1.ศาลพิพากษาจำคุก “สุเทพ” กับพวกแกนนำ กปปส.ชุมนุมขับไล่ รบ. “ยิ่งลักษณ์” ส่งผล “พุทธิพงษ์-ณัฏฐพล-ถาวร” ต้องพ้น รมต.!
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีกบฏ กปปส.ชุดใหญ่ ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส.รวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร ฯลฯ โดยนายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี
คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค.2557 นายสุเทพ ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือกลุ่ม กปปส. ร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นกบฏ ฯลฯ ก่อความไม่สงบ ชุมนุมขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อมิให้นายกฯ และ ครม.ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ
รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังพร้อมอาวุธบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ ปิดกั้นเส้นทางคมนาคม เป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 13 ม.ค.-2 มี.ค. 557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพฯ ด้วยการตั้งเวทีปราศรัย 7 จุด การกระทำของพวกจำเลย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลยด้วย
ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การตั้งเวทีชุมนุมปราศรัย เคลื่อนไปสถานที่ราชการ เป็นการชุมนุมสันติ ไม่รุนแรง การชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขับไล่ระบอบทักษิณ เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนายุยงปลุกระดมกระทำผิดอาญา ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังรัฐบาลลาออก ปฏิรูปแก้ปัญหาประเทศก่อนเลือกตั้ง ไม่มีลักษณะล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยแล้วไม่มีเจตนาความผิดฐานกบฏ มีเพียงการกระทำในแต่ละข้อหาอาญาเท่านั้น
สำหรับการชุมนุมเพื่อไม่ให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ศาลเห็นว่า ข้าราชการเป็นกลไกรัฐ ไม่ได้รับใช้ระบอบทักษิณตามที่กล่าวอ้าง การที่จำเลยจัดเคลื่อนขบวนไปให้หน่วยงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปปิดสถานที่ราชการ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลอื่น ยุยงหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล ไม่ใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความปั่นป่วน
ส่วนกรณีขัดขวางการเลือกตั้ง ศาลเห็นว่า เป็นการก่อให้เกิดความปั่นป่วน ไม่อาจอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ มายกเว้นการกระทำความผิดได้
ส่วนความผิดฐานก่อการร้าย ที่ฟ้องนายสุเทพ กับนายชุมพล เนื่องจากมีการบุกตัดสัญญาณเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทีโอทีนั้น ศาลเห็นว่า ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุหรือร่วมรู้เห็นเชื่อมโยงกับการก่อเหตุ พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนัก
ทั้งนี้ ศาลได้พิพากษาจำคุกนายสุเทพ 5 ปี, นายชุมพล จุลใส 9 ปี 24 เดือน, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 7 ปี, นายอิสสระ สมชัย 7 ปี 16 เดือน, นายวิทยา แก้วภราดัย 1 ปี เเละปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายถาวร เสนเนียม 5 ปี, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 6 ปี 16 เดือน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, พลเอก ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ เสียชีวิต, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายถนอม อ่อนเกตุพล 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี
อดีตพระพุทธะอิสระ หรือนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ 4 ปี 8 เดือน, นายสาธิต เซกัล 2 ปี ปรับ 26,666 รอลงอาญา 2 ปี, พลอากาศโท วัชระ ฤทธาคนี 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, พลเรือเอก ชัย สุวรรณภาพ 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, เรือตรี แซมดิน เลิศบุศย์ 4 ปี 16 เดือน, นายมั่นแม่น กะการดี 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายสาวิทย์ แก้วหวาน 2 ปี
นายสุริยะใส กตะศิลา 2 ปี, นายสำราญ รอดเพชร 2 ปี 16 เดือน, นายอมร อมรรัตนานนท์ 20 เดือน, นายพิเชษฐ พัฒนโชติ 1 ปี ปรับ 13,333 บาท รอลงอาญา 2 ปี, นายกิตติชัย ใสสะอาด 4 เดือน ปรับ 6,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี และนางทยา ทีปสุวรรณ 1 ปี 8 เดือน ปรับ 26,666 บาท รอลงอาญา 2 ปี
และให้ยกฟ้องจำเลยจำนวน 12 คน ประกอบด้วย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์, นางสาวรังสิมา รอดรัศมี, นายแก้วสรร อติโพธิ, นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายถวิล เปลี่ยนศรี, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์, นายสมบูรณ์ ทองบุราณ, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นอกจากนี้ ยังให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายชุมพล, นายอิสสระ, นายณัฏฐพล,นายสุวิทย์, เรือตรีแซมดิน, นายสำราญ, นางทยา มีกำหนดคนละ 5 ปี
ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลส่งผลให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้ง 3 คน ต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 เพราะขาดคุณสมบัติ เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก
หลังศาลพิพากษา ทนายความจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวเเกนนำ กปปส.ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้ประกันตัว ได้แก่ นายสมศักดิ์, นายคมสัน, นายสาวิทย์, นายสุริยะใส, นายสำราญ และนายอมร โดยตีราคาประกันคนละ 6 แสนบาท
ส่วนนายสุเทพ, นายชุมพล, นายพุทธิพงษ์, นายอิสสระ, นายถาวร, นายณัฏฐพล, นายสุวิทย์ และเรือตรี แซมดิน ศาลอาญาเห็นควรส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป เมื่อยังไม่มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ นายสุเทพ กับพวกรวม 8 คน จึงถูกควบคุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 8 คน เนื่องจากจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี อีกทั้งจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ในระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกัน 8 แสนบาท โดยห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
2.ป.ป.ท. ฟัน “ชัยวัฒน์” มีมติให้ออกจากราชการ ปมเผาบ้าน “ปู่คออี้-ชาวบ้าน” 98 หลัง ด้านเจ้าตัวโวย ป.ป.ท.เคยลงพื้นที่หรือไม่!
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่มีนายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นประธาน ได้ประชุมคดีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี กรมอุทยานแห่งชาติฯ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และพวกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติรวม 6 คน ได้เข้ารื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ พ่อเฒ่าชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และของชาวบ้านอีกหลายราย
โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนายชัยวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 และมีมติให้ออกจากราชการ สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ป.ป.ท.จะส่งสำนวนให้ต้นสังกัด คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อให้ดำเนินการทางวินัย และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินคดีอาญา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามนายประสาท พงษ์ศิวาภัย ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ท. ว่า มติ ป.ป.ท. ดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า เป็นไปตามนั้น
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เบื้องต้นทราบข่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ท.อย่างเป็นทางการ แต่ถ้าหนังสือจาก ป.ป.ท.มาถึง ทส.จะมีการแยกสำนวน ถ้าเป็นข้าราชการระดับ 9 เป็นอำนาจของ อ.กพ. กระทรวงที่จะชี้มูลความผิดได้เลย แต่หากเป็นข้าราชการต่ำกว่าระดับ 9 จะต้องส่งเรื่องไปยังกรมต้นสังกัดของข้าราชการที่ถูกชี้มูล จากนั้นต้องนำเข้า อ.กพ. ของกรมต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อ ป.ป.ท.ชี้มูลและมีมติออกไปแล้ว ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่สามารถขัดมติได้ เมื่อถามว่า นายชัยวัฒน์สามารถอุทธรณ์มติ ป.ป.ท.ได้หรือไม่ นายจตุพรตอบว่า ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นกฎหมายตามความผิดที่ ป.ป.ท.ชี้มูลทันที
ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า มติของ ป.ป.ท.ทำให้เกิดความยุติธรรมต่อปู่คออี้ และชาวบ้าน 98 หลัง ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาตามยุทธการตะนาวศรี ที่มีทั้งภาพจำนวนพื้นที่ที่ถูกเผา คือใจแผ่นดิน อยู่ในรายงานของอุทยานฯ แก่งกระจานชัดเจน ไม่ใช่กองกำลังต่างชาติที่เข้ามาค้ายาเสพติดตามที่เจ้าหน้าที่อ้าง ใครทำอะไรก็ต้องได้รับโทษ และยังมีอีกคดีที่ยังไม่เสร็จ คือคดี “บิลลี่” นายพอละจี รักจงเจริญ ที่หายตัวไป กระทั่งดีเอสไอพบหลักฐานสำคัญและยืนยันว่า เป็นการฆาตกรรม ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของอัยการสูงสุด
สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5-9 พ.ค. 2554 นายชัยวัฒน์และพวกเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ได้เข้ารื้อถอนเผาทำลายบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สินอื่นๆ ของนายโคอิ หรือปู่คออี้ มีมิ และของชาวบ้านอีกหลายราย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ได้รับความเสียหายราว 100 หลัง นายคออี้ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนายชัยวัฒน์และพวก ต่อพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน และสำนวนถูกส่งไปยัง ป.ป.ท. มีการสืบสวนสอบสวนเป็นระยะเวลานานกว่า 9 ปี กระทั่งมีมติชี้มูลความผิด ขณะที่ความผิดตามมาตรา 217 วางเพลิงเผาทรัพย์ และมาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์กำลังจะขาดอายุความ 10 ปี ในเดือน พ.ค.นี้
ด้านนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้เคลื่อนไหวด้วยการส่งข้อความผ่านไลน์ในกลุ่มผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ในลักษณะข้องใจการทำงานของ ป.ป.ท. ว่าก่อนจะตัดสินเรื่องนี้ ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพิกัดจุดเกิดเหตุด้วยตนเองหรือไม่? เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และพนักงานสอบสวนได้นำสืบหาพยานหลักฐานตามข้อมูลพื้นฐานหรือยัง?
