xs
xsm
sm
md
lg

“ตลาดไร้คาน” ภูมิปัญญาช่างโบราณสุดคลาสสิก...ฟื้นชีวิต วิถีชุมชม กินเที่ยวที่เดียวจบที่ย่าน “บ้านบุ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตลาดไร้คาน ที่บ้านบุ
แม้ในปัจจุบันกรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราจะมีความเจริญจนทำให้ชุมชุนหลายชุมชนสูญเสียความเอกลักษณ์ท้องถิ่นด้านเดิมไป อย่างที่ “บ้านบุ” แม้อดีตจะทำให้ลืมเลือน แต่พวกเขาก็อยากอนุรักษ์และรื้อฟื้นสิ่งที่มีในชุมชน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนทั่วไปหันมาสนใจท่องเที่ยวและศึกษา วันนี้ฉันจึงขอไปเพลิดเพลินเดินกินเที่ยวที่เดียวจบ ย่านบ้านบุ คลองบางกอกน้อย กันสักหน่อย

“บ้านบุ” ถือว่าเป็นชุมชนเล็กๆ ริมคลองบางกอกน้อย ใกล้กับสถานีรถไฟธนบุรี เป็นชุมชนหนึ่งที่เก่าแก่ และมีชื่อบ่งบอกถึงอาชีพของการทำ “ขันลงหิน” หรือภาชนะโลหะชนิดหนึ่ง เพราะคำว่า “บุ” นั้นหมายถึงการตีให้เข้ารูป ใช้กับงานโลหะนั่นเอง
“วัดอมรินทราราม”
เริ่มต้นเดินกินเที่ยวย่านบุ ที่ “วัดอมรินทราราม” ตั้งอยู่ใกล้กับรพ.ศิริราช เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี หากใครมาที่วัดนี้ก็ต้องมาไหว้พระพุทธฉายจำลองและรอยพระพุทธบาทจำลอง โดยมณฑปของรอยพระพุทธบาทจำลองนี้จัดว่าเป็นมณฑปที่สวยงามแห่งหนึ่งเลยทีเดียวแม้ปัจจุบันจะดูทรุดโทรมตามกาลเวลาก็ตาม
“หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ที่โบสถ์น้อย ในวัดอมรินทราราม
และสิ่งสำคัญที่วัดแห่งนี้คือ การได้มากราบสักการะ “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงใกล้โบสถ์ และทำให้เศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยถึงกับหักพังลงมา สร้างความเศร้าเสียใจให้แก่ชาวบ้านที่เคารพนับถือองค์หลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสงครามยุติลงจึงมีการปั้นพระเศียรของหลวงพ่อขึ้นใหม่โดยให้คงเค้าเดิมไว้ และต่อมาวัดจึงกำหนดให้วันที่ 29 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันนมัสการประจำปีของหลวงพ่อโบสถ์น้อย เพื่อระลึกว่าในวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่หลวงพ่อโบสถ์น้อยถูกภัยทางอากาศ
“โรงรถจักรธนบุรี”
จากนั้นก็มุ่งหน้าต่อไปที่ “โรงรถจักรธนบุรี” ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บและบำรุงรักษารถจักรไอน้ำเพื่อใช้ลากจูงขบวนรถในวันสำคัญต่างๆ กันคือรถจักรไอน้ำ ยี่ห้อ ซี 56 สร้างในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 คัน รถจักรไอน้ำแปซิฟิก สร้างในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 คัน และรถจักรไอน้ำมิกาโด สร้างจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 1 คัน โดยรถจักรไอน้ำจะถูกนำออกมาใช้ในงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว งานวันสถาปนากิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย งานวันปิยมหาราช และวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม เป็นต้น
ช่างกำลังสาธิตการทำสเตนเลสบ้านบุ
เดินต่อไปยัง “ชุมชนบ้านบุ” ชุมชนบ้านบุ นั้นสืบเชื้อสายต่อเนื่องจากอยุธยามาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวบ้านที่เคยประกอบอาชีพช่างบุทำเครื่องทองลงหินหรือเครื่องทองสัมฤทธิ์ ได้รวมกลุ่มกันเลือกที่ตั้งบ้านเรือนขึ้นในทำเลนอกคลองคูเมืองราชธานี บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ชาวบ้านคงดำรงชีพด้วยการทำภาชนะเครื่องทองลงหินอยู่เช่นเดิม และสืบเชื้อสายถ่ายทอดวิชาช่างบุต่อเนื่องกันมาในชุมชนหลายชั่วอายุคน
เครื่องใช้สเตนเลสที่ยังทำลายด้วยค้อนตี ตามแบบสมัยก่อนอยู่
ขันหินย่านบ้านบุ ของโรงงานขันลงหินเจียมแสงจัจจา
ในอดีตคนในชุมชนบ้านบุแทบทุกครัวเรือนจะทำขันลงหินกันเป็นอาชีพ แต่ละบ้านจะมีเตาหลอมโลหะ มีเสียงตีเหล็กดังอยู่ทั่วทั้งชุมชน แต่มาจนถึงวันนี้คงหลงเหลือบ้านเพียงหลังเดียวในชุมชนบ้านบุที่ยังประกอบอาชีพทำขันลงหินอยู่ นั่นก็คือ "ขันลงหินบ้านบุ เจียม แสงสัจจา" ที่หากใครอยากแวะเวียนไปชมหรือสนใจอยากรู้รายละเอียดของงานประณีตศิลป์ที่สืบทอดกันมายาวนาน นอกจากนั้นยังมีการพลิกแพลงจากเดิมที่เป็นโลหะใช้เป็นสแตนเลส แต่ยังคงความดั้งเดิมของหัตถกรรมชาวบ้านบุ คือการทำลายผิวด้วยค้อนอย่างร้าน "บ้านบุคอลเล็คชั่นสแตนเลส"  ก็สามารถมาชมกันได้ในชุมชนบ้านบุแห่งนี้
ตลาดวัดทอง หรือตลาดวัดสุวรรณาราม
และไฮไลต์ของการมาเยือนชุมชนบ้านบุแห่งนี้ นั่นคือ “ตลาดไร้คาน” ที่เมื่อก่อนซบเซาไปตามกาลเวลาจนกลายเป็นตลาดร้าง แต่ในวันนี้ชาวบ้านกลับอนุรักษ์และสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน "ตลาดวัดทอง" หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดสุวรรณาราม”อยู่หลังสำนักงานเขตบางกอกน้อยใกล้กับวัดสุวรรณาราม ตลาดแห่งนี้มีอายุกว่าร้อยปีเลยทีเดียว และยังเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชุมชนบ้านบุ ชุมชนใกล้กับวัดสุวรรณารามมาเป็นเวลานานแล้วด้วย แต่เดิมตัวตลาดตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2467 ก็มีการย้ายพื้นที่มาตั้งอยู่ในบริเวณที่เห็นอย่างในปัจจุบัน
ชาวบ้านร่วมกันออกมาตั้งร้านขาย
บรรยากาศครึกครื้นในตลาด
ภายในตลาดวัดทองก็มีพ่อค้าแม่ค้าจะขายของกินมากมายอย่าง ข้าวคลุกกะปิ ขนมจีนน้ำยา ผัดไทย ฯลฯ แม้อาหารอาจจะดูธรรมดา แต่มีความอร่อยแบบชาวบ้านๆ ทำให้กินแล้วต้องติดใจ และสิ่งที่ไม่ธรรมดาอีกแห่งต้องดูที่รูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวตลาดที่สร้างด้วยไม้เป็นอาคารโถงขนาดใหญ่ มีเพียงเสารอบและโครงหลังคาไม้รองรับน้ำหนัก โดยไม่ต้องอาศัยคานและเสากลาง ตลาดแห่งนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดไร้คาน” นอกจากนั้นคนในชุมชนยังร่วมกันสร้างกิจกรรมการแสดงให้คนทั่วไปได้มาดูมาชมเพลิดเพลิน ถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กเยาวชน ร่วมกันกล้าแสดงออก กลายเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจอย่างแท้จริง ซึ่งตลาดวัดทองเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 1 และอาทิตย์ 3 ของทุกเดือน ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ขายอาหารและขนมโบราณหายาก พร้อมทั้งการแสดงจากเด็กในชุมชน
“วัดสุวรรณาราม”
เดินมาอย่างวัดของชาวชุมชนบ้านบุ วัดแห่งนี้มีความสำคัญมายาวนาน “วัดสุวรรณาราม” นั้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และถือเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถของวัดแห่งนี้มีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก โดยเป็นฝีมือของจิตรกรที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 3
 “หลวงพ่อศาสดา” พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน “หลวงพ่อศาสดา” พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สง่างาม และมีทรวดทรงอ่อนช้อยงดงาม โดยเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านมาหลายชั่วอายุคนแล้ว มีการสันนิษฐานว่าน่าจะอัญเชิญมาจากสุโขทัยเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 เนื่องจากหลวงพ่อศาสดานั้นเป็นฝีมือช่างเดียวกันกับที่หล่อพระศรีศากยมุนี ที่วัดสุทัศน์
เด็กๆ ที่มาวิ่งม้าแก้บน
จึงมีชาวบ้านมักมาบนบานต่างๆ และส่วนมากจะประสบความสำเร็จจนต้องแก้บน แต่เรื่องราวของการแก้บนที่อาจจะดูแปลกกว่าที่อื่นสักหน่อย ซึ่งที่วัดสุวรรณารามแห่งนี้ เขาจะแก้บนกันด้วยการ “วิ่งม้า” ซึ่งทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความเคารพศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อองค์หลวงพ่อศาสดา ทำให้นิยมมาบนบานศาลกล่าวในเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องการงาน การค้าขาย และการบนบานเพื่อไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหาร และจะมีข้อห้ามไม่ให้พูดคำว่า “ขอ” เป็นอันขาด

ตามความเชื่อของชาวบ้านบุที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดสุวรรณารามนั้น ว่ากันว่า หากมาบนบานหลวงพ่อศาสดาไว้แล้วก็ต้องมาแก้บน แต่หลวงพ่อศาสดาไม่ชอบให้แก้บนด้วยดนตรี ละคร หรือการละเล่นอื่นๆ แต่จะชอบให้แก้บนด้วยวิธีแปลกๆ ซึ่งมีอยู่ 3 อย่าง คือ บนเขกหัวตัวเอง บนตุ๊กตาล้มลุก และบนวิ่งม้า
วิ่งม้าแก้บน เป็นวิธีการแก้บนที่โปรดปรานของหลวงพ่อศาสดา
ในปัจจุบัน การแก้บนด้วยการเขกหัวตัวเองและบนตุ๊กตาล้มลุกนั้นไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากเป็นวิธีการที่ยาก จะเหลือให้เห็นก็แต่การวิ่งม้าแก้บน ซึ่งเชื่อกันว่าหลวงพ่อศาสดาโปรดปรานเป็นอย่างมาก วิธีการก็คือ หากมาบนบานไว้แล้วประสบความสำเร็จดังที่ต้องการจะต้องมาแก้บนที่ใบเสมาแรกทางด้านหน้าของพระอุโบสถ เพราะตั้งอยู่ในตำแหน่งเดียวกันกับองค์หลวงพ่อศาสดา

จากนั้นต้องนำผ้าขาวม้ามาวางหน้าใบเสมาและขมวดปมให้เรียบร้อย แล้วจึงนำไปวิ่งม้าแก้บน จะต้องวิ่ง 3 รอบขึ้นไป และระหว่างนั้นต้องร้องเสียงม้าไปด้วย เมื่อวิ่งเสร็จแล้วก็นำผ้าขาวม้ามาวางหน้าใบเสมาใบเดิมแล้วกราบลา เป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งปัจจุบันที่วัดก็มีบริการให้เยาวชนในชุมชนมาวิ่งม้าแก้บนแทนผู้ที่บนบานด้วย
วิ่งม้าแก้บน ต้องวิ่งสามรอบรอบโบสถ์
ถือได้ว่าการวิ่งม้าแก้บนนี้เป็นเอกลักษณ์ของวัดสุวรรณารามที่ไม่มีที่ไหนเหมือน และเป็นความเชื่อของชาวบ้านบุที่ยังได้รับการสืบทอดและปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังถูกฟื้นฟูในชุมชน ที่คงพยายามอนุรักษ์ท้องถิ่น วิถีชีวิต และเรื่องราว สิ่งที่น่าสนใจไว้ หากใครมีแพลนออกไปเที่ยวในเมืองกรุง ไม่ควรพลาดที่ต้องไปเดินกินเที่ยวที่ บ้านบุ สักครั้ง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ตลาดวัดทอง เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ตั้งแต่เวลา 09.00 -16.00 น

“ตลาดวัดทอง” ตั้งอยู่หลังสำนักงานเขตบางกอกน้อย ใกล้กับวัดสุวรรณาราม มีรถประจำทางสาย 40, 42, 57, 68, 79, 80, 108, 146 ผ่านบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ต้องเดินเท้าเข้ามาอีกประมาณ 500 เมตรก็จะถึงวัด และสามารถเดินต่อมายังตัวตลาดได้
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น