xs
xsm
sm
md
lg

เกร็ดความรู้ก่อนชม "พยุหยาตราชลมารค" พระราชพิธียิ่งใหญ่ในรัชกาลที่ ๑๐

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

12 ธ.ค. 2562 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ ที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จะได้เฝ้าฯ รับเสด็จและชื่นชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

อ่านประกอบ : ๑๐ เรื่องควรรู้ “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐
งดงามเหนือท้องน้ำเจ้าพระยา "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๑๐
"กระบวนพยุหยาตราชลมารค" ล้ำค่ามรดกไทย ในหลวง ร.9 ทรงฟื้นฟู
เรือพยุหยาตราชลมารค ล้วนเป็นเรือรบมาก่อน! ถึงรบก็สลักลวดลายสวยงาม สร้างมาแต่สมัย ร.๑ ก็มี!! / โรม บุนนาค

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีเบื้องปลาย ภายหลังพระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีเบื้องกลาง และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค เสร็จสิ้นลงในระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

ตามโบราณราชประเพณี ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศเป็น "ขบวนพยุหยาตราสถลมารค" (เสด็จพระราชดำเนินทางบก) และ "ขบวนพยุหยาตราชลมารค" (เสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ) เพื่อให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แสดงความจงรักภักดี


นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า กระบวนเรือพระราชพิธีมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี แต่ปรากฎเพียงหลักฐานในช่วงต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และบันทึกของนิโคลาส แซร์ แวส์ หนึ่งในคณะทูตฝรั่งเศสที่เป็นอาคันตุกะ ก็กล่าวถึงขบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา กระบวนเรือพระราชพิธีถูกข้าศึกทำลายไปจนหมดสิ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ บูรณะฟื้นฟูกระบวนเรือพระราชพิธีโดยการจัดสร้างขึ้นมาใหม่ หลังกอบกู้เอกราชคืนมาได้สำเร็จ โดยมีพระราชพิธีสำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระนครหลวงจากกรุงธนบุรี มาอยู่ฝั่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2325 ก่อนที่จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตำรา ในปี พ.ศ. 2328


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครชลมารค เฉกเช่นราชประเพณีโบราณ แต่สถานการณ์บ้านเมืองหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 และผลกระทบจากภัยสงคราม ทำให้ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคอีก

มาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ มีพระราชประสงค์รื้อฟื้นราชประเพณีที่สืบมาแต่โบราณกาล โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพเรือจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค ในพระราชพิธีพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในปี พ.ศ. 2502

นับจากนั้นเป็นต้นมา จึงได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน รวมทั้งพระราชพิธีมหามงคลและโอกาสสำคัญ อาทิ พระราชพิธีเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี พ.ศ. 2525, พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 และพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พ.ศ. 2542


การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ ๑๐ มีการจัดริ้วกระบวนเรือตามพระราชประเพณี มีทั้งหมด 5 สาย ความยาวของริ้วกระบวนรวม 1,200 เมตร ใช้เรือรวม 52 ลำ กำลังพลฝีพาย 2,399 นาย เคลื่อนกระบวนจากท่าวาสุกรี ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงท่าราชวรดิฐ รวมระยะทาง 3.4 กิโลเมตร

เรือพระที่นั่งสำคัญ 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช อัญเชิญ พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ รัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานในบุษบก โขนเรือเป็นพญานาค 7 เศียร ปิดทองประดับกระจกพื้นเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง ปัจจุบันมีอายุ 87 ปี

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โขนเรือเป็นรูปศีรษะหงส์ สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ลำปัจจุบันได้จัดสร้างใหม่สมัยรัชกาลที่ ๖ มีอายุ 108 ปี

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีโขนเรือเชิดเรียว ภายในทาสีแดง ภายนอกทาสีชมพู มีลายนาคขดพันกัน ปัจจุบันมีอายุ 53 ปี


เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ทอดบัลลังก์กัญญาเป็นเรือพระที่นั่งรอง โขนเรือเป็นรูปเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู จำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และ มงกุฎยอดชัย ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ลายบริเวณหัวเรือมีลักษณะเป็น ก้านขดใบเทศมีครุฑประกอบที่กัวก้านขด จัดสร้างใหม่ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก รัชกาลที่ ๙ พ.ศ. 2539 ปัจจุบันมีอายุ 25 ปี

นอกจากนี้ ยังจะได้ชมความงดงามของเรือคู่ชัก หรือเรือเอกไชย, เรือรูปสัตว์, เรือประตูหน้า, เรือกลอง และเรือพระราชพิธีอื่น ประกอบในเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค รวมทั้งบทเห่เรือ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จำนวน 3 บท ได้แก่ บทสรรเสริญพระบารมี บทชมเรือ และบทชมเมือง ประพันธ์โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย


หลังจากริ้วกระบวนเทียบท่าราชวรดิฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พลับพลา เพื่อทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย เพื่อขึ้นประทับ "พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์" หรือพระราชยานพุดตานทอง เข้าสู่ริ้วขบวนราบ โดยมีกำลังพลประมาณ 800 นาย

โดยเสด็จพระราชดำเนินสถลมารค จากท่าราชวรดิฐ ไปตามถนนมหาราช เลี้ยวขวาถนนหน้าพระลาน แล้วเลี้ยวขวาเข้าประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง ไปยังพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ เพื่อเปลี่ยนฉลองพระองค์ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี


สำหรับประชาชนทั่วไปที่จะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ และชมขบวนพยุหยาตราชลมารค ควรแต่งกายสีเหลือง งดเว้นสีดำและสีเข้ม พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชน บัตรแสดงตน หรือหนังสือเดินทาง ไปยังจุดคัดกรอง ซึ่งมีทั้งหมด 6 โซน รวม 19 จุด ก่อนเข้าพื้นที่รับเสด็จริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้เตรียมอัฒจันทร์รองรับ ได้แก่

โซน 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร, ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร

โซน 2 ทางเข้าพิพิธบางลำพู, สนามหลวง ด้านศาลฏีกา, สนามหลวง ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ถนนพระจันทร์, พระแม่ธรณีบีบมวยผม, ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร

โซน 3 แยกท่าเตียน, หน้าพระราชวังสราญรมย์

โซน 4 ใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี

โซน 5 เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฝั่งธนบุรี, ทางเข้าท่ารถไฟ, หน้าอุทยานสถานพิมุข กองทัพเรือ, ท่าเรือวังหลัง, ทางเข้าวัดระฆังโฆษิตาราม

โซน 6 ปากซอยวัดอรุณราชวราราม, วัดกัลยาณมิตรวรวิหาร


ส่วนการเดินทางเข้าสู่พื้นที่พระราชพิธี องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้จัดรถเฉพาะกิจ 6 เส้นทาง ตามจุดสำคัญต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, หมอชิต 2, วงเวียนใหญ่, สนามศุภชลาศัย, สายใต้ใหม่ และสถานีรถไฟหัวลำโพง จัดรถ Shuttle Bus รับ-ส่งจากจุดจอดรถ 11 เส้นทาง และรถโดยสารธรรมดา วิ่งแทนเรือข้ามฟากอีกด้วย

ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้ประชาชนเดินทางฟรีตลอดวัน โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีที่ใกล้จุดคัดกรอง ได้แก่ สถานีอิสรภาพ (ไปวัดอรุณราชวรารามฯ) สถานีสนามไชย (ไปหน้าพระราชวังสราญรมย์, ท่าเตียน) และสถานีสิรินธร (ไปสะพานกรุงธน)

ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญ ที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้มีโอกาสร่วมชื่นชมพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมกับริ้วกระบวนเรืออันงดงามและหาชมได้ยาก ในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ ที่ยังคงอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อมาถึงปัจจุบัน