“สนธิ” มองการเมืองโลกปี 2567 มหาอำนาจเดี่ยวอย่างสหรัฐฯ จะสั่นคลอนและเสื่อมถอยหนักจากปัญหาภายในของประเทศตัวเอง และถูกท้าทายโดยขั้วอำนาจใหม่อย่าง “จีน-รัสเซีย-ชาติมุสลิม” สงครามยูเครนจะยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของเซเลนสกี ศึกอิสราเอล-ฮามาสจะขยายวงสู่ระดับภูมิภาค ความขัดแย้งในเอเชีย-แปซิฟิกทวีความเข้มข้น
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองโลกว่า ในปี 2567 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน“มหาอำนาจเดี่ยว”อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีลูกไล่คือ อังกฤษ อียู ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จะถูกสั่นคลอนจากการท้าทายของขั้วอำนาจใหม่อย่าง“จีน-รัสเซีย-ชาติมุสลิม”และสงครามยูเครนจะยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของยูเครน แต่การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่จะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา โลกเผชิญกับสงครามใน 3 ภูมิภาคพร้อม ๆ กัน คือ
- สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในยุโรป ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
- สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในตะวันออกกลาง เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีนี้
- สงครามในพม่า ในเอเชีย เริ่มทวีความรุนแรงชัดเจนเมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม ปีนี้
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลกสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างชัดเจน โดยมีเค้าลางมาตั้งแต่ผ่านพ้นการระบาดของโรคโควิด-19 และเริ่มปะทุเป็นการปะทะห้ำหั่นกันใน ปีนี้ 2566 ส่วนใน ปีหน้า 2567 การเปลี่ยนแปลงจะยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยหากเปรียบเทียบเป็นหมากล้อมก็จะเป็นการกระชับวงล้อม จนหมากที่ถูกล้อมขยับไม่ได้ หรือถ้าเป็นหมากรุกก็จะถึงเกมที่เตรียมจะรุกฆาตแล้ว
สิ่งที่เราได้เห็นจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นขึ้น ก็คือ ไม่ได้เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์เหมือนในสมัยสงครามเย็น(เสรีนิยม vs สังคมนิยม)และ สงครามระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตรกับกลุ่มอัลกออิดะห์(ทุนนิยมตะวันตก vs โลกมุสลิม)แต่ว่าเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะ“ผลประโยชน์”เป็นหลัก
โลกขั้วเดียวที่สั่นคลอน
สิ่งที่เราได้เห็นแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจะได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปีหน้า 2567 ก็คือ ความสั่นคลอนของ “โลกขั้วเดียว” ที่สหรัฐฯ เคยเป็นมหาอำนาจของโลกแบบไม่มีผู้ใดท้าทาย แต่ทุกวันนี้ สหรัฐฯ ได้แก้ผ้า เปลือยกายล่อนจ้อน ให้ผู้คนได้เห็นความโหดเหี้ยม อำมหิต ไร้มนุษยธรรม และเอาเปรียบประเทศอื่น ๆ ในทุกเรื่อง
ด้านเศรษฐกิจ-การเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ขึ้นดอกเบี้ยไม่หยุด จนตอนนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 5.50% แล้ว สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในบ้านของตัวเอง โดยไม่สนว่าจะทำให้ประเทศอื่น ๆ ต้องเดือดร้อน เพราะว่าเงินทุนที่หมุนเวียนอยู่ทั่วโลกได้ไหลกลับไปยังสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นดาวน์โจนส์ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ว่าตลาดหุ้นและการลงทุนในประเทศอื่น ๆ ก็ตกต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ก็ต้องเผชิญแรงกดดันให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่ขึ้นยังไงก็ไม่สามารถไล่ทัน FED ได้ และยังทำให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ต้องได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
ส่วน สถานการณ์หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ พุ่งแตะ 34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1,200 ล้านล้านบาท เข้าไปแล้ว ส่งผลให้ นางเจนเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ต้องวิ่งโร่ไปหาประเทศนู้นประเทศนี้ โดยเฉพาะปี 2566 นางเยลเลนวิ่งไปหาจีน 3-4 ครั้งเพื่อขอให้หยุดขายพันธบัตรสหรัฐฯ และซื้อเพิ่มเติมด้วย
