xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมหมาป่ากับลูกแกะที่ปากอ่าวเจ้าพระยา! ร.๕ เสียพระทัยจนประชวร ทรงเกรงถูกนินทาเหมือน ๒ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา!!

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

 การ์ตูนในหนังสือพิมพ์ของอังกฤษ
ในประวัติศาสตร์อันขมขื่นของชาติไทยในสมัยล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่จะสร้างความเจ็บซ้ำน้ำใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ เท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเสียพระราชหฤทัยจนถึงกับประชวร และไม่ยอมเสวยพระโอสถ ทรงรู้สึกว่าพระองค์ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นนี้ในรัชสมัยของพระองค์ และทรงเกรงว่าจะถูกลูกหลานไทยนินทาว่าร้ายเหมือน ๒ กษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาที่ทำเสียเมือง

ความจริงทรงคาดการณ์ไว้แล้วว่า สยามอาจถูกคุกคามด้วยเรือปืนของชาติมหาอำนาจ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ล่าอาณานิคมในยุคนั้น จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงซ่อมแซมป้อมเก่าๆรอบปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ และทรุดโทรมล้าสมัยไปหมดแล้ว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ ชั่ง หรือ ๘๐๐,๐๐๐ บาท สร้างป้อมแบบทันสมัยขึ้นอีกแห่งที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก พระราชทานชื่อว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ประกอบด้วยหลุมปืน ๗ หลุม แต่ละหลุมติดตั้งปืนขนาดความกว้างปากกระบอก ๑๕๒ มิลลิเมตร ลำกล้องยาว ๔.๘๖๔ เมตร มีระยะยิงไกล ๘,๐๔๖ เมตร ขณะอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมจะพับฐานอยู่ในหลุม เมื่อจะยิงจึงยืดฐานขึ้นมา เรียกกันว่า “ปืนเสือหมอบ” สั่งมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นปืนบรรจุกระสุนท้ายรุ่นแรกที่ใช้กันในกองทัพหลายประทศ ป้อมพระจุลจอมเกล้าจึงเป็นป้อมปืนทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ลงมือในปี ๒๔๒๗ แล้วเสร็จต้นปี ๒๔๓๖ ทรงทดลองยิงด้วยพระองค์เองได้ไม่นานก่อนที่ป้อมนี้จะมีโอกาสใช้งานจริงในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ หรือรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒

ในวันนั้น มีหมายกำหนดการว่า อาชดยุ๊ค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี จะเสด็จมาเยือนสยาม รัฐบาลจึงส่งเรือมกุฎราชกุมาร เรือมุรวสิตสวัสดิ์ เรือนฤเบนทร์ และเรือหาญหักสัตรู ออกไปทอดสมออยู่นอกสันดอนรอรับเสด็จ โดยมีเรืออัคเรศรรัตนาศน์ เป็นเรือสังเกตการณ์คอยส่งข่าวให้เรือทั้ง ๔ ทราบ

รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งให้รัฐบาลไทยทราบมาตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคมนั้นแล้วว่า จะส่งเรือรบอีก ๒ ลำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม เพื่อสมทบกับเรือ ลา ลูแตง ซึ่งจอดทอดสมออยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสลำหนึ่งแล้ว อ้างว่าชาติต่างๆมีการเสริมกำลังทางเรือที่กรุงเทพฯ ฝรั่งเศสจึงต้องเพิ่มกำลังของตัวเองบ้าง ทั้งนี้เพราะอังกฤษได้ส่งเรือรบทยอยมาทอดสมออยู่ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ๓ ลำ แต่แล้วในวันที่ ๘ กรกฎาคมนั้น นายปาวี กงสุลฝรั่งเศสก็แจ้งอีกว่า เรือรบทั้งสองลำนั้นจะมาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม กระทรวงต่างประเทศได้ตอบหนังสือนายปาวีในวันนั้นว่า จะไม่ยอมให้ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาเพิ่มอีก นอกเหนือจากที่เข้ามา ๑ ลำแล้วเช่นเดียวกับอังกฤษ และได้มีโทรเลขไปถึงอัครราชทูตไทยที่กรุงปารีสในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ให้นำความแจ้งต่อรัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสว่า ไทยจะไม่ยอมให้เรือรบฝรั่งเศสล่วงสันดอนปากน้ำเข้ามาอีก ซึ่งได้รับคำตอบว่าฝรั่งเศสจะถอนคำสั่งเดิม และไม่คิดจะส่งเรือรบเข้ามาทำการขู่เข็ญใดๆ สำหรับข้อพิพาททางชายแดน ก็ได้จัดส่งผู้เจรจาออกเดินทางมาแล้ว

คำสั่งของรัฐมนตรีต่างประเทศให้ถอนคำสั่งเดิมนี้ มาถึง ม.ปาวีในเช้าวันที่ ๑๓ กรกฎาคมนั้น แต่จะด้วยปัญหาของการสื่อสารหรือชั้นเชิงที่นายปาวีดึงคำสั่งไว้เอง หลังจากที่ได้แจ้งเลื่อนกำหนดกะทันหัน จากการเข้ามาของเรือรบ ๒ ลำในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม มาเป็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม บ่ายวันนั้นจึงเกิด “วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒” ที่ปากอ่าวเจ้าพระยาขึ้น

ราว ๑๕.๐๐ น.ฝนเริ่มตั้งเค้า เรือรบ ๒ ลำของฝรั่งเศสปรากฏตัวขึ้นทางทิศตะวันออกในลักษณะมุ่งเข้าปากน้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือ เย.บี.เซย์ ซึ่งเป็นเรือหน่วยสื่อสารของรัฐบาลอินโดจีน วิ่งไปมาระหว่างไซ่ง่อนกับกรุงเทพฯเป็นประจำจนชำนาญร่องน้ำ เป็นเรือนำร่อง

เรือทั้ง ๓ แล่นด้วยความเร็วสูงตรงมาที่เรือฉาง ซึ่งเป็นเรือที่พักของพนักงานนำร่องของไทยซึ่งจอดทอดสมออยู่ พอมาถึง เรือ เย.บี.เซย์ก็ทอดสมอใกล้เรือฉาง เจ้าหน้าที่ของไทยจึงไปที่เรือรบแองกองสตังค์ของฝรั่งเศส แสดงคำสั่งและคำขอร้องของรัฐบาลไทยที่ไม่ให้เรือรบฝรั่งเศสผ่านสันดอนเข้าไป แต่นาวาโทโบรี ผู้บังคับการเรืออ้างว่าได้รับคำสั่งให้นำเรือเข้ากรุงเทพฯ จึงต้องทำตามคำสั่ง เจ้าหน้าที่ของไทยจึงกลับมาที่เรือฉาง แล้วส่งสัญญาณให้ฝ่ายไทยเตรียมพร้อม ขณะนั้นมีเรือกลไฟนำเอกสารจากสถานทูตฝรั่งเศสมาส่งให้นาวาโทโบรี เป็นคำสั่งของรัฐมนตรีต่างประเทศที่ให้ถอนคำสั่งเดิม แต่นาวาโทโบรีอ้างว่าต้องทำตามคำสั่งแม่ทัพเรือภาคตะวันออกที่ไซ่ง่อน จึงสั่งเดินหน้าเข้าปากน้ำเจ้าพระยา

ก่อนหน้านั้น พล.ร.ต.พระยาชลยุทธโยธิน ผู้อำนวยการป้องกันปากแม่น้ำ ชาวเดนมาร์ค ได้สั่งเรือรบไทยทุกลำที่ไปทอดสมออยู่นอกสันดอน ให้กลับเข้ามาอยู่ข้างในโดยเร็วที่สุดเมื่อระดับน้ำขึ้นพ้นสันดอน และให้เตรียมพร้อมรวมทั้งป้อมพระจุลฯด้วย กำชับไม่ให้เรือลำใดยิงก่อนจนกว่าป้อมพระจุลฯจะยิงไป ๔ นัดแล้ว

๑๘.๑๕ น. เมื่อน้ำที่สันดอนขึ้นสูง ๑๔ ฟุตและฝนซาลง ป้อมพระจุลฯก็เห็นเรือ เย.บี.เซย์เร่งฝีจักรเต็มที่ผ่านกระโจมไฟเข้ามา มีเรือแองคองสตังค์และเรือโคแมตซึ่งเป็นเรือปืนตาม จนถึงทุ่นดำจุดเลี้ยวของร่องน้ำปากอ่าว จึงยิงลูกหลอกเตือนไป ๒ นัด แต่เรือฝรั่งเศสก็ไม่ยอมหยุด จึงใช้ลูกจริงยิงไปดักหน้าอีก ๒ นัด เรือฝรั่งเศสทำท่าจะถอย แต่แล้วก็ชักธงชาติขึ้นยอดเสา สั่งทหารประจำสถานีรบ แล้วเร่งเครื่องเดินหน้าอีก พร้อมกับระดมยิงโต้ตอบไปยังป้อมพระจุลฯ เสือหมอบทั้ง ๗ หลุมจึงคำรามไปที่ขบวนเรือฝรั่งเศส ปืนทุกกระบอกของเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์และเรือมกุฎราชกุมารก็ยิงตาม ทำให้เรือนำร่องเย.บี.เซย์ ท้องทะลุ ต้องวิ่งเข้าเกยตื่นที่แหลมลำพูราย ฝั่งตะวันออก แต่กัปตันลงเรือเล็กไปขึ้นเรือแองคองสตังค์ นำร่องให้เรือรบฝั่งเศสพ้นแนวยิงของป้อมพระจุลฯไปได้ ทุ่นระเบิดที่วางขวางไว้ก็ถูกเรือฝรั่งเศสยิงทำลาย ส่วนปืนอาร์มสตรอง ๗๐ ปอนด์ แบบบรรจุกระสุนทางปากกระบอกของเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ ยิงไปได้ ๕ นัด สลักยึดปืนติดกับดาดฟ้าเรือก็หัก และปืนทองเหลืองทั้ง ๔ กระบอกแท่นปืนก็แตกในลักษณะต่างๆกัน เช่นเดียวกับปืนทุกกระบอกของเรือมกุฎราชกุมารก็หมดสภาพไปเช่นเดียวกัน เรือทั้ง ๒ ลำจึงไม่สามารถสกัดเรือรบของฝรั่งเศสไว้ได้ ถูกฝรั่งเศสยิงเอาข้างเดียว ทำให้ลูกเรือมกุฎราชกุมารตายไป ๓ คน บาดเจ็บ ๑๕ คน ลูกเรือมรุธาวสิตสวัสดิ์ไม่มีคนตาย แค่บาดเจ็บ ๖ คน ทั้งเมื่อเรือแองคองสตังค์กับเรือโคแมตเข้ามาถึงป้อมผีเสื้อสมุทร บนเกาะเล็กๆหน้าเมืองสมุทรปราการ ฝั่งพระสมุทรเจดีย์ ก็เป็นเวลามืดค่ำแล้ว ผู้บังตับการป้อมชาวเดนมาร์คไม่แน่ใจว่าเป็นเรือชาติไหน จนเมื่อถูกยิงก่อนจึงรู้ว่าเป็นเรือฝรั่งเศส และเมื่อยิงตอบไปก็ไม่ได้ผล เรือรบฝรั่งเศสทั้ง ๒ ลำเข้ามาทอดสมอที่หน้าสถานกงสุลฝรั่งเศสที่บางรัก ข้างเรือลูแตงซึ่งเข้ามาจอดตั้งแต่วันที่ ๑๔ มีนาคมแล้วไม่ยอมออกไป

