xs
xsm
sm
md
lg

"กระบวนพยุหยาตราชลมารค" ล้ำค่ามรดกไทย ในหลวง ร.9 ทรงฟื้นฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เรือพระที่นั่งงดงามเหนือท้องน้ำเจ้าพระยา (แฟ้มภาพ)
“กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและประเพณีเห่เรือ” ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่เมืองไทยเท่านั้น

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน พระองค์ทรงเป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมานานถึง 50 ปี นับตั้งแต่การสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์งามสง่า (แฟ้มภาพ)
“กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค” หรือ “กระบวนพยุหยาตราชลมารค” หมายถึงริ้วกระบวนที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ โดยทางน้ำ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี อาทิ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง รวมถึงการต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ากระบวนพยุหยาตราทางชลมารค น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เชื่อว่าเริ่มจากการที่พระร่วงได้นำเรือออกไปลอยกระทงหรือกระทำพิธี “จองเปรียง” ณ กลางสระน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามเพ็ญเดือนสิบสอง
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9  (แฟ้มภาพ)
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยาโดยชลมารค พอได้เวลาฤกษ์ พระโหราราชครูอธิบดีศรีทิชาจารย์ ก็ลั่นกลองฆ้องชัยให้พายเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ อันเป็นเรือทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามสมญา “พระพิชัย” นำกระบวนออกไปก่อนเพื่อความเป็นสิริมงคล

และในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่าเมื่อพระองค์เสด็จแปรพระราชฐานไปยังหัวเมืองต่างๆ มีการจัดกระบวนพยุหยาตราฯที่เรียกว่า “ขบวนเพชรพวง” เป็นริ้วกระบวนยิ่งใหญ่ 4 สาย พร้อมริ้วเรือพระที่นั่ง ตรงกลางอีก 1 สาย มีเรือทั้งสิ้นไม่ตำกว่า 100 ลำ ซึ่งนับเป็นกระบวนพยุหยาตราฯ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และนับเป็นต้นแบบสำคัญของกระบวนพยุหยาตราฯ ในสมัยต่อๆ มา
อีกมุมหนึ่งของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  (แฟ้มภาพ)
ความงดงามของขบวนเรือในสมัยนั้นได้ถูกบันทึกไว้โดย นิโคลาส แชแวร์ หนึ่งในคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า “...ไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรืออื่นใดได้ เป็นขบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่า 200 ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้น ใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพายพร้อมกับเป็นจังหวะจะโคน พายนั้นก็เป็นทอง เสียงพายกระทบเป็นเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน...”

เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ ถูกเผาทำลายหมดสิ้น แต่ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือขึ้นใหม่เพื่อใช้ในการรบอีกครั้ง ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือขึ้นมาใหม่อีก 67 ลำ ทั้งเรือพระที่นั่ง เรือกระบวนปิดทอง เรือพิฆาต และเรือแซง ซึ่งเป็นเรือสำคัญเป็นที่รู้จักมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งในรัชกาลต่อๆ มาก็ยังมีการสร้างเรือเพิ่มขึ้นอีก บางลำได้ตกทอดมาถึงปัจจุบันและยังได้นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ อาทิ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 และมาสร้างขึ้นแทนลำเดิมอีกในรัชกาลที่ 6 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6
ความงดงามน่าประทับใจของกระบวนเรือพระราชพิธี  (แฟ้มภาพ)
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ปรากฏกระบวนพยุหยาตราฯ ครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดบางหว้าใหญ่ และวัดหงส์ เมื่อวันพุธ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ เบญจศก พ.ศ. 2325

สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ โดยทรงเสด็จทอดผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามฯ ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา

เหตุที่มีพระราชประสงค์ในการฟื้นฟูพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ก็ด้วยได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้ามีการฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นคงไม่สิ้นเปลืองอะไรมากนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้คนของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้แรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปะเหล่านี้ จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ
ความพร้อมเพรียงของฝีพายก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชม  (แฟ้มภาพ)
นอกจากนั้นแล้ว ในรัชสมัยของพระองค์ยังได้สร้าง “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ขึ้นเมื่อปี 2537 ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 โดยใช้ต้นแบบลำเดิมของเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเดิมโขนเรือเป็นรูปครุฑยุดนาค จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงมีพระราชดำริให้เพิ่มรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังครุฑ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามเรือลำใหม่นี้ว่านารายณ์ทรงสุบรรณ

อีกทั้งยังได้นำออกใช้เป็นเรือพระที่นั่งทรงในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ พ.ศ.2539 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ประทับในเรือพระที่นั่งลำนี้อย่างสง่างามสมพระเกียรติ

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้วจำนวน 17 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารคในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2500 และใน 17 ครั้งนี้เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ถึง 11 ครั้งด้วยกัน ส่วน 2 ครั้งใน 17 ครั้งนั้น เรียกว่าเป็น “ขบวนเรือพระราชพิธี” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมิได้โดยเสด็จในกระบวนเรือ (เป็นการแสดงขบวนเรือพระราชพิธีในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก 2003 ในปี 2546 และขบวนเรือพระราชพิธี ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549)

ส่วนกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งล่าสุดนั้น เป็นกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) การเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ความอลังการเหนือคุ้งน้ำ (แฟ้มภาพ)
ความอลังการของริ้วกระบวนเรืออันยิ่งใหญ่ และความงดงามของเรือพระที่นั่งอันแสนสง่างามที่ลอยล่องกลางลำน้ำเจ้าพระยา รวมถึงเสียงกาพย์เห่เรือที่ขับกล่อมดังก้องไปทั่วคุ้งน้ำ ย่อมทำให้ผู้ที่ได้มีโอกาสได้ชมต่างประทับใจ ซาบซึ้งในมรดกไทย และปลื้มปิติในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงฟื้นฟูประเพณีอันยิ่งใหญ่นี้ให้ปวงประชาได้ชื่นชมกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น