัยการรัฐจอร์เจีย ได้ดำเนินการสอบสวนเรื่องที่ ทรัมป์ และพรรคพวกพยายามแทรกแซงผลการเลือกตั้งในรัฐแห่งนี้มานานกว่า 2 ปี และเธอส่งสัญญาณแล้วว่าอาจจะมีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมกับ ทรัมป์ ภายในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า
แม้จะถูกดำเนินคดีในสารพัดข้อหา แต่ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ทรัมป์ ยังคงเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสายรีพับลิกันที่ได้รับความนิยมสูงสุดเหนือกว่าคู่แข่งรายใดๆ
นักยุทธศาสตร์หลายคนชี้ว่า นอกจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาจช่วยให้ ทรัมป์ ได้รับคะแนนสงสารจากฐานเสียงรีพับลิกันซึ่งเชื่อว่าข้อครหาเหล่านี้เป็นแผนกลั่นแกล้งทางการเมืองแล้ว ในอีกแง่หนึ่งมันก็อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของ ไบเดน ดูแย่ลงในสายตากลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (อินดิเพนเดนต์) ด้วย
เจ้าหน้าที่พรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ที่ไม่อยากจะสร้างความขุ่นเคืองให้ฐานเสียงของ ทรัมป์ ต่างพร้อมใจกันโยนความผิดไปให้ ไบเดน โดยอ้างว่าข้อครหาที่ ทรัมป์ เผชิญล่าสุดนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองแอบแฝง ขณะที่ รอน เดอแซนทิส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นคู่แข่งเบอร์หนึ่งของ ทรัมป์ ในศึกชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน แม้จะไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งฟ้องของอัยการ แต่ก็ลั่นวาจาว่าหากตนได้เป็นประธานาธิบดีจะเข้าไป “หยุดการใช้อำนาจรัฐบาลกลางเป็นอาวุธ” เล่นงานศัตรูทางการเมือง
ทรัมป์ เคยถูกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเดโมแครตคุมเสียงข้างมากยื่นถอดถอนถึง 2 รอบในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยครั้งแรกเกิดจากข้อครหาเล่นสกปรกทางการเมือง กดดันให้ผู้นำยูเครนขุดคุ้ยข้อมูลที่สร้างความเสียหายแก่ โจ ไบเดน และครั้งที่ 2 เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ ทรัมป์ ยั่วยุให้ผู้สนับสนุนบุกโจมตีอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ปี 2021 ทว่า ทรัมป์ รอดพ้นจากการถูกถอดถอนทั้ง 2 รอบ หลังวุฒิสภาลงมติว่าเขาไม่มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา