MGR Online - กองบรรณาธิการบางกอกโพสต์โร่ชี้แจง กรณีนักประวัติศาสตร์อ้างอิงข่าววันที่ 18 ธ.ค. 2493 ว่าผู้สำเร็จราชการแทน ร.๙ เข้าร่วมประชุม ครม.สมัยจอมพล ป. เป็นการแทรกแซงการเมือง เสมือนประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยืนยันไม่เคยตีพิมพ์ข่าวดังกล่าว ชี้ที่นำไปอ้างอิงเพื่อทำวิทยานิพนธ์ ตีพิมพ์เป็นหนังสือ เสวนาทางวิชาการต่างๆ ก็ไม่ถูกต้อง
วันนี้ (28 ธ.ค.) หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในหน้าที่ 3 ลงชี้แจงข้อมูลในกรอบแดง ระบุว่า “ขอชี้แจงกรณีข่าวเมื่อปี 1950 (พ.ศ. 2493) ('Post' clarifies article from 1950)” โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ไม่เคยรายงานข้อมูลที่นายณัฐพล ใจจริง อ้างอิงในวิทยานิพนธ์การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)
“จากการที่เชิงอรรถ (วิทยานิพนธ์) อ้างอิงถึงข่าวในบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พยายามขยายบทบาททางการเมือง โดยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่บ่อยครั้ง โดยการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย ... บางกอกโพสต์ขอชี้แจงว่า หนังสือพิมพ์ไม่เคยรายงานข้อมูลดังกล่าวตามที่มีการอ้างอิง รวมถึงนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันคือนายณัฐพล รวมถึงในงานเสวนา” นสพ.บางกอกโพสต์ระบุ พร้อมตีพิมพ์ข่าวฉบับเต็มเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ให้อ่านอีกครั้ง
กรณีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องหนังสือที่กำลังเป็นหนังสือขายดีอย่าง ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ที่เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ว่ามีจุดบกพร่องร้ายแรงบางประการ และถือว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ ในหน้าที่ 124 ของหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล และตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2556 ย่อหน้าหนึ่งระบุข้อความว่า
“การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหาร 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ ได้สร้างปัญหาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหาร Bangkok Post และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ได้ระบุข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีรวมทั้งการที่พระองค์แต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐบาลเป็นอย่างมาก...”
ศ.ดร.ไชยันต์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ MGR Online ระบุว่า ไม่นานมานี้ ภายหลังในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ตนกับคณาจารย์บางส่วนของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันทำโครงการศึกษาพระราชกรณียกิจในช่วง 70 ปีของการครองราชย์ของ ร.๙ ว่าพระองค์ต้องประสบกับเหตุการณ์ทางการเมืองอะไรมาบ้าง ระหว่างที่ดำเนินการศึกษาจึงไปพบข้อมูลดังกล่าวเข้าในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ผศ.ดร.ณัฐพล เรื่องการเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) จึงเกิดความสงสัยและไปสืบค้นข้อมูลต่อ