ส่วนบันทึกประจำวันของเรือเอกหลุยส์ ดารฺติช ดู ฟูร์เนต์ ผู้บังคับการเรือโกแมต ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สู้รบครั้งนี้ไว้ว่า

“...เวลา ๑๘.๐๕ น. เราผ่านสันดอน เรือเซย์นำหน้า เรือแองคองสตังค์กับเรือโกแมตเรียงตามกันปิดท้าย ระยะห่างประมาณ ๔๐๐ เมตร มีเรือกลไฟอังกฤษ ๓ ลำแล่นสวนทางออกมาในระยะใกล้ แล้วสลุตธงให้แก่เรือเรา ไม่กี่นาทีต่อจากนั้น เรืออัครราชวรเดชได้ส่งสัญญาณประมวลสากลมีความหมายอย่างแปลกประหลาดว่า “เตรียมตัวรับพายุใหญ่” สัญญาณนี้มีความหมายว่าอย่างไรและส่งให้ใครก็ยากจะทราบได้ เวลานี้อากาศไม่เลวนัก มีเมฆสีเทาลอยลอยอยู่ทางขอบฟ้าทิศตะวันตกบ้าง ลมอ่อนจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือทำให้เกิดระลอกคลื่นเล็กน้อยที่ชายฝั่ง และดวงอาทิตย์ใกล้อัสดงก็ทอแสงจับบริเวณปากน้ำอย่างแดงจ้า

เวลา ๑๘.๓๐ น. ขณะที่เราเข้าใกล้ทุ่นดำ ได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นนัดหนึ่งแล้วก็ดังซ้อนขึ้นหลายๆนัด ปรากฏว่าป้อมที่แหลมตะวันตกทำการยิง การคุกคามเราได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัด จึงได้ส่ายตาดูเป้าหมายที่ยิงในบริเวณนั้น ว่าเป็นการซ้อมยิงหรือเป็นการแสดงความอวดดีให้เราเห็นว่าคนไทยก็ยิงปืนใหญ่เป็นเหมือนกัน แล้วความสงสัยก็หมดไปเพราะอีกไม่กี่นาทีก็มีกระสุนหลายนัดส่งเสียงหวือๆมายังเรา อา! เราตกอยู่ในหลุมพรางของคนไทยแล้ว

“ประจำสถานีรบ!”

เป็นคำสั่งให้ทุกคนเข้าประจำที่ของตน ต่างจัดการล้มเครื่องกีดขวาง เปิดปืนใหญ่ ล้มเสาที่จะบังทางปืนลูกโม่ซึ่งติดตั้งอยู่บนหอรบของแต่ละเสา และชักธงชาติขึ้นยอดเสา ธงชาติฝรั่งเศสได้ปลิวสะบัดอยู่บนยอดเสาทุกๆเสาอย่างสง่างาม

เราเตรียมพร้อมแล้วที่จะยิงตอบ เพียงแต่คอยดูว่าเรือแองคองสตังต์จะเริ่มยิงเมื่อใด เมื่อนั้นเราก็จะยิงตาม ทหารของเราต่างจ้องดูเรือแองคองสตังค์ ความวุ่นวายซึ่งมีในระยะแรกนั้น กลับกลายเป็นความสงบอย่างที่สุด ซึ่งแทบจะได้ยินเสียงหัวใจเต้นก็ว่าได้ รู้สึกว่าเลือดขึ้นหน้าเราแล้ว ต่างขบกรามที่จะต้องที่จะต้องยืนหยัดทำการยิงโต้ตอบกับข้าศึกให้สาสม

ป้อมพระจุลจอมเกล้ากลบไปด้วยแสงไฟและควันปืน การยิงของป้อมคงจะตั้งศูนย์ไว้ล่วงหน้าอย่างแน่นอน และแก้ศูนย์ดีพอใช้ แม้ว่าเราอยู่ห่างถึง ๔,๐๐๐ เมตร ปืนเหล่านั้นเมื่อยิงจะโผล่ขึ้นมา ครั้นยิงแล้วก็ผลุบลงไปในหลุมมีเกราะป้องกันทันที การยิงอย่างเต็มขนาดไปยังป้อมในขณะนี้ดูจะไร้ผล ดังนั้นเราจึงบรรจุปืนใหญ่ของเราด้วยกระสุนปราย ซึ่งจะระเบิดแตกทำลายคนประจำปืนและเครื่องประกอบปืนอันอยู่ในที่กำบัง เราสงบนิ่งไว้และคงแล่นไปด้วยความเร็ว ๑๐ นอต ฝ่ายไทยจะกล่าวไม่ได้ว่าเราไม่มีความอดทน และนอกจากนี้เรายิ่งแล่นเข้าไปใกล้เท่าใด ผลของการยิงโต้ตอบก็จะดีขึ้นอีกเท่านั้น ลูกปืนใหญ่ขนาด ๒๑ ซม.ได้ไถลลงมาในน้ำแล้วแฉลบขึ้นรอบๆตัวเราด้วยเสียงตุบห้าวๆผ่านเสาเรือไป แล้วก็มีเสียงวิ้วแหลมๆดุจปีกโลหะที่บินไปในอากาศติดตามมา การนี้ทำให้บังเกิดช่อฝอยน้ำขนาดใหญ่ตกรอบเรือเราบางขณะทำให้เรารู้สึกว่ากระสุนที่หวือมานี้ ถ้ามีสักหนึ่งนัดโดนเข้าที่ข้างเรือตอนแนวน้ำ หรือโดนหม้อน้ำเข้า ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้เรือเราลำหนึ่งลำใดหมดความสามารถไปได้เหมือนกัน บนสะพานเรือมีเรือโทบาแซง ซึ่งเป็นต้นหน คอยนับจำนวนกระสุนที่ยิงมาด้วยเสียงอันดัง

