เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๔ เครื่องบินของบริษัทการบินไทยที่กำลังจะออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปจังหวัดเชียงใหม่ในเวลา ๑๔.๔๘ นาที แต่ก่อนจะออกเดินทางเพียง ๓๕ นาทีก็เกิดระเบิดขึ้นจนวอดไปทั้งลำ
ขณะเกิดระเบิดนั้นยังไม่ได้เปิดให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง มีแต่พนักงานประจำเครื่อง ๘ คน เสียชีวิตไป ๑ คน
เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ในวันนั้น เพราะผู้โดยสารที่รอขึ้นเครื่องเป็นบุคลสำคัญ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และบุตรชายคือนายพานทองแท้ ชินวัตร กำลังจะไปร่วมพิธีเปิดศูนย์การค้าสุรวงศ์เซ็นเตอร์ของนางเยาวภา ชินวัตร น้องสาว ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงถูกกล่าวขานกันว่าเป็นการมุ่งลอบสังหารนายกฯทักษิณ ซึ่งเพิ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ปีนั้น
พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์หลังเกิดเหตุว่าได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ถึงสาเหตุของการระเบิดว่า มีผู้นำวัตถุระเบิดมาติดไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบินตรงบริเวณที่นั่งวีไอพี ซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มว้าแดงที่เสียผลประโยชน์จากนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างหนักของรัฐบาล สอดตล้องกับเจ้าหน้าที่พิศูจน์หลักฐานของไทยที่ว่าพบร่องรอยของระเบิดซีโฟร์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวการก่อวินาศกรรม ของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติหรือขบวนการค้ายาเสพติด จากนั้นในวันที่ ๕ มีนาคม ก็ฟันธงว่าเป็นการวางระเบิดแน่นอนและคาดว่าเป็นซีโฟร์ เนื่องจากตรวจพบสารอาร์ดีเอ็กซ์ที่เป็นส่วนประกอบของซีโฟร์กระจายอยู่ พร้อมแจกแจงการจุดระเบิดว่าน่าจะเป็นการใช้นาฬิกาประกอบกันเป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องในการจุดชนวน แต่ไม่พบซากอุปกรณ์ดังกล่าวในที่เกิดเหตุ
ต่อมามีผลสรุปการสอบสวนของ “คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา(NTSB)" ซึ่งเป็นองค์กรการบินระดับโลก ได้แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทย คาดว่าสาเหตุมาจากอุปกรณ์ทำความเย็นทำงานต่อเนื่องอย่างหนักได้ปล่อยความร้อนออกมา เป็นเหตุให้ถังเชื้อเพลิงที่อยู่เหนืออุปกรณ์ทำความเย็นเกิดระเบิด
เรื่องนี้จึงเป็นอุบัติเหตุ ไม่ใช่ลอบสังหารหรือก่อการร้าย
หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณยังมีข่าวว่าถูกลอบสังหารหลายครั้ง ต่อมาในปี ๒๕๔๖ ที่รัฐบาลใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรง ก็มีข่าวว่ากลุ่มว้าแดงได้ตั้งค่าหัว พ.ต.ท.ทักษิณ ๘๐ ล้านบาท เนื่องจากไม่พอใจนโยบายปราบยาเสพติด ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งเป็นรถตู้หุ้มเกราะ และมีทีมรักษาความปลอดภัยยังกับกองทัพ มีทั้งรถคุ้มครองและหน่วยล่าสังหารรอบตัว
ครั้งที่เกรียวกราวที่สุดก็คือมีการจับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ทหารสังกัด กอ.รมน.เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๙ ขับรถเก๋งยี่ห้อแดวูไปจอดอยู่ที่สี่แยกบางพลัด ในเส้นทางที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะผ่านมาจากบ้านในซอยจรัลสนิทวงศ์ ๖๙ พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ผูกติดไว้ที่ฝากระโปรงท้าย มีรัศมีทำลายได้ไม่ต่ำกว่า ๑ กิโลเมตร มีการสรุปว่าเป็นการมุ่งสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณ
ในที่สุดคดีนี้ คนขับรถแดวูได้รับการตัดสินจากศาลทหารว่า มีความผิดฐานเคลื่อนย้ายและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาพยายามฆ่านั้นยกฟ้อง คดีนี้เลยได้ฉายาว่า “คาร์บ๊อง” ไม่ใช่ “คาร์บอมบ์”
ความจริงแล้วนายกรัฐมนตรีไทยที่ถูกลอบสังหารขณะอยู่ในตำแหน่งมีคนเดียว คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๕ ขณะที่พลเอกเปรมขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี ถูกคนร้ายลอบยิงด้วยจรวดเอ็ม ๗๒ สำหรับยิงรถถัง แต่รถพลเอกเปรมมาด้วยความเร็ว คนร้ายเล็งตามและลั่นกระสุนขณะมีต้นไม้บังพอดี กระสุนจรวดจึงโดนต้นไม้
เรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่พลเอกเปรมมีเรื่องขัดแย้งกับนายทหาร “กลุ่มยังเติร์ก” จากการสอบสวน ทราบว่าผู้ลอบสังหารเป็นนายทหารยศพันตรี สังกัดศูนย์การทหารปืนใหญ่ กับจ่านายสิบกองพันทหารม้าอีก ๒ คน ทั้ง ๓ ได้หลบหนีไป ต่อมาอีก ๑ ปี ตร.ไปล้อมจับนายทหารยศพันตรี แต่ผู้ต้องหาชิงยิงตัวตายก่อนถูกจับ
อีก ๑ เดือนต่อมา ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม เวลา ๒๒.๑๕ น.ได้มีผู้นำระเบิดมือ เอ็ม ๒๘ ใส่แก้วน้ำขว้างข้ามกำแพงสโมสรกองทัพบกเข้าไปที่บ้านสี่เสา แต่พลเอกเปรมอยู่ในบ้าน เลยไม่ระคายผิวอีกเช่นกัน
สำหรับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งถูกลอบสังหารหลายครั้ง ครั้งแรกในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ ขณะไปเป็นประธานการแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศระหว่างเหล่าทัพที่ท้องสนามหลวง ได้ถูกนายพุ่ม ทับสายทอง มือปืนรับจ้างจากนครปฐม แหวกวงล้อมของหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้าไปจ่อยิงถึง ๒ นัดขณะจะขึ้นรถกลับ หมายที่หัวแต่กระสุนเพียงเฉียดบ่าและซอกคอเลือดสาด คนร้ายถูกล็อคไว้ได้ก่อนจะลั่นไกนัดที่ ๓ ให้การว่าถูกว่าจ้างมาจากานายพันตำรวจเอก พระยาธรณีนฤเบศร์ ในราคา ๑,๐๐๐ บาท พระยาธรณ๊ฯและพวกอีกหลายคนถูกจับ ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต แต่ลดโทษที่มีเหตุอันควรปราณี ให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต และลดโทษในฐานรับสารภาพอีก คงจำคุก ๒๐ ปี
อีกครั้งเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ถูกไล่ยิงถึงบนบ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ในกรุงเทพฯอีก ๒ นัด โดยนายลี บุญตา คนรับใช้ มือปืนถูก ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ นายทหารคนสนิทแย่งปืนไว้ได้ คนร้ายไม่ยอมรับว่ามีใครว่าจ้าง
ต่อมาในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๑ ขณะที่รับประทานอาหารกลางวันที่บ้านพร้อมกับนายทหารคนสำคัญหลายคน ก็รู้สึกตัวว่าถูกวางยาพิษ จึงรีบไปโรงพยาบาลล้างท้องได้ทันทั้งหมด แม่ครัวรับสารภาพว่าได้ใส่ “ผงสีขาว” ลงในอาหาร ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันจากทางการแพทย์ว่าเป็นสารหนู ยาพิษอย่างหนึ่ง โดยได้รับมาจากชายคนรัก ซึ่งได้รับต่อมาจาก ร.ท. ณเณร ตาละลักษณ์ ส.ส.พระนคร
แต่การถูกลอบสังหารเหล่านี้ในขณะที่ยังเป็น พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ พ.อ.หลวงพิบูลสงครามจึงกวาดล้างศัตรูทางการเมืองครั้งใหญ่ ตั้งศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิตไปถึง ๑๘ คน มีนายลี บุญตาและ ร.ท.ณเณร ตาละลักษณ์รวมอยู่ด้วย
การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีไม่ค่อยได้เกิดขั้นในวงการเมืองไทย เพราะถ้าใครใช้วิธีการนี้ ตัวเองก็คงไม่แคล้วที่จะต้องโดนตอบแทนด้วยวิธีเดียวกัน เพราะทุกคนย่อมมีพวก มีคนรักด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคนที่เป็นถึงนายกรัฐมนตรี