“สนธิ” เปิดช่องทางการฟอกเงินนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ จนถึง อาชญากร และนักธุรกิจสีเทา-สีดำ ตั้งแต่อดีตที่ใช้วิธีการฝังดิน จนถึงปัจจุบัน สมัยของวัยรุ่นยุคคริปโต
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กล่าวในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2566 ถึงช่องทางการฟอกเงินของข้าราชการ นักการเมือง คนในกระบวนการยุติธรรม อัยการ ตำรวจ ไปจนถึงพวกทำธุรกิจสีเทา ว่า มีวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่ในอดีตมีการเอาเงินไปฝังดินเพื่อรอขุดขึ้นมาใช้ภายหลัง ต่อมาก็เป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์-บ้าน-ที่ดิน ซื้อเพชร ซื้อทอง ซื้อพระเครื่อง-เหรียญราคาแพง
เป็นที่น่าสังเกตว่านักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนเวลาชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ก็มักแจ้งว่ามีพระเครื่องอยู่จำนวนหนึ่ง โดยไม่ระบุราคา เวลาได้รับเงินจากการคอร์รัปชั่นไม่ว่าจะเป็นเงินส่วยหรือเงินค่าจ้างล้มคดี ก็อ้างว่าเป็นเงินที่ได้จากการขายพระเครื่อง ทั้งที่พระเครื่องที่แจ้งไว้อาจเป็นพระปลอมก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีการซื้อรถยนต์ซูเปอร์คาร์ หรือการประมูลป้ายทะเบียนรถยนต์ราคาแพง เช่น กรณีของนายแทนไท ณรงค์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่ประมูลป้ายทะเบียนเลขสวยในราคา 45 ล้านบาท
รวมถึงการซื้อนาฬิกาหรูราคาแพง เช่น ยี่ห้อริชาร์ด มิลล์ ปาเต๊ก ฟิลลิปส์ ซึ่งกลายเป็นการอวดรวยของตัวเอง กรณีนายนภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ หรืออั้ม สามีของ แยม ธมลพรรณ์ ภานุชิตพุทธิวงศ์ อดีตนางเอกละคร ที่ติดคุกอยู่ในขณะนี้ก็ใส่นาฬิการิชาร์ดมิลล์ เรือนละ 20 ล้าน
อีกวิธีการก็คือการซื้อล็อตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ 1 แล้ว สมัยก่อนอัยการชอยใช้วิธีนี้ หลังวันออกสลากกินแบ่งก็ให้คนไปสืบหาว่าใครถูกรางวัลที่ 1 แล้วซื้อมาโดยให้เงินมากกว่ารางวัลที่ถูกจริง เช่น รางวัล 1 ล้านบาทก็ซื้อ 1 ล้าน 1 แสนบาท
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการที่คนในต่างจังหวัดหรือแม้แต้่กรุงเทพฯ ฟอกเงินโดยการทำธุรกิจโรงแรม แล้วทำบัญชีแขกเข้าพักให้มากเกินจริง และยอมเสียภาษีตามที่แจ้ง เพื่อที่จะได้อ้างเป็นแหล่งที่มาของแหล่งรายได้
นายสนธิ กล่าวว่า อีกวิธีการคือการนำเงินไปฝากที่สิงคโปร์ ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีลูกน้องหิ้วกระเป๋าขึ้นเครื่องบินไปสิงคโปร์เป็นประจำ ครั้งละ 4-5 ใบ โดยแต่ละใบหนักประมาณ 20 กก. เงิน 1 ล้านบาทหนักประมาณ 1 กก.ก็เท่ากับว่าหิ้วไปครั้งละเป็น 100 ล้าน ทั้งนี้ เพราะสิงคโปร์รับฝากเงินไทย และเวลาคนไทยต้องการเอาเงินไปฝากศุลกากรที่นั่นก็ไม่ตรวจสอบ เพราะเขาเปิดเสรีให้คนเอาเงินมาฝาก ที่สำคัญคือสิงคโปร์มีกฎหมายให้สาขาธนาคารที่อยู่ในสิงคโปร์ไม่มีสิทธิเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า ถ้าเอาเงินมาฝากที่นี่ก็เหมือนมีบัญชีลับไม่สามารถตรวจสอบได้
การหิ้วเงินสด ๆ ไปฝากในธนาคารที่สิงคโปร์ มีทั้งนักค้ายาเสพติด ทหาร ตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไทย นักการเมืองไทย ก็ทำ เพราะพวกนี้เส้นใหญ่ เจ้าหน้าที่จึงอำนวยความสะดวกให้
อีกวิธีการคือการเอาเงินสีเทาไปซื้อที่ดินเปล่าเพื่อเปิดเป็นตลาดนัด ซึ่งอาจมีคนมาเช่าแผงขายของจริงๆ ไม่กี่แผง แต่ทำบัญชีแจ้งสรรพากรด้วยจำนวนคนเช่าเกินจริง โดยยอมจ่ายภาษีตามจำนวนที่สรรพากรกำหนด เพื่อให้เงินที่ได้กลายเป้นเงินถูกกฎหมาย
ในช่วงหลังเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป มีการฟอกเงินผ่าน เหรียญดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งบรรดานักธุรกิจสีเทารุ่นใหม่ในเมืองไทย มักจะแลกเงินสีเทาที่ตัวเองได้มาแปลงเป็นคริปโตเคอร์เรนซี เช่น เมื่อได้เงินจากการเปิดเว็บพนันก็เอาเงินไปซื้อเป็นบิตคอยน์ หรือ คริปโตเคอร์เรนซียอดนิยมอื่นๆ ที่ยังไม่เจ๊ง เช่น อีเธอเรียม ราคาสูงเท่าไหร่ก็ยอม ใส่ Wallet ตัวเองไว้
เมื่อต้องการใช้เงินก็บินไป สิงคโปร์ เพื่อไปเข้าบ่อนกาสิโน “มารินา เบย์ แซนด์ส” ซึ่งเปิดรับแลกเหรียญคริปโตเป็นชิป สมมุติแลกสัก 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่เล่นสัก 1 ล้านดอลลาร์ ชิปที่เหลือก็เอาไปแลกคืน โดนอาจจะรับเป็นเงินสด หรือรับเป็นเช็ก แล้วส่งมาเข้าบัญชี หรือถือกลับมาเมืองไทย ซึ่งเป็นเช็คที่ออกโดยบ่อน ใช้อ้างเป็นแหล่งที่มาของเงินได้ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะใช้ได้เฉพาะบ่อนใหญ่ๆ ในสิงคโปร์ หรือมาเก็าที่รับแลกเหรียญคริปโตฯ
อีกวิธีการหนึ่ง ก็คือเวลามีคนสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา ก็เอาเงินไปร่วมลงทุน หลังจากร่วมลงุทนไปสักพัก ก็เอาเงินคืนมา ก็อา่จจะบอกว่าขาดทุน 30% ให้คืนแค่ 70% เงินที่ได้คืนนี้ก็กลายเป็นเงินสะอาด ส่วน 30% ที่ไม่ได้คืนก็ถือว่าเป็นค่าต๋งที่ฟอกเงินให้
การฟอกเงินอีกประเภทคือการโอนผ่านโพยก๊วน ซึ่งคนจีนทำมาเป็นพันปี ที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทำการโอนเงินข้ามประเทศโดนไม่ผ่านธนาคาร เช่น จะโอนไปฮ่องกง ก็จ่ายเงินให้โพยก๊วนที่กรุงเทพฯ แล้วให้ผู้รับไปรับจากโพยก๊วนที่ฮ่องกงแทน
โพยก๊วนอีกลักษณะหนึ่งคือร้านรับแลกเงิน ที่มีเครือข่ายในหลายประเทศในภูมิภาค ก็ส่งเงินผ่านร้านแลกเงิน จากนั้นให้ผู้รับไปรับตามร้านแลกเงินในเครือข่าย แล้วนำไปฝากธนาคาร
เรื่องเกี่ยวเนื่อง
-เปิดหน้ากาก “CEO นอท กองสลากพลัส” เบื้องหลังคือ แก๊งฟอกเงินทุนสีเทา !?!
-“นอท กองสลากพลัส” จากเด็กโลกสีเทา สู่ CEO หวยออนไลน์หมื่นล้าน
-ปฐมบท “นอท” กับลอตเตอรี่ออนไลน์ กลยุทธ์สร้างตัวตนผงาดเหนือ “มังกรฟ้า”