ทันใดนั้นเรือเซย์ได้หันหัวเรือไปทางซ้าย เราจึงแล่นผ่านเลยไป กัปตันของเรือนี้ตะโกนบอกมาว่า นำร่องไม่ยอมนำเรือต่อไปอีกและต้องการจะทอดสมอ เรือเซย์ถูกกระสุนปืน ๑ นัด และเพื่อมิให้เรือจม จึงจำต้องแล่นเกยตื้นใกล้ๆทุ่นดำ ในไม่ช้าก็มีกระสุนอีกนัดหนึ่งระเบิดลงที่เรือแองคองสตังค์ หลักเดวิทหรือโบตหักสะบั้นลง พันจ่าช่างไม้ประจำเรือตายคาที่ นาวาโทโบรีจึงสั่งหันหัวเรือไปทางซ้าย และให้ถือท้ายมุ่งตรงไปกลางปากน้ำ แล้วสั่งเริ่มยิง เรือโคแมตก็ทำการยิงตามโดยทันที ขณะนี้เป็นเวลา ๑๘.๔๓ น. การรบได้บังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อสถานการณ์เป็นดังนี้ เราหรือจะกล้าปฏิเสธเสียได้

การรบได้เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน เพราะว่าป้อมพระจุลจอมเกล้าก็ดี ป้อมที่เกาะเล็ก (ป้อมผีเสื้อสมุทร) ซึ่งจะได้เผชิญหน้ากับเราอีกก็ดี มิใช่ปฏิปักษ์ที่จะขัดขวางเราแต่เท่านั้น ฝ่ายไทยยังได้รวบรวมกำลังต้านทานอื่นๆอีก ซึ่งมองเห็นได้ชัดจากแสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่ใกล้จะลับไปนี้ คือถัดจากเรือทุ่นไฟมีเรือเล็กจมอยู่หลายลำ ซึ่งยึดไว้ให้อยู่กับที่ โดยเอาหลักปักขนาบไว้เป็น ๒ แถว และมีสายโซ่ขึงไว้เป็นแนวอย่างแข็งแรง เหลือช่องว่างให้เรือผ่านเข้าออกได้ราว ๘๐ เมตร กับได้ทราบว่าช่องที่เรือผ่านนี้ยังได้วางทุ่นระเบิดไว้อีกด้วย เลยแนวกีดขวางขึ้นไปมีเรือไทย ๙ ลำจอดเรียงรายกันอยู่ ปืนหัวของเรือเหล่านั้นได้ร่วมยิงกับป้อมพระจุลจอมเกล้าด้วย โดย ๔ ลำอยู่ทางซ้าย อีก ๕ ลำอยู่ทางขวา ประกอบกับเป็นช่องทางที่เราจะต้องผ่านไป...

“เดินหน้าเต็มตัว!”

เราจะได้พุ่งเข้าชนเครื่องกีดขวางดุจดังกระทิงเปลี่ยว

เวลา ๑๘.๕๐ น. ขณะที่เรือแองคองสตังค์แล่นเข้าไปใกล้ทุ่นไฟนั้น ทุ่นระเบิดลูกหนึ่งได้ระเบิดข้างหน้าเรือ เดชะบุญไม่ถูกเรือ และเรือแองคองสตังค์ได้แล่นผ่านแนวกีดขวางไปพร้อมทั้งทำการสู้รบกับเรือข้าศึกที่เรียงรายเป็น ๒ แนว ในระหว่างการยิงต่อสู้นี้มันชั่งเป็นภาพที่น่าดูเสียนี่กระไร ลำเรือแองคองสตังค์สีขาวได้หายเข้าไปในกลุ่มควัน หอรบของเรือนี้ก็พ่นเปลวไฟออกไป ดูประหนึ่งได้แล่นเข้าไปในกลีบเมฆที่มีสีแดงระคนอยู่ พร้อมด้วยธงชาติฝรั่งเศสสามสีโบกสะบัดอยู่บนยอดเสาอย่างภาคภูมิ

แสงสว่างภายหลังดวงอาทิตย์อัสดงในประเทศร้อนมีระยะเวลาสั้นมาก และความมืดก็เข้ามาแทนที่โดยเร็ว เรือโคแมตซึ่งแล่นตามแนวของเรือแองคองสตังค์ก็ได้ผ่านกองเรือไทย และได้ทำการยิงตอบโต้ทางขวาบ้างทางซ้ายบ้างด้วยปืนใหญ่ประจำเรือ ด้วยปืนลูกโม่ ด้วยปืนเล็กยาวจากหอรบของเสาเรือ ฝ่ายข้าศึกได้ใช้ปืนกลยิงมายังเรา ได้ยินเสียงลูกปืนผ่านไปดังเฟี้ยวฟ้าว รวมทั้งปืนใหญ่ก็ยิงมาตูมตาม ชั่วเวลาไม่กี่นาทีกระสุนได้ยิงมายังเราเป็นห่าฝน แต่ก็น่าอัศจรรย์มากที่ไม่มีใครถูกกระสุนปืนข้าศึกเลย ขณะที่เราแล่นผ่านเรือใบลำใหญ่ทาสีขาว (เรือทูลกระหม่อม เป็นเรือฝึกของนักเรียนนายเรือ) ซึ่งเป็นลำสุดท้ายทางซีกซ้ายในระยะ ๑๐๐ เมตร เรือลำนี้ได้ยิงมายังเรา ตับหนึ่งของการยิงนี้ได้ถูกพลประจำปืนตาย ๒ คน ชื่อ จูอัง และชื่อ อาลองก์ ปืนท้ายของเรายังได้ยิงตอบไปบ้าง ถูกตัวเรือซึ่งทำด้วยไม้อย่างจัง การยิงได้ยุติลงเมื่อเวลา ๑๘.๕๘ น. และเราได้แล่นผ่านหลุมพรางไป เส้นทางเดินเรือก็ปลอดโปร่งไปชั่วขณะ