นี่คือ พฤติกรรมของสหรัฐอเมริกา ที่แก้ปัญหาของตัวเองโดยผลักภาระให้คนอื่น เอาแต่ตัวเองรอดโดยทอดทิ้งคนอื่น
ในทางภูมิรัฐศาสตร์-การเมือง สหรัฐฯ ได้เผยให้เห็นธาตุแท้ ที่สนับสนุนอิสราเอลอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่มีข้อจำกัด และเหนือกว่าศีลธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น สหรัฐฯ ใช้สิทธิ์วีโต้คว่ำมติสหประชาชาติ ที่เรียกร้องหยุดยิงในสงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และสหรัฐฯ ยังอนุมัติให้ขายกระสุนรถถัง 14,000 นัด ให้อิสราเอล สหรัฐฯ ไม่เพียงขวางทางมนุษยธรรม แต่ยังสนับสนุนให้มีการเข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์
เหมือนกับที่ นายอาลี บาเกรี คานี รมช.ต่างประเทศอิหร่าน ได้แถลงข่าวในช่วงที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ว่าอิสราเอลและสหรัฐกำลัง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาโดยโจมตีสถานที่ของพลเรือน ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน มัสยิด นี่คือ “สงครามที่ไม่เท่าเทียม” เพราะอิสราเอลมีกำลังอาวุธเหนือกว่าปาเลสไตน์อย่างชัดเจน
สหรัฐฯ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องสถานะ “มหาอำนาจโลก” ของตัวเอง ทั้งการปิดล้อมจีนทางด้านเทคโนโลยีและการค้า, กดดันให้ชาติพันธมิตรสนับสนุนยูเครน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถึงขนาดประกาศว่า “จะยอมให้ปูตินชนะไม่ได้เป็นอันขาด”
สหรัฐฯ จัดตั้งกลุ่ม “วงศ์วาน” ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น
- กลุ่ม QUAD(ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย)
- กลุ่ม AUKUS(ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย)
- กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF(เพื่อคานอำนาจกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน)
BRICS สู่ BRICS Plus
แต่ว่า การรวมกลุ่มของสหรัฐฯ และพันธมิตร จะไม่ได้มีบทบาทและอิทธิพลมากเหมือนในช่วงหลังสงครามเย็น เพราะว่าขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ในโลกมีกลุ่มที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ กลุ่ม BRICS ที่ตอนนี้ขยายตัวเป็น BRICS Plus โดยชาติสมาชิกของกลุ่มมีขนาดเศรษฐกิจ, ทรัพยากร และประชากร รวมกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลก และจะมีบทบาทสำคัญยิ่งกว่า “กลุ่มอำนาจเก่า” ที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จะไม่สามารถ “ยึดกระดานหมาก” ได้ง่าย ๆ เหมือนในอดีต เพราะว่าสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า และจนถึงขณะนี้ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นายโจ ไบเดน ประกาศตัวว่าเขาจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตอีกสมัยหนึ่ง แต่ว่า “ปู่ไบเดน” ที่มีอายุถึง 81 ปีแล้ว ออกอาการงก ๆ เงิ่น ๆ ป้ำๆ เป้อๆ หลายต่อหลายครั้ง เหมือนร่างกายและสมองจะฟ้องว่า “ไม่ต่อไม่ไหว”
นอกจากนี้ ไบเดนยังถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของลูกชาย คือ นาย "ฮันเตอร์ ไบเดน" ด้วย
คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กำลังดำเนินการไต่สวนเพื่อถอนถอนนายไบเดนออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่าระหว่างปี 2557-2562 ที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตระกูลไบเดนรับเงินมากกว่า 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 840 ล้านบาท จากบุคคลที่อยู่ในต่างแดน ทั้งในจีน คาซัคสถาน โรมาเนีย รัสเซีย และยูเครน
ส่วนพรรครีพับบลิกัน คะแนนนิยมของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สูงที่สุด แต่ว่าทรัมป์ก็มีชนักติดหลังที่อาจจะทำให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยไม่ได้
