xs
xsm
sm
md
lg

เผยคำฟ้อง “หลานกรมพระยาชัยนาทฯ” ชี้ วิทยานิพนธ์ “ณัฐพล ใจจริง” ปั้นแต่งคำเท็จ-ให้ร้ายสถาบัน บิดเบือนประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยคำฟ้องหลานกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ขอความเป็นธรรมเรียกค่าเสียหายณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน” 50 ล้าน ชี้ ทำวิทยานิพนธ์จงใจ-ประมาทเลินเล่อร้ายแรง ให้ร้ายสถาบัน โจมตีผู้สำเร็จราชการฝักใฝ่อำนาจ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกลียดชัง ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ทำให้กรมพระยาชัยนาทฯ และราชสกุลรังสิต ได้รับความเสียหาย แต่ยังไขข่าวแต่งหนังสือซ้ำแล้วซ้ำอีก ยากเกินเยียวยา

วันนี้ (9 มี.ค.) จากกรณีที่ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ได้มอบหมายให้ นายสมผล ตระกูลรุ่ง ทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. เพื่อดำเนินคดีต่อ นายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”, นางกุลลดา เกษบุญชู มี้ด อดีตอาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, น.ส.อัญชลี มณีโรจน์ หุ้นส่วนสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และ นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในฐานความผิดละเมิดไขข่าวด้วยข้อความฝ่าฝืนความจริง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กรณีที่ นายณัฐพล เขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” รวมทั้งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” มีข้อความบางตอนที่โจทก์อ้างว่าบิดเบือนทำให้ได้รับความเสียหาย สำหรับรายละเอียดคำฟ้องมีดังนี้

ข้อ 1. โจทก์เป็นหลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โดยเป็นธิดาของหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต (บิดา) และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต (มารดา) มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน 3 คน หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต บิดาโจทก์เป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (บิดา) และ หม่อมอลิซาเบทรังสิต ณ อยุธยา (มารดา) ปรากฏตามบัญชีเครือญาติเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

โจทก์เป็นผู้แทนราชสกุลรังสิต ประธานมูลนิธิวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลลำดับที่ 277 ของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารภาคใต้ และยังเป็นกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคณะแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร กระทรวงสาธารณสุข เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข ส่งเสริมสนับสนุนกิจการทางการแพทย์ รวมถึงให้ทุนการศึกษาในทางการแพทย์ด้วย รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายรายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) มีหน้าที่จัดทำวิทยานิพนธ์ด้วยความสุจริต ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

จำเลยที่ 2 เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักในการทำวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่จำเลยที่ 1 นำเสนอในการทำวิทยานิพนธ์ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” ซึ่งจัดพิมพ์โดยจำเลยที่ 5

จำเลยที่ 4 เป็นบรรณาธิการหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ซึ่งจัดพิมพ์โดยจำเลยที่ 5

จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีจำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือรับรอง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3

ข้อ 2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) เมื่อแรกประสูติดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร กรมขุนชัยนาทนเรนทร กรมพระชัยนาทนเรนทร และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ตามลำดับ ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ก ประเทศเยอรมนี วิชาศึกษาศาสตร์ เป็นผู้ทรงมีคุโณปการต่อประเทศชาตินานาประการ ในทางด้านการศึกษา ทรงวางหลักสูตรเบื้องต้นให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงวางรากฐานให้โรงพยาบาลศิริราช ทรงเริ่มการแพทย์และเภสัชศาสตร์สมัยใหม่ในประเทศไทย ทรงเป็นผู้ก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยทรงเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขพระองค์แรก ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี และทรงเป็นต้นราชสกุลรังสิต รายละเอียดปรากฏตามประวัติ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4

ข้อ 3. เมื่อปี 2552 จนถึงปัจจุบัน จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ โดยนำข้อความอันเป็นเท็จจัดทำเอกสารไขข่าวแพร่หลายสู่สาธารณะ เพื่อมุ่งประสงค์กล่าวหาให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทำเป็นกระบวนการเพื่อใช้ในการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเริ่มจากจำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบและร่วมมือของจำเลยที่ 2 ได้ปั้นแต่งความเท็จขึ้นใส่ความสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ว่า ทรงประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่ ทั้งการใช้พระราชอำนาจสนับสนุนรับรองการรัฐประหารปี 2490 และการเข้าแทรกแซงการปกครองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ โดยเจตนาเพื่อให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการทำวิทยานิพนธ์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลังจากนั้น จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จในรูปแบบต่างๆ ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

เมื่อปี 2552 ในขณะที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ จำเลยที่ 1 ได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ในการศึกษาตามหลักสูตรปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

ในการทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 บิดเบือนข้อความจริงด้วยความจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในวิทยานิพนธ์ ในหน้า 63 และ 105 ว่า

หน้า 63 วรรคแรก “ดังนั้น การรัฐประหาร 2490 ถือได้ว่าเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองที่สำคัญที่ทำให้เกิดอำนาจที่เคยอยู่ในกลุ่มภายในของคณะราษฎรสิ้นสุดลง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มผู้ถือครองอำนาจใหม่ คือ คณะรัฐประหารและสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งนี้ แม้การรัฐประหาร 2490 คณะรัฐประหารจะเป็นกลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการยึดอำนาจด้วยกำลัง แต่การรัฐประหารครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการ และทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน ขณะนั้นกรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แม้ว่าตลอดคืนของวันยึดอำนาจนั้นจะปราศจากการต่อต้านของรัฐบาลชุดเก่า และการรัฐประหารสำเร็จได้อย่างง่ายดายจากการให้การรับรองของผู้สำเร็จราชการแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่คณะรัฐประหารยังคงต้องการต่อไป คือ การได้รับการยอมรับจากสาธารณชน กองทัพ และต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ นายทหารในคณะรัฐประหารจึงไปเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำของรัฐคณะรัฐประหาร”

หน้า 105 วรรคแรก แม้สถาบันกษัตริย์ และกลุ่ม “รอยัลลิสต์” จะประสบความพ่ายแพ้ในการรักษาอำนาจให้กับรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลตัวแทนของพวกตนที่ถูกบังคับลงด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารก็ตาม แต่พวกเขายังคงประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นสถาปนิกทางการเมืองในการออกแบบระบอบการเมืองที่ทำให้พวกตนได้เปรียบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 ต่อไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้สำเร็จราชการ สมาชิกวุฒิสภา กับ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาใหม่ สถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้สำเร็จราชการทรงพยายามรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของพวกตนในรัฐสภาเอาไว้อย่างต่อเนื่อง โดยทรงได้แต่งตั้งบุคคลที่เป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” กลับเข้ามาเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยมิได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อีกทั้งที่ผ่านมา ผู้สำเร็จราชการได้ทรงขยายบทบาททางการเมือง ด้วยการเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. เสมอๆ ด้วย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับจอมพล ป. เป็นอย่างมาก ต่อมาเขาจึงตอบโต้กลับด้วยการเรียกร้องว่า หากผู้สำเร็จราชการยังทรงแทรกแซงทางการเมืองผ่านรัฐสภาและรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็มีความต้องการที่จะเข้าร่วมประชุมคณะองคมนตรีด้วยเช่นกัน”

รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหน้า 63 และ 105 ของวิทยานิพนธ์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5

ข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 1 อ้างอิงว่า เป็นข้อเท็จจริงที่นำมาจากข้อมูลที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง ดังนี้

ข้อความในหน้า 63 จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงจาก 2 แหล่งที่มา คือ

เชิงอรรถที่ (1) “Stanton, Brief Authority: Excusion of a Common Man in an Uncommon World. P. 210” ซึ่งเชิงอรรถที่อ้างถึงนี้ มีข้อความเพียงว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร บอกกับ Stanton ว่า เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่นำไปสู่การนองเลือดนั้น ดูจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติแล้ว เพราะการนองเลือดคือสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งต่อผองเราในฐานะพุทธศาสนิกชน เท่านั้น ไม่ได้มีข้อความว่า “กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการ และทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน” ซึ่งมีความหมายว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สนับสนุน และเห็นด้วยกับการรัฐประหาร รายละเอียดปรากฏตามเอกสารพร้อมคำแปลท้ายฟ้องหมายเลข 6

เชิงอรรถที่ (2) “สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500). (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550). หน้า 96-100” เชิงอรรถที่อ้างถึงนี้ มีข้อความเพียงว่า “อนึ่ง ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ บุตรเขยของ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง ก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จในการรัฐประหารสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นตัวกลางนำ น.อ.กาจ และ พล.ท.ถนอม กิตติขจร ไปกับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่วังถนนวิทยุในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เพื่อขอให้ลงพระนามในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จากนั้นต่อมา ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ก็ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ให้เป็นตัวแทนเดินทางไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ด้วย” เท่านั้น มิได้มีข้อความว่า “ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” ซึ่งมีความหมายว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สนับสนุนและเห็นด้วยกับการรัฐประหาร รายละเอียดปรากฏตามหนังสือ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7

ข้อความในหน้า 105 จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงจากแหล่งที่มา คือ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 และ เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เป็นเชิงอรรถที่ 71 (Bangkok Post, 18 December 1950: NAPA 59 General Records of Department of State. Central Decimal file 1950-1954 Box 4184. William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for November 1950.” 26 December 1950)

ผู้สำเร็จราชการที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงคือ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งได้กล่าวอ้างมาก่อนแล้ว ข้อความที่อ้างว่า “ที่ผ่านมา ผู้สำเร็จราชการได้ทรงขยายบทบาททางการเมือง ด้วยการเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป. เสมอๆ ด้วย” ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ เนื่องจากไม่ปรากฏข้อความในเอกสารทั้ง 2 ฉบับที่จำเลยที่ 1 อ้างถึง และเมื่อพิจารณาจากเอกสารที่อ้างถึงทั้ง 2 ฉบับ แล้ว ข้อเท็จจริงกลับปรากฏชัดเจนในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ มีเพียงข้อความว่า นายกรัฐมนตรีต้องการเข้าร่วมประชุมคณะองคมนตรี เท่านั้นรายละเอียดปรากฏตามหนังสือพิมพ์และเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐ พร้อมคำแปล เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 และ 9

ประเด็นการอ้างข้อความในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ที่จำเลยที่ 1 อ้างในวิทยานิพนธ์ นั้น ภายหลังจากมีการตรวจสอบความถูกต้องจนพบว่าวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 อ้างอิงข้อความเป็นเท็จแล้ว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จึงได้ลงข่าวยืนยันว่า หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ไม่เคยเสนอข่าวว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทร เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่ปรากฎข้อความที่จำเลยที่ 1 อ้างในวิทยานิพนธ์รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2020 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ได้วางหลักเกณฑ์การเขียนวิทยานิพนธ์ไว้ว่า “สิ่งที่ควรตระหนักอย่างยิ่งในการเขียนวิทยานิพนธ์ คือ เรื่องจริยธรรม หรือจรรยาบรรณในการวิจัย นิสิตต้องรับผิดชอบในการหารายละเอียดที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอกสารและแหล่งข้อมูลที่ใช้อ้างอิง การคัดลอกสาระสำคัญของผลงานวิจัย หรือข้อเขียนของผู้อื่นมาใส่ไว้ในวิทยานิพนธ์ของตนเองจะต้องระบุแหล่งที่มาของข้อมูลทุกรายการ นอกจากเป็นการให้เครดิตเจ้าของผลงานแล้ว ยังทำให้วิทยานิพนธ์นั้น มีคุณค่าน่าเชื่อถือทางวิชาการมากยิ่งขึ้น” การทำวิทยานิพนธ์มีหลายระดับการศึกษา การทำวิทยานิพนธ์ในระดับดุษฎีบัณฑิต ถือเป็นงานที่มีเกียรติยศสูงสุดในทางวิชาการด้านการศึกษา การทำวิทยานิพนธ์เพื่อจะเป็นดุษฎีอันมีเกียรติ พึงต้องมีความละอายต่อการบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ควรสร้างผลงานทางวิชาการด้วยการปั้นแต่งความเท็จเพื่อสนองความต้องการของตนเองอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรม

การอ้างข้อเท็จจริงอันฝ่าฝืนต่อความจริงของจำเลยที่ 1 ในวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตดังกล่าว เป็นการจงใจนำความเท็จที่ตนเองปั้นแต่งขึ้นเพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์ ให้เป็นข้อเท็จจริงที่มีความน่าเชื่อถือด้วยการอ้างว่าเป็นข้อเท็จที่มีมาก่อนแล้ว เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามหลักการทางวิชาการที่น่าละอายอย่างยิ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยมีอคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพื่อให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการกล่าวหาโจมตีผ่านสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยมุ่งประสงค์ให้ผู้ที่อ่าน หรือผู้ที่พบเห็นข้อความในวิทยานิพนธ์เข้าใจข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติและวงศ์ตระกูล ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นผู้ไม่นิยมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ฝักใฝ่อำนาจทางการเมือง สนับสนุนการรัฐประหาร กระทำการก้าวก่ายการบริหารราชการของรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่จริงแต่ประการใด

จำเลยที่ 2 เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักในการทำวิทยานิพนธ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์ระดับสูง จบการศึกษาระดับปริญญาเอก มีสถานะเป็นรองศาสตราจารย์ ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะนักวิจัยดีเด่น เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องทราบหลักเกณฑ์การเขียนวิทยานิพนธ์ของนิสิตเป็นอย่างดี มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยในระดับมาตรฐานของนักวิชาการในการให้คำปรึกษา เสนอแนะ และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ใช้อ้างอิงในการทำฐานะนักวิจัยดีเด่น เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต้องทราบหลักเกณฑ์การเขียนวิทยานินธ์ของนิสิตเป็นอย่างดี มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยในระดับมาตรฐานของนักวิชาการในการให้คำปรึกษา เสนอแนะ และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ใช้อ้างอิงในการทำวิทยานิพนธ์ให้ตรงกับความเป็นจริง เพื่อให้งานวิทยานิพนธ์ในระดับดุษฎีบัณฑิตมีความถูกต้องน่าเชื่อถือ อันเป็นมาตรฐานของมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการอ้างอิงแหล่งข้อมูลใดๆ จะต้องเป็นข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งข้อความในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 หน้า 63 และ 105 เป็นข้อความสำคัญที่กระทบถึงความมั่นคงขององค์กรหลักของชาติ จำเลยที่ 2 ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก จึงยิ่งต้องมีหน้าที่ใช้ความระมัดระวังและต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถูกต้องชัดเจน ซึ่งสามารถตรวจสอบจากเอกสารของจำเลยที่ 1 ได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่เคยมีปรากฏในทางวิชาการมาก่อน การที่จำเลยที่ 2 ไม่ทักท้วงข้อความดังกล่าว จึงเป็นการจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ทำหน้าที่ให้สมฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 ตามวิสัยของผู้ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักในการทำวิทยานิพนธ์ ปล่อยปละละเลยให้มีการอนุมัติวิทยานิพนธ์อันมีข้อความเท็จของจำเลยที่ 1 จนในที่สุด มีการห้ามเผยแพร่วิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 ทำให้กระทบถึงเกียรติภูมิความน่าเชื่อถือในมาตรฐานดุษฎีบัณฑิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเกิดความเสียหายในเวลาต่อมา

หลังจากนั้น วิทยานิพนธ์ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียน โดยความร่วมมือและเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนทั่วไป จึงเป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทราบดีว่า วิทยานิพนธ์ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว จะได้รับการเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป เมื่อข้อความในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 เป็นข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ย่อมทำให้เป็นที่เสียหายต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และราชสกุลรังสิต เป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยไม่มีโอกาสชี้แจงความเป็นจริงเพื่อปกป้องชื่อเสียงเกียรติคุณของตนเองได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงบำเพ็ญแต่ประโยชน์ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ไม่เคยยุ่งเกี่ยวหรือสนพระทัยในทางการเมืองแต่อย่างใด แม้แต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม พระองค์ทรงเป็นพระปิตุลาที่สนิทสนมที่สุดกับในหลวงรัชกาลที่ ๘ และที่ ๙ พระองค์ทรงถูกการเมืองใส่ร้ายตลอดมา แม้ในขณะยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ได้ถูกรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวหาว่าเป็นกบฏ ถูกศาลพิเศษซึ่งตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นศาลพิเศษจริงๆ ยิ่งกว่าศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 ซึ่งตั้งหลังจากมีการต่อสู้กับพระองค์เจ้าบวรเดช ทั้งๆ ที่มีการรบกันแต่ศาลพิเศษครั้งนั้นยังประกอบด้วยตุลาการแท้ๆ กับนักกฎหมาย แต่ในปี 2481 นี้ คณะผู้พิจารณาคดีจะเป็นนายทหารประจำการซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่กรมพระธรรมนูญ เป็นทหารแท้ๆ 7 คน มากกว่าพลเรือน และประธานกรรมการ (พันเอก มังกร พรหมโยธี) ก็เป็นเพื่อนสนิทของนายกรัฐมนตรี โดยไม่อนุญาตให้มีทนายความแก้ต่างคดีได้ จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผลการตัดสินจะต้องเป็นที่ตกลงกันเรียบร้อยไว้ล่วงหน้าแล้ว พิจารณาคดีกันไปเป็นพิธีเท่านั้น (จากบันทึกความทรงจำของ นายยันต์ วินิจนัยภาค) ซึ่งในที่สุดพระองค์ถูกพิพากษาประหารชีวิต แต่ให้ลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ถูกจองจำขังเดี่ยวเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน 27 วัน โดยไม่อนุญาตให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกได้โดยตรง จนเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้ จึงทรงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งนับเป็นการถูกใส่ร้ายอย่างร้ายแรงที่สุดต่อพระองค์ท่านและราชสกุลรังสิต นับเป็นเวลากว่า 80 ปี ที่แผลในใจจากความรู้สึกที่ถูกใส่ร้ายเริ่มจางไป จนปัจจุบันราชสกุลรังสิตก็รู้สึกสะเทือนใจอีกครั้ง เมื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จงใจร่วมกันบิดเบือนวิทยานิพนธ์ให้ร้ายต้นราชสกุลกล่าวหาว่าแทรกแซงทางการเมือง โดยทำเป็นรูปแบบวิชาการให้ดูน่าเชื่อถือ โดยเจตนาให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เกลียดชังสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ต้นราชสกุลรังสิต ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า เป็นผู้ฝักใฝ่อำนาจ ไม่ตรงข้ามกับความเป็นจริง ราชสกุลรังสิตจึงย่อมได้รับความเสียต่อชื่อเสียง เกียรติประวัติ หรือเกียรติคุณ หรือทางทำมาหาได้หรือทางเจริญ โจทก์เป็นผู้สืบราชสกุลและผู้แทนราชสกุลในปัจจุบัน ย่อมได้รับความเสียหายจากการร่วมกันกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2

นอกจากจำเลยที่ 1 จะบิดเบือนข้อเท็จจริงในวิทยานิพนธ์ดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้นำข้อความอันเป็นเท็จในวิทยานิพนธ์ไปพูดในการเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2553กล่าวหากรมขุนชัยนาทนเรนทรว่า ก้าวก่ายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการเข้าไปนั่งเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยอ้างหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 ซึ่งเป็นความเท็จ อันเป็นการกล่าวหรือไขข่าวซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนความจริง รายละเอียดปรากฎตามรายงานการเสวนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11

นอกจากนี้ การทำวิทยานิพนธ์ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนประวัติศาสตร์ของจำเลยที่ 1 ยังก่อให้เกิดความเสียหายในทางวิชาการ โดยนักศึกษาในรุ่นต่อมา ได้นำข้อความอันฝ่าฝืนความจริงในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 ไปอ้างอิงในการทำวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทของนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2559 รายละเอียดปรากฎตามสำเนาวิทยานิพนธ์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12

ข้อ 4. ต่อมาเมื่อ ปี 2556 จำเลยที่ 1 ได้เขียนหนังสือ ขอฝันใฝ่ ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) หนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาโจมตีให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ต่อเนื่องจนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร ด้วยความเท็จ โดยมีเนื้อหาในหน้า 120 ถึง 121 และ 124 ถึง 125 ปรากฎตามภาพถ่ายหนังสือดังกล่าว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13 ดังนี้

หน้า 120-121 “ไม่นานจากนั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตขึ้น คณะกรรมการสอบสวนชุดนี้ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และพระราชวงศ์ระดับสูง ได้แก่ พระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าจุมภฎบริพัตร และพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ร่วมเป็นกรรมการ เมื่อการสอบสวนคดีดังกล่าวในช่วงรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีความคืบหน้าที่น่าพึงพอใจ จนอาจระบุผู้ต้องสงสัยได้ ไม่นานจากนั้นก็เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 การรัฐประหารดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ (37) ที่สำคัญคือการรัฐประหารครั้งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของการรัฐประหารที่ได้รับการรับรองความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ จนทำให้การกระทำผิดกฎหมายนี้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก”

ข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 1 จงใจให้ผู้อ่านเข้าใจว่า กรมขุนชัยนาทนเรนทร สนับสนุนรัฐประหาร โดยให้ความช่วยเหลือ โดยอ้าง “Edwin F. Stanton. Brief Authority: Excusion of a Common Man in an Uncommon World. P. 210” เป็นเชิงอรรถที่ 37 มีข้อความเพียงว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร บอกกับ Stanton ว่า เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่นำไปสู่การนองเลือดนั้น ดูจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติแล้ว เพราะการนองเลือดคือสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งต่อผองเราในฐานะพุทธศาสนิกชน เท่านั้น ไม่ได้มีข้อความว่า ที่จะทำให้เข้าใจได้ว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร สนับสนุนและช่วยเหลือการรัฐประหาร ตามที่ปรากฎในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6

ข้อความที่จำเลยที่ 1 อ้างในหนังสือดังกล่าว จึงฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง

หน้า 124-125 “อย่างไรก็ตาม การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหาร 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ ได้สร้างปัญหาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหาร Bangkok Post และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ได้ระบุข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลในขณะนั้น ว่า ผู้สำเร็จราชการได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการที่พระองค์แต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐบาลเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ รายงานทางการทูตยังบอกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายน 2494 กลุ่มรอยัลลิสต์มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก รายงานวิเคราะห์ว่า พวกเขาหวังจะใช้การเสด็จนิวัตพระนครของกษัตริย์เป็นพลังสนับสนุนบทบาทการต่อต้านรัฐบาล”

ข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 1 อ้างว่า เป็นข้อเท็จจริงที่มาจาก หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 และ เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เป็นเชิงอรรถที่ 42 (Bangkok Post, 18 December 1950.: NARA RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184. William T. Turner to Secretary od State. “Political Report for November 1950.” 26 December 1950) ข้อความที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าว ไม่ตรงกับเอกสารที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างทั้ง 2 ฉบับ ดังรายละเอียดเป็นไปตามที่โจทก์ได้กราบเรียนต่อศาลไว้แล้วในข้อ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 และ 9

การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการโจมตีผู้สำเร็จราชการ ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และราชสกุลรังสิต รวมถึงโจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหาย โดยจงใจกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงหรือเกียรติคุณหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์

หนังสือ ขอฝันใฝ่ ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) ดังกล่าว มีจำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการหนังสือดังกล่าว จัดพิมพ์และเผยแพร่ในกิจการของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และ 427 จำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077

ข้อ 5. ต่อมาเมื่อปี 2561 ได้มีการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 โดยศาสตรจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร จึงพบว่า การเขียนและอ้างอิงข้อเท็จจริงในวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้สาธารณชนและวงการวิชาการเกิดความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในเรื่องเท็จที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง อันจะมีผลเสียต่อมาตรฐานของผลงานทางวิชาการที่กระทำในนามบัณฑิตศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อบุคคลซึ่งหาชีวิตไม่แล้ว ซึ่งมีโอกาสที่จะมาชี้แจงแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริงเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของตนเองได้ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ได้มีหนังสือแจ้งบัณฑิตวิทยาลัยทราบถึงความผิดพลาดคลาดเคลื่อน แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิได้ดำเนินการเพื่อปกป้องมาตรฐานความน่าเชื่อถือทางวิชาการของสถาบันการศึกษาของจุฬาฯ เอง แต่อย่างใด จนต่อมาเมื่อปี 2562 คณะกรรมการบริหารบัณฑิตวิทยาลัย เพียงมีมติให้ระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายบันทึกของบัณฑิตวิทยาลัย เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 14

จำเลยที่ 1 ยอมรับว่า ข้อเท็จจริงที่อ้างไม่ตรงตามความเป็นจริง และรับว่าจะแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง รายละเอียดปรากฏตามหนังสือของจำเลยที่ 1 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15

การยอมรับว่าจะแก้ไขของจำเลยที่ 1 เป็นการอ้างเพื่อให้ยุติการสอบสวนเท่านั้น มิได้มีความจริงใจที่จะแก้ไขข้อความอันฝ่าฝืนความจริงในวิทยานิพนธ์ของตนเอง เนื่องจากวิทยานิพนธ์ได้รับการอนุมัติไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว และข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยแก้ไขหรือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะแต่อย่างใดเลย กลับปรากฏว่ายังคงอ้างอิงข้อความอันฝ่าฝืนความจริงนั้นต่อสาธารณชนต่อไป โดยไม่มีความละอายในฐานะนักวิชาการแต่อย่างใด โดยยังคงเขียนหนังสือเผยแพร่ข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จออกสู่สาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 จงใจใส่ร้าย กล่าวหาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยเมื่อปี 2563 จำเลยที่ 1 ยังได้เขียนหนังสือชื่อ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” โดยจำเลยที่ 1 ยังคงกล่าวหาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร โดยยังอ้างว่าเรียบเรียงและพัฒนาขึ้นมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 โดยไม่มีข้อความใดที่ยอมรับว่า เป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการข้อเท็จจริงที่ผิดพลาด ทั้งๆ ที่บัณฑิตวิทยาลัยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่แล้ว ในหนังสือนี้มีข้อความโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หลายแห่งในหน้า 60, 63, 66, 73, 77 และคำบรรยายใต้พระรูปในหน้า 69 ปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือบางส่วน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16 ดังนี้

หน้า 60 “รัฐประหารครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จได้หากปราศจากบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการ ซึ่งมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน (Stanton 1956. 210) ขณะนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 แต่ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ที่เกิดจากรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว (สุธาชัย 2550 ข.96-100)

หน้า 63 “ประณามการรัฐประหารว่า “คณะทหารผู้ทำการรัฐประหารทั้งหลาย การกระทำของผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้รักชาติและกระทำการเพื่อประเทศชาติและปกป้องระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การกระทำของกรมขุนชัยนาทนเรนทรไม่ถูกต้องเพราะไม่ปฏิบัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ” และได้กล่าวประณาม พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว” (อ้างอิง “หจส.สบ.9.2.3/8 เอกสารส่วนบุคคล นายเอก วีสกุล เรื่องภาพข่าวเหตุการณ์สังคมเศรษฐกิจการเมือง ข่าวรัฐประหารปี 2490 (2488-2491))”

หน้า 66 “เป็นธรรมดาที่กลุ่มรอยัลลิสต์จะไม่ไว้ใจจอมพล ป. เพราะเขาเป็นอดีตแกนนำคณะราษฎรที่เคยปราบปรามการก่อกบฏของพวกเขาอย่างรุนแรงมาก่อน กรมขุนชัยนาทนเรนทร อดีตแกนนำกบฏของกลุ่มรอยัลลิสต์ที่เคยถูกถอดอิสริยยศและถูกคุมขังจากการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป. ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองได้รับการปลดปล่อยหลังสงคราม ต่อมาพระองค์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และสนิทสนมกับราชสกุลมหิดล พระองค์แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นการส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ภายหลังการรัฐประหารว่าไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และ ปรีดี พนมยงค์ เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้น ถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. (Mahmud 1998. 49)”

หน้า 73 “ในที่สุดเมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควงในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที สถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า เหตุการณ์ขับไล่ควงลงจากอำนาจ สร้างไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควง และคาดการณ์ว่า รัฐบาลจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน สถานทูตรายงานต่อไปว่า พระองค์ทรงมีความเห็นว่าจากนี้ไปมีความเป็นไปได้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการ และส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป. ในกระบวนการทางรัฐสภา” (อ้างอิง “NARA. RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251. Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton. 10 March 1948”)

หน้า 77 “เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลและมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจอมพล ป. ได้ขออนุมัติจากกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการ เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่พระองค์ไม่เห็นด้วย” (อ้างอิง "NA. FO 371/76281. Thompson to Foreign Office. 21 February 1949”)

นอกจากนี้ ยังบรรยายใต้ภาพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในหน้า 69 ว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อดีตแกนนำกบฏต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ได้รับการปลดปล่อยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงสนับสนุน และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการ หลังรัชกาลที่ ๘ สวรรคต พระองค์รับรองการรัฐประหาร 2490 อย่างแข็งขัน และทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดจากรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว”

ข้อความดังกล่าวทั้งหมด ไม่เป็นความจริง เอกสารที่จำเลยที่ 1 อ้างอิง ไม่มีข้อความดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จงใจให้ร้ายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อันเป็นการละเมิดและยังเป็นการไขข่าวให้แพร่หลายด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนราชสกุลรังสิตได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศและทางทำมาหาได้

หนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ดังกล่าว มีจำเลยที่ 4 เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์และเผยแพร่ในกิจการของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 425 และ 427 จำเลยที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตาม ปพพ. มาตรา 1077

ข้อ 6. นอกจากจำเลยจะปั้นแต่งข้อความอันเป็นเท็จใส่ร้ายกล่าวหาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายในประเทศแล้ว จำเลยที่ 1 ยังกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเป็นฝ่าฝืนความจริง ในหนังสือต่างประเทศที่จำหน่ายทั่วโลก ชื่อ “Saving the Unsavable” Monarchy and Democracy in Thailand ใส่ร้ายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ว่า มีส่วนร่วมในรัฐประหาร ปี 2490 และยังปั้นแต่งข้อความเป็นเท็จใส่ร้ายสมเด็จพระราชชนนี ว่า อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และใส่ร้ายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า ทรงทราบล่วงเรื่องรัฐประหารนี้ 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ยังคงกล่าวอ้างข้อความอันเป็นเท็จว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร แทรกแซงการเมือง โดยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี รายละเอียดปรากฎตามภาพถ่ายหนังสือพร้อมคำแปล เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 17

ในหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 1 อ้างอิงที่มาเพียงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยไม่กล้าอ้างเอกสารจากหอจดหมายเหตุของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะรู้ดีว่าคนในต่างประเทศตรวจสอบได้ง่าย

ข้อ 7. ต่อมาเมื่อประมาณปี 2560-2561 สถาบันพระปกเกล้ามีโครงการวิจัยเรื่อง “จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตย: การศึกษาแนวพระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย” โดยศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ได้ตรวจสอบวรรณกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จึงพบว่า วิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 หลายตอนที่อ้างอิงเอกสาร กลับไม่พบข้อความในเอกสาร อันมิใช่วิสัยอันพึงจะยอมรับได้ในทางวิชาการ และปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนเมื่อช่วงปลายปี 2563 ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2-6 ทำละเมิดต่อโจทก์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้ทรงคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ไม่เคยกระทำการตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวหา การกระทำของจำเลยทั้งหก นอกจากจะทำให้เสื่อมเสียแก่พระเกียรติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และเสื่อมเสียเกียรติภูมิของราชสกุลรังสิต รวมถึงโจทก์แล้ว จำเลยทั้งหกยังจงใจเผยแพร่ข้อความอันฝ่าฝืนความจริงดังกล่าวข้างต้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้งหลายหน จงใจเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยหนังสือของจำเลยที่ 1 ถูกนำไปแพร่หลายในกลุ่มนักศึกษาและเยาวชน ทำให้นักศึกษาและเยาวชนจำนวนมากหลงเชื่อในข้อมูลอันเป็นเท็จตามที่ปรากฏในหนังสือของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ของประเทศชาติและเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรง ยากที่จะเยียวยาแก้ไขข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันทำการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จสู่สาธารณะเป็นเวลายาวนาน เมื่อพิจารณาถึงความร้ายแรงแห่งการละเมิดและความยากลำบากในการเยียวยาแก้ไขแล้ว และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป โจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50 ล้านบาท และขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหกเก็บและทำลายวิทยานิพนธ์ของจำเลยที่ 1 หนังสือ “ขอฝันใฝ่ ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” และหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของจำเลยที่ 1 ไม่ให้จำหน่ายอีกต่อไปและขอให้จำเลยทั้งหกร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์กำหนดไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ เป็นเวลาติดต่อกัน 7 วัน รวมทั้งให้จำเลยทั้งหก ลงข้อความขอโทษในสื่อออนไลน์ของจำเลยทั้งหก คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) อินสตาแกรม (Instagram) ยูทูป (Youtube) รวมถึงสื่อออนไลน์อื่นของจำเลยทั้งหก ที่เห็นชัดเจน ตลอดไป ตลอดจนให้จำเลยทั้งหกลบข้อความอันเป็นเท็จออกจากสื่อออนไลน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดที่จำเลยได้ทำการเผยแพร่สู่สาธารณะไปก่อนแล้วด้วย

การกล่าวหรือไขข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนความจริงของจำเลยทั้งหก ได้กระทำทั่วราชอาณาจักร รวมถึงนอกราชอาณาจักรด้วย เพื่อทำลายชื่อเสียงของต้นราชสกุลรังสิต โจทก์ไม่มีทางใดจะบังคับจำเลยทั้งหกได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยบารมีศาลเป็นที่พึ่งในการอำนวยความยุติธรรมให้กับโจทก์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

อ่านประกอบ : “หลานกรมพระยาชัยนาทฯ” สุดทน ฟ้อง “ณัฐพล ใจจริง-ฟ้าเดียวกัน” 50 ล้าน ชี้เจตนาให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ บางกอกโพสต์ชี้แจง ปี 2493 ไม่เคยลงข่าวผู้สำเร็จราชการฯ เข้าร่วมประชุม ครม. ตามที่ “ดร.ณัฐพล-ฟ้าเดียวกัน” อ้างในวิทยานิพนธ์-หนังสือ “เบิกเนตร แก๊งตาสว่าง” ฉบับ “ไชยันต์ ไชยพร” : "ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่อยากให้อนาคตเน่าๆ ของการเมืองและวิชาการ ที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีมันเน่าต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น