“รมว.ต่างประเทศ” ยันไทยเป็นกลางกรณีอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ประสานเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตกเป็นตัวประกัน ชี้โลกเปลี่ยนจากยุค globalization สู่ “ยุคภูมิรัฐศาสตร์” ซึ่งมีผลกระทบต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะที่มหาอำนาจเริ่มขัดแย้งรุนแรง หลัง “ทรัมป์” ออกนโยบายกีดกันการค้าสกัดจีน พร้อมระบุ ไทยเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ยุ่งการเมือง-มุ่งแต่การค้า เชื่อเศรษฐกิจอินเดียเติบโตเทียบเท่าจีน เป็นโอกาสที่ไทยจะชักชวนมาลงทุน อีกทั้งการที่จีนเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจในพม่า-ลาว-กัมพูชา จะส่งผลให้การค้าชายแดนคึกคัก เผยเตรียมเรียกทูตไทยจากทั่วโลกประชุมเพื่อกำหนดนโยบาย
จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่อยู่ในปาเลสไตน์ ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีผู้ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ทั้งชาวเยอรมนี เม็กซิโก โคลัมเบีย กัมพูชา รวมถึงคนไทยซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันถึง 14 คน ขณะที่แต่ละประเทศต่างเร่งประสานเพื่ออพยพคนของตัวเองออกจากอิสราเอล ทำให้ประเด็นเรื่องการเจรจาทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก
อีกทั้งหลายคนอยากรู้ว่าไทยจะมีจุดยืนอย่างไรท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และการช่วงชิงความเป็นใหญ่ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย รวมถึงอินเดียซึ่งกำลังขึ้นมามีบทบาทในขณะนี้?
ผู้ที่จะไขข้อข้องใจเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคงจะเป็นใครไม่ได้ นอกจาก “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
สำหรับกรณีการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสนั้น ดร.ปานปรีย์ ชี้แจงว่า รัฐบาลไทยไม่ได้มีการประณามฝ่ายใดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ประณามเรื่องการใช้ความรุนแรงเท่านั้น ส่วนการเจรจาช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล โดยตนได้ให้อิสราเอลใช้ความพยายามสูงสุด เพื่อให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกกักตัวให้เร็วที่สุด ขณะที่รัฐบาลอิสราเอลได้แสดงความเป็นห่วงและแสดงความเสียใจมายังประชาชนชาวไทยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอลซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสีย และถูกกักตัว
“ตอนนี้เรายังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าทางการเมืองระหว่างประเทศเกิดอะไรขึ้น และเราไม่ได้ประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่เราประณามเรื่องการใช้ความรุนแรง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวไทยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถที่จะรับได้” ดร.ปานปรีย์ ระบุ
ดร.ปานปรีย์ ยังได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของไทยที่ยืนอยู่ระหว่างการต่อกรของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ ว่า หากเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศมหาอำนาจในยุคปัจจุบันกับในอดีตจะเห็นว่าแตกต่างกันมาก เช่น ในยุคที่ท่านทักษิณเป็นนายกฯ การเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจยังไม่รุนแรง ยังอยู่ในช่วงของ globalization หรือโลกาภิวัตน์ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกายังไม่ชัดเจน อาจมีความขัดแย้งบ้างเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในกรอบของระเบียบโลก ดังนั้น การดำเนินการเรื่องการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ การค้า หรือความร่วมมือระหว่างประเทศสามารถทำได้อย่างอิสระ ไม่ต้องถึงขั้นว่าถ้าไปทางนี้ ทางโน้นจะคิดอย่างไร ไปทางซ้าย ทางขวาคิดอย่างไร ขณะที่ด้านการค้าระหว่างประเทศมีการทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้า (FTA : Free Trade Area) ภายใต้ระเบียบของ WTO โดยมีทั้งประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วเข้าร่วม ไทยก็เข้าร่วมด้วย แม้แต่ประเทศจีน ช่วงหลังก็เข้ามาร่วมด้วยเช่นกัน
พอมาถึงยุคปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เนื่องจากในช่วงที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีนโยบายชัดเจนว่า America frist คือมุ่งแต่ประโยชน์ชองอเมริกาอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าประเทศอื่นจะมีความสำคัญเท่าอเมริกา และการค้าในยุคทรัมป์ มีนโยบายกีดกันทางการค้า สวนทางกับแนวทางของระเบียบโลก ทั้ง WTO และ FTA ที่อเมริกาเป็นต้นแบบ เนื่องด้วยทรัมป์มองว่าประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้านั้นถือเป็นการเอาเปรียบ
ขณะที่ประเทศไทยนั้น หลังยุคนายกฯ ทักษิณ FTA ของเราแผ่วลง ปัจจุบันถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น FTA ของไทยค่อนข้างน้อย คือมีการทำ FTA กับประเทศต่างๆ แค่ 14 ประเทศ ซึ่งมีผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เนื่องจากการมี FTA ทำให้คนที่มาลงทุนในประเทศสามารถส่งสินค้าออกไปประเทศคู่ค้าที่มีการทำข้อตกลง FTA หรือเปิดเสรีการค้าร่วมกันโดยไม่มีกำแพงภาษี ทำให้ต้นทุนต่ำ ขณะที่คนที่มาลงทุนในไทยส่งสินค้าไปขายในประเทศที่ไม่มีการทำ FTA กับไทย มันติดกำแพงภาษี ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงหันไปสนใจลงทุนในประเทศที่มี FTA มากกว่า
“วิเคราะห์กันว่าสาเหตุที่ทำให้ทรัมป์มีนโยบายกีดกันการค้าเพราะเขามองว่าการที่ประเทศจีนได้ดุลการค้าเยอะมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนเติบโต ซึ่งการที่เศรษฐกิจจีนดี สามารถแก้ปัญหาภายในประเทศได้และเริ่มมั่นคงมากขึ้น จึงมีอานุภาพทางการทหารมากขึ้น และในอนาคตประเทศจีนจะมีเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกา จีนจะขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลก ทำให้ทรัมป์คิดว่าถ้าไม่กลับหลังหันตามแนวทางที่อเมริกาทำมา จีนจะยิ่งโตไปกันใหญ่ และประเด็นนี้มีเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้ามาด้วย คืออเมริกาเป็น เจ้าของเทคโนโลยี ในขณะที่จีนเรียนรู้เทคโนโลยีจากตะวันตก เช่น อเมริกา ยุโรป และจีนทำได้ดีมาก ตรงนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญ ทำให้ในยุคทรัมป์มีการประกาศนโยบายกีดกันการค้าอย่างชัดเจน” ดร.ปานปรีย์ ระบุ
ดร.ปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ต่อมาในยุคที่ นายโจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนคอยดูว่าทรัมป์ทำแบบนี้ ชาวโลกว่ามันไม่ดี แล้วไบเดนจะทำต่อไหม ปรากฏว่าไบเดนเดินตามแนวทางของทรัมป์ แนวทางไม่เปลี่ยนแต่ไม่ใช้วาทกรรมที่รุนแรงเท่า คือในยุคนี้เป็นยุคของภูมิรัฐศาสตร์ ยุคที่ผลกระทบทางภูมิศาสตร์มีผลต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ละประเทศเริ่มมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ประเทศจีนมีปัญหากับไต้หวันเรื่องทะเลจีนใต้ ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งหนุนไต้หวันก็ไม่ยอม จีนก็ไม่ยอมสหรัฐฯ เหมือนกัน คือทิศทางในเรื่องการค้ายังค้าขายกันอยู่ แต่ในเรื่องความมั่นคงนั้นเริ่มมีความเสี่ยง
“จะเห็นว่าจีนกับสหรัฐฯ แม้ไม่ได้รบกัน แต่แข่งขันกันทางด้านการค้า ขณะที่ยูเครนกับรัสเซียอยู่ในจุดที่ต้องเลือกว่าใครจะอยู่ฝั่งไหน ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศปั่นป่วน supply chain ก็งงไปหมด ว่า เอ๊ะ เราจะเลือกอยู่ข้างประเทศไหนดี อยู่ข้างจีน ขายสินค้าให้อเมริกาได้ไหม อยู่ข้างอเมริกา ขายสินค้าให้จีนได้ไหม หรืออยู่ข้างจีน จะขายสินค้าให้ยุโรปได้ไหม คือ งงกันไปหมด สถานการณ์ปัจจุบันเป็นแบบนี้” รมว.ต่างประเทศ กล่าว
ดร.ปานปรีย์ มองว่า อีกประเทศที่มีความน่าสนใจคืออินเดีย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตใกล้เคียงกับจีน และเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่กำลังขึ้นมาอยู่ในสายตาชาวโลก การทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดียตนไปร่วมเจรจาด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดียนั้นถือว่าดีมาก โดยอินเดียอาจจะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยเติบโตเร็วเท่ากับประเทศจีน เนื่องจากอินเดียมีประชากรจำนวนมหาศาล และผู้นำประเทศคือ นายนโลยี หลัง นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นผู้นำที่เก่ง สามารถเจรจากับมหาอำนาจได้ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐอเมริกา หรือรัสเซีย โดยอินเดียสามารถซื้อพลังงานจากรัสเซียได้โดยไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
รมว.ต่างประเทศ ย้ำว่า การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศนั้นการสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในเรื่องความสัมพันธ์เราไม่ควรเลือกข้าง แต่เรื่องการค้าเป็นสิทธิที่เราจะเลือกโดยดูผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศเป็นหลัก น้ำมันของใครถูก ไทยซื้อที่นั่น ประเทศใดจะมาสกัดไม่ให้ไทยซื้อของถูกทำไม่ได้ เพราะมันกระทบค่าครองชีพของประชาชนไทย กระทบต้นทุนของผู้ผลิตของภาคเอกชน
อีกทั้งการวางนโยบายด้านต่างประเทศต้องรู้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงระหว่างไทยกับนานาประเทศทั่วโลก โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราจะสัมพันธ์กับโลกได้อย่างไร คนไทยต้องรู้ ต้องเข้าใจ ถ้าคนไทยรู้และเข้าใจก็จะสามารถเอามาปรับใช้ ทำให้ไทยมีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
“เราต้องเป็นกลางคือสร้างดุลยภาพระหว่างประเทศ โดยด้านความสัมพันธ์ เราต้องแสดงความเป็นมิตรกับทุกประเทศ ส่วนเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องของแต่ละประเทศไป ไม่เกี่ยวกับเรา อย่างพม่า เราก็ค้าขายกัน แม้ระบอบการปกครองเขาจะเปลี่ยนไป ชายแดนเราก็ค้าขาย เราจะไปปิดด่านชายแดนไม่ให้ประชาชนค้าขายบริเวณแนวชายแดน ก็แย่ล่ะสิ” รมว.ต่างประเทศ กล่าว
ส่วนกรณีที่จีนรุกทางด้านเศรษฐกิจเข้าไปในลาวและเวียดนามนั้น ดร.ปานปรีย์ ชี้ว่า เรื่องนี้มองได้ 2 มุม คือ มุมหนึ่งอาจมองว่าเป็นการรุกราน แต่อีกมุมหนึ่งมองว่าเป็นความช่วยเหลือ เนื่องจากประเทศที่ระบบเศรษฐกิจยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร การที่จะให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาขึ้นได้ต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้าไป ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการที่จีนช่วยให้ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทยเจริญขึ้น จะส่งผลดีต่อประเทศไทยด้วยเพราะจะทำให้การค้าตามแนวชายแดนของไทยคล่องตัวขึ้น
รมว.ต่างประเทศ ยังได้เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศเตรียมที่จะเรียกเอกอัครราชทูตไทยซึ่งประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาประชุมพร้อมกันเพื่อพูดคุย รับฟังปัญหา และกำหนดนโยบายการต่างประเทศร่วมกัน อันจะนำไปสู่การส่งเสริมด้านความสัมพันธ์ การค้า และความมั่นคงของไทยในมิติต่างๆ อย่างยั่งยืน
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j