อุปสรรคต่างๆยังหาได้สิ้นสุดลงไม่ ยังเหลือป้อมที่เกาะเล็ก (ป้อมผีเสื้อสมุทร)อยู่อีกป้อมหนึ่ง ซึ่งเรือโคแมตได้รู้จักมาแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่แล้ว โดยได้มาจอดอยู่ใกล้ๆเป็นเวลา ๓วัน และยังได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินไทยได้เสด็จมาตรวจที่ป้อมนี้ เราได้จับตาดูป้อมนี้ในความมืด ในขณะเดียวกันก็ได้บรรจุปืนของเราด้วยกระสุนดินเมลิไนท์จำนวน ๔ นัดเตรียมคอยไว้ เวลา ๑๙.๑๐ น.ได้มาถึงป้อมที่ยังคงสงบเงียบอยู่ และเรือแองคองสตังค์ก็ผ่านเลยไปโดยไม่มิได้สังเกต แต่เรายังมองเห็นเสาธงเหล็กของป้อมได้ จึงใช้เป็นที่หมายเล็งปืนของเรา เราได้ทำการยิงกราดเข้าไป และปืน ๒๑ ซม.ของป้อมนี้ก็ยิงกราดออกมาโดยไม่ถูกเรือเราแต่อย่างใด มีเสียงปืนเล็กดังสนั่นอยู่ริมฝั่งบ้าง ครั้นแล้วก็เงียบเสียงไป เราแล่นผ่านสมุทรปราการไปโดยไม่มีข้าศึกติดตามเราเลย เราเร่งฝีจักรเต็มที่เข้าสู่กรุงเทพฯ เรือแองคองสตังค์ได้เปิดไฟท้ายให้เห็น เราจึงแล่นตามเรื่อยมา”

ผลจากการสู้รบครั้งนี้ ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑๕ คน บาดเจ็บ ๒๐ คน จากผู้เข้าร่วมเหตุการณ์ไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ คน ส่วนฝ่ายฝรั่งเศสเสียชีวิต ๓ คน บาดเจ็บ ๓ คน จากผู้ที่อยู่ในเรือทั้ง ๓ ลำของฝรั่งเศส ๑๙๖ คน ซึ่งนาวาเอกเฮนรี โจนส์ ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษว่า “การยิงปืนของทั้งสองฝ่ายสะเปะสะปะ ปราศจากความแม่นยำ”

การที่ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยานี้ สร้างความตื่นตระหนกให้คนกรุงเทพฯกันมาก คิดว่าฝรั่งเศสจะเข้ายึดเมืองไทย จึงพากันอพยพหนีออกนอกเมืองเป็นจำนวนมาก ส่วนในพระบรมมหาราชวังก็อลหม่านไม่แพ้กัน ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการตลอดทั้งคืนไม่มีใครกลับไปนอนบ้าน นอกจากปรึกษาหารือกันแล้วยังติดตามข่าวคราวความคลื่นไหว เจ้าพระยามหิธรซึ่งตอนนั้นยังเป็นเสมียนโทได้บันทึกไว้ว่า

“...ภายในกรุงเทพฯเวลานั้น ภายในพระราชวังมีการลากปืนใหญ่เข้าประจำที่และหัดทหารกันตลอดวัน รวมทั้งเกณฑ์ทหารใหม่เข้าเพิ่มด้วย พระเจ้าอยู่หัวและเสนาบดีก็ประชุมกันตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีใครกลับบ้าน เพราะเหตุการณ์คับขันเต็มที่ กลางคืนพวกเจ้านายและเสนาบดีเอาที่นอนหมอนมุ้งไปปูนอนกันตามระเบียงพระที่นั่งจักรี ส่วนเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในก็พากันสละข้าวของเงินทองทูลเกล้าฯถวายเพื่อเอาไว้ซื้อปืนสู้รบกับฝรั่งเศส และจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเรียกว่า สภากาชาด สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินี ทรงเป็นสภานายก ทั้งนี้จะได้ช่วยรักษาพยาบาลทหารที่เจ็บป่วยเนื่องจากการสงคราม ส่วนทางด้านราษฎรที่เป็นหญิง ก็เตรียมคั่วข้าวตากทำเป็นเสบียงกรังไว้เผื่อต้องอพยพหนีเข้าป่า พวกผู้ชายส่วนมากไม่กลัวฝรั่งเศส กลับพากันไปที่ริมแม่น้ำตรงเรือรบฝรั่งเศสจอดอยู่แน่นไปหมด และด่าว่าท้าทายด้วยประการต่างๆ จนทหารฝรั่งเศสไม่กล้าขึ้นบก...”

