รัสเซียเริ่มเปิดให้ผู้บริโภคในประเทศทดลองใช้ “รูเบิลดิจิทัล” ในสัปดาห์นี้ ด้วยความหวังว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของต่างชาติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ามันอาจเป็นเครื่องมือให้ภาครัฐสามารถควบคุมการใช้ชีวิตของพลเมืองหมีขาวได้มากขึ้นไปอีก
รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency - CBDC) มากที่สุด โดยเริ่มเปิดการทดลองใช้รูเบิลดิจิทัลเฟสแรกกับสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคตั้งแต่วันอังคาร (15 ส.ค.) ที่ผ่านมา
แม้โครงการทดสอบนำร่องจะครอบคลุมแค่การชำระเงินในวงเงินที่ไม่มาก เช่น การเติมเงินในวอลเล็ต การโอนเงินระหว่างบุคคล การซื้อสินค้าและบริการโดยใช้คิวอาร์โค้ด การชำระเงินอัตโนมัติที่ไม่ซับซ้อน และการหักบัญชีโดยตรง เป็นต้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าธนาคารกลางรัสเซียน่าจะมีแผนการที่ใหญ่กว่านั้นรออยู่
ธนาคารกลางรัสเซียได้ร่วมมือกับห้างค้าปลีก 30 แห่งใน 11 เมืองทั่วประเทศ ธนาคาร 13 แห่ง รวมถึงระบบรถไฟใต้ดินมอสโกทำโครงการนำร่องในเฟสแรก และคาดว่าจะขยายไปยังธนาคารอีกราว 16 แห่งในเฟสที่ 2
การทดสอบใช้งานรูเบิลดิจิทัลเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เงินรูเบิลรัสเซียอ่อนค่าลงแตะระดับที่ต่ำสุดเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2022 เป็นต้นมา หรือไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่มอสโกเริ่มเปิดปฏิบัติการทางทหารรุกรานยูเครนเต็มขั้น
แม้รัฐบาลรัสเซียจะมีแนวคิดในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลมานานหลายปีแล้ว ทว่าการพัฒนารูเบิลดิจิทัลเพิ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนหลังจากที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรเล่นงานเศรษฐกิจรัสเซียอย่างครอบคลุม และทำให้รัสเซียถูกปิดกั้นจากระบบธนาคารโลกบางส่วน
ข้อมูลจากสภาแอตแลนติก (Atlantic Council) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียถือเป็นหนึ่งใน 21 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มเข้าสู่ระยะนำร่องของการใช้สกุลเงินดิจิทัล โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือ เพื่อให้ระบบการเงินมีความยืดหยุ่น และบรรเทาผลกระทบจากข้อจำกัดในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ
มิกเกล มอร์ช ผู้ก่อตั้งกองทุน APK36 ซึ่งเน้นด้านการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ให้ความเห็นว่า การใช้รูเบิลดิจิทัลจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของรัสเซียในการหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัสเซียสามารถหลีกเลี่ยงระบบธนาคารที่อาจมีข้อจำกัดมากมาย อีกทั้งการจะคว่ำบาตรหรือโจมตีระบบบล็อกเชน “ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”
ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ของรัสเซียถูกห้ามไม่ให้เข้าถึงเครือข่ายธุรกรรมการเงินโลก ซึ่งเท่ากับบีบให้มอสโกต้องมองหาช่องทางอื่นๆ ในการลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ (de-dollarise)
มอร์ช ชี้ว่า การสร้างรูเบิลดิจิทัลขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกลุ่มประเทศที่สนับสนุนดอลลาร์สหรัฐ กับกลุ่มประเทศที่ต่อต้านหรือต้องการลดทอนอิทธิพลของเงินดอลลาร์
เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2020 ธนาคารกลางรัสเซียได้ประกาศแผนที่จะสร้างเงินรูเบิลดิจิทัล “เพื่อทำให้การชำระเงินมีความปลอดภัย รวดเร็ว สะดวก และประชาชนในทั่วทุกพื้นที่ของรัสเซียสามารถเข้าถึงได้”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การสนับสนุนให้ประชาชนหันไปใช้รูเบิลดิจิทัลยังเป็นการเอื้อให้รัฐสามารถ “ควบคุม” ธุรกรรมการเงินของพลเมืองได้อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น และอาจเรียกเก็บค่าปรับหรือแม้กระทั่งอายัดทรัพย์สินของประชาชนได้ “ด้วยการคลิกปุ่มเดียว”
องค์กรซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลความปลอดภัยโครงสร้างทางการเงินของรูเบิลดิจิทัลก็คือ หน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย หรือ FSB ขณะที่เอ็นจีโอหลายกลุ่มเริ่มส่งเสียงเตือนว่าอาจจะเกิดการละเมิดสิทธิขึ้น
“หากข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือขององค์กรหรือบุคคลที่ไม่สมควรเข้าถึง มันอาจถูกใช้เพื่อสอดแนมการใช้จ่ายส่วนตัวของพลเมืองได้” นักวิเคราะห์จากสภาแอตแลนติกระบุ
แม้แผนการโปรโมตรูเบิลดิจิทัลจะคล้ายคลึงกับแผนผลักดันเงิน “หยวนดิจิทัล” ของจีน ซึ่งเริ่มทำโครงการนำร่องในหลายเมืองพร้อมกันก่อนจะขยับขยายอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ใช่ว่าแผนทั้งหมดจะราบรื่นด้วยดี โดยก่อนหน้านี้ผู้นำธุรกิจและธนาคารท้องถิ่นหลายรายได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรูเบิลดิจิทัล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความประหลาดใจที่ Sberbank ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินและบริษัทไอทีใหญ่ที่สุดของรัสเซีย กลับไม่เข้าร่วมในโครงการนำร่องนี้
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นพบว่าคนรัสเซียส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจที่จะใช้รูเบิลดิจิทัลกันสักเท่าไหร่ ขณะที่บางคนยังกังวลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบนี้
ผลโพลของสถาบัน VCIOM ในรัสเซียพบว่า ชาวรัสเซียราว 6 ใน 10 ยัง “ไม่ค่อยเข้าใจ” ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายอะไรในการออกรูเบิลดิจิทัล และไม่พร้อมที่จะใช้สกุลเงินดังกล่าว
ด้านโพลซึ่งจัดทำโดย Bankinform พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 13% ที่กระตือรือร้นอยากจะทดลองใช้รูเบิลดิจิทัล 34% ตอบว่าสนใจแต่ยังไม่อยากทดลองใช้ และอีก 21% ตอบว่าไม่สนใจเลย
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ มีผู้ตอบคำถามถึง 32% ที่มองว่ารูเบิลดิจิทัลอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการ “ฉ้อโกง”
รัฐบาลรัสเซียยืนยันว่า การใช้รูเบิลดิจิทัลนั้นให้เป็นไปโดย “ความสมัครใจ” ของประชาชน แต่ก็ย้ำว่ามันจะช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดวกง่ายดายขึ้นมาก
โซเฟีย โดเนตส์ นักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า คนรัสเซียทั่วไปรวมถึงบริษัทต่างๆ จะยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วงการทดลองเฟสแรก และแม้จะมีความกังวลเรื่องการละเมิดสิทธิพลเมือง แต่ โดเนตส์ มองว่าเจตนาข้อหนึ่งของรัฐบาลคือการทำให้รัสเซียไม่กลายเป็นชาติที่ “ตกขบวน” ในยุคที่เงินดิจิทัลกำลังเฟื่องฟู
ปาเวล คาชิตซิน ผู้บริหาร Expert RA ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย คาดว่าอาจจะต้องรอถึง 3 ปีกว่าพลเมืองรัสเซียส่วนใหญ่จะสามารถทำธุรกรรมการเงินส่วนใหญ่ผ่านรูเบิลดิจิทัลได้ ขณะที่ เยกอร์ ครีโวเชยา ประธานบริษัทด้านบล็อกเชนและฟินเทค Skolkovo แสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลรัสเซียจะนำรูเบิลดิจิทัลมาใช้ในระบบการจ่ายเงินของภาครัฐ เช่น จ่ายให้ผู้รับเหมาสัญญาในโครงการประมูลต่างๆ รวมถึงจ่ายเป็นสวัสดิการให้ประชาชน เช่น เงินบำนาญ เป็นต้น