"จนถึงวันนี้แล้ว ไม่มีใคร แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ก็ไม่เคยเข้าไปที่จุดเกิดเหตุสักคนเดียว ทั้งที่ผมปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่มีการเผาบ้านปู่คออี้ ตามฟ้องแต่อย่างใด และยังร้องขอท้ายบันทึกวันที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.สอบสวนว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ไปดูจุดเกิดเหตุว่ามีจริงหรือไม่ และอยู่ตรงไหน ขออย่าเชื่อกระดาษที่ผู้ฟ้องเอามาให้ดูอย่างเดียว ซึ่งการสอบสวนใช้วิธีการนั่งสอบสวน สอบปากคำพยานบุคคล และเชื่อข้อมูลในกระดาษ นี่หรือคือ“ความเป็นธรรม ...มีเจตนาพิเศษอะไรหรือเปล่า ฝากเรียนผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังมีเวลาอีกสามเดือน ยังพอที่จะชี้มูลให้ผม ออกจากราชการได้ ...ไม่ต้องรีบหรอกครับ เดี๋ยวจะเสียเรื่องจริยธรรม คุณธรรม”
3. พปชร.ตั้ง กก.สอบ 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ ไม่โหวตไว้วางใจ “ศักดิ์สยาม” ด้าน ก.ก.ลงโทษ 4 ส.ส.โหวตไว้วางใจ “อนุทิน”!
สถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีควันหลงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ปรากฏว่า มี ส.ส.ของหลายพรรคโหวตสวนมติของพรรคตนเอง เช่น กรณี 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่นำโดย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ไม่โหวตไว้วางใจ แต่โหวตงดออกเสียงในการลงมติให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ส่งผลให้แกนนำพรรค ภท.และพรรค พปชร.ไม่พอใจ เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติและผิดมารยาททางการเมือง ร้อนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ต้องเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค พปชร.เมื่อวันที่ 22 ก.พ.
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค พล.อ.ประวิตรไม่พอใจการโหวตของ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ดังกล่าวอย่างมาก โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า “โหวตอย่างนี้ รับไม่ได้ ...อย่างนี้มันต้องขับออก ...มันต้องมีบทลงโทษ”
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค พปชร. ได้มีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อประโยชน์ต่อความยุติธรรมและความชัดเจน โดยเชิญ ส.ส.ทั้ง 7 คน (กลุ่มดาวฤกษ์ 6 + อีก 1 ส.ส.) มาชี้แจง โดยประธานคณะกรรมการคือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน มีกรอบเวลาในการพิจารณา 15 วัน เมื่อได้ข้อสรุป จะเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคต่อไป
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กล่าวถึงกรณี 6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์โหวตงดออกเสียง ไม่โหวตไว้วางใจนายศักดิ์สยามว่า ยังไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร “ผมเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร เจอลูกน้องทำแบบนี้คงลำบากใจ ถ้าถามว่า มองหน้ากันไม่ติดหรือไม่ ก็ไม่หรอก เพราะผมกับนายศักดิ์สยาม เคารพ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง 2 ท่นไม่ได้ทำอะไรผิด คนที่ไม่โหวตให้ต่างหากที่ทำให้ท่านต้องมานั่งไม่สบายใจ เชื่อว่าท่านคงมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทาง ภท.จะรอฟังว่า จะมีมาตรการอะไรกับคนที่ไม่เคารพมติพรรค ทำได้เพียงเท่านี้”
ขณะที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการวินัยและจรรยาบรรณสมาชิกพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 23 ก.พ. เพื่อพิจารณา ส.ส.ของพรรค 4 คน ประกอบด้วย นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย, นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และนายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี ลงมติไว้วางใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็น 1 ในรัฐมนตรีที่พรรค ก.ก.เป็นผู้อภิปราย ซึ่งคณะกรรมการวินัยฯ มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ส.ส.ทั้ง 4 คน มีการให้ข้อมูลต่อสาธารณะและสื่อมวลชนหลายครั้ง ที่ส่งผลเสียหายต่อพรรค นอกจากนี้ยังพบว่า ทั้ง 4 คน ขาดการร่วมกิจกรรมกับพรรค พฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายผิดวินัยร้ายแรงตามข้อบังคับพรรค
