xs
xsm
sm
md
lg

พูดตอนไหน! ผู้นำปินส์ยันไม่เคยรับปาก ‘จีน’ จะย้ายซากเรือรบออกจากสันดอนพิพาททะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ยืนยันไม่เคยตกลงกับจีนว่าจะยอมย้ายซากเรือรบยุคสงครามโลกออกจากสันดอนพิพาทในทะเลจีนใต้ พร้อมย้ำว่าหากฟิลิปปินส์เคยทำข้อตกลงอย่างที่ว่าจริง ตนขอประกาศ “เพิกถอน” เสียเลย

ฟิลิปปินส์ได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งเข้าไปประจำการบนซากเรือรบเซียร์รา มาเดร (Sierra Madre) ซึ่งเกยตื้นอยู่บนสันดอน Second Thomas Shoal หรือที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า Ayungin Shoal โดยสันดอนแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์

เมื่อวันจันทร์ (7 ส.ค.) รัฐบาลจีนได้ออกมากล่าวหาฟิลิปปินส์ว่าไม่ปฏิบัติตามสัญญา “ที่ให้ไว้อย่างชัดเจน” เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายซากเรือรบ ซึ่งฟิลิปปินส์จงใจเอามาเกยตื้นไว้ตั้งแต่ปี 1999 เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่แถบนี้

“ผมไม่ทราบมาก่อนว่าเคยมีข้อตกลงให้ฟิลิปปินส์ย้ายเรือรบออกจากดินแดนของเราเอง” มาร์กอส ระบุในคำแถลงผ่านคลิปวิดีโอ

“และขอบอกด้วยว่า ถ้าเคยมีข้อตกลงแบบนั้นจริง ผมก็ขอประกาศยกเลิกมันวันนี้เลย”

ก่อนหน้านั้น โจนาธาน มาลายา ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติฟิลิปปินส์ ได้ออกมาท้าทายจีนให้แสดงหลักฐานพิสูจน์ว่ามะนิลาเคยไปทำข้อตกลงดังกล่าวไว้เมื่อไหร่

“ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม มันเป็นเพียงเรื่องที่พวกเขาแต่งขึ้นจากจินตนาการเท่านั้น” มาลายา กล่าว

ด้านสถานทูตจีนประจำกรุงมะนิลาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนและฟิลิปปินส์เคยเกิดการกระทบกระทั่งกันหลายครั้งบริเวณสันดอน Second Thomas Shoal โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (5) ซึ่งฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเรือยามฝั่งจีนใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงโจมตีเรือที่จะไปส่งเสบียงให้ทหารบนเรือรบเซียร์รา มาเดร

มาลายา ย้ำว่า ฟิลิปปินส์ “มุ่งมั่น” ที่จะคงซากเรือรบดังกล่าวเอาไว้บนสันดอนเพื่อเป็น “สัญลักษณ์บ่งบอกถึงอธิปไตยของชาติ เนื่องจากสันดอนแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในเขต EEZ ของฟิลิปปินส์”

ทั้งนี้ นิยามของคำว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือ EEZ นั้นหมายถึงการที่ประเทศหนึ่งๆ ได้สิทธิในการทำประมงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติภายในอาณาเขต 200 ไมล์ทะเลห่างจากชายฝั่ง ส่วนกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจ เช่น การเดินเรือและการบิน ไม่ถือว่าตกอยู่ในสิทธิอธิปไตยของรัฐชายฝั่งนั้นๆ

ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก เคยมีคำตัดสินเข้าข้างฟิลิปปินส์ในปี 2016 โดยระบุว่าการที่จีนอ้างอธิปไตยแบบครอบคลุมเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดนั้น “ไม่มีพื้นฐานกฎหมายรองรับ” ซึ่งรวมถึงบริเวณสันดอน Second Thomas Shoal ด้วย

จีนได้เข้าไปถมทะเลสร้างเกาะเทียมและเสริมกำลังทหารตามเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลจีนใต้ โดยอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ตามแผนที่เส้นประ 9 เส้น ซึ่งไปทับซ้อนกับเขต EEZ ของฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย

เจย์ บาทงบาคาล ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ (University of Philippines) ระบุว่า การที่จีนพยายามควบคุมสันดอน Second Thomas Shoal ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่พื้นที่จุดนี้ยังนับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้ก่อสร้างฐานทัพด้วย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น