“คุณคิดดูนะในทุกวันนี้เราประชุม ครม.ทุกวันอังคาร วันดีคืนดีกษัตริย์เข้าไป แล้วให้นายกฯ เป็นแค่ตัวประกอบ มันก็คือสมบูราณาญาสิทธิราชย์แล้วนะ ปรากฏว่าพอไปค้น ข่าวอ้างอิงในบางกอกโพสต์มันกลับตาลปัตร คือพอเปิดดูพาดหัวเขียนว่า Premier May Sit In the Privy Council ผมก็ เอ๊ะ! คือใจผมก็อยากจะให้มีข้อมูลที่ตรงกับที่อาจารย์ณัฐพลเขียน มันจะได้ไม่ต้องเป็นเรื่อง ขอโทษนะคือมันไม่เป็นเรื่อง ผมไม่อยากจะมีปัญหากับสิ่งเหล่านี้จริงๆ ก็ภาวนานะ แต่ Premier แปลว่า นายกรัฐมนตรี May Sit In the Privy Council คืออาจะไปนั่งในที่ประชุมของผู้สำเร็จราชการ แล้วพอดูเนื้อข่าวมันก็ไม่มี ...” ศ.ดร.ไชยันต์กล่าว และว่า เมื่อทำการสืบค้นข้อมูลในรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ก็ไม่มีข้อมูลดังกล่าวที่ ผศ.ดร.ณัฐพล อ้างอิงแต่อย่างใด
“ทีมวิจัยเราอ่าน ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งเขาบอกไม่เคยได้ยิน ทำไมมันเป็นอย่างนี้ เอ๊ะ! ต้องเช็กสิ เวลาที่เราเป็นนักวิชาการ เวลาเราอ่านอะไรที่เราสงสัย และเป็นงานที่เขียนในลักษณะของวิชาการ แน่นอน เราต้องดูว่าเชิงอรรถอ้างอิงคืออะไร ก็ดูไปที่เชิงอรรถ อ้าวก็มีนี่ มีอ้างอิง ก็คือบางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2493 แล้วในเชิงอรรถอันเดียวกันนั้นก็จะมีอีกรายการหนึ่งก็คือ จดหมายเหตุหรือว่าเอกสารการทูตที่หอจดหมายเหตุของอเมริกาลงวันที่ 26 ธันวาคม 2493 เราก็ต้องไปดู แล้วถามผู้ช่วยวิจัยว่า ไปค้นบางกอกโพสต์มาให้หน่อยได้ไหม ในตอนนั้นลูกศิษย์ผมที่เป็นผู้ช่วยวิจัยเขาก็บอกชัดเจนว่า คือเขาเข้าหาเอกสารอยู่ตลอดเวลาที่เขาทำวิทยานิพนธ์อยู่แล้ว คือตอนนั้นในส่วนนี้ของหอสมุดแห่งชาติ มันปิดแล้ว เขาไม่รู้ว่าเปิดเมื่อไร พูดง่ายๆ ว่าก็ไม่รู้ว่าจะได้บางกอกโพสต์นี้เมื่อไร ผมก็โทรศัพท์ไปที่บางกอกโพสต์ แล้วก็ถามนักข่าวที่รู้จัก โชคดีเพิ่งรู้นะ ซึ่งน่าจะถ่ายทอดไปให้คนดูผู้ฟังคนที่สนใจศึกษาหาข้อมูลว่าบางกอกโพสต์เขามี archive ของเขา แต่เขาไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้านะ แต่ผมคิดว่าถ้าจะขออะไรเขา ก็น่าจะขอได้ เขาก็จะมีคนเข้าไป ผมก็บอกขอบางกอกโพสต์ ฉบับ 18 ธันวาคม 2493 หน่อย เขาก็ถ่ายมาให้เลย ส่งมาทางอีเมลในวันรุ่งขึ้นเลย ไม่นาน” นักวิชาการจากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เล่าถึงรายละเอียดในการค้นพบการอ้างอิงหลักฐานปลอมในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ซึ่งต่อมาวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวถูกสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ดัดแปลงเนื้อหามาตีพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ และ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 เฟซบุ๊กสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้แชร์ภาพการจัดอันดับหนังสือขายดีของร้านหนังสือ Fathom bookspace ซึ่งระบุว่า ในช่วงวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมาหนังสือ 2 เล่มดังกล่าวเป็นหนังสือขายดีที่สุดของร้าน
ทั้งนี้ จากคำท้วงติงเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ 2 เล่มของ ศ.ดร.ไชยันต์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้ตอบโต้ว่า ศ.ดร.ไชยันต์ มโนเรื่องดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากในหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปีนี้ (2563) มีการแก้ไขข้อความที่ผิดพลาดดังกล่าวแล้ว พร้อมอ้างว่า ศ.ดร.ไชยันต์พยายามจับผิดเรื่องเล็กน้อยดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถหักล้างข้อเสนอและคำอธิบายของ ผศ.ดร.ณัฐพลได้ อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกลับไม่ได้กล่าวถึงความผิดพลาดในหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อแต่อย่างใด