คณะกรรมการวินัยฯ เห็นตรงกันว่า ให้ตัดสิทธิที่พึงมีในฐานะสมาชิกพรรคการเมือง จะไม่ส่งทั้ง 4 คนลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งถัดไป และจะดำเนินการตามระเบียบพรรคเพื่อให้ถอด นพ.เอกภพ ออกจากการเป็นรองเลขาธิการพรรค นอกจากนี้ไม่อนุญาตให้ทั้ง 4 คนร่วมกิจกรรมพรรคและไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อพรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ ทางการเมือง รวมถึงส่วนที่เป็นโควต้าเวลาของพรรคการเมือง เช่น การปรึกษาหารือ การตั้งกระทู้ถามสด การเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) คณะต่างๆ หรือการอภิปรายในสัดส่วนโควต้าของพรรค
ด้านนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรค พปชร.ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี ส.ส.ลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เป็นไปตามมติพรรค และแต่ละพรรคมีการตั้งกรรมการสอบสวนว่า ประเด็นนี้ไม่ควรมองในมิติเสถียรภาพของรัฐบาล ความเป็นเอกภาพของฝ่ายค้าน หรือมารยาททางการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องมองในมุมของหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อการทำหน้าที่ของ ส.ส.ด้วย รัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติเกี่ยวกับความเป็นอิสะ และเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ไว้ในหลายส่วน เช่น ส.ส.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดหรือครอบงำใดๆ
นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า หากการสอบสวนของแต่ละพรรค เพื่อนำไปสู่การลงโทษถึงขั้นขับออกจากพรรคนั้น ต้องพึงระวังว่า อาจขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เข้าข่ายการกระทำที่ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือเป็นลักษณะยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคหรือไม่ ยกตัวอย่าง หากใช้เหตุผลว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจ แล้วมาสอบสวนหรือลงโทษ ส.ส.ที่สังกัดพรรคตัวเอง อาจเข้าข่ายคนนอกครอบงำ เป็นเหตุให้นำไปสู่การร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้
ด้าน น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม.พรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์กรณีงดออกเสียงในการลงมติไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พรรค ภท.โดย น.ส.ฐิติภัสร์ ยืนยันว่า ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้รับผลประโยชน์ หรืออามิสสินจ้างใดๆ ทั้งสิ้น เชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะคุ้มครองเราในฐานะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ขณะที่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ได้พยายามที่จะรักษามารยาททางการเมืองโดยการงดออกเสียง ไม่ได้โหวตสวน ถือว่าวันนี้เราทำหน้าที่อย่างดีที่สุด
4. ศบค.คลายล็อกร้านอาหาร นั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ ขณะที่วัคซีนโควิดล็อตแรกถึงไทยแล้ว!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง แต่ละวันพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ตัวเลข 2 หลัก ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ได้เห็นชอบการปรับพื้นที่ โดยยังคงให้ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด จากเดิมที่มีอยู่ 4 จังหวัด ปรับลดเหลือ 0
พื้นที่ควบคุม จากเดิม 20 จังหวัด ปรับลดเหลือ 8 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ตาก ราชบุรี สมุทรสงคราม และนครปฐม พื้นที่เฝ้าระวังสูง จากเดิม 17 จังหวัด ปรับลดเหลือ 14 จังหวัด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่สีเขียว ปรับเพิ่มจาก 35 จังหวัด เป็น 54 จังหวัด
นอกจากนี้ ศบค.ได้เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยให้ร้านอาหารเปิดได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม รับประทานอาหารในร้านได้ แต่งดการดื่มสุรา ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม โดยจำกัดจำนวนคนและงดกิจกรรม ขณะที่สถานบันเทิง ผับ บาร์ สถานที่ออกกำลังกายและฟิตเนสยังไม่ให้เปิดบริการ เช่นเดียวกับสถานศึกษาทุกระดับและสถานกวดวิชา ให้เรียนออนไลน์เท่านั้น
สำหรับพื้นที่ควบคุม ให้ร้านอาหารเปิดได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม ให้รับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้ ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้เปิดได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม ดื่มสุราได้ แสดงดนตรีสดในร้านได้ แต่เว้นการเต้นรำ ขณะที่ศูนย์การค้าเปิดบริการตามปกติ แต่ให้จำกัดจำนวนคนและงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่วนสถานศึกษาทุกระดับเปิดเรียนตามปกติและให้ใช้วิธีผสมผสาน สถานออกกำลังกายกลางแจ้ง ยิม และฟิตเนสเปิดบริการตามปกติ แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม
ขณะที่พื้นที่เฝ้าระวังสูง ให้ร้านอาหารเปิดได้ถึงเที่ยงคืน ให้รับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้ ส่วนสถานบันเทิง ผับ บาร์ ให้เปิดได้ไม่เกินเที่ยงคืน ดื่มสุรา แสดงดนตรีสดในร้านได้ แต่เว้นการเต้นรำ ขณะที่ศูนย์การค้าเปิดบริการตามปกติ แต่ให้จำกัดจำนวนคนและงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่วนสถานศึกษาทุกระดับเปิดเรียนตามปกติและให้ใช้วิธีผสมผสาน สถานออกกำลังกายกลางแจ้ง ยิม และฟิตเนสเปิดบริการตามปกติ แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม
ส่วนพื้นที่เฝ้าระวัง ร้านอาหาร ผับ บาร์ เปิดตามปกติ ขณะที่ศูนย์การค้าเปิดบริการตามปกติ แต่ให้จำกัดจำนวนคนและงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่วนสถานศึกษาทุกระดับเปิดเรียนตามปกติและให้ใช้วิธีผสมผสาน สถานออกกำลังกายกลางแจ้ง ยิม และฟิตเนสเปิดบริการตามปกติ แข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ยังมีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนจากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เป็นหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่องต่อไป
ส่วนความคืบหน้าเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 ก.พ. วัคซีนล็อตแรกจากจีนได้เดินทางถึงไทยแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ไปเป็นประธานในการรับมอบวัคซีนที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นวัคซีนจากบริษัท ซิโนแวค สาธารณรัฐประชาชนจีน “วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้มให้ประเทศไทย” 2 แสนโดส ซึ่งขนส่งมาโดยเครื่องบินขนส่งสินค้า บริษัท การบินไทย เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพมหานคร โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมพิธีรับมอบด้วย นอกจากนี้ยังมีนายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าร่วมพิธีเช่นกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ วัคซีนล็อตแรกที่รัฐบาลได้มอบให้ สธ. โดยองค์การเภสัชกรรมจัดหาเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโดส เพิ่มจากแผนจัดหาเดิมที่กรมควบคุมโรคสั่งซื้อจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า โดยจะกระจายไปสู่ประชาชนฉีดให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 โดส ห่างกัน 21 วัน และในเดือน มิ.ย.จะได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับทุกคนโดยสมัครใจ “หลังจากนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาว่าจะฉีดให้ใคร มีแผนทั้งหมด ไม่อยากให้สังคมขัดแย้งกันอีกในเรื่องวัคซีน จึงต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
ส่วนนายกฯ จะฉีดวัคซีนเป็นคนแรกหรือไม่นั้น ตอนแรกมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. อาจจะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรกๆ ในวันที่ 28 ก.พ.นี้ แต่ต่อมา มีรายงานว่า ผู้ที่จะได้รับวัคซีนเข็มแรกอาจจะเป็นนายเกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามด้วยบุคลากรทางการแพทย์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน แค่ไปร่วมเป็นสักขีพยานเท่านั้น โดยการฉีดจะมีขึ้นในเวลา 7.30 น.ที่สถาบันบำราศนราดูร
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (27 ก.พ.) สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่มีกำหนดการไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร ในวันที่ 28 ก.พ. แต่อย่างใด พร้อมยืนยัน นายกฯ ไม่ได้ขอเลื่อนการไปฉีดวัคซีนดังกล่าวตามที่มีข่าว แต่ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เป็นผู้แจ้งขอเลื่อนมายังทำเนียบรัฐบาลในการเลื่อนออกไปก่อน และไม่ได้มาฉีดที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในส่วนของรายละเอียดทางกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ชี้แจงต่อไป
