xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

๑๐ เรื่องควรรู้ “กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๑๐

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ นี้ กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยที่ยิ่งใหญ่ จะปรากฏแก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย

ริ้วขบวนเรือพระราชพิธีอันวิจิตรงดงามตระการตาที่มีเพียง “หนึ่งเดียวในโลก” มีประวัติความเป็นมายาวนานสืบทอดอารยธรรมสูงส่งมาแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน เปรียบดังมรดกแห่งวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่าที่แสดงถึงพระบารมีแผ่ไพศาลขององค์พระมหากษัตริย์

๑. มรดกล้ำค่าคู่แผ่นดินไทย
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีมาแต่โบราณ เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธีโดยทางน้ำ สืบทอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นการเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมือง เข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ รวมทั้ง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก แสดงถึงพระบารมีแผ่ไพศาลของพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์จะทรงแสดงพระบารมีให้พสกนิกรทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้ชื่นชม

โดยมีวิวัฒนาการมาจากการจัดขบวนทัพเรือในยามที่ว่างศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม ประโคมดนตรีไปในขบวน เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และพลพายเกิดความฮึกเหิมเป็นการแสดงออก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติไทย

๒. เว้นว่าง ๙๔ ปี ครั้งสุดท้ายสมัยรัชกาลที่ ๗
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นปี ๒๔๖๘ใน สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยสมัยรัชกาลที่ ๘ ไม่มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๙ มีเหตุหลายประการไม่พร้อมในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รวมทั้งเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระทั่ง รัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตพระนคร และประทับในเมืองไทยเป็นการถาวร ได้มีการฟื้นฟูขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ ๑๔ พ.ค. ๒๕oo รวมทั้ง พิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๕ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้วจำนวน ๑๗ ครั้ง ทั้งนี้ ไม่ใช่การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร จึงถือว่าว่างเว้น ๙๔ ปี

สู่รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ จะมีพระราชพิธีครั้งสำคัญการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์ ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒

๓. เรือพระราชพิธีงดงามตระการตา
เบื้องหลังความงดงามตระการตาของเรือพระราชพิธี ตระเตรียมการมานานแรมปี โดยกองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยกรมอู่ทหารเรือธนบุรี ซึ่งเป็นอู่เรือเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการซ่อมแซมตัวเรือ และสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ทำหน้าที่ดูแลตกแต่งลวดลายประกอบตัวเรือ เช่น วาดลวดลาย ประดับกระจก ปิดทอง ติดตั้งบุษบก เป็นต้น




เรือพระราชพิธีทุกลำเต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจงของช่างศิลป์ไทย ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดของเรือคือ “โขนเรือ” และ “ท้ายเรือ” โขนเรือหรือหัวเรือยังเป็นที่สิงสถิตของแม่ย่านาง นิยมทำด้วยโคนไม้แกะสลักเป็นรูปร่างต่างๆ ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างประณีตงดงามยิ่งเป็นสัตว์ตามพระราชลัญจกรหรือสัตว์หิมพานต์ ส่วนท้ายเรือทำด้วยปลายไม้รูปร่างของเรือจึงลำตัวกว้างท้ายเรียวเหมือนปลาช่อน

นอกจากนี้ เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ มีการประดับด้วยพวงมาลัยนวมคอและอุบะไทยระย้าทรงเครื่อง จากฝีมือของคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง สำหรับคล้องลำคอเรือมีความสง่างามยิ่ง

๔. บทเห่เรือแห่งความภักดี
การเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ราชการที่ ๑๐ ดำเนินตามราชประเพณีโบราณ สำหรับบทเห่เรือมีการประพันธ์บทเห่ขึ้นมาใหม่โดยนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้แต่งกาพย์เห่เรือ รวม ๓ บท คือ ๑. บทสรรเสริญพระบารมี ที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ ๒. บทชมเรือ และ ๓. บทบุญกฐิน ที่ใช้เนื้อหาเดิม ความยาวบทละ ๒๐-๒๔ นาที

