ค่าเงินรูเบิลรัสเซียคงที่อยู่ในระดับใกล้ๆ 97 รูเบิลแลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันพุธ (16 ส.ค.) หลังจากธนาคารกลางแดนหมีขาวปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบชวนตะลึงจาก 8.5% สู่ระดับ 12% ในการประชุมฉุกเฉินวันอังคาร (15) และท่ามกลางกระแสคาดเก็งกันว่ามอสโกยังอาจใช้มาตรการอื่นๆ อีกเพื่อพยุงสกุลเงินรูเบิลจากที่ดำดิ่งแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 เดือนเมื่อเทียบกับสกุลเงินตราสหรัฐฯ
การประชุมฉุกเฉิน รวมทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 3.5% เมื่อวันอังคาร (15) มีขึ้นเพื่อรับมือกับการที่รูเบิลกำลังอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนร่วงทะลุหลักหมายสัญลักษณ์ 100 รูเบิลเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเริ่มต้นของสัปดาห์นี้ และทำเนียบเครมลินส่งเสียงเรียกร้องอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
ณ เวลา 07.15 น.วันพุธตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับ 14.15 น.เวลาในไทย) รูเบิลอ่อนตัวลงจากราคาปิดวันก่อน 0.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยอยู่ที่ 97.17 และลดมูลค่าลง 0.2% โดยซื้อขายที่ 106.17 เมื่อเทียบกับเงินยูโร นอกจากนั้นก็หดหายไป 0.2% เทียบกับเงินหยวน โดยอยู่ที่ 13.28
ตลอดช่วงสัปดาห์นี้ได้เห็นเงินรูเบิลมีค่าผันผวนหนักหน่วงที่สุดในการซื้อขายในรอบหลายๆ ปี โดยหล่นลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 17 เดือนเมื่อต้องใช้ถึง 101.75 รูเบิลจึงแลกได้ 1 ดอลลาร์ในวันจันทร์ (14) ก่อนพุ่งขึ้นมาซื้อขายกันที่ 92.60 เป็นช่วงสั้นๆ ตอนเช้าวันอังคาร (15) และปิดวันนั้นที่ 97.09
แบงก์ชาติรัสเซียให้เหตุผลการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ ในวันอังคารว่า “เพื่อจำกัดความเสี่ยงต่างๆ ที่มีต่อเสถียรภาพทางราคา” พร้อมกับบอกว่า "ธนาคารกลางรัสเซียจะทำการตัดสินใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคำนึงถึงพลวัตเงินเฟ้อที่แท้จริงและพลวัตเงินเฟ้อคาดการณ์ เทียบเคียงกับระดับเงินเฟ้อเป้าหมาย"
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ต่างมองว่า การประชุมฉุกเฉินของแบงก์ชาติรัสเซียคราวนี้มีขึ้น หลังจากที่เมื่อวันจันทร์ (14) มักซิม โอเรชกิน ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เขียนบทความพิเศษให้สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซีย โดยวิจารณ์ว่า สาเหตุที่เงินรูเบิลอ่อนค่าหนักเป็นเพราะนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนของธนาคารกลางรัสเซีย
คำวิจารณ์ออกสื่อดังกล่าวยิ่งเพิ่มแรงกดดันเป็นพิเศษต่อ เอลวิรา นาบิอูลลินา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน มี.ค. ปี 2024 ขณะที่ประชาชนทั่วไปกำลังประสบปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2023 ค่าเงินรูเบิลดำดิ่งลงมาเกือบๆ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในขณะที่รัสเซียต้องเผชิญกับรายได้การส่งออกที่ลดลง แต่การนำเข้าเพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายด้านการทหารที่สูงกว่าเดิม
นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าธนาคารกลางมีการกระชับนโยบายการเงินไปแล้ว โดยราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี
ถึงแม้การขยับดอกเบี้ยขึ้นไปมากในวันอังคาร สามารถหยุดยั้งการไหลรูดของค่ารูเบิลลงได้ แต่พวกนักวิเคราะห์ทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายรัสเซียต่างเห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่า ยังน่าจะไม่เพียงพอหยุดยั้งการอ่อนตัวของสกุลเงินตรารัสเซียในระยะยาวไกลกว่านี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในคืนวันอังคารว่า กำลังมีการหารือกันเกี่ยวกับการรื้อฟื้นมาตรการควบคุมเงินทุนกลับมาใช้ ทว่ายังไม่มีการตัดสินใจอย่างชัดเจน กระนั้นข่าวนี้ก็มีส่วนหนุนค่ารูเบิลในการซื้อขายช่วงหลังๆ มานี้
ส่วนสำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ของรัสเซียรายงานในวันพุธ (16) โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อ 3 รายบอกว่า กำลังมีการหารือเพื่อใช้มาตรการบังคับให้พวกผู้ส่งออกต้องนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศของพวกตนไม่เกิน 90% มาแลกเปลี่ยนเป็นรูเบิล เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)