เหตุการณ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงนี้ พระยาอนุมาราชธน เล่าไว้ใน “ฟื้นความหลัง” ว่า

“...เวลาเย็นมีราษฎรแตกตื่นพากันไปดูเรือรบที่หน้าศุลกสถาน (ที่ทำการกรมศุลกากรในสมัยนั้น อยู่ติดกับสถานทูตฝรั่งเศสด้านเหนือ) และทหารฝรั่งเศสในเรือรบกำลังอาบน้ำในแม่น้ำอย่างแบบฝรั่งที่ไม่รู้จักผ้าขาวม้า ราษฎรที่ยืนมุงดูอยู่เห็นฝรั่งเศสในเรือรบแก้ผ้าอาบน้ำกลางแจ้งไม่มียางอาย เหนี่ยวรั้งความเกลียดชังไม่อยู่ ก็แอ่นหน้าให้ตามแบบไทย ที่นุ่งโสร่งก็ถลกขึ้นแล้วโก่งด้านหลังเปิดให้เห็น ‘สิงโตคาบแก้ว’ไปที่เรือรบ ส่วนทหารที่เรือรบก็เข้าใจและทำใบ้ไม้มือเป็นดาบปาดคอให้ดู ทางฝ่ายราษฎรเมื่อเห็นก็ยิ่งแอ่นยิ่งโก้งโค้งกันใหญ่ แปลว่าไม่กลัว ท่านผู้หนึ่งมีศักดิ์เป็น พระยา เป็นเทือกเถาเหล่ากอขุนนางทหารเอกของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดสถานทูตฝรั่งเศสลงไปไม่ไกลนัก ได้ฝึกบ่าวไพร่ในบ้านให้รู้จักดำน้ำได้ทน ถ้าถึงคราวคับขันชอบมาพากลก็จะได้ใช้พวกดำน้ำทนเหล่านี้ ถือขอเหล็กด้ามยาวดำน้ำว่ายพุ่งไปที่เรือรบ กะให้พอดีถึงเรือรบ พอผุดขึ้นจากน้ำก็ให้ทะลึ่งขึ้นสูงทันที เอาขอเหล็กขึ้นสับกับกราบเรือรบทันทีทันใด แล้วไต่ขึ้นไปจัดการกับทหารบนเรือรบทันควัน เรื่องก็จะต้องสำเร็จกันเท่านั้นเอง แต่การฝึกหัดนี้ทำไปไม่ได้นาน เพราะคนที่ได้รับการฝึกหัดคนหนึ่งจมน้ำตาย ความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท การฝึกหัดที่กล่าวนี้ถึงต้องเลิกไป เพราะถูกสั่งห้าม...”

มาตรา ๑๕ ในสัญญาไมตรีเดินเรือและพาณิชย์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสระบุไว้ว่า เรือฝรั่งเศสเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเสรี สินค้าที่บรรทุกเข้ามาก็เข้ายังดินแดนไทยอย่างเสรีเช่นกัน แต่เป็นเรือสินค้าเท่านั้น ส่วนเรือรบก็ระบุไว้ในมาตราเดียวกันนี้ไว้ว่า จะเข้ามาทอดสมอที่ปากน้ำได้ ถ้าจะเข้ากรุงเทพฯจะต้องแจ้งล่วงหน้า และจะต้องทำความตกลงกับรัฐบาลไทยก่อนในสถานที่จะจอดทอดสมอ แต่นาวาโทโบวีถืออำนาจปืนเรือ จึงตีความเอาตามใจชอบ

ร.อ.โซฟได้เขียนไว้อีกตอนว่า

“สำหรับการสู้รบที่ปากน้ำในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการตัดสินใจอย่างห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของนาวาโทโบรีโดยแท้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยคิดว่าฝ่ายตรงข้ามจะวางแผนล่วงหน้าได้อย่างแข็งขัน และฝึกฝนกำลังพลจนคล่องแคล่วเช่นนี้ อย่างไรก็ดี อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สยามจะใช้ในการต่อสู้จะวิเศษสักเพียงใดก็ไร้ประสิทธิผล เนื่องจากทหารเหล่านั้นไม่เคยได้รับการอบรมให้ใช้อาวุธประเภทนี้มาก่อน โดยที่กองทัพสยามมีปืนคาบศิลาที่ดีมีประสิทธิภาพอยู่หลายกระบอก อีกทั้งยังมีการคุ้มกันป้อมปราการอย่างแข็งขัน มีกองเรือรบที่เพียบพร้อม ตลอดจนมีปืนใหญ่อาร์มสตรอง ปืนกลประจำเรือ ปืนกลมือขนาดเล็ก และตอร์ปิโดจำนวนมาก ซึ่งทหารจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมให้รู้จักการใช้อาวุธเหล่านี้ให้ชำนาญเสียก่อน

ฝ่ายเรือรบของฝรั่งเศสยังคงสู้รบต่อไปอย่างต่อเนื่อง และพร้อมส่งสัญญาณให้ระดมยิงไปที่พระบรมมหาราชวังอยู่ตลอดเวลาหากไม่สามารถตกลงกันจนเป็นที่น่าพอใจ ในช่วงนั้นกองเรือรบของเราถือว่าเป็นฝ่ายควบคมสถานการณ์เอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสยามพยายามเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งกล่าวว่าคงมีเหตุการณ์เข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง...”

ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ที่ประชุมรัฐสภาฝรั่งเศสมีมติมอบอำนาจแก่รัฐมนตรีต่างประเทศดำเนินการยื่นคำขาดแก่รัฐบาลสยาม เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยให้ตอบรับเงื่อนไขภายใน ๔๘ ชั่วโมง ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ม.ปาวีจึงได้รับคำสั่งให้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลสยาม ๖ ข้อ คือ

-ให้รัฐบาลสยามเคารพสิทธิของญวนและเขมรเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่างๆในลำน้ำนี้

-ให้ถอนทหารที่ตั้งบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน ๑ เดือน

-ให้สยามจัดการปัญหาทุ่งเชียงคำ เมืองคำม่วน และความเสียหายที่เรือรบฝรั่งเศสและชาวฝรั่งเศสได้รับจากการปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาให้เรียบร้อย

-ให้จ่ายค่าทำขวัญแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และลงโทษผู้กระทำความผิด

-ให้สยามชดใช้เงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ (ประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท) เป็นค่าปรับที่ทำความเสียหายต่างๆให้เกิดแก่คนในบังคับฝรั่งเศส

-ให้วางเงินประกันเป็นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ฟรังก์ เพื่อมัดจำที่จะชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถชำระได้ก็ต้องยอมให้ฝรั่งเศสเก็บภาษีในเมืองพระตะบองและเสียมราฐแทน

-ให้รัฐบาลแจ้งให้ทราบภายใน ๔๘ ชั่วโมง ว่าจะรับปฏิบัติตามนี้ได้หรือไม่ หากสยามไม่ยอมปฏิบัติตามคำขาดดังกล่าว อัครราชทูตฝรั่งเศสจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯและปิดอ่าวไทยรวมทั้งน่านน้ำไทยทันที

ไทยได้ให้ทูตไทยในลอนดอนปรึกษากับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นอังกฤษมีการค้ากับไทยสูงกว่าทุกชาติ หากไทยถูกปิดอ่าว อังกฤษจะเสียหายยิ่งกว่าไทยอีก แต่อังกฤษกลับวางเฉย

เมื่อหวังพึ่งใครไม่ได้ ไทยจึงตอบฝรั่งเศสไปว่า ไทยยอมทุกข้อนอกจากที่จะให้สละดินแดน ยอมให้แค่เมืองคำม่วนถึงสตึงเตรงเท่านั้น เพราะดินแดนที่ฝรั่งเศสเรียกร้องมานั้นเป็นของไทย ทั้งฝรั่งเศสก็เคยเซ็นสัญญายอมรับสิทธิของไทยเหนือหลวงพระบางแล้ว แต่ก็จะยอมโอนกรรมสิทธิ์ดินแดนทุกๆแห่งให้ หากแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่ามีสิทธิอันชอบเหนือดินแดนเหล่านั้นอย่างไร และทหารไทยจะถอนกำลังออกมาภายใน ๓ เดือน ไทยจะจ่ายเงิน ๓ ล้านฟรังก์ทันที เพื่อเป็นเงินมัดจำในการชดใช้สินไหมและค่าทำขวัญ โดยที่ไทยเข้าใจว่าเงิน ๓ ล้านนี้เกินความเป็นจริง ไทยจึงควรได้เงินส่วนเกินคืน

ฝรั่งเศสไม่พอใจคำตอบของไทย ที่มีข้อโต้แย้ง ไม่ปฏิบัติตาม “คำขาด”ของฝรั่งเศสแต่โดยดี ในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ม.ปาวีจึงออกคำสั่งให้ลดธงที่สถานทูตฝรั่งเศสลงครึ่งเสา แล้วพาคณะลงเรือรบ ถอนสมอออกไปที่เกาะสีชังทั้ง ๓ ลำ พร้อมกับเรียกเรือรบฝรั่งเศสจากฐานทัพไซ่ง่อนมาสมทบอีก ๙ ลำ รวมทั้งเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะชื่อตรีอองฟัง ซึ่งเป็นเรือธงของผู้บัญชาการฐานทัพ พลเรือตรีฮูมันน์ และในวันที่ ๒๗ กรกฎาคมก็ส่งทหารขึ้นบกยึดเกาะสีชัง

การกระทำของฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นเรื่องอื้อฉาวมากในยุโรป หลายประเทศพากันประณาม นสพ.อังกฤษโจมตีฝรั่งเศสอย่างรุนแรงเพราะเกรงจะเสียผลประโยชน์ของอังกฤษในไทย หนังสือพิมพ์พั้นช์ ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๓๖ ได้ตีพิมพ์ภาพการ์ตูนในชื่อ “หมาป่าฝรั่งเศสและลูกแกะสยาม” สะท้อนพฤติกรรมของฝรั่งเศส รัฐบาลอังกฤษยื่นประท้วง แต่ฝรั่งเศสก็อ้างว่าหลวงพระบางเคยเป็นของญวนที่ตกเป็นของฝรั่งเศสแล้ว ก็ต้องเป็นของฝรั่งเศสด้วย ทูตอังกฤษประจำปารีสตอกกลับว่า ถ้าอ้างอย่างนั้นอังกฤษก็อ้างได้ว่า นอร์มังดีกับอีกหลายเมืองของฝรั่งเศสก็เคยเป็นของอังกฤษ

แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครช่วยไทยได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงผิดหวังกับการปกป้องความยุติธรรมของชาติมหาอำนาจมาก ทุกประเทศคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเท่านั้น ไทยจึงต้องรีบยอมทำตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกข้อ ก่อนที่จะเรียกร้องมากไปกว่านั้น ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ไทยจึงแจ้งให้ฝรั่งเศสว่ายอมรับคำขาดของฝรั่งเศสโดยไม่ต่อรองใดๆ แต่กระนั้นฝรั่งเศสยังเรียกร้องเงื่อนไขเพิ่มอีกหลายข้อ ในฐานที่ไทยบิดพลิ้วไม่รับคำขาดของฝรั่งเศสโดยดีแต่แรก เมื่อได้ทีฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมเลิกง่ายๆ อยากได้ดินแดนของไทยตรงไหน ก็ส่งทหารเข้ายึดแล้วอ้างดื้อๆว่าเคยเป็นของญวนของเขมรมาก่อน

วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ครั้งนี้ พระพุทธเจ้าหลวงเสียพระราชหฤทัยอย่างหนักจนประชวร ทรงนิพนธ์ในบทกวีรำพึงว่าจะถูกติฉินนินทาเหมือนกษัตริย์สองพระองค์ของกรุงศรีอยุธยาที่ทำให้เสียเมือง ทรงท้อแท้ถึงกับไม่ยอมเสวยพระโอสถ ทำให้เกิดความวิตกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการไปตามกัน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระอนุชา จึงตัดสินพระทัยนิพนธ์ฉันท์ขึ้นถวาย เพื่อให้ทรงนึกถึงความสำคัญของพระองค์ที่มีต่อวิกฤติของประเทศชาติ ความว่า

ขอเดชะเบื้องบาทวรราชะปกศรี.........โรตม์ข้าผู้มั่นมีมานะตั้งกตัญญู
ได้รับพระราชทานอ่านราชนิพันธ์ดู.............. ทั้งโคลงและฉันท์ตูข้าจึงตริดำริตาม
อันพระประชวรครั้งนี้แท้ทั้งไผทสยาม............เหล่าข้าพระบาทความวิตกพ้นจะอุปมา
ประสาแต่อยู่ใกล้ทั้งรู้ใช่ว่าหนักหนา................เลือดเนื้อผิเจือยาให้หายได้จะชิงถวาย
ทุกหน้าทุกตาดูบ่พบผู้จะพึงสบาย....................ปรับทุกข์ทุรนทุรายกันมิเว้นทิวาวัน
ดุจเหล่าข้าพละนาวะเหว่ว้ากะปิตัน......นายท้ายฉงนงันทิศทางก็คลางแคลง
นายกลประจำจักรจะใช้หนักก็นึกแหนง............จะรอก็ระแวงจะไม่ทันธุระการ
อึดอัดทุกหน้าที่ทุกทวีทุกวันวาร.............. .........เหตุห่างบดียานอันเคยไว้น้ำใจชน
ถ้าจะว่าบรรดากิจก็ไม่ผิด ณ นิยม.......................เรือแล่นทะเลลมจะเปรียบต่อก็พอกัน
ธรรมดามหาสมุทรมีคราวหยุดพายุผัน...............มีคราวสลาตันตั้งระลอกกระฉอกฉาน
ผิวพอกำลังเรือก็แล่นรอดไม่ร้าวราน.....หากกรรมจะบันดาลก็คงล่มทุกลำไป
ชาวเรือก็ย่อมรู้ฉนี้อยู่ทุกจิตต์ใจ.........................แต่ลอยอยู่ตราบใดต้องจำแก้ด้วยแรงระดม
แก้รอดตลอดฝั่งจะรอดทั้งจะชื่นชม...................เหลือแก้ก็จำจมให้ปรากฏว่าถึงกรรม
ผิวทอดธุระนิ่งบ่วุ่นวิ่งเยียวยาทำ.........................ที่สุดก็สูญลำเหมือนที่แก้ไม่หวาดไหว
ผิดกันแต่ถ้าแก้ให้เต็มแย่จึงจมไป........................ใครห่อนประมาทใจว่าขลาดเขลาและเมาเมิน
เสียทีก็มีชื่อได้เลื่องลือสรรเสริญ............สงสารว่ากรรมเกินกำลังดอกจึงจมสูญ
นี้ในน้ำใจข้าอุปมาบังคมทูล................................ทุกวันนี้อาดูรแต่ที่พระประชวรนาน
เปรียบตัวเหมือนอย่างม้านี้เป็นพาหนะยาน.........ผูกเครื่องบังเหียนอานประจำหน้าพลับพลาชัย
คอยพระประทับอาสน์กระหยับบาทจะพาไคล.....ตามแต่พระทัยไท ธ จะชักไปซ้ายขวา
ไกลใกล้บ่ได้เลือกจะกระเดือกเต็มประดา............ตราบเท่าจะถึงวาระชีวิตมลายปราณ
ขอตายให้ตาหลับด้วยชื่อนับว่าชายชาญ...เกิดมาประสบภารธุระได้บำเพ็ญทำ
ด้วยเดชะบุญญาภินิหารแห่งคำ............................สัตย์ข้าจงได้สำฤทธิดังมโนหมาย
ขอจงวราพาธบรมนาถเร่งเคลื่อนคลาย................พระจิตต์พระวรกายจะผ่องพ้นที่หม่นหมอง
ขอจงสำเร็จราชะประสงค์ที่ทรงปอง...................ปกข้าฝ่าละอองพระบาทให้สามัคคี
ขอเหตุที่ขุ่นขัดจะวิบัติพระขันตี...........................จงคลายเหมือนหลายปีจะลืมเลิกละลายสูญ
ขอจงพระชนมายุสถาวรพูน.................................เพิ่มเกียรติอนุกูลสยามรัฐพิพัฒน์ผลฯ

ด้วยพระนิพนธ์บทนี้ ทำให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงกลับมามีขัตติยมานะ ออกสั่งราชการอีกครั้ง และทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างสยามสู่ความรุ่งเรืองเข้าอยู่ในสายตาของสังคมโลก จนหมาป่านักล่าอาณานิคมขยาดที่จะข่มเหงอย่างป่าเถื่อนต่อไป
ปืนเสือหมอบของป้อมพระจุลฯ
เสือหมอบคำราม
เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาลอยลำหน้าสถานทูต
ทหารฝรั่งเศสขนเงินค่าปรับลงเรือรบ
กำลังโหลดความคิดเห็น