โดยล่าสุดสัปดาห์ที่แล้วเมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดรัฐโคโลราโดได้พิพากษาตัดสิทธิ์ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2567 ในความผิดฐานเป็นกบฏต่อรัฐธรรมนูญ จากการปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนบุกอาคารรัฐสภาและก่อจลาจล ในช่วงที่สมาชิกรัฐสภากำลังประชุมรับรองชัยชนะในการเลือกตั้งของโจ ไบเดน
เพราะฉะนั้นในปีหน้า ปี 2567 - สหรัฐฯ จะต้องสาละวนกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง ในบ้านของตัวเอง ชาติมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกตอนนี้ยังมองไม่เห็นว่าใครจะมาเป็นผู้นำประเทศได้ มีแค่“ผู้เฒ่าหลง ๆ ลืม ๆ ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ คนหนึ่ง”กับ“คนบ้าที่อยากจะหวนคืนสู่อำนาจอีกคนหนึ่ง” ที่กำลังจะแข่งกันเป็นผู้นำประเทศสหรัฐฯ
ขณะที่คู่แข่งของสหรัฐฯ คือ รัสเซีย จะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 17 มีนาคม ปีหน้า โดยนายวลาดิเมียร์ ปูติน จะชนะเลือกตั้งอย่างแน่นอน ส่วนจีนนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ยังมีวาระการดำรงตำแหน่งอีก 4 ปีเป็นอย่างน้อย
จุดจบ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน”
ในปีหน้า สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปีแล้ว จะยุติลงอย่างแน่นอน เพราะว่าตอนนี้ยูเครนกลายเป็น “หมากที่ถูกละทิ้ง”สหรัฐฯ ได้เลือกที่จะให้สนับสนุนอิสราเอล เพราะว่าบรรดานักการเมืองในสหรัฐฯ ต่างตกอยู่ใต้กลุ่มอิทธิพลชาวยิว
ทั้งนี้ทั้งนั้น ถึง ปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้จัดสรรเงินไปแล้วให้กับการช่วยเหลือยูเครนมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ว่า เงินก้อนนี้ถูกใช้เกือบหมดแล้วตั้งเเต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2566 เหลือเพียง 3% ของเงินด้านความช่วยเหลือทางกลาโหม
ทำเนียบขาวแจ้งได้สภาคองเกรสว่า เงินช่วยยูเครนจะไม่เหลือเเล้ว แต่วุฒิสภาสหรัฐฯ กลับโหวตคว่ำงบช่วยยูเครนไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน สภาผู้เเทนฯ ที่พรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมาก ได้ผ่านงบประมาณเดี่ยว ที่ให้ความช่วยเหลืออิสราเอลในสงครามกับกลุ่มฮามาส นี่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ ทิ้งยูเครน และหันไปสนับสนุนอิสราเอล
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้ออกมาพูดอย่างกล้ำกลืนฝืนทนว่า“ยูเครนจะเอาชนะรัสเซียให้ได้ แม้แทบจะเป็นไปไม่ได้ก็ตาม”
นอกจากนี้ทหารยูเครนหลายนายให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ เริ่มลดลงแล้ว โดยหน่วยปืนใหญ่หน่วยหนึ่งทางเหนือของเมืองอัฟดีฟกา ซึ่งขณะนี้การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด ได้รับกระสุนปืนใหญ่ที่จัดสรรมาเพียง 20 นัดต่อวันเท่านั้น ขณะที่เมื่อปีที่แล้ว ทหารยูเครนมีกระสุนใช้มากกว่านี้ถึง 5 เท่า !
นับจากนี้ รัสเซียจะยิ่งโจมตียูเครนอย่างหนักหน่วงมากขึ้น เพราะว่าประธานาธิบดีปูติน ต้องการใช้ชัยชนะต่อยูเครน เป็นผลงานสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม 2567 ท้ายที่สุด ยูเครนก็จะเป็น “คนแพ้ที่ไม่มีน้ำตา” นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อาจจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือต้องลี้ภัย ทิ้งให้ประชาชนชาวยูเครนต้องเผชิญกับความทุกข์ยากในการบูรณะบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองอีกนานหลายสิบปี
สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์
สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่ง.นตอนแรกอิสราเอลและชาติตะวันตกเชื่อว่าสงครามจะจบภายใน 7 วัน แต่จนถึงวันนี้ ใกล้จบครบ 90 วันแล้วยังรบกันอยู่ และมีประชาชนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนมากจากการถูกอิสราเอลทิ้งระเบิด ทั้งนี้ฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่าในการรบคือฮามาสที่อยู่ทางใต้ของฉนวนกาซา และกลุ่มฮิสบอเลาะห์ที่กำลังยึดทางเหนือของกาซ่า แล้วยังมีกลุ่มกบฏฮูติในเยเมน ซึ่งเป็นตัวเปลี่ยนเกม ยิงขีปนาวุธใส่กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสเราเอล และปิดทะเลแดงขัดขวางเส้นทางการส่งสินค้าเข้าท่าเรือของอิสราเอล สหรัฐฯ อเมริกาเข้ามายึกยักก็ถูกโดรนของฮูติโจมตีจนไม่กล้าทำอะไร
ขณะที่อิสราเอลก็ทำพลาด ส่งเครื่องบินไปโจมตีกรุงดามัสกัสของซีเรีย เพื่อฆ่านายพลอิหร่านที่ไปให้คำปรึกษา ซึ่งอิหร่านก็พร้อมจะตอบโต้ สงครามในตะวันออกกลางจึงมาถึงจุดที่พร้อมจะขยายวงออกไปเป็นสงครามระดับภูมิภาค และคนที่เสียเปรียบคือเมริกา
สหรัฐฯ ประกาศรวบรวมกลุ่มพันธมิตรฯ ให้ส่งเรือมาปิดล้อมเยเมนกดดันให้เปิดทะเลแดง แต่ไม่มีใครมา ออสเตรเลียส่งไปแค่ 7 คน เนเธอร์แลนด์ส่งไป 10 คน ส่วนสเปนออกมาต่อว่าสหรัฐฯ ว่าจะชวนไปแต่ไม่พูดด้วยกันตรงๆ จึงตัดสินใจไม่ไป สรุปง่ายๆ ว่า อเมริกากำลังโดดเดี่ยวในตะวันออกกลาง ในการจัดตั้งกองพันผสมเพื่อปฏิบัติการทางเรือภายใต้ชื่อ “ผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง”
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้เชิญซาอุดิอาระเบียเข้ามาร่วม แต่ซาอุฯ เข็ดเขี้ยวไปแล้ว เพราะเคยรบกับเยเมนและโดนเยเมนยิงถล่มบ่อน้ำมัน แทบจะพังทลาย จนในที่สุดจีนเข้ามาเจรจาให้ซาอุดิอาระเบียบจับมือกับเยเมนได้ และให้จับมือกับอิหร่านด้วย เพราะฉะนั้นซาอุฯ จึงถอย อาจจะมีบาห์เรนที่เข้าร่วม เพราะว่าบาห์เรนยังนิยมตะวันตกอยู่
สหรัฐฯ ได้ขอให้จีน เข้าร่วมใน“ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง”ด้วย แต่จีนตอบว่า ปฏิบัติการของสหรัฐฯ เป็นแค่การแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น เพราะทางออกที่แท้จริงก็คือ การหยุดยิงในกาซ่า ซึ่งจีนและนานาชาติได้สนับสนุนร่างมติของสหประชาชาติ แต่ว่าสหรัฐฯ คัดค้าน แล้วตอนนี้สหรัฐฯ กลับขอให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในความอลหม่านที่สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะแก้ปัญหา
จีนมองว่า สหรัฐฯ กำลังจะใช้จรวดมิสไซล์ที่มีราคาราว 1 ล้านดอลลาร์ต่อลูก ไปต่อสู้กับโดรนที่กลุ่มติดอาวุธฮูตีใช้ที่มีต้นทุนแค่ 2,000 ดอลลาร์ ขณะที่การหยุดยิงในกาซ่าไม่มีค่าใช้จ่ายเลย และยังช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย แต่สหรัฐฯ กลับไม่เลือกเส้นทางแห่งสันติภาพ
ด้านสงครามในพม่ายังไม่สงบ ยังมีการช่วงชิงกันระหว่างกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับกองทัพรัฐบาลทหารพม่าของนายพลมิน อ่อง หล่าย
นี่คือภาพรวมของสถานการณ์โลกในปี 2567 ใน 3 พื้นที่สำคัญ คือ ยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยยังมีพื้นที่เสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในจุดย่อย ๆ อีกหลายที่ เช่น
ไต้หวัน จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนมกราคม โดยมีแนวโน้มว่า พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งสนับสนุนเอกราชไต้หวันจะได้รับชัยชนะเป้นประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่อาจจะไม่ได้เสียง ส.ส.ข้างมากในรัฐสภา โดยตอนนี้จีนใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนกับไต้หวัน แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว จีนคงไม่จำเป็นต้อง “สงวนท่าที” อีกต่อไป
ฟิลิปปินส์ ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และพันธมิตร ให้แสดงท่าที “ห้าวเป้ง” ในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้มากขึ้น สหรัฐฯ ต้องการใช้ฟิลิปปินส์เป็นหมากตัวใหม่เพื่อท้าทายจีน
อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ ก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในประเทศต่าง ๆ ล้วนแต่จะส่งผลต่อ “สมดุลทางอำนาจ” ในโลก รวมถึงนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อประเทศไทยด้วย
ปี 2566 ค่อนข้างจะปรากฎภาพชัดเจนแล้วว่าสถานะของมหาอำนาจอันดับ 1 ของ สหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในสภาวะที่เสื่อมถอยลงอย่างมาก และเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ ปี 2567 ฟันธงไว้เลยว่าสถานะของสหรัฐฯ ก็จะเสื่อมถอยลงไปอีก จากปัจจัยทั้งภายในประเทศ และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก