“สนธิ” ชี้อินเดียยากมากที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้เหมือนจีนหรือแซงหน้าจีน แม้จะมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีนไปแล้ว และมีแรงงานหนุ่มสาวมากกว่า ปัจจัยสำคัญคือการพัฒนาทุนมนุษย์ที่อินเดียอยู่ระดับต่ำกว่าจีนมาก ทั้งยังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ขนาดเศรษฐกิจ-รายได้ต่อหัวประชากรปัจจุบัน ยังต่ำกว่าจีนถึง 5 เท่า ขณะที่รัฐบาลให้งบวิจัยและพัฒนาเพียง 0.7% ของ GDP น้อยที่สุดในโลก ตรงข้ามกับจีนที่ทุ่มงบด้านนี้ถึง 7% มากที่สุดในโลก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีที่นักวิเคราะห์ทางตะวันตกกำลังมองว่าอินเดียจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแทนที่จีนในอดคต เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแซงหน้าจีน มีแรงงานคนหนุ่มสาวจำนวนมากและมีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่ความเป็นจริงแล้วอินเดียยังห่างชั้นจากจีนในหลายๆ ด้าน
ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายน 2566 มีรายงานของสหประชาชาติระบุว่า ปี 2566 นี้ถือเป็นปีแรกที่จำนวนประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นแซงประชากรจีน ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยประชากรอินเดียจะพุ่งทะลุ 1,429 ล้านคน ส่วนประชากรจีนนั้นเริ่มชะลอตัวลงอยู่ที่ 1,426 ล้านคน
และเมื่อทอดเวลายาวไปอีก 70-80 ปีข้างหน้า คือเมื่อถึง ค.ศ.2100 แนวโน้มประชากรของอินเดีย ก็อาจจะเพิ่มขึ้นและมากกว่าประชากรจีนในขณะนั้นถึง เท่าตัวเลยทีเดียว
นี่เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีคนมักจะนำสองประเทศมหาอำนาจนี้มาเปรียบเทียบกัน
จีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีอารยธรรมโบราณนับพันปี มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและการค้ามายาวนาน แต่ในศตวรรษที่ 20 การแข่งขันระหว่างทั้งสองได้นำไปสู่ความแตกต่างอย่างมาก ความสัมพันธ์กึ่งมิตรกึ่งศัตรูคู่แข่งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีลักษณะลึกซึ้งและซับซ้อนทั้งร่วมมือและแข่งขัน
ประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 มีการมองโลกในแง่ดีว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในทางเศรษฐกิจ โดยอ้างว่า เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตย ขณะที่จีนปกครองด้วยระบอบพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ความจริงในปัจจุบัน อินเดียตามหลังจีนอย่างมาก โดยที่ขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของจีนนั้นใหญ่กว่าอินเดียถึง 5.4 เท่า
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเปรียบเทียบระหว่างจีนกับอินเดียในช่วง ปี 2533-2563 จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในพัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนนั้นรวดเร็วกว่าอินเดียมาก ทำให้ขนาดเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันนั้นใหญ่โตกว่าอินเดียถึงกว่า 5 เท่า
นอกจากนี้ สถิติจากธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่า เมื่อประมาณ 60 ปีก่อน อินเดีย และ จีน ต่างมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวใกล้เคียงกัน คืออยู่ที่ราว $82-89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน โดยในเวลานั้นทั้งสองประเทศต่างมีประชากรจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นชาวชนบท และมีฐานะยากจน
แต่อีกหลายปีถัดมา จากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และเปิดประเทศ ทั้งการเปิดกว้างทางการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ส่วนการเปลี่ยนแปลงในอินเดีย นั้นเชื่องช้ากว่ามาก แม้ว่า ตัวเลข GDP ต่อหัวของอินเดียจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับจีนแล้ว GDP ต่อหัวของอินเดียกลับเป็นเพียงแค่ 1 ใน 5 ของ GDP ต่อหัวของจีนเท่านั้น โดยตัวเลข GDP ต่อหัวในปี 2565 หรือปีที่แล้ว ของสองประเทศเป็นดังนี้คือ
- จีนจีดีพีต่อหัวต่อปี อยู่ที่ $12,598(หรือ ราว 450,000 บาท)
- อินเดียจีดีพีต่อหัวต่อปี อยู่ที่ $2,389(หรือ ราว 86,000 บาท)
เบื้องหลังความสำเร็จที่จีนเติบโตทางเศรษฐกิจจีนอย่างแข็งแกร่ง คือ การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เอา “คน” เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนประเทศ จีน ให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ (Human Capital) ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษา ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุข และการมีส่วนร่วมทางสังคม และแรงงานของผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญ
คะแนนดัชนีทุนมนุษย์ของจีนจึงสูงกว่าอินเดีย และจีนสร้างผลผลิตที่ดีกว่า มีมหาวิทยาลัยขั้นสูงที่สถานะแข็งแกร่งด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จีนเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพ มากกว่าเชิงปริมาณ
แม้ว่าอินเดียจะมีประชากรมากที่สุดโลก มีโครงสร้างประชากรหนุ่มสาวจำนวนสูง แต่คุณภาพแรงงานและโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทุนมนุษย์ของอินเดียต่ำกว่ามาก บ่งชี้ว่าอนาคตการแข่งขันกับจีนในฐานะมหาอำนาจเศรษฐกิจยังต้องผ่านอุปสรรคด้านทุนมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าหลังกว่าจีน
คำถามที่น่าสนใจ ก็คือ อะไรที่ทำให้อินเดียก้าวหน้าช้าลงในขณะที่จีนแซงหน้า และอะไรเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ?
คำตอบคือผู้นำจีนประธานาธิบดี สี จิ้นผิงประกาศเป็นนโยบายและแนวทางที่เน้นให้ความสำคัญ “คน” เป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้คนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพ และจีนให้ความเท่าเทียมทางเพศสูงกว่าอินเดีย
นอกจากนี้ ในปี 2561 โครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ยกระดับคุณภาพชีวิตคน มีอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่สำคัญหลายอย่าง ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีด้านคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟความเร็วสูง โดรนขนส่งสินค้า และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลประกอบการด้านการลงทุนร่วมกับนานาชาติก็มีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) และสิบปีที่สีจิ้นผิงเป็นผู้นำ เขาได้บรรลุเป้าหมายที่นำพาประชาชน 100 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันและการปรับโครงสร้างการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ หากย้อนดู มีช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละมากกว่า 10% ในขณะที่อินเดียไม่เคยเติบโตเลย ทั้งๆ ที่ในเดือนมีนาคม 2528 หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ขณะนั้นได้ยกย่องนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอินเดีย “ราจิฟ คานธี” และนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเขียนในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ว่า“ในเวลานั้นอินเดียมีศักยภาพที่จะสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจมากกว่าจีนมาก”
จีนและอินเดียเป็นสองประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในโลก ต้นทศวรรษ 1980 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากทั้งจีนและอินเดียริเริ่มการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และเปิดเศรษฐกิจของตน ทั้งสองจุดประกายความคาดหวังของ "การปฏิวัติ" และ "ปาฏิหาริย์"
ทุนมนุษย์ ความแตกต่าง จีน vs อินเดีย ความเท่าเทียมทางเพศ และวรรณะ
ในขณะที่จีนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยมีรากฐานที่มั่นคงในแผนแห่งชาติด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ แต่อินเดียกลับล้มเหลวในแง่มุมสำคัญคือการพัฒนาคน
ความแตกต่างเหล่านี้มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
ในปี 2524 ธนาคารโลกได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบเกี่ยวกับอายุขัยระหว่างคนจีนกับคนอินเดีย โดยคนจีนจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ย 64 ปี ขณะที่คนอินเดียอายุสั้นกว่าอยู่ที่ 51 ปี เพราะว่าคนจีนเข้าถึงโภชนาการอาหารได้ดีกว่าคนอินเดีย ที่รัฐบาลอินเดียจัดสรรงบดูแลสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 2% ของ GDP ซึ่งต่ำที่สุดในโลก และประมาณการณ์ว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะแคระแกร็น ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในกลุ่มอายุ 15-49 ปีเป็นโรคโลหิตจาง
ขณะที่ “ระบบสาธารณสุขของจีน”ใช้งบประมาณดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และที่สำคัญคือ“การส่งเสริมพัฒนาสิทธิด้านการศึกษาของพลเมืองจีน”รวมถึงผู้หญิง มีอัตราการศึกษาระดับประถมศึกษาสูงกว่าอินเดีย ที่ยังคงมีทัศนคติอินเดียโบราณที่ด้อยค่าสตรี ปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงอินเดีย เป็นประเทศที่มีเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศสูงที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก การลวนลามผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะของผู้ชายเกิดขึ้นเสมอ
ถึงแม้สังคมอินเดียจะเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้สิทธิความเท่าเทียม และเสมอภาคระหว่างประชาชน แต่ดูเหมือนว่า ความจริงเป็นเพียงแค่ลายลักษณ์อักษรในตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถกระเทาะแก่นโครงสร้างทางสังคมโบราณของอินเดียได้
รายงานของธนาคารโลกเน้นย้ำถึงความก้าวหน้าที่โดดเด่นของจีนในด้านความเท่าเทียมทางเพศในยุค เหมา เจ๋อตง ที่ให้ผู้หญิงเข้าถึงการศึกษาและเพิ่มบทบาทสำคัญของแรงงานสตรี ที่ส่งผลผู้หญิงทำงานมากขึ้น รวมถึง นโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) ในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2522 ถึง 2559(เป็นเวลา 37 ปี)เพื่อควบคุมการเกิดประชากรที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งเสริมปรับปรุงการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ในขณะที่การเปิดเสรีตลาดมีบทบาทสำคัญในการเติบโตของทั้งจีนและอินเดียอย่างปฏิเสธไม่ได้ จีนได้สร้างกลยุทธ์การพัฒนาที่ประสบความสำเร็จบนรากฐานสองประการของการพัฒนาทุนมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อินเดียล้าหลังอย่างเห็นได้ชัด
ดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลก (Human Capital Index : HCI) ประจำปี 2563 ซึ่งวัดผลลัพธ์ด้านการศึกษาและสุขภาพของประเทศในระดับตั้งแต่ 0 ถึง 1 อินเดียได้คะแนน 0.49 คะแนน ซึ่งอยู่ต่ำกว่าประเทศอย่างเนปาลและเคนยา แม้อินเดียจะร่ำรวยกว่าก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม จีนได้คะแนนสูงกว่ามาก ซึ่งทัดเทียมกับประเทศที่ร่ำรวยอย่างสิงคโปร์ และญี่ปุ่น แม้ว่าอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงของจีนจะลดลงเหลือประมาณ 62% จากประมาณ 80% ในปี 2533
แต่อัตราของอินเดียกลับลดลงอย่างรวดเร็วกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน โดยลดลงจาก 32% เหลือประมาณ 25% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง
การผสมผสานรวมกันระหว่างการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เหนือกว่า และความเท่าเทียมทางเพศ ที่มากขึ้น ทำให้จีนสามารถบรรลุการเติบโตของผลิตภาพโดยรวมที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำหน้าที่เป็นการวัดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่ครอบคลุมที่สุด
ในปี 2496 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ 80 ปีก่อน เศรษฐกิจทั้งสองมีผลิตภาพที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่พอถึงช่วง ทศวรรษ 1980 หรือช่วงปี 2530 เมื่อมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ใช้นโยบาย 4 ทันสมัยปรับปรุงความทันสมัย ประเทศจีนก็เพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 50%
ทำให้ ปัจจุบันผลผลิตของจีนสูงกว่าเกือบสองเท่าของอินเดีย ในขณะที่คนงานชาวอินเดียราว 45% ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ไม่มีประสิทธิผลสูง แต่จีนได้พัฒนาไปไกลเกินกว่าการผลิตขั้นพื้นฐานที่ใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า โดรนการเกษตร
นอกจากนี้ จีนยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยปักกิ่งต่างติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยระดับท้อปของโลก
โดยมหาวิทยาลัยชิงหัว ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง อยู่ในอันดับที่ 9 นอกจากนี้ จีนยังมีมหาวิทยาลัย 9 แห่งที่อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลกในด้านคณิตศาสตร์
ในทางตรงกันข้าม ไม่มีมหาวิทยาลัยใดในอินเดีย ซึ่งรวมถึงสถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดียที่มีชื่อเสียง ติดอันดับหนึ่งใน 100 อันดับแรกของโลก
จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มาแรง จากบริษัทเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยการเน้นการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2021-2025) ทุ่มเงินกว่า 1.3 ล้านล้านหยวน เพื่อพัฒนา 300 โครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต นวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง
นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนมีความก้าวหน้าอย่างมาก เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของงานวิจัยพัฒนา โดยเฉพาะในสาขาต่าง ๆ เช่น เคมี วิศวกรรมศาสตร์ และวัสดุศาสตร์ที่วางตำแหน่งตัวเองให้เป็นผู้นำในด้านปัญญาประดิษฐ์
จีนได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ระดับ 7% ของ GDP ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ทั้งในมิติมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP
ขณะที่อินเดีย เจียดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ต่ำ ซึ่งคิดเป็น 0.7% ของ GDP ของประเทศในปี 2563
รายงานข่าวชี้ให้เห็นว่า อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาต่ำที่สุดในโลกเพียง 0.7% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับจีนที่ตั้งเป้าไว้มากกว่า 7% หรือมากกว่าถึง 10 เท่า
แม้ว่าการยื่นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ในอินเดียเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตามนโยบายรัฐบาลนายกโมดิที่ส่งเสริมโครงการ Startup India ให้สตาร์ทอัพยื่นจดสิทธิบัตร โดยมีสิ่งจูงใจคือจะได้รับส่วนลดสูงสุดถึง 80% สำหรับการยื่นจดสิทธิบัตร และส่วนลด 50% สำหรับการยื่นเครื่องหมายการค้า
แต่ตามข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จำนวนสิทธิบัตรของอินเดียดังกล่าวยังคงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิทธิบัตร 530,000 สิทธิบัตรที่จีนได้รับ และ 352,000 สิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกาได้รับตามการสำรวจเศรษฐกิจ
ความแตกต่างนี้เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ต่ำในอินเดีย ซึ่งคิดเป็น 0.7% ของ GDP ของประเทศในปี 2563 ความล่าช้าและความซับซ้อนของขั้นตอนเป็นปัจจัยอื่นๆ บางส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อหลายๆ คนจากการยื่นสิทธิบัตรในอินเดีย
อย่างไรก็ตาม อินเดียถูกมองว่าเป็นตัวเลือกที่แข็งแกร่ง ที่จะแทนที่จีน ในฐานะศูนย์กลางการผลิตระดับโลก เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง กว่า 1,429 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ และส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวอายุน้อย ต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า และมีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย
นอกจากนี้ อินเดียยังคงรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาติตะวันตก เป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ต้านอิทธิพลจีนในภูมิภาค และบางประเทศเช่นอังกฤษก็มีผู้นำเชื้อสายอินเดียเป็นนายกรัฐมนตรี หรือในบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่มีผู้บริหารระดับสูงชาวอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านคุณภาพแรงงานและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของอินเดียยังคงล้าหลังจีนอย่างมาก แม้ว่าหลายคนมองว่าค่าแรงที่ต่ำกว่าของอินเดียเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับจีน
คำถามที่เกิดขึ้นคือค่าแรงที่ต่ำจะมีประโยชน์อะไรหากผลประโยชน์โดยรวมค่อนข้างต่ำ แม้ว่าอินเดียจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาอย่างน่ายกย่องในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การเสริมสร้างศักยภาพของอินเดียกลับไม่ก้าวทันของจีน อัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ก็ตามหลังจีนประมาณ 3 ทศวรรษ ชาวอินเดียจำนวนมากยังยากจน อาศัยอยู่ในสลัม ว่างงาน กลายเป็นคนชายขอบที่ตกสำรวจในบันทึกจากรัฐบาล ส่งผลให้ข้อมูลทางการอินเดียไม่ครบถ้วน และขาดดุลขีดความสามารถด้านแรงงาน ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของคนงานและโอกาสเติบโตทางอาชีพ
ในความเป็นจริง หากอินเดียล้มเหลวในการจัดการกับการขาดดุลขีดความสามารถเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งจำนวนประชากรอินเดียเพิ่มขึ้น แต่ไร้ทักษะ ก็ยิ่งอาจเป็นบ่อนทำลายเสถียรภาพทางสังคม แม้ว่ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี นายนเรนทรา โมดิ จะพยายามแก้ไขแล้วก็ตาม
ขณะที่จีนมีแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงทุนพัฒนาคุณภาพคน ทุ่มงบการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งยกการปฏิบัติต่อชายและหญิงอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น ทำให้คนหนุ่มสาวมีโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งเก่าและใหม่
จีนมีแผนที่ชัดเจนในการจัดการกับความท้าทายที่ไปสู่เป้าหมาย แต่อินเดียอาจติดอยู่กับการมองเป้าหมายการเติบโตที่ไม่สมจริง โดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ แม้ว่าอินเดียจะมีจุดแข็งด้านประชากรคนหนุ่มสาว และได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก แต่ดูเหมือนว่าอินเดียไม่น่าจะสามารถแทนที่จีนได้ ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลก หรือบรรลุสถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ในอนาคตอันใกล้
ทั้งหมดนี้บ่งชี้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีเหตุผลง่าย ๆ ว่า ทำไมอินเดียประเทศ “ประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก” จึงไม่สามารถเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้เหมือนจีน