จีนย้ำข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันอังคาร (8 ส.ค.) ให้ฟิลิปปินส์ทำตามสัญญาด้วยการลากจูงเรือรบยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ลำหนึ่งซึ่งเกยตื้นอยู่ให้ออกไปจากแนวปะการัง โดยที่ขณะนี้แดนตากาล็อกกำลังใช้เรือลำนี้เป็นที่มั่นทางทหารเพื่อยืนยันส่วนได้ส่วนเสียของตนในหมู่เกาะสแปรตลีย์ อันเป็นการท้าทายการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้แทบทั้งหมดของปักกิ่ง
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากฟิลิปปินส์กล่าวหาเรือของหน่วยยามฝั่งจีนฉีดน้ำแรงดันสูงใส่เรือลำเลียง 2 ลำของแดนตากาล็อกที่กำลังขนเสบียงเพื่อไปส่งให้หน่วยทหารฟิลิปปินส์บนเรือรบเก่าดังกล่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองจากประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ได้กลับปะทุขึ้นมาอีกในสมัยของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงนโยบายจากการโปรจีนในยุคของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต หวนกลับไปกระชับมิตรกับอเมริกาที่มุ่งให้การสนับสนุนพวกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในข้อพิพาททางทะเลกับปักกิ่ง
สันดอน หรือแนวปะการังเซ็กคันด์ โธมัส โชล ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์ ถูกมะนิลาใช้เป็นที่มั่นในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ โดยที่มีกำลังทหารฟิลิปปินส์หยิบมือหนึ่งประจำอยู่บนเรือรบเก่าชื่อ บีอาร์พี เซียร์รา มาเดร ที่มะนิลาจงใจแล่นเกยตื้นทิ้งเอาไว้ตั้งแต่ปี 1999 เพื่อย้ำข้อเรียกร้องอธิปไตยเหนือบริเวณนั้นของฝ่ายตน
มะนิลากล่าวหาหน่วยยามฝั่งจีนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการขัดขวางไม่ให้ฝ่ายตนสามารถจัดส่งเสบียงสัมภาระแก่กองทหารฟิลิปปินส์บนเรือลำดังกล่าว กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นคือเมื่อวันเสาร์ (5) ที่ผ่านมา โดยเรือของหน่วยยามฝั่งจีนใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดใส่เรือลำเลียงฟิลิปปินส์ที่กำลังปฏิบัติภารกิจจัดส่งเสบียง
กองทัพฟิลิปปินส์ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของหน่วยยามฝั่งจีน “อุกอาจและรุนแรงเกินไป” ขณะที่จีนโต้ว่า เป็นแค่ “การเตือน “และจีนพยายาม “อดกลั้นอย่างเหมาะสม” มาตลอด พร้อมกล่าวหามะนิลาจัดส่งวัสดุก่อสร้างผิดกฎหมายให้เรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร
ในวันอังคาร (8 ) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ฟิลิปปินส์ให้สัญญาอย่างชัดเจนมาหลายครั้งว่า จะลากจูงเรือรบดังกล่าวที่เกยตื้นบนสันดอนเซ็กคันด์ โธมัส โชล อันเป็นพฤติการณ์ที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศออกไปเสีย แต่เวลาผ่านมา 24 ปี นอกจากไม่รักษาสัญญาแล้ว ฟิลิปปินส์ยังพยายามซ่อมเรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดรและดำเนินการเพื่อยึดครองสันดอนแห่งนั้นเป็นการถาวร ดังนั้น จีนจึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้มะนิลาลากจูงเรือลำดังกล่าวออกไปทันที และฟื้นสถานะของเซ็กคันด์ โธมัส โชล ในการเป็นสันดอนที่ไม่มีผู้ครอบครองหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ
ขณะที่กระทรวงกลาโหมจีนรบเร้ามะนิลาให้ยุติการกระทำ “ที่เป็นการยั่วยุ” ทั้งหมด พร้อมกับประกาศว่าจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องอธิปไตยและสิทธิทางทะเลของประเทศตน
วันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์โต้ตอบว่า การประจำการทหารอย่างถาวรบนสันดอนเซ็กคันด์ โธมัส โชล เป็นการตอบโต้ที่จีนเข้ายึดครองสันดอนมิสชีฟ ที่อยู่ใกล้กันอย่างผิดกฎหมายเมื่อปี 1995
นอกจากนี้ ถึงแม้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ทว่าเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ระบุเมื่อวันจันทร์ (7) ว่า เรือลำเลียง 1 ใน 2 ของมะนิลาไม่สามารถส่งเสบียงให้สำเร็จได้ และทั้ง 2 ลำต้องย้อนกลับไปที่ท่าเรือของฟิลิปปินส์
ทางด้าน โจนาธาน มาลายา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติของแดนตากาล็อกสำทับว่า ฟิลิปปินส์จะทำทุกทางเพื่อส่งอาหาร สัมภาระ และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ให้เรือบีอาร์พี เซียร์รา มาเดร และย้ำว่า ฟิลิปปินส์จะไม่ทอดทิ้งที่มั่นบนสันดอนเซ็กคันด์ โธมัส โชล และเรียกร้องให้จีนยุติการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง หรือใช้แสงเลเซอร์เกรดที่ใช้ในการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งทำให้ชีวิตคนฟิลิปปินส์ตกอยู่ในอันตราย
รูฟัส โรดริเกซ นักกฎหมายฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้มาร์กอสใช้มาตรการแข็งกร้าวมากขึ้นเพื่อจัดการการล่วงละเมิดและรังแกของจีน ซึ่งรวมถึงการลดขนาดสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ในปักกิ่ง
ในส่วนของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและฝรั่งเศสในมะนิลา ต่างแสดงความกังวลกับการกระทำของจีน และย้ำการสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2016 ที่ไม่รับรองการกล่าวอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ของจีน
สำหรับ หวง ซีเหลียน เอกอัครราชทูตจีนประจำมะนิลากล่าวระหว่างการพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันจันทร์ว่า จีนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตอบโต้ และว่า จีนเฝ้ารอฟังความคิดเห็นจากฟิลิปปินส์ และหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มหารือกันโดยเร็วที่สุดเพื่อร่วมกันรักษาสันติภาพและความสงบในน่านน้ำดังกล่าว
ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงมะนิลาออกคำแถลงในเวลาต่อมา วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ว่า กำลังพยายามรวบรวมพันธมิตรของตนเพื่อโหมกระพือประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้และกรณีเรือยามฝั่งจีนกับเรือลำเลียงฟิลิปปินส์คราวนี้ให้เกรียวกราวเข้าไว้
“ทะเลจีนใต้ไม่ได้เป็น ‘สวนสัตว์ซาฟารี’ สำหรับให้พวกประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคนี้เข้ามาสร้างความปั่นป่วนและยุแหย่ให้เกิดความไม่ลงรอยกันขึ้นมา”
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)