“ในพระราชพิธีครั้งนี้ มีการปรับปรุงกาพย์เห่เรือใหม่ ในบทที่สำคัญมากที่สุดคือ บทสรรเสริญพระบารมี เนื่องจากว่าเป็นรัชกาลใหม่ ซึ่งผมมีความรู้สึกถึงความรุ่งอรุณ ตะวันเริ่มส่องแสงสู่วันใหม่ จึงบรรยายได้ออกมา พร้อมกับประสานงานกับพนักงานเห่เรือ ท่านก็จะถามอยู่ตลอดเวลาว่า คำนี้ร้องอย่างไร ความหมายอย่างไร บางทีก็บอกว่าเอื้อนยาก เปลี่ยนเป็นคำอื่นได้ไหม เราก็จะปรึกษากันตลอด” นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย - ผู้แต่งกาพย์เห่เรือ กล่าว

๕. เรือพระราชพิธี ๕๒ ลำ มรดกศิลป์ แผ่นดินไทย
มีการจัดเตรียมเรือพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง ๔ ลำสำคัญ คือ เรือสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ รวมทั้ง เรือพระราชพิธีอื่นๆ เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง ฯลฯ รวมทั้งสิ้น ๕๒ ลำ โดยกองทัพเรือได้ร่วมกับกรมศิลปากรในการสํารวจสภาพซ่อมแซมและตกแต่ง พร้อมสำหรับการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒๕๖๒

๖.ริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่
จัดรูปขบวนเรือตามแบบโบราณราชประเพณีเช่นเดียวกับปี ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการจัดขบวนเรือในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ริ้วขบวนรูปแบบ “พยุหยาตราทางชลมารคใหญ่” ใช้เรือทั้งหมด ๕๒ ลำ แบ่งเป็น ๕ ริ้ว ๓ สาย ได้แก่

ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง ๔ ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ฯลฯ ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า เรือทองบ้าบิ่น เรือเสือทยานชล เรือรูปสัตว์ ฯลฯ และริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง เรือแซง

อนึ่ง ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนับแต่โบราณมา มีความสง่างามโอ่อ่าตระการตาสมกับเป็นมรดกของชาติ วารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า “กระบวนพยุหยาตราชลมารค” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกแบบอย่างกระบวนเรือสมัยนั้นว่า “กระบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนเรือที่ถือเป็นต้นแบบของกระบวนเรือหลวงสมัยต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งความยิ่งใหญ่งดงามของกระบวนเรือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ถูกบันทึกไว้โดย นิโคลาส แชแวร์ คณะทูตฝรั่งเศสที่มีโอกาสร่วมชม ดังมีข้อความตอนหนึ่ง ความว่า

“...ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ ๆ ไปข้างหน้าเรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกันเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน..."

๗. กำลังพล 2,311 นาย
กำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกำลังพลจากกองทัพเรือ จำนวน ๒,๓๑๑ นาย แบ่งเป็น กำลังพลฝีพาย ๒,๒๐๐ นาย และกำลังพลที่เกี่ยวข้อง เช่น กำลังพลจากสำนักพระราชวัง และนักดนตรีประจำเรือ ๑๓๑ นาย

โดยกำลังพลบนลำเรือแบ่งหน้าที่ ดังนี้ “นายเรือ” เป็นผู้ควบคุมดูแลความเรียบร้อยของทั้งลำเรือ “พลสัญญาณ” ผู้ส่งสารภายในเรือน้อมถวายความจงรักภักดีด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย “นายท้ายเรือ” ควบคุมทิศทางเรือ และกำลังพลสำคัญ “ฝีพาย” จะพายในเรือพระที่นั่งจะเป็น “ท่านกบิน” เป็นหลัก

