โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
เมื่อเอ่ยถึง “กระทรวงกลาโหม” หลายคนคงจะนึกภาพอาคารสีเหลืองทรงยุโรป ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานครและวัดพระแก้ว ซึ่งฉันก็มาเที่ยวละแวกนี้อยู่หลายครั้ง โดยสิ่งที่ฉันสนใจที่สุดนอกจากตัวอาคารที่โดดเด่นแล้ว ก็เห็นจะเป็นเหล่าปืนใหญ่โบราณน้อยใหญ่ที่ตั้งประดับเรียงรายอยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารกระทรวงกลาโหม ซึ่งฉันก็ได้แค่มองผ่านตา เพราะแม้ทางกระทรวงจะเปิดให้ชมเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแต่ก็กั้นบริเวณไว้ไม่สามารถเข้าไปชมได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังเกรงๆ พี่ทหารที่ยืนเฝ้าขึงขังอยู่แถวนั้นอีกต่างหาก
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสถาปนากระทรวงกลาโหมครบรอบ 127 ปี ทางกระทรวงจึงได้จัดพื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารทำการให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ” ที่เปิดให้เข้าชมอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญคือมีมัคคุเทศก์ซึ่งเป็นวิทยากรจากทางกระทรวงนำชมพร้อมให้ข้อมูล ทำให้ฉันได้ชมไฮไลต์ปืนใหญ่แต่ละกระบอกแบบไม่ต้องงง พร้อมกันนั้นยังได้เปิด “ลานน้ำพุดนตรี” ให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมด้วยอีกต่างหาก
ฉันจึงไม่รอช้ารีบหาวันว่างเพื่อที่จะมาเที่ยวชมเหล่าปืนใหญ่โบราณและลานน้ำพุดนตรี แต่ก่อนที่จะมานั้นก็ได้เตรียมหาข้อมูลไว้ล่วงหน้าและได้ทราบว่าทางกระทรวงกลาโหมได้จัดรอบเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณไว้ในวันจันทร์-ศุกร์ 2 รอบด้วยกัน รอบแรกเวลา 12.00 น. และรอบที่สองเวลา 19.00 น. ส่วนน้ำพุดนตรีก็จะเปิดให้ชมเป็นช่วงเวลาคือ 08.00 น., 12.00 น. และ 19.00 น. ซึ่งฉันก็ได้ตัดสินใจที่จะเข้าชมปืนใหญ่ต่างๆ ทั้งสองรอบ เพราะแต่ละช่วงเวลานั้นความสวยงามก็จะแตกต่างกันออกไป
เมื่อฉันเดินทางมาถึง ก็ขอยืนชื่นชม “อาคารศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม” กันสักหน่อย อาคารหลังนี้เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี 2427 โดยพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงทหารหน้าขึ้นในพื้นที่วังพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นจิตรภักดี กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ และกรมหมื่นอินทราพิพิธ ซึ่งเป็นวังเก่าสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ต่อมาวังได้ร้างลงและถูกใช้เป็นฉางเก็บข้าวหลวง ให้ก่อสร้างเป็น "โรงทหารหน้า" เป็นที่รวมทหารประจำการรักษาพระนคร อาวุธ สัตว์พาหนะและเสบียงอาหาร และในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงกลาโหม"
อาคารศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมถูกออกแบบอย่างสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปศิลปะแบบปัลลาเดียน ยุคนีโอคลาสสิก ทาสีเหลืองนวล ด้านหน้าเป็นหน้าจั่วทรงโรมัน ตกแต่งด้วยปูนปั้น ที่มุขชั้นสองมีระเบียงกว้าง และเสาแบบโรมัน ด้านหน้าของเสาระเบียงใหญ่ประดับด้วยสัญลักษณ์ของสามเหล่าทัพ คือ กงจักร สมอ และปีกอยู่บนพื้นรูปสี่เหลี่ยมสีทอง อีกทั้งได้รับเลือกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ที่มีคุณค่าทางทางสถาปัตยกรรม ในปี 2540
หลังจากได้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ในรอบเที่ยงแล้ว ก็เริ่มต้นการชมปืนใหญ่โบราณ แห่งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งกัน ซึ่งทางวิทยากรของทางกระทรวงได้เล่าให้ฟังว่า
"เหล่าปืนใหญ่โบราณที่ตั้งประดับไว้นั้น มีจำนวนทั้งสิน 40 กระบอก ถูกนำมาตั้งไว้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ในการจัดตั้งปืนใหญ่ไว้ที่บริเวณสนามหน้ากระทรวงกลาโหม ดังเช่นที่โรงเรียนนายร้อย แซนด์เฮิร์ทซ์ประเทศอังกฤษ ซึ่งปืนใหญ่แต่ละกระบอกนั้นถูกสร้างขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ บางกระบอกได้ผ่านสมรภูมิรบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเมื่อครั้งอดีตปืนใหญ่เหล่านี้ได้รับฉายาว่าเป็นราชาแห่งสนามรบ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการทำลายสูงยิงได้จากระยะไกล ใช้บุกโจมตีศัตรูหรือป้องกันพระนคร”
ฉันรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาเห็นปืนใหญ่ในระยะใกล้ขนาดนี้ ซึ่งปืนใหญ่ทั้ง 40 กระบอกนั้นต่างก็มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานผ่านสมรภูมิรบต่างๆ มาอย่างมากมาย อีกทั้งแต่ละกระบอกยังงดงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่กระบอกก็ล้วนแล้วแต่ถูกตั้งชื่อไว้อย่างไพเราะ อาทิ พิรุณแสนห่า มหาจักกรด พลิกพสุธาหงาย สายอสุนีแผ้วราตรี
ในบรรดาปืนใหญ่ทั้ง 40 กระบอก จะมีที่โดดเด่นห้ามพลาดชมก็คือ “ปืนใหญ่พญาตาณี” (ชื่อปืนสะกดตามป้ายที่เขียนระบุไว้ หน้ากระทรวงกลาโหม) ที่ตั้งแสดงในตำแหน่งประธานของกลุ่มปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม หลายๆ คนคงคุ้นชื่อปืนใหญ่กระบอกนี้ดี ปืนใหญ่กระบอกนี้เป็นปืนใหญ่โบราณที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาด 6 เมตร 82 เซนติเมตร โดยเป็นปืนใหญ่ที่เลื่องลือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองปัตตานีในยุคนั้น
ตำนานความเป็นมาของปืนใหญ่พญาตาณี ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าเมืองปัตตานีได้สั่งให้ชาวจีนชื่อลิ่มโต๊ะเคี่ยม นายช่างหล่อปืน ให้หล่อปืนใหญ่ตามความประสงค์ ซึ่งการหล่อในครั้งนั้นได้ปืนใหญ่ 3 กระบอก คือ เสรีปัตตานีหรือพญาตาณี ศรีนคราหรือเสรีนคร และมหาเลลา ต่อมาในปี 2329 เป็นเวลาที่ไทยรบกับพม่าในสงครามเก้าทัพ ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาสุรสิงหนาทวังหน้ายกทัพไปปราบปรามพม่าที่มาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ในขณะนั้น เมืองปัตตานีเอาใจออกห่าง เมื่อกองทัพหลวงมีชัยชนะกองทัพพม่าได้ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ จึงนำทัพเข้าปราบปรามเมืองปัตตานีและมีชัยชนะ จึงได้สั่งให้นำปืนใหญ่ของเมืองปัตตานีทั้ง 3 กระบอก นำมาถวายรัชกาลที่ 1 แต่นำมาได้เพียงกระบอกเดียวคือปืนใหญ่พญาตานี ส่วนอีกสองกระบอกจมน้ำหายสาบสูญ
กระบอกถัดมาที่เป็นไฮไลต์คือ "ปืนใหญ่นารายน์สังหาร" ปืนใหญ่กระบอกนี้เป็นปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยขนาดความยาว 4.5 เมตร ลำกล้องกว้างถึง 29.3 เซนติเมตร เป็นปืนใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นปืนคู่กับปืนพญาตาณี ในปี 2330 มีลักษณะเด่นที่บริเวณท้ายลำกล้องซึ่งเป็นรูปสังข์ขนาดใหญ่ไม่มีลวดลายประดับ
ในเรื่องความงดงามอันเป็นที่สุดในบรรดาปืนใหญ่ทั้ง 40 กระบอกต้องยกให้กับ “ปืนใหญ่มารประไลย” ที่ถูกสร้างขึ้นในในปี พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปืนใหญ่กระบอกนี้มีลวดลายสลักไว้อย่างงดงามเป็นลายกนก ลายประจำยาม เพลาเป็นรูปดอกไม้ และท้ายลำกล้องทำเป็นรูปสังข์ลวดลายกระจัง ฉันมองแล้วงดงามกว่ากระบอกไหนๆ สมคำร่ำลือ
ส่วนปืนใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาปืนใหญ่ทั้ง 40 กระบอก ก็คือ “ปืนใหญ่อัคนิรุท” ที่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยประเทศสเปน ซึ่งมีรูปธงชาติสเปนจารึกไว้ที่กระบอกปืนใหญ่ด้วย อีกทั้งยังมีจารึกปีที่สร้างไว้ที่กระบอกปืน ว่าถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1624 หรือปี พ.ศ.2167 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันปืนใหญ่กระบอกนี้มีอายุรวมแล้ว 390 ปี
เดินชมปืนใหญ่กันเพลินๆ แต่ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้ นั่นก็คือ “รูปปั้นพญาคชสีห์” สัญลักษณ์ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าออก โดยรูปปั้นพญาคชสีห์ด้านประตูทิศใต้จะมีชื่อว่า “พญาคชสีห์สยามปฐพีพิทักษ์” หมายความว่าพิทักษ์แผ่นดินไทย ส่วนรูปปั้นพญาคชสีห์ประตูทิศเหนือมีชื่อว่า “พญาคชสีห์ราชเสนีพิทักษ์” หมายความว่าเป็นทหารพิทักษ์พระราชา ซึ่งความหมายรวมคือเราจะพิทักษ์ประเทศชาติและราชบัลลังก์
ประวัติความเป็นมาของตราคชสีห์ ได้กล่าวไว้ว่า เป็นสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งเสนาบดีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในตำนานนั้น พญาคชสีห์นั้นเป็นสัตว์หิมพานต์ ที่มีลำตัวเป็นราชสีห์มีหัวเป็นช้าง จึงเรียกเป็นครึ่งช้างครึ่งราชสีห์ และมักปรากฏในวรรณคดีเรื่องเล่า เช่น เรื่องรามเกียรติ์
เสร็จสิ้นไปแล้วกับการเที่ยวชมในรอบแรกของฉัน การที่ได้มาชมปืนใหญ่อย่างใกล้ชิด ความสนใจทั้งหมดของฉันเลยมุ่งเน้นอยู่ที่ปืนใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งก็ได้แต่มองลานน้ำพุดนตรีอย่างผ่านๆ แต่ไม่เป็นไรเพราะฉันได้คิดไว้แล้วว่าจะมาชมลานน้ำพุดนตรีต่อในช่วงเย็น แต่ก่อนจะถึงรอบเข้าชมในช่วงเย็น ฉันก็คงจะไปเที่ยวที่อื่นๆ รอเวลา เพราะในระแวกใกล้เคียงนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน
ศาลหลักเมืองแห่งนี้ เป็นศาลที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ภายในอาคารศาลหลักเมือง ได้ประดิษฐานหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ โดยเสาต้นเดิมนั้น ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นแก่นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่เพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุด โดยเป็นแกนไม้สักประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ สถานที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่คับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย ที่เดินทางมาสักการะและผูกผ้าสามสีที่เพื่อขอความเป็นสิริมงคล
นอกจากนั้นก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง สนามหลวง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นต้น (คลิกติดตามที่เที่ยวละแวกใกล้เคียงพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณได้ที่ลิงค์นี้)
เมื่อถึงเวลาเข้าชมในช่วงเย็นฉันก็ไม่รอช้า รีบมาติดต่อโดยทันที การชมในเวลาเย็นนั้นทัศนียภาพจะแปลกตาไปจากช่วงกลางวัน โดยจะเห็นเหล่าแสงไฟที่ฉายต้องวัตถุให้โดดเด่น เหล่าปืนใหญ่ทั้งหลายต่างถูกฉายแสงให้ผู้ที่มาชมรอบเย็นได้ยลความยิ่งใหญ่ ฉันตั้งใจชมลานน้ำพุดนตรีด้วยความเพลิดเพลิน น้ำพุนั้นพวยพุ่งเป็นรูปร่างต่างๆ ตามจังหวะเสียงดนตรี บรรยากาศรอบตัวฉันในตอนที่ชมนั้นพูดได้ว่าโรแมนติกมากๆ
สำหรับฉันแล้วการได้มาชมปืนใหญ่ทั้งในช่วงกลางวันและช่วงเย็นนั้น มีความพิเศษที่แตกต่างกัน ในช่วงกลางวันอาจจะร้อน แต่ก็สามารถชมปืนใหญ่และรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างถนัดตา ส่วนในช่วงเย็นนั้นก็จะได้เห็นแสงสีที่มาเป็นตัวช่วยให้การชมในยามค่ำคืน และไม่ว่าใครจะเลือกช่วงเวลาไหน การที่ได้มาชมปืนใหญ่เหล่านี้อย่างใกล้ชิด ก็นับได้ว่าคุ้มค่ามากแล้ว เพราะฉะนั้นอย่ารอช้ารีบมาชมเหล่าราชาแห่งสนามรบทั้ง 40 กระบอกกันโดยเร็ว
********************************************************************************************************************
"พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ" กระทรวงกลาโหม เปิดให้เข้าชมฟรีในวันจันทร์-ศุกร์ โดยแบ่งรอบการเข้าชมเป็น 2 รอบ รอบแรกเวลา 12.00 น. ลงทะเบียนเข้าชม 11.30 น. รอบที่2 เวลา 19.00 น. ลงทะเบียนเข้าชม 18.30 น. ส่วนน้ำพุดนตรีสามารถชมได้ทุกวันในเวลา 08.00 น., 12.00 น. และ 19.00 น.
การเดินทาง : รถประจำทางสาย 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203