xs
xsm
sm
md
lg

7 ฉากสงครามอิสราเอล-ฮามาส บานปลายสู่ “สงครามโลก” ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผย 7 ฉากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ดึงกลุ่มฮิสบอเลาะห์ออกมาร่วม ขยายวงเข้าสู่ซีเรีย-เลบานอน สหรัฐฯ ส่งกำลังเข้าหนุนหลังกองทัพยิว ล่ออิหร่านเข้าสู่สงคามเล็งโจมตีจุดยุทธศาสตร์ทางนิวเคลียร์ของอิสราเอล และอเมริกาโจมตีจุดยุทธศาสตร์ทางนิวเคลียร์ของอิหร่านตอบโต้ ชาติมุสลิมอื่นๆ ต้องยื่นมาเข้ามากลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคหรือระดับโลก



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้จำลองฉากทัศน์ความเป็นไปได้ของสงครามระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์กลุ่มฮามาส ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา และยังดำเนินไปต่อเนื่องเมื่อกองทัพอิสราเอลเปิดปฏิบัติการทางทหารยิงถล่มฉนวนกาซา แต่ยังไม่สามารถทำลายกลุ่มฮามาสลงได้ ขณะที่มีชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธ์เสียชีวิตจากการยิงถล่มของอิสราเอลรวมแล้วเกือบ 1 หมื่นคน

ทั้งนี้ การจำลองฉากทัศน์ดังกล่าว ได้นำข้อมูลจากรายงานของ Caspian Report ที่เพิ่งเผยแพร่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้อธิบายให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะขยายวง จนก่อให้เกิดสงครามในระดับภูมิภาค หรือ ระดับโลก


ฉากแรก ภายหลังเหตุการณ์การบุกจู่โจมใน วันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 ของกลุ่มฮามาส และทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งชาวอิสราเอล และชาวต่างชาติในอิสราเอลประมาณ 1,400 คน ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และถูกจับไปเป็นตัวประกันราว 200 กว่า คน อิสราเอลก็ดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องกับกาซ่า ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว โดยอย่างที่ผมได้กล่าวไปก็คือ

มีการประเมินกันว่าในระยะเวลาไม่ถึง 7 วัน อิสราเอลทิ้งระเบิดในกาซ่าไปแล้วกว่า 6,000 ลูก คิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 4,000 ตัน หรือ เทียบเท่ากับระเบิดที่สหรัฐฯ เคยทิ้งในอัฟกานิสถานตลอดทั้งปี ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ฉนวนกาซ่านั้นเล็กมาก แค่ 365 ตารางกิโลเมตร หรือ เล็กกว่าประเทศอัฟกานิสถาน 1,800 เท่า

โดยการยิงถล่มทางอากาศ และปฏิบัติการล้างแค้นที่เกินขอบเขต และเกินกว่าเหตุของอิสราเอล จนส่งผลต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์นั้นได้ก่อกระแสการต่อต้านลุกลามไปทั่วโลก


แม้จะเกิดเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธถล่มโรงพยาบาล อัล-อาห์ลี อัล-อาราบี (Al-Ahli al-Arabi) ในกาซ่า ซิตี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ราว 500 คน ต่อมาคาดว่าขีปนาวุธดังกล่าวน่าจะเป็น MK-84 ของอิสราเอล ก่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบอย่างรุนแรงต่ออิสราเอล แต่อิสราเอลก็ยังเดินหน้าใช้การปูพรมโจมตีทางอากาศกับพื้นที่ฉนวนกาซ่าอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซ่าเกือบจะถึง 10,000 คนแล้วโดยมีการประเมินกันว่า ผู้เสียชีวิตครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก

อย่างไรก็ตาม การโจมตีทางอากาศแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถจะกำจัด“กลุ่มฮามาส”ให้สิ้นซากได้ ตามคำประกาศลั่นของนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล รวมถึง นายโยอาฟ กัลแลนต์ รมว.กลาโหมของอิสราเอล


นั่นเองย่อมนำมาสู่ปฏิบัติการในเฟสต่อไป หรือ ฉากที่ 2 นั่นคือ ภาคพื้นที่กองทัพอิสราเอลต้องบุกเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซ่า เพื่อจัดการกับนักรบกลุ่มฮามาสซึ่งเชื่อว่าขุดอุโมงค์อยู่ใต้ดิน โดยมีชื่อเล่นว่า Gaza Metro

อุโมงค์ใต้ดินของกลุ่มฮามาสอยู่ลึกลงไปจากผิวดินราว 20-30 เมตร(บางส่วนว่ากันว่าลึกลงไปถึง 70 เมตร) โดยอุโมงค์ดังกล่าว มีความสูงเฉลี่ย 2 เมตร และกว้าง 1 เมตร เพื่อป้องกันการเจาะทำลายจากขีปนาวุธ โดยประเมินกันว่าปัจจุบันอุโมงค์ดังกล่าวนั้นถูกสร้างเป็นเครือข่ายราวกับใยแมงมุม และมีความยาวรวมกันกว่า 500 กิโลเมตรแล้ว


ด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการทางภาคพื้น เพื่อรุกเข้าไปยังพื้นที่ฉนวนกาซ่า เพื่อจัดการกวาดล้างกลุ่มฮามาสนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และอาจจะเป็นเหมือน“ฝันร้าย (Nightmare)”ของทหารในกองทัพอิสราเอลเลยก็ว่าได้

Gaza Metro ฝันร้ายของทหารอิสราเอล

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 จอห์น สเปนเซอร์ ประธานการศึกษาเกี่ยวกับการสงครามในเมืองที่สถาบันสงครามสมัยใหม่ (Modern Warfare Institute) แห่ง รร.นายร้อยเวสต์พอยต์ เขียนบทความเรื่อง"ฝันร้ายใต้ดิน : อุโมงค์ฮามาส และปัญหาน่าปวดหัวที่กองทัพอิสราเอลต้องเผชิญ"ผมสรุปมาให้ท่านผู้ชมได้ฟังสั้นๆ อย่างนี้ครับ

เมื่อต้องการตั้งรับ  นักรบฮามาสจะใช้อุโมงค์เพื่อหลบหนีการสังเกตการณ์ และการโจมตีของ IDF ความสามารถทางทหารใดๆ ก็ตามของฮามาสที่รอดพ้นจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับใต้ดิน


ฮามาสจะบรรจุผู้นำ นักรบ สำนักงานใหญ่ การสื่อสาร อาวุธ และเสบียงต่างๆ เช่น น้ำ อาหาร กระสุน ไว้ในอุโมงค์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีภาคพื้นดินโดยกองกำลังอิสราเอล อุโมงค์ดังกล่าวจะช่วยให้นักรบฮามาสสามารถเคลื่อนที่ไปมาระหว่างตำแหน่งการต่อสู้ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย

แม้ว่า IDF จะทิ้งระเบิดมูลค่าหลายพันปอนด์ใส่พวกเขาก็ตาม อุโมงค์ฮามาสมักจะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การระบายอากาศ ท่อน้ำ และคลังอาหารที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้นักรบของกลุ่มสามารถรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนี้เมื่อจนแต้ม ผู้นำและนักรบฮามาสจะใช้อุโมงค์ดังกล่าวเพื่อเคลื่อนที่เพื่อหลบหนีจากพื้นที่สู้รบทั้งหมด เมื่อพวกเขารู้สึกว่าพวกเขากำลังจะถูกโจมตีหรือล้อมอย่างเด็ดขาด

ที่สำคัญ ฮามาสยังได้ขุดอุโมงค์ส่วนใหญ่ไว้ใต้และเชื่อมต่อกับสถานที่พลเรือน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และมัสยิดในเขตเมืองอันหนาแน่น


เมื่อต้องรุกกลับ Gaza Metro นอกจากจะเอื้อต่อการตั้งรับและป้องกันแล้ว ในเชิงของการจู่โจม อุโมงค์ดังกล่าวยังช่วยให้เขาบุกเข้าโจมตีกองกำลังอิสราเอล (IDF) ได้อย่างฉับพลัน

นักรบฮามาส อุโมงค์เพื่อแทรกซึมเข้าไปตำแหน่งด้านหลังของ IDF เพื่อสร้างความประหลาดใจให้กับกองกำลังอิสราเอลที่อาจไม่ได้เตรียมพร้อมหรืออุปกรณ์สำหรับการสู้รบที่ดีพอๆ

อุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันภายใต้เขตเมืองจะช่วยให้กลุ่มฮามาสเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วระหว่างตำแหน่งการโจมตีที่เตรียมพร้อมเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ปืนไรเฟิลซุ่มยิง, อาวุธต่อต้านรถถัง, เครื่องยิงระเบิด รวมถึงอาวุธและกระสุนอื่น ๆ

