“ถนนพระอาทิตย์” หนึ่งในถนนหลายสายของกรุงเทพมหานครที่มีประวัติมาอย่างยาวนาน และเต็มไปด้วยที่เที่ยวที่น่าสนใจ “เที่ยวตามย่าน” ในสัปดาห์นี้เลยจะขอพาเที่ยวตลอดสองฝากฝั่งถนนสายนี้ ที่เปรียบเสมือนย่านเล็กๆ ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน แต่ก่อนจะเริ่มต้นเที่ยวกันนั้น ก็จะพาทำความรู้จักกับเรื่องราวของถนนเส้นนี้กันก่อน ถนนพระอาทิตย์ เป็นถนนที่มีระยะทางตั้งแต่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงบริเวณป้อมพระสุเมรุ
เริ่มต้นการท่องเที่ยวครั้งนี้ ด้วยการเริ่มเดินชมสองฟากฝั่งของ "ถนนพระอาทิตย์" โดยตลอดเส้นทางนั้นเราจะพบกับตึกแถวรูปทรงสมัยเก่า รวมไปถึงวังและบ้านอีกหลายหลังที่มีสถาปัตยกรรมการตกแต่งแบบสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้นจนถึงยุคกลาง มองแล้วสวยงามคลาสสิคเพลินตา อาทิ “บ้านพระอาทิตย์” ที่เมื่อครั้งอดีตเคยไปเป็นวังเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ , “บ้านมะลิวัลย์” บ้านที่มีประวัติความเป็นอย่างยาวนาน เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธา ผู้เป็นปู่ของเจ้าจอมมารดากลิ่น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ อีกทั้งในสวนตึกแถวที่เรียงร้ายตลอดเส้นทางก็ยังเป็นที่ร้านค้าและร้านอาหารมากมาย ให้ได้แวะซื้อแวะชมแวะชิม
(คลิกติดตามเรื่องกิน “ย่านพระอาทิตย์” ได้ที่ลิงค์นี้)
เมื่อเดินเรื่อยมาก็จะพบกับป้อมปราการสูงเด่นเห็นแต่ไกล ซึ่งปราการแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ของย่านพระอาทิตย์ โดยมีชื่อเรียกว่า “ป้อมพระสุเมรุ” 1 ใน 14 ป้อมปราการของกรุงเทพมหานคร ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เมื่อเวลาผ่านไปป้อมปราการได้หมดความจำเป็นจึงได้ถูกรื้อถอน ปัจจุบันจึงเหลือแต่ “ป้อมพระสุเมรุ” และ “ป้อมมหากาฬ” ให้ได้ชม ป้อมแห่งนี้มีลักษณ์ที่งดงามสูงเด่นเป็นสง่า มีเชิงเทินช่องยิงปืน และก็ยังมีปืนใหญ่ตั้งไว้ให้ได้ชม
บริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุแห่งนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ "สวนสันติชัยปราการ" สวนสาธารณะแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู ภายในบริเวณสวนนั้นร่มเย็นด้วยต้นไม้ ซึ่งบางเวลาก็จะสามารถเห็นกระรอกปีนป่ายไปมาระหว่างกิ่งไม้ได้อีกด้วย อีกทั้งพื้นที่ภายในสวนยังติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสามารถที่จะเห็นทัศนียภาพของคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามมาก และยังสามารถมองเห็นสวนหลวง ร.8 และสะพานพระราม 8 ได้อีกด้วย
และภายในสวนสันติชัยปราการ ยังเป็นที่ตั้งของ “พระที่นั่งสันติชัยปราการ” พระที่นั่งแห่งนี้สร้างขึ้น ในช่วงพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสร้างตอนที่ปรับปรุงภูมิทัศน์ของป้อมพระสุเมรุโดย พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นสถานทีประกอบงานพระราชพิธีทางชลมารถพระที่นั่งองค์นี้มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา
ถัดไปใกล้ๆ กันเป็นที่ตั้งของ “พิพิธบางลำพู “ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ต้นสายของถนนพระสุเมรุ แต่ใครๆ ก็จะเข้าใจว่าในส่วนนี้คือย่านพระอาทิตย์ พิพิธลำพูเป็นศูนย์การเรียนรู้น้องใหม่ที่น่าสนใจที่พึ่งเปิดให้บริการ เมื่อครั้งอดีตอาคารแห่งนี้ เป็นอาคารอาคารโรงพิมพ์คุรุสภา(โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช) ซึ่งเป็นโรงพิมพ์คุรุสภาและเป็นสถานที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งกรมธนารักษ์ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมและเป็นพิพิธบางลำพู
ภายในพิพิธบางลำพูถูกแบ่งออกเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการอยู่หลายห้อง ซึ่งจะจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อาทิ ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา มหาราชินี ,ห้องจัดแสดงประวัติความเป็นมาและวิถีชุมชนบางลำพู ,ห้องนิทรรศการป้อมและกำแพงเมืองแห่งพระนคร ซึ่งแต่ละห้องนั้นได้มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยสื่อข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และบริเวณด้านในหลังอาคารยังมีพื้นที่ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ ที่สามารถมานั่งพักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย
(คลิกติดตามเรื่อง “พิพิธบางลำพู” ได้