๘. ซ้อมย่อย ๑๐ ซ้อมใหญ่ ๒ ครั้ง
กำลังพลทุกหมู่เหล่าถวายความจงรักภักดีด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ขั้นตอนการฝึกกำลังพลฝึกซ้อมบนบกและในน้ำ การฝึกบนเขียงซ้อมท่าพายบนบก การฝึกในน้ำโดยตรึงหัวเรือและท้ายเรือในอ่าง ก่อนไปฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ซ้อมเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวน กำหนดแผนการซ้อม จำนวน ๑๒ ครั้ง แยกเป็น การซ้อมย่อย ๑๐ ครั้ง และ การซ้อมใหญ่ ๒ ครั้ง ดังนี้



การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๓ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๔ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๕ วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๖ วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๗ วันที่ ๒๗กันยายน ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๘ วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๙ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ การซ้อมย่อย ครั้งที่ ๑๐ วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒ การซ้อมใหญ่ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ การซ้อมใหญ่ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๒

๙. รัชกาลที่ ๑๐ ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จะเสด็จประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เสด็จเลียบพระนครไปตามแม่น้ำ ตั้งแต่ ท่าวาสุกรี ถึง ท่าราชวรดิฐ ระยะทางประมาณ ๓.๔ กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที

สำหรับ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งที่ลักษณะโขนหัวเรือเป็นรูปพญาหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีพู่จามรีห้อยปลายพู่เป็นแก้วผลึก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญา หรือบุษบก สำหรับเป็นที่ประทับ เรือมีความยาว ๔๔.๙๐ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร ลึก ๐.๙๔เมตร

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบันนี้เป็นเรือสร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๕ แล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๖ กระทั่ง นำมาซ่อมแซมตกแต่งเพื่อใช้ในพระราชพิธีเบื้องปลายครั้งนี้

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มีความวิจิตรงดงามได้รับเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำ พ.ศ. ๒๕๓๕ (The World Ship Trust Maritime Heritage Award “Suphannahong Royal Barge”) จากองค์การเรือโลก (World Ship Trust) แห่งสหราชอาณาจักร

ปัจจุบันเรือพระที่สุพรรณหงส์มีอายุมากที่สุดคือ ๑๐๘ ปี รองลงมาคือเรือพระนที่นั่งอนันตนาคราชอายุ ๘๗ ปี เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์อายุ ๕๓ ปี และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชการที่ ๙ อายุ ๒๕ ปี

๑๐. พสกนิกรเฝ้าฯ รับเสด็จ ชื่นชมพระบารมีใกล้ชิด
การเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ๒๕๖๒ เปิดโอกาสประชาชนทั่วทั้งประเทศจะมีส่วนร่วมในพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ ด้วยการเฝ้าฯ รับเสด็จตลอดสองฟากฝั่งของลำน้ำเจ้าพระยาที่ขบวนเรือจะเคลื่อนผ่าน

ตั้งแต่บริเวณ ท่าวาสุกรี ถึง ท่าราชวรดิฐ ระยะทางประมาณ ๓.๔ กิโลเมตร และเฝ้าฯ รับเสด็จชื่นชมพระบารมีตลอดเส้นทางที่ขบวนจะเสด็จฯ ผ่านในทางบก จากพระที่นั่งอัมพรสถาน ถึง ท่าวาสุกรี ระยะทาง ๑.๑ กิโลเมตร นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้เดินมาเฝ้าฯ รับเสด็จ อาทิ การจัดรถรับ - ส่ง การดูแลด้านสุขภาพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ฯลฯ

รวมทั้ง สามารถติดตามรับชมถ่ายทอดสดได้ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยใช้กล้องโทรทัศน์ ๘๓ ตัว และโดรนถ่ายทอดสด ๑๕ ลำ เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๕๑๕ น. ของวันที่ ๑๒ ธันวาคม เป็นต้นไป จนเสร็จพิธี


กำลังโหลดความคิดเห็น