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ตอบคำถามระหว่างแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงเรื่องการกระจายวัคซีน รวมถึงนายกฯ หรือผู้ใดจะได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นคนแรกและเข็มแรกหรือไม่ว่า ขณะนี้มีการกระจายวัคซีนโควิด-19 ไปยังกลุ่มเป้าหมาย 18 จังหวัดแล้ว พร้อมแสดงความเห็นใจนายกฯ ที่แม้เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน แต่เรื่องอายุยังเป็นข้อจำกัดอยู่ "ทางการแพทย์เราไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในผู้อายุเกิน 60 ปี แต่เมื่อไรก็ตามที่วัคซีนแอสตราเซเนกาได้รับการรับรองเรื่องมาตรฐานจากอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ท่านนายกฯ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนนี้”
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า เช่นเดียวกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อายุไม่ถึง 60 ปี แต่เป็นบุคลากรที่มีความเสี่ยง จึงอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ทั้งซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกา แต่โดยหลักการการฉีดวัคซีน เป็นการฉีดโดยสมัครใจ ไม่บังคับ
5. 4 แกนนำราษฎร “อานนท์-เพนกวิน-สมยศ-หมอลำแบงค์” นอนคุกยาว ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน หวั่นไปทำผิดซ้ำ!
ความคืบหน้ากรณีนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ถูกยื่นฟ้องคดีชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ในความผิดตามมาตรา 112, 116 และข้อหาอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างถูกคุมขัง เพราะศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. พร้อมนายกฤษภางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปยื่นประกันตัวแกนนำทั้งสี่ที่ศาลอาญา โดยนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า คณะทนายความได้ขอให้อาจารย์ทั้งสองมาเป็นนายประกัน เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวหลังจากยื่นไปแล้วหลายครั้ง
ขณะที่นายชาญวิทย์ กล่าวว่า เชื่อว่าสิ่งที่ทั้ง 4 คนและคนรุ่นใหม่กำลังทำอยู่ คือข้อเสนอที่ถูกต้องตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์ระดับสากล ดังนั้นยินดีมากที่จะช่วยผลักดันเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสเรียกร้องให้ออกมานำการชุมนุมเอง นายชาญวิทย์ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ แก่เกินไปแล้ว สิ่งที่ทำได้คือการเอาหลักวิชาการ เอาประสบการณ์ของตัวเองออกมาช่วยชี้แนะ ไม่ใช่พ่อยกนะ อย่างดีก็เป็นผู้ให้กำลังใจ
นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า นายชาญวิทย์ต้องการให้สังคมเห็นว่า ระบบยุติธรรมถ้าจะคงอยู่เพื่อจรรโลงให้ประเทศชาติเป็นระบบระเบียบ ต้องว่ากันตามสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ต้องติดคุกไปตลอด 3 ปี ระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งไม่เป็นธรรม
ด้านศาลพิจารณาแล้ว ได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำทั้งสี่ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ขณะที่นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ศาลให้เหตุผลว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่ อาจจะไปก่อเหตุภยันตรายเดียวกันกับที่ถูกฟ้องอีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง ส่งผลให้ทั้งสี่ต้องถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จ
นายกฤษฎางค์ เผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้ช่วงเช้า ทนายได้ไปเยี่ยทั้ง 4 คน นายอานนท์ฝากบอกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องปล่อยตัวชั่วคราว ยืนยันว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีก อยากให้เพื่อนที่อยู่ข้างนอกสู้กันต่อไป และเขาจะสู้จากข้างในโดยวิธีการของเขา แต่ตนไม่ทราบว่าเขาจะสู้อย่างไร
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทีมทนายความแกนนำกลุ่มราษฎร ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวแกนนำทั้ง 4 คนอีกครั้ง กระทั่งวันต่อมา 27 ก.พ. นายนรเศรษฐ์ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม โดยพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยทั้งสี่ ในระหว่างพิจารณามาแล้ว อีกทั้งเหตุตามคําร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจําเลยทั้งสี่ ในระหว่างพิจารณา คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคําร้อง