อุโมงค์ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์การรบแบบกองโจรของฮามาสนักสู้จะจัดตั้งทีมนักล่า-นักฆ่าขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ใต้ดิน โผล่ขึ้นมา โจมตี และกลับเข้าไปในอุโมงค์อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ฮามาสยังใช้อุโมงค์เพื่อซ่อน และเคลื่อนย้ายจรวด โดยจรวดเหล่านี้สามารถจุดชนวนจากระยะไกลหรือขนส่งไปยังจุดปล่อยที่แอบซุกซ่อนเอาไว้ โดยยากจะตรวจจับล่วงหน้าได้


ขณะเดียวกัน กลุ่มฮามาสยังมีอุโมงค์หลายแห่งที่ติดตั้ง ระเบิดน้ำหนักหลายร้อยปอนด์ไว้เพื่อใช้เป็นระเบิดอุโมงค์ใต้ถนนสายหลักและอาคารต่าง ๆ ที่ IDF อาจถูกล่อลวงเข้าไป

การเข้าไปปฏิบัติการใน “อุโมงค์เหล่านี้” ถือเป็นความท้าทายทางยุทธวิธีอย่างยิ่งยวด จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ยกตัวอย่างเช่น อุโมงค์ในบางจุดไม่มีอากาศหายใจที่เพียงพอ และจำเป็นต้องใช้ถังออกซิเจน เนื่องจากความลึกของอุโมงค์ และข้อจำกัดของระบบระบายอากาศ

นอกจากนี้ แว่นตามองกลางคืน (night-vision goggles) ก็ไม่สามารถทำงานได้เมื่อไม่มีแสงเลย, ส่วน อุปกรณ์นำทางและสื่อสารทางทหาร ใดๆ ที่ต้องอาศัยดาวเทียมหรือสัญญาณแนวสายตาก็จะทำงานไม่ได้อย่างสิ้นเชิงในอุโมงค์ใต้ดินเหล่านี้

นอกจากนี้ อาวุธที่ยิงในอุโมงค์ขนาดกะทัดรัด แม้แต่ปืนไรเฟิล ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนกับผู้ยิง และกำลังพลฝ่ายเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ นักรบฮามาสเพียงคนเดียวจึงมีศักยภาพในการยึดอุโมงค์แคบไว้เพื่อต่อกรกับกองกำลังที่มีจำนวน และศักยภาพเหนือกว่าได้

ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้นี่เองที่ “ปฏิบัติการบุกเข้าไปในฉนวนกาซ่า” ของกองทัพอิสราเอลจะกลายเป็น “นรก” สำหรับเหล่าทหารอิสราเอลที่ต้องรับมือกับการรบแบบกองโจรของ“นักรบฮามาส”ไม่ต่างจากทหารอเมริกันที่ต้องเผชิญหน้ากับ“นักรบเวียดกง”สมัยสงครามเวียดนาม


นอกจากนี้ หากย้อนประวัติการสู้รบครั้งใหญ่ที่ผ่าน ๆ มาระหว่าง อิสราเอล กับ ฮามาส จำนวน 4 ครั้งไม่ว่าจะในปี 2549, 2551, 2555 และหลังสุดคือ 2564 ทุกครั้ง “อิสราเอล” ต่างจัดการ “กองกำลังฮามาส” ไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพ และกำลังรบนั้นแตกต่างกันลิบลับ

ฉากที่ 3 - สถานการณ์สงคราม หรือ แนวรบ นั้น มิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะ อิสราเอล กับ ฮามาส ในพื้นที่ฉนวนกาซ่า และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิสราเอล(กรอบสี่เหลี่ยม หมายเลข 1 ในภาพ) เท่านั้น แต่ยังมี แนวรบทางตอนเหนือ ของอิสราเอล ที่ติดกับประเทศเลบานอน และ ที่ราบสูงโกลัน ในประเทศซีเรียด้วย(กรอบสี่เหลี่ยม หมายเลข 2 และ หมายเลข 3) โดยแนวรบนี้เป็นการต่อสู้ระหว่าง อิสราเอล กับ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งจัดตั้งอยู่ในทั้งสองประเทศทางตอนเหนือ


สถานการณ์สงครามระหว่าง อิสราเอล กับ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ส่งผลให้มีรายงานว่าในประเทศเลบานอนนั้น ผู้คนทางใต้ของเลบานอนได้ขนข้าวของอพยพหนีไปทางตอนเหนือ เพื่อหนีตายจากภาวะสงครามจนถนนแออัด ด้วยความหวั่นเกรงว่า สงครามอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งก่อตัวขึ้นในฉนวนกาซ่า กำลังจะขยายวงกลายเป็นความขัดแย้ง และสงครามใหญ่ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง

“ฮิซบอลเลาะห์” พรรคของพระเจ้า ตัวเปลี่ยนเกมสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

สำหรับ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) หรือแปลความหมายได้ว่า “พรรคของพระเจ้า” คือองค์กรทางการเมือง สังคม และการทหารของมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในประเทศเลบานอน

ฮิซบอลเลาะห์เกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอิหร่าน ในช่วงที่อิสราเอลเข้ายึดครองเลบานอนในต้นทศวรรษที่ 1980


หลังอิสราเอลถอนกำลังทหารออกจากเลบานอนเมื่อ 23 ปีก่อน ฮิซบอลเลาะห์ยังคงยืนกรานไม่ยอมวางอาวุธ ทั้งยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งขององค์กรตนเองในสายทหาร หรือกองกำลัง Islamic Resistance ต่อไป ซึ่งในบางด้านกองกำลังของฮิซบอลเลาะห์มีศักยภาพสูงกว่ากองทัพเลบานอนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอำนาจการยิงของอาวุธต่าง ๆ

อย่างที่ผมเคยเกริ่นให้ฟังไปแล้วว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้นเป็นกองกำลังที่แข็งแกร่งมากกว่า กลุ่มฮามาส มาก โดยกองกำลังของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ นั้นมีความแข็งแกร่งเทียบเท่าหรือเหนือกว่าประเทศบางประเทศด้วยซ้ำ จนกล่าวกันว่า“นักรบของฮิซบอลเลาะห์นั้นฝึกซ้อมเยี่ยงทหาร และติดอาวุธดั่งกองทัพแห่งรัฐ (Trained like an army, equipped like a state.)”

โดยฮิซบอลเลาะห์นั้นมีกำลังรบเป็นทหารที่เจนสนามรบ ประมาณ 100,000 นาย เนื่องจากผ่านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสงครามใน ซีเรีย อิรัก หรือ เยเมน


ที่สำคัญคือ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งมีจรวดอยู่ในคลังแสงมากถึง 130,000 - 150,000 ลูก โดยจรวดจำนวนมากในนั้น ไม่ใช่จรวดที่ประดิษฐ์ขึ้นง่าย ๆ เหมือนกับที่ กลุ่มฮามาส ใช้ แต่เป็นขีปนาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูง (Precision guided missiles) โดยว่ากันว่าขีปนาวุธ และแหล่งเงินทุนสนับสนุนของฮิซบอลเลาะห์นั้นมาจากประเทศอิหร่าน ที่จัดสรรเงินให้มหาศาลถึงราวปีละ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 25,000 ล้านบาท)

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์นั้นมีศักยภาพในการสู้รบกับกองทัพอิสราเอลได้สมน้ำสมเนื้อ กว่ากลุ่มฮามาสมากมายหลายเท่าตัวนัก

ทั้งนี้หากปฏิบัติการภาคพื้นเพื่อบุกเข้าไปยึด “ฉนวนกาซ่า” ของกองทัพอิสราเอลดำเนินต่อไป จนถึงขั้น “กลุ่มฮามาส” ใกล้เพลี่ยงพล้ำ หรือ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง บีบให้“กลุ่มฮิซบอลเลาะห์”ต้องกระโดดเข้ามาร่วมกับสงครามครั้งนี้อย่างเต็มตัวแล้วล่ะก็


อิสราเอลก็จะ ต้องรับมือกับแนวรบใหญ่พร้อม ๆ กัน 3 ทางด้วยกันคือ
1.สู้กับฮามาสที่ฉนวนกาซ่า
2.สู้กับฮิซบอลเลาะห์ทางตอนเหนือติดกับเลบานอนและ
3.สู้กับฮิซบอลเลาะห์ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับซีเรีย บริเวณ “ที่ราบสูงโกลัน”

อนึ่ง “ที่ราบสูงโกลัน” นั้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง โดยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1800 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างพรมแดนอิสราเอลและซีเรีย โดยอิสราเอลได้เข้ายึดครองพื้นที่นี้มานับตั้งแต่กลุ่มประเทศอาหรับพ่ายแพ้สงครามให้อิสราเอลตั้งแต่ “สงคราม 6 วัน” เมื่อปี 2510


จากแผนที่จะเห็นได้ว่า อิสราเอล ยึดครองที่ราบสูงโกลันอยู่ประมาณ 1,200 ตารางกิโลเมตร ไม่ได้ยึดได้ทั้งหมด โดยอีกประมาณ 600 ตารางกิโลเมตรก็ยังเป็นของซีเรีย อย่างไรก็ตาม ส่วนที่อิสราเอลสามารถเข้ายึดครองนั้นถือเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์การทหารและมีความอุดมสมบูรณ์

ตามแผนที่ด้านบน จะเห็นได้ว่า“ที่ราบสูงโกลัน”ถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของอิสราเอล น้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่นี้จะไหลลงมาเพิ่มน้ำให้แก่แม่น้ำจอร์แดน อันเป็นแหล่งน้ำที่อิสราเอลใช้อุปโภคบริโภค และเป็นแหล่งน้ำ 3 ใน 4 ของทรัพยากรน้ำที่อิสราเอลมีทั้งหมด


ด้วยความสำคัญยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้ ทำให้“อิสราเอล”ย่อมมิอาจทุ่มสรรพกำลังทั้งหมด ไปเพื่อยึดครองฉนวนกาซ่าได้ และต้องแบ่งกำลังมารับมือกับกองกำลังของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่อาจจะจู่โจมมาจากพื้นที่ตอนเหนือทั้งสองทิศทางด้วย

ฉากที่ 4 ด้วยจำนวนขีปนาวุธที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์สะสมมานานปี อาจจะมากมายถึงกว่า 150,000 ลูก เป็นที่คาดเดาได้เลยว่า หาก สงครามระหว่างอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ เปิดฉากขึ้น จะต้องมีจรวดจากทั้งฝั่ง เลบานอน และซีเรีย ยิงปูพรมข้ามพรมแดนมายังอิสราเอลเหมือนห่าฝน


เพราะยุทธวิธีถล่ม“ระบบไอร์ออนโดม”ด้วยจรวด 5,000 ลูกใน 20 นาทีของ“กลุ่มฮามาส”เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในการเจาะระบบไอรอนโดมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยหาก “ห่าขีปนาวุธ” ของฮิซบอลเลาะห์ ก่อความเสียหายกับชีวิต ทรัพย์สิน และจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของอิสราเอล ทางฝั่งกองทัพอิสราเอลก็คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องยิงขีปนาวุธตอบโต้ รวมถึงใช้แสนยานุภาพทางอากาศ ถล่มกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใน เลบานอน และซีเรียคืนบ้าง โดยกองทัพอิสราเอลอาจจะดำเนินการโจมตีทางอากาศลึกเข้าไปถึง “กรุงเบรุต” เมืองหลวงของเลบานอน และ/หรือ “กรุงดามัสกัส” เมืองหลวงของซีเรีย เลยทีเดียว


เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้แล้ว กองทัพซีเรีย และ กองทัพอิหร่าน ซึ่งอยู่เบื้องหลังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็อาจจะต้องเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่น่ากลัวก็คือ ถ้าสถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้น สงครามจะยกระดับขึ้นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะจะไม่ได้กลายเป็นสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์อีกแล้ว แต่ยกระดับกลายเป็นสงครามของภูมิภาคตะวันออกกลางไปโดยปริยาย


ฉากที่ 5  เมื่อสถานการณ์พัฒนาไปถึงจุดที่ สงครามขยายวงจน“อิหร่าน”และ“ซีเรีย”ต้องเข้ามาร่วมด้วย แน่นอนว่า“พี่ใหญ่” ของอิสราเอลอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ต้องกระโจนเข้าร่วมวงด้วยอย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดปฏิบัติการจากกองเรือเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำคือUSS Gerald R. Ford และ USS Dwight D. Eisenhower ที่ลอยลำรออยู่แล้วในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

โดยกองเรือบรรทุกแต่ละลำนั้น มีเครื่องบินขับไล่อยู่ 70-80 ลำ มีเรือรบติดขีปนาวุธ 5 ลำ, เรือพิฆาต 4 ลำ, เรือลาดตระเวน พร้อมกับ ลูกเรืออีกประมาณ 4,000-5,000 นาย ซึ่งตอนแรกสหรัฐฯ ใจจริงแล้วก็ ไม่ได้อยากให้สถานการณ์ลุกลามไปถึงขั้นสงครามทั้งตะวันออกกลาง จึงส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปกั๊กไว้จำนวน 2 ลำ แต่ถ้าหากสถานการณ์สงครามพัฒนาไปถึงจุดนั้นจริง ๆ สหรัฐฯ ก็คงหลีกหนีไม่พ้นต้องกระโดดเข้าร่วมวงช่วย “อิสราเอล” ไม่ให้โดนรุมกินโต๊ะจากบรรดาพันธมิตรชาติอาหรับ


อย่างไรก็ตาม สงครามในรอบนี้จะแตกต่างไปจากสมัย“สงคราม 6 วัน” เมื่อปี 2510 หรือ 56 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งจะไม่เหมือน“สงครามในปี 2549 (2006 Lebanon War)”ระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์เมื่อ 17 ปีก่อน ซึ่งกินเวลาประมาณ 1 เดือน ในตอนนั้นฮิซบอลเลาะห์ยิงถล่มจุดต่าง ๆของอิสราเอลด้วยจรวดและขีปนาวุธ 4,000 ลูก ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน แต่สุดท้ายก็ไม่ปรากฎฝ่ายที่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนผ่านสงครามเมื่อ 17 ปีที่แล้ว มาถึงวันนี้ “กลุ่มฮิซบอลเลาะห์” ได้สั่งสมกำลัง และสะสมขีปนาวุธ เพิ่มเติมจากเดิมกว่า 10 เท่า โดยจรวดและขีปนาวุธทีเพิ่มขึ้นนั้นไม่เพียงเพิ่มแค่ปริมาณ แต่มีพัฒนาการเรื่องของคุณภาพจรวด เป็นจรวดนำวิถีซึ่งว่ากันว่ามีความแม่นยำในระดับ 10 เมตรจากเป้าหมายเลยทีเดียว

นี่ยังไม่นับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่เราได้เห็นมาแล้วทั้งในสงครามยูเครน และ ในการจู่โจมอิสราเอลแบบฉับพลันของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา


ฉากที่ 6  ในการรับมือ และหยุดยั้งขีปนาวุธห่าฝน และโดรนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ กองทัพป้องกันอิสราเอล หนีไม่พ้นต้องขับเคลื่อนกองกำลังภาคพื้นบุกเข้าไปในเลบานอน และซีเรีย เพื่อบุกยึดพื้นที่

พร้อมกันนั้นกองทัพสหรัฐฯ ก็ต้องเคลื่อนกำลังทางอากาศจากกองเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสองลำที่ลอยลำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เข้าสนับสนุนปฏิบัติการยึดพื้นที่ในเลบานอน และซีเรียของกองทัพอิสราเอล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยลักษณะทางภูมิประเทศ รวมไปถึงความเชี่ยวชาญในการสู้รบแบบกองโจร รวมถึงความชำนาญในพื้นที่ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์

นอกจากนี้ ในเชิงอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในปัจจุบันยังครอบครอง และมีศักยภาพในการยิงตอบโต้กับกองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ได้อีกด้วย ซึ่งนั่นย่อมจะกระตุ้นให้สงครามขยายวงกว้างใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

จรวดต่อต้านเรือรบซึ่งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ครอบครองอยู่
ฉากที่ 7   ในความน่าหวั่นเกรงอีกประการของความเป็นได้ที่สงครามในตะวันออกกลางจะขยายวงเป็นสงครามที่ใหญ่และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลกก็คือ หากในการสู้รบครั้งนี้มีการยิงถล่มสาธารณูปโภคสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดที่อาจตกเป็นเป้าหมายสำคัญก็คือ โรงงานผลิต และเก็บอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอลที่ทางตอนเหนือของอิสราเอลนั้นมีอยู่ 3 แห่งคือไฮฟา (Haifa) , โยเดฟัต (Yodefat)และอาเยเลบัน (Eilabun)


ซึ่งหากอิสราเอลถูกโจมตี “จุดยุทธศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์” จริง ก็อาจจะมีการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ของฝ่ายอิสราเอล และสหรัฐฯ ในการโจมตี“จุดยุทธศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน”เช่นกัน!

หาก สงครามอิสราเอล-ฮามาส และปาเลสไตน์ ณ วันนี้ พัฒนา ขยายวงไปสู่ สงครามอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ และพัฒนาถึงจุดที่ว่ามาข้างต้นจริง โดยยังไม่ต้องพูดถึงตัวละครสำคัญอื่น ๆ ที่อาจยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ตุรกี รัสเซีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย หรือประเทศโลกมุสลิมอื่นๆ ด้วย ก็มีแนวโน้มสูงที่สงครามจะยกระดับกลายเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงไปทั่วโลกได้จริง ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น