xs
xsm
sm
md
lg

ปฐมบท “นอท” กับลอตเตอรี่ออนไลน์ กลยุทธ์สร้างตัวตนผงาดเหนือ “มังกรฟ้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนจุดเริ่มต้น “นอท พันธ์ธวัช” เข้าสู่ธุรกิจ “หวยสแกน” หลังจากคลุกคลีแวดวงธุรกิจออนไลน์สีเทา เมื่อมองเห็นตลาดหวยออนไลน์มาแรง จึงสร้างแพลตฟอร์ม “กองสลากพลัส” ที่ว่ากันว่าโคลนมาจาก “มังกรฟ้า” เจ้าตลาดเดิม แต่ “นอท” มีกลยุทธ์การตลาดที่แยบยลกว่า สร้างตัวตน “CEO นอท” ขึ้นมา เมื่อสบโอกาสที่ “มังกรฟ้า” ถูกตรวจสอบจนต้องหยุดขายชั่วคราว “กองสลากพลัส” จึงผงาดขึ้นมาแทนที่

ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้เปิดเผยถึงก้าวย่างของ “นอท พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ล็อตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม “กองสลากพลัส” ที่ผันตัวเองจากแวดวงเว็บไซต์และธุรกิจออนไลน์สีเทา เข้าสู่แวดวง “สลากกินแบ่งออนไลน์”

“นอท” เคยเปิดเผยกับสื่อว่า การเข้าสู่ธุรกิจหวยออนไลน์มีจุดเริ่มต้นในปี 2563 ซึ่งวันหนึ่ง ตนเองเห็นตลาดหวยออนไลน์มาแรง แต่ประเทศไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มลอตเตอรี่ออนไลน์ แต่ใช้วิธีแม่ค้าถ่ายรูปสลากส่งมาในไลน์เพื่อให้ลูกค้าคนซื้อสลากเลือก แล้วก็โอนเงินให้ เขาจึงให้โปรแกรมเมอร์พัฒนาแพลตฟอร์ม กองสลาก.คอม จนสามารถเปิดเว็บไซต์วันแรก ในวันที่ 24 ธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตามข้อมูลอีกด้านระบุว่า สาเหตุที่ “นอท พันธ์ธวัช สามารถเนรมิต แพลตฟอร์มหวยออนไลน์ “กองสลากพลัส” ได้ในเวลาอันรวดเร็ว คือใช้เวลาเพียง 20 วัน นับจากวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่เขาอ้างว่าเขียนแผนการทำเว็บไซต์กองสลากพลัสที่โรงแรมหรูในปราณบุรี จนถึงการเปิดขายวันแรกใน วันที่ 24 ธันวาคม 2563 ก็เพราะว่า“ทีมงานกองสลากพลัส”มีการโคลนระบบของ“มังกรฟ้า” แพลตฟอร์มหวยออนไลน์ที่มีมาก่อนแบบทั้งดุ้นนั่นเอง

เมื่อ กองสลาก.คอม เปิดเว็บไซต์วันแรก 24 ธันวาคม 2563 เขาเริ่มต้นที่ขายได้ 2,000 ใบเนื่องจากยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก งวดแรก เริ่มต้นที่ 5,000 ใบ ขายได้ 2,000 ใบ ถูกรางวัล 80,000 บาท ขาดทุนประมาณ 100,000 บาท งวดต่อมา (งวดที่ 2) รับซื้อลอตเตอรี่ 7,000 ใบ ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 10,000 ใบ ระหว่างนั้นมีข้อมูลอยู่ในมือและทำการตลาดอยู่ในมือ นับจากงวดที่ 3 เป็นต้นมา “นอท” อ้างว่าเขาสามารถขายลอตเตอรี่ที่มีในมือได้หมด 10,000 ใบ

พชรล์ หรือ แทมป์ เมสสิยาห์พร ผู้บริหารมังกรฟ้า ล็อตเตอรี่
ในเวลานั้นแพลตฟอร์มขายลอตเตอรี่ออนไลน์มีเจ้าตลาดที่ชื่อว่า“มังกรฟ้า” ของนายพชรล์ หรือ แทมป์ เมสสิยาห์พร ผู้บริหารมังกรฟ้า ล็อตเตอรี่เป็นที่รู้จักครองตลาดอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่ในช่วงปี 2564 ต่อ 2565 เมื่อ“มังกรฟ้า”ถูกจับตามอง และดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง

จึงสบช่องให้กองสลาก.คอมเปิดตัวกองสลากพลัสงวดวันที่ 16 เมษายน 2565(งวดเดียวกับที่มังกรฟ้าประกาศหยุดขาย) พร้อมกับสร้างตัวตนของ“CEO นอท” พันธ์ธวัชมาเป็นจุดขาย โดยในทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน เวลา 4 โมงเย็น จะออกมาไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก และให้ผู้ติดตามบันทึกเบอร์มือถือเอาไว้ เมื่อพบว่ามีผู้ถูกรางวัลที่ 1 นอท-พันธ์ธวัช จะใช้เบอร์นี้โทรศัพท์ไปบอกกับผู้ที่ซื้อด้วยตัวเอง บอกว่าเป็นผู้ถูกรางวัลที่ 1 ก่อนที่จะนำเงินสดไปมอบด้วยตัวเอง


ย้อนจุดเริ่มต้นหวยสแกน จาก “ยุคมังกรฟ้า” ถึง “กองสลากพลัส”

ปี 2563 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของลอตเตอรี่ออนไลน์ เรียกกันว่า“หวยสแกน”หรือ “หวยเงา” โดยใช้วิธีซื้อขายลอตเตอรี่ผ่านแพลตฟอร์มที่เลือกตัวเลขได้ตามต้องการ ขณะนั้นมีเจ้าตลาดคือ“มังกรฟ้า”แต่พบว่าผู้ซื้อต้องซื้อสลากจาก “หวยสแกน” ในราคาแพงกว่าราคาหน้าสลาก โดยราคาสูงถึง 100 บาทต่อใบ โดย“มังกรฟ้า” ใช้วิธีแยกราคาหน้าสลาก 80 บาท ส่วนอีก 20 บาท อ้างว่าเป็นค่าดำเนินการ เป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายข้อหาจำหน่ายสลากเกินราคา


วันที่ 25 มีนาคม 2565 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือบิ๊กโจ๊ก เข้าตรวจค้นบริษัทมังกรฟ้าหลังประชาชนร้องเรียนว่าขายในราคา 100-105 บาทต่อฉบับ เมื่อเปิดเซฟพบว่ามีการเก็บรวบรวมลอตเตอรี่ไว้ถึง 2 ล้านฉบับ


วันที่ 28 มีนาคม 2565 นายเสกสกล นำตำรวจพร้อมหมายศาลตรวจค้นบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์หรือกองสลากพลัสพบว่าอยู่ห่างจากโรงพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถึง 1 กิโลเมตร โดยจากการเข้าตรวจค้นพบลอตเตอรี่งวดวันที่ 1 เมษายน 2565 ร่วม 4.4 ล้านใบ

“นอท พันธ์ธวัช” อ้างว่า มีสลากจริงทุกใบแต่รับมาแพง ไม่เคยได้ลอตตอรี่ราคาต่ำกว่า 90 บาท รูปแบบคือจะมีผู้ค้ามาส่งลอตเตอรี่ให้ และสแกนเก็บไว้ก่อนนำไปขายให้ลูกค้า ที่หวยแพงเพราะมีหลายสาเหตุ เช่น การรวมชุด หากใบเดียวจะราคา 90 บาท ชุด 2 ใบ 92 บาท ชุด 3 ใบ 94 บาท ชุด 5 ใบ 120 บาท


และจะมีห้องรวมชุด ที่ทำให้หวยแพงเพราะคนยอมจ่ายแพง อีกเรื่องคือหวยโควต้าที่ตั้งราคามือแรกเปิดมาราคา 97 บาท พอรวมชุดเป็นหวยย่อยราคาถึงจะลง คนที่กำหนดราคาคือคนที่มีหวยมือแรกในราคา 70.40 บาท

วันที่ 26 เมษายน 2565 -พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ปูพรมตรวจค้นพร้อมกัน 33 จุด ในพื้นที่ 12 จังหวัด จุดที่น่าสนใจคือการเข้าตรวจค้นกองสลากพลัส เป็นครั้งที่ 2 ตรวจยึดสลากที่ไม่ถูกรางวัลของงวดวันที่ 1 เมษายน 2565 ประมาณ 4,700,000 ฉบับ และงวดวันที่ 16 เมษายน 2565 ประมาณ 4 ล้านฉบับ มีจำนวนโควต้ารวม 2 งวดเกือบ 7 หมื่นโควตา ไปตรวจสอบหาความผิด


“นอท พันธ์ธวัช” อ้างว่า ตั้งใจจะขายลอตเตอรี่ในราคาเพียง 80 บาท แต่เมื่อซื้อแล้วจะมีค่าสนับสนุนก็ตามแต่ลูกค้าจะสมทบทุน ควรจะไปคุมที่ราคาส่งหรือราคาต้นทุนมากกว่ามาตรวจสอบผู้ค้ารายย่อย

นอกจากนี้ ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ทำการล่อซื้อลอตเตอรี่จากกองสลาก.คอมพบว่าแบ่งการจำหน่ายฉบับละ 80 บาท คิดค่าบริการ 20 บาท รวมเป็นเงิน 100 บาท เกินกว่าราคาที่กฎหมายกำหนด กระทั่งวันที่ 20 เมษายน 2565 นอท พันธ์ธวัช เข้าพบพนักงานสอบสวน ปคบ. รับสารภาพ ยอมเปรียบเทียบปรับในชั้นพนักงานสอบสวน จึงปรับ บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ 2,000 บาท และ “นอท พันธ์ธวัช” อีก 2,000 บาท


หลังจากสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดวันที่ 16 เมษายน 2565“มังกรฟ้า”ประกาศหยุดขายสลากกินแบ่งรัฐบาลชั่วคราว และหายไปจากตลาดหวยสแกน โดยมี“กองสลากพลัส”ของ“CEO นอท”ผงาดขึ้นมาแทนที่

การตลาด และวิธีสร้างตัวตนของนอท

เป็นที่ทราบกันดีในวงการว่า“CEO นอท”กองสลากพลัส แสบลึกตั้งแต่การตั้งชื่อแพลตฟอร์มแล้ว เพราะชาวบ้านเห็นชื่อแพลตฟอร์มของเขาเผินๆ ก็ต้องคิดว่า“กองสลากพลัส” เป็นหวยออนไลน์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย


แม้จะมีความพยายาม กดดันให้ “นอท” เปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่น เพื่อไม่ให้กองสลากตัวจริง หรือ“สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ต้องเสื่อมเสีย และเพื่อไม่ให้ชาวบ้านสับสน แต่ทางกองสลากพลัส ก็ดื้อแพ่งทำหูทวนลมเรื่อยมา

ไม่เท่านั้น“กองสลากพลัส” ยังใช้โลโก้เป็นรูป“นกฟีนิกซ์” ซึ่งออกแบบให้คล้ายคลึงกับ“ปักษาวายุภักษ์”หรือ “นกการเวก”ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลังกองสลาก และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐ เช่น ธ.กรุงไทย ด้วย เพียงแต่ของกองสลากพลัส ออกแบบให้ดูโฉบเฉี่ยว ทันสมัยกว่า

ทั้งชื่อและโลโก้ จึงถือเป็นการทำตลาดอันเหนือชั้นของกองสลากพลัส แต่เท่านั้นยังไม่พอยังมีการดึงดารานักร้องดัง มาเป็นพรีเซนเตอร์ โดยจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการไป เมื่อเดือนธันวาคมปี 2564 ในวาระครบรอบ 1 ปีของกองสลากพลัส โดยดาราก็คือ “อ๋อม” สกาวใจ พูนสวัสดิ์ นางร้ายหน้าสวย ขวัญใจม็อบสามนิ้ว ส่วนนักร้องเป็น แรปเปอร์ชื่อดัง “ปู่จ๋าน ลองไมค์” หรือ นายพิษณุ บุญยืน


ที่น่าสนใจก็คือ ในงานฉลองครบรอบ 1 ปีของกองสลากพลัสใน เดือนธันวาคม 2564 มีการประกาศจาก “นอท กองสลากพลัส” ว่า“กองสลากพลัส มีเซอร์ไพรส์สุดๆ กับการประกาศจับมือร่วมกันทำงานระหว่างบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัดกับบริษัท เนรมิตรหนังฟิล์ม จำกัดเพื่อทำโปรเจ็กต์ใหม่ๆ โดยมี น.ส.กนกวรรณ วัชระ" ประธานกรรมการ บริษัท เนรมิตรหนังฟิล์ม จำกัด มาร่วมพูดคุย”

บริษัท เนรมิตหนังฟิล์ม จำกัด ที่ทำภาพยนตร์เรื่อง4Kings นั้นเบื้องหลังนั้นคือใคร ? คำตอบก็คือนายแทนไท ณรงค์กูลเด็กหนุ่มอายุ 26 ปี เจ้าของบริษัทไททัน แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ที่ปี 2563 เคยถูกตำรวจจับข้อหาทำเว็บพนัน แต่หลุดคดีเพราะอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง และเพิ่งควักเงินประมูลป้ายทะเบียนรถ9 กก 9999ไปด้วยราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ กว่า 45 ล้านบาท เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง

ส่วนบทบาทของ“อ๋อม สกาวใจ”ดาราสาวที่กลายมาเป็นเจ้าแม่หวย นับว่าน่าจับตา เธอรับงานโปรโมตหวยของ “กองสลากพลัส” อย่างชัดเจน มีการโพสต์อวดว่า ถูกลอตเตอรี่ไม่เว้นแต่ละงวด แสดงออกให้โลกรู้ ว่าจริงจังกับการทุ่มแทงหวย แบบไม่แคร์สื่อ ทั้งนี้“อ๋อม สกาวใจ”ก็ไม่ได้ถูกลอตเตอรี่แค่ใบสองใบ แต่ถูกทีเป็นร้อย ๆ ใบก็เคยมีมาแล้ว


อย่างงวด วันที่ 1 มีนาคม 2565 อ๋อมอวดว่าถูกลอตเตอรี่เลขท้าย 2 ตัว ถึง 229 ใบ เอามาวางเรียงโชว์เต็มเตียง ฟันเงินไปถึง 458,000 บาท รางวัลที่ 5 อ๋อมก็ถูกได้ง่ายๆ ที่สำคัญ จะติดแฮชแท็ก#kongsalakplusไว้ทุกโพสต์ เพื่อให้รู้ว่าซื้อหวยจากที่นี่ แต่บางโพสต์ อ๋อม สกาวใจ ก็เขียนชัด ๆ เลยว่า ถูกหวยของกองสลากพลัส

จะเห็นได้ชัดว่า วิธีการทำการตลาดของ“นอท กองสลากพลัส”นั้นคล้าย ๆ กับ “ท้อป บิทคับ” ไม่ว่าจะเป็น
-การติดป้ายโฆษณาเต็มบ้านเต็มเมือง ไปถึงต่างจังหวัด อย่างเช่น หัวเมืองใหญ่ ๆ อย่าจังหวัดชลบุรี
-การซื้อ Wrap โฆษณารถประจำทางวิ่งไปทั่วกรุงเทพฯ
-ทุ่มซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่อย่าง AFF Mitsubishi Cup ด้วยเงินกว่า 70 ล้านบาท แล้วช่วงพักครึ่งก็ยิงโฆษณาของตัวเองแบบเต็มที่
- เป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยอีกหลายสิบล้านบาท
- นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าต้องการซื้อทีมฟุตบอลในไทยลีกอีกด้วย
ฯลฯ










เรียกได้ว่าเหมือนกันเป๊ะ เพียงแค่เปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีแดงเท่านั้น

ประเด็นนี้“นอท พันธ์ธวัช” เปิดเผยว่า ตัวเองใช้งบประมาณเพื่อทุ่มซื้อโฆษณาบิลบอร์ด - รถประจำทาง – รถสาธารณะแบบจัดเต็มทั้งเมืองแบบนี้(แบ่งเป็น ป้ายบิลบอร์ดทั่วประเทศ 60 ป้าย, รถเมล์ 250 คัน, รถไฟฟ้า BTS จำนวน 4 ขบวน) โดยใช้เงินเดือนละประมาณ30-40 ล้านบาทไม่นับรวมกับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล AFF Mitsubishi Cup อีกร่วม70 ล้านบาทและ ค่าสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยอีกนับสิบล้านบาทคำนวณคร่าว ๆ ดูแล้วในรอบ 4-5 เดือนที่ผ่านมา กองสลากพลัส น่าจะใช้เงินโฆษณาตรงจุดนี้ไปไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท!

เมื่อถูกถามถึงความคุ้มค่าของการทุ่มเงินทำการตลาดอย่างมหาศาลด้วยเงินหลายร้อยล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน และประเด็นเรื่องการฟอกเงิน “นอท พันธ์ธวัช” ก็ตอบโต้อ้างว่า

“การตลาดของผมเพิ่งจะมาทำสามเดือนนี้นะ เพิ่งจะมาทำสามเดือนสุดท้ายของปี 2565 นี้ ซึ่งเราไม่มีลอตเตอรี่ขายอยู่แล้ว ที่ผมทำการตลาดเพราะผมจะสร้างแบรนด์ ที่เห็นทั่ว ๆ ไปตอนนี้

“คือผมต้องการจะสร้างแบรนด์กองสลากพลัสให้มันแข็งแรง มันจะไม่ใช่แพลตฟอร์มขายลอตเตอรี่อีกต่อไป มันจะเป็นแบรนด์ที่อยู่ในใจคนไทย แล้วถ้าผมอยากจะทำผลิตภัณฑ์ตัวไหน ผมเอาแบรนด์ตัวนี้ไปแปะ คนก็จะเชื่อถือ”

“ข้ออ้าง” นี้ฟังขึ้นหรือไม่? เมื่อไปดูผลประกอบการใน ปี 2564 จะพบว่าบริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่“กองสลากพลัส”ใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ มีรายได้รวม 1,193 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 9.36 ล้านบาท

บ.ลอตเตอรี่ ออนไลน์ฯมีกำไรในปี 2564 ไม่ถึง 10 ล้านบาท แต่พอมาปี 2565 กลับหว่านเงินเพื่อทำการตลาดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท มากกว่ากำไรในปีที่แล้ว 20 เท่า

เชื่อกันว่าจริง ๆ ตัวเลขการตลาดของกองสลากพลัสนั้นมากกว่าที่มีการกล่าวอ้าง เพราะยังไม่รวมการตลาดแบบใต้ดินผ่านการยิงโฆษณาออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น การทำ SEO หรือการลงโฆษณาใน Google และใน ในเฟซบุ๊ก ซึ่งนอท มีความถนัดเป็นพิเศษ


ในประเด็นดังกล่าว “นอท” แก้ข้อกล่าวหา อ้างว่า ในปี 2565 เขามียอดขายโตขึ้นประมาณ 15 เท่า เป็น 18,000 ล้านบาท และน่าจะมีกำไรประมาณ 400 ล้านบาท การใช้เงินมาสปอนเซอร์ 200 ล้านกว่าบาทจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ?!?

เส้นบาง ๆ ของ “ธุรกิจหวยออนไลน์” กับ “โมเดลใหม่ของการฟอกเงิน”

“รูปแบบ” หรือ “โมเดลการทำธุรกิจ” ของลอตเตอรี่ออนไลน์นี้เป็นอย่างไร? ทำไมมีคนกระโดดเข้ามากันเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นมังกรฟ้า, กองสลากพลัส, หงษ์ทอง, เสือแดงฯลฯ

คำตอบเบื้องต้นก็คือหลักของการซื้อมาขายไป นั่นก็คือ การหากำไรจากส่วนต่างจาก “ราคาซื้อ” และ “ราคาขาย”

แต่ไหนแต่ไรมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพิมพ์สลากกินแบ่งออกมางวดละ 100 ล้านฉบับ ก่อนที่จะมีการกระจายสลากกินแบ่งให้ ตัวแทนจำหน่าย31 ล้านฉบับ ระบบรายย่อย 69 ล้านฉบับ

โมเดลการขายหวยตามราคาจริงที่กำหนดโดยสำนักงานสลากฯ ที่ใบละ 80 บาทเป็นต้นทุนรับมาจากสำนักงานสลากฯ ประมาณ70 บาทพ่อค้า-แม่ค้ากำไร 10 บาท

แต่ถ้าขายสลากเกินราคาที่ใบละ 100 บาท หรือเลขชุดหารเฉลี่ยใบละ 120 บาท, 150 บาท หรือสูงกว่านั้น (บางทีไปถึงใบละ 200 บาท) ดังเช่นที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันจากกำไรใบละ 10 บาท ก็จะพุ่งไปเป็นใบละ 30 บาท, 50 บาท, 80 บาท หรือ 130 บาท ทันที แต่กำไรในส่วนนี้จะแบ่งสรรปันส่วนกันระหว่าง ยี่ปั๊ว - ซาปั๊ว จนไปถึง ผู้ค้ารายย่อย จำนวนเท่าไหร่ก็แล้วแต่

การบุกเบิกตลาดของ “มังกรฟ้า” เดิมทีเชื่อกันว่า เจ้าของตัวจริงของแพลตฟอร์มมังกรฟ้า ไม่ใช่เด็กหนุ่ม แต่เป็นหนึ่งในเจ้าของโควตาสลากที่จำหน่ายผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย 31 ล้านฉบับ ทำให้“มังกรฟ้า”มีสลากฯ อยู่ในมืองวดละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านฉบับ แบบสบาย ๆ

ทำให้ใน“มังกรฟ้า”ที่อ้างว่าทำแพลตฟอร์มมาเพื่อฝากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งวางขาย สลากกินแบ่งบนแพลตฟอร์มตัวเองในราคา 103-105 บาทโดยเล่นแร่แปรธาตุ อ้างว่าราคาดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือค่าสลากกินแบ่ง 80 บาท
ค่าธรรมเนียม 20 บาท ค่าสแกนจัดเก็บ 3-5 บาท


จากโมเดล “เจ้าของโควตารายใหญ่” มาขายสลากราคา 103-105 บาท ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสามารถทำกำไรได้อย่างน้อย 20-30 บาทต่อใบโดยไม่ต้องแบ่งกำไรดังกล่าวให้ซาปั๊ว ผู้ค้าส่ง หรือ ผู้ค้าเร่ แต่อย่างใด

ซึ่งถ้ามีการวางขายงวดละ 2 ล้านใบ ก็จะได้กำไรเป็นส่วนต่าง อย่างต่ำ 40-60 ล้านบาท หรือ ตกเดือนละ 80-120 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำธุรกิจของ“กองสลากพลัส”ที่“ นอท”เปิดเผยต่อสาธารณะไม่ใช่อย่างนั้น

วันที่ 30 ธันวาคม 2565 “นอท พันธ์ธวัช” แถลงข่าวชี้แจงระบุว่า “กองสลากพลัส” ไล่ซื้อลอตเตอรี่จากตลาดสนามบินน้ำ ตลาดวังสะพุง จ.เลย ตลาดสี่แยกคอกวัว รวมถึงผู้อื่นที่ซื้อขายกันอยู่แล้วในราคาใบละ 98 บาทแล้วนำมาขายต่อโดยแบ่งเป็น 2 ราคา คือราคาลอตเตอรี่เดี่ยว และชุด 2 ใบราคา 100 บาท(80+20 บาท รวม Vat 7%)ลอตเตอรี่ชุดใหญ่ตั้งแต่ 3 ใบขึ้นไปราคา 105 บาท(80+25 บาท รวม Vat 7%)

เรียกได้ว่าส่วนต่างของกองสลากพลัส ตามที่“นอท”อ้างนั้นบางมาก ๆ โดยตัวเขาอ้างว่าเมื่อหักภาษี และต้นทุนต่าง ๆ แล้ว กำไรตกเพียงใบละประมาณ 3-4 บาท ก่อนหักค่าใช้จ่ายเท่านั้น

ขณะที่ ลำดับการทำงานของ “นอท” และทีมงานกองสลากพลัส ในแต่ละงวดนั้น ถ้าเป็นสลากงวดที่ออกรางวัลใน วันที่ 16 ของทุกเดือน เขาจะเริ่มต้นไล่ซื้อสลาก ทุกวันที่ 3 โดยจะได้ลอตเตอรี่ในวันถัดมาหรือไล่ซื้อล่วงหน้าก่อนสลากออกประมาณ 10 กว่าวัน


สำหรับการบริหารเงินสำหรับการซื้อขายลอตเตอรี่ ต่องวด จะใช้เงินหมุน 1,200-1,400 ล้านบาทในการซื้อสลาก โดยวันแรกจะได้ 6 ล้านใบ ตีเป็นเงิน 600 ล้านบาท พอขายได้ก็ใช้เงินนำมาหมุนเวียนซื้อขายกันไป

วิธีการดังกล่าว “นอท” อ้างว่า ทำให้ตนไม่ใช่นายทุนเพียงคนเดียวที่ได้กำไร เพราะตนยังเป็นพ่อค้าที่ไปซื้อลอตเตอรี่มาจากผู้อื่นโดยไม่ได้แทรกแซงกลไกตลาด อาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขตามสัญญาเรื่องขายยกเล่ม แต่ไม่ได้ซื้อกับเจ้าของโควตา

แรกเริ่มที่เปิดบริษัทในปี 2563 “นอท” อ้างว่า ซื้อได้ 2,285 ใบ ก่อนเพิ่มขึ้นจนต้องนำรถและบ้านไปจำนองเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในบริษัทฯก่อนมีหุ้นส่วนเข้ามาร่วมลงทุนเปรียบเทียบได้กับร้านสะดวกซื้อที่นำสินค้าไปฝากขาย ทำให้มีลูกค้าที่มีสลากในมือนำมาฝากขาย งวดล่าสุดวันที่30 ธันวาคม 2565ทั้งหมด 13.8 ล้านฉบับ

เงินทุนของ“CEO นอท กองสลากพลัส”มาจากไหน?

ประเด็นสำคัญที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่มองข้าม และไม่มีใครทำข่าวแบบเจาะลึกเลยก็คือเงิน 600 ล้านบาท ที่มีการนำมาหมุนเวียนกลายเป็น 1,300-1,400 ล้านบาทเพื่อซื้อสลาก 10 กว่าล้านใบในแต่ละงวดของ “นอท” นั้นมาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร

“สื่อไทย” กลายเป็นเครื่องมือของนอท ตกเป็นเหยื่อ ในการเบี่ยงเบนประเด็น และยิ่งทำให้คนไทยหลงทางไปกับ“นอท กองสลากพลัส” โดยสื่อส่วนใหญ่ มัวแต่ไปสนใจประเด็นยิบ ๆ ย่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การขายสลากเกินราคา งบการเงินของ บ.ลอตเตอรี่ออนไลน์ เรื่องการเสียภาษี ประเด็นทะเลาะเบาะแว้ง แย่งลูกค้า ระหว่างแพลตฟอร์มลอตเตอรี่ออนไลน์ด้วยกัน ฯลฯ


สื่อที่ให้พื้นที่ “นอท กองสลากพลัส” ไปโฆษณา ไปแก้ตัวต่าง ๆ นานา จะโดยจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม แต่กำลังกลายเป็นเครื่องมือให้ “นอท” และกองสลากพลัส โปรโมทโฆษณาตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

นสพ.ไทยรัฐ เดือนธันวาคม 2565 ให้กองสลากพลัสซื้อโฆษณาหุ้มปกหนังสือพิมพ์ ในวาระครบรอบ 2 ปีของกองสลากพลัส


รายการ WOODY INTERVIEW ของ“วู้ดดี้” นายวุฒิธร มิลินทจินดาให้ “นอท” ไปออกรายการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 - ในหัวข้อเคลียร์! ชัด! จัดเต็มทุกประเด็น! “พิสูจน์วงการลอตเตอรี่ ไม่ใช่วงการมาเฟีย” เผยเรื่องราวเบื้องหลังวงการลอตเตอรี่


รายการตี10 (ช่อง 3) ของนายวิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 -สัมภาษณ์ “นอท” โดยชูประเด็นที่ว่า เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแบบสุด ๆ บนโลกออนไลน์ โดยพาดหัวรายการตอนนี้ว่า“เปิดเบื้องลึกของ เจ้าพ่อกองสลากพลัส ที่เริ่มต้นชีวิตด้วยวงจรสีเทา ตั้งแต่อายุ 17 ปี แต่อะไรคือจุดเปลี่ยน จากคนหลงผิดให้ประสบความสำเร็จได้”


แต่ปรากฏว่าหลังจากออกรายการไป มีผู้ชมในโลกโซเซียลฯ เข้ามาคอมเมนต์ทางลบต่อตัวนายนอทกันเยอะ เกี่ยวกับประวัติชีวิตที่เปิดเผยว่าเคยค้ายา เคยทำเว็บโป๊ เว็บพนัน รวมทั้งแสดงความคิดเห็นทางลบต่อธุรกิจของกองสากพลัส

ที่น่าสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ หลังจากออกรายการตี 10 มาแล้วรอบหนึ่ง ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 เดือนถัดมาวันที่ 27 ธันวาคม 2565 “นอท กองสลากพลัส”ได้มาออกรายการ ตี10 อีกรอบ เพื่อแก้ภาพลักษณ์ และตอบโต้ชาวเน็ตเหล่านั้นทันที เหมือนกับว่า นายนอท จะมาออกรายการ ตี 10 เมื่อไหร่ก็ได้ตอนไหนก็ได้


เป็นที่สังเกตว่ารายการ ตี 10 ทางช่อง 3 เป็นรายการสำคัญที่คนมีคดีชอบมาออก สร้างโปรไฟล์ตัวเองให้ดูน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน ไล่ไปตั้งแต่ “เบนซ์ เรซซิ่ง” อัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช เครือข่ายฟอกเงินของพ่อค้าชาวลาว “ไซซะนะ แก้วพิมพา” และ “นัตตี้ ลีอาห์” นัทธมณ คงจักร์ เน็ตไอดอล ที่ต่อมาทำตัวเป็นแชร์ลูกโซ่เล่นหุ้นโกงเงินเหยื่อไปกว่า 2 พันล้านบาท แล้วหลบหนีไปมาเลเซีย


การออกรายการตี 10 ทางช่อง 3 ของ “นอท กองสลากพลัส” แตกต่างจากรายการทางช่อง 3 อีกรายการหนึ่ง“โหนกระแส” ของหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ที่มีการเชิญนอทมาออกรายการหลายครั้ง แต่เป็นการเชิญมาเพื่อถามตอบในประเด็นข้อสงสัย และเรื่องราวที่ตกเป็นข่าว และมีประโยชน์ต่อสังคม


รายการเคลียร์ชัด ชัด ช่องเวิร์คพ้อยท์ดำเนินรายการโดย“นายอั๋น” ภูวนาท คุนผลิน วันที่ 4 มกราคม 2566 ให้ “นอท” มาออกรายการเพื่อตอบข้อกล่าวหาทั้งหมดที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ซึ่งฟังเผิน ๆ ก็ดูเหมือนเป็นรายการสัมภาษณ์เชิงข่าว แต่พอมีตอนหนึ่งที่พอ“นอท พันธ์ธวัช” บอกว่า ตั้งใจจะปั้นบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ให้ได้ “อั๋น” ภูวนาท ผู้ดำเนินรายการกลับพยายามพูดกึ่งติดตลกว่า

“... นี่ไม่ได้มาอวยอะไรกันทั้งสิ้น แต่บริษัทใดก็ตามมีความตั้งใจจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แปลว่าเขามั่นใจที่พร้อมจะถูกตรวจสอบแน่นอน คือธรรมาภิบาล เรื่องของความโปร่งใส ทุกอย่าง ทุกอย่างต้องสามารถเข้าตรวจสอบได้ทั้งหมด มุมหนึ่งพอได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกว่ามั่นใจมากขึ้นอีก แต่เดี๋ยวรอดูกันต่อไปก็แล้วกันกับความตั้งใจ

“ผมแอบเปิดเผยสักนิดหนึ่งก็แล้วนะครับว่า 30-40 ล้านบาทต่อเดือน เท่าที่สำรวจเจอมานะครับ รถไฟฟ้า 4 ขบวน 1 สถานี รถเมล์ 300 คัน บิลบอร์ด 60 ป้าย

“แล้วก็อาจจะซื้อจอของรายการเคลียร์ ชัด ชัด ตรงนี้ รอติดตามได้นะครับ ไม่แน่สัปดาห์หน้าอาจจะเปลี่ยนเป็น เคลียร์ ชัด ชัด โดยกองสลากพลัส...”


ช่อง 9 อสมท หลังจากที่“นอท กองสลากพลัส”ควักเงินเกือบ 70 ล้านบาท เพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 หรือ“AFF Mitsubishi Electric Cup 2022” ที่ทีมชาติไทยกำลังเข้าร่วมการแข่งขัน ถ่ายทอดทางช่อง MCOT HD หรือช่อง 9 และ T Sports 7

ปรากฏว่าระหว่างที่ช่อง 9 ซึ่งเป็นสื่อภายใต้การควบคุมของรัฐ มีการแทรกโฆษณาของ “กองสลากพลัส”เป็นระยะ ๆ ในช่วงการถ่ายทอด โดยเพลย์โฆษณาต่อเนื่องเป็นเวลารวมเกือบ 20 นาที


เนื้อหาในโฆษณา มีทั้งการเอาเงินมาวางเป็นฟ่อน ประกาศรางวัลที่ 1 แล้วโทรไปหาคนที่ถูกรางวัล ปลายสายก็ดีอกดีใจที่ตัวเองถูกรางวัล มีคอนเทนต์นายนอทขับรถเฟอรารีสีแดงหรูหราอู้ฟู่มาก ขนเงินไปให้ลูกค้าที่ถูกหวยตามจังหวัดต่างๆ จังหวัดโน้นจังหวัดนี้ ให้คนดูฝันว่า สักวันหนึ่งจะเป็นตัวเอง


นายนอท อาจจะอ้างได้ว่า“ก็ผมเป็นคนออกเงินค่าลิขสิทธิ์ ดังนั้นจะโฆษณาอะไรก็ได้”

แต่ช่อง 9 เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เป็นสื่อภายใต้ความควบคุมของรัฐบาล ไม่รู้สึกอะไรเลยหรือที่มีการโฆษณาสนับสนุนให้มีการซื้อหวยออนไลน์ที่ไม่ได้ขายโดยรัฐบาลเอง แต่ผ่านจอโทรทัศน์ ผ่านสื่อของ อสมท.ที่คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึง!?!


อ่านต่อ >> ปิดหน้ากาก “CEO นอท กองสลากพลัส” เบื้องหลังคือ แก๊งฟอกเงินทุนสีเทา !?!

เรื่องเกี่ยวเนื่อง
-แฉวิธีฟอกเงินจากยุคคนโบราณฝังดิน ถึงยุควัยรุ่นเทรดคริปโต
-“นอท กองสลากพลัส” จากเด็กโลกสีเทา สู่ CEO หวยออนไลน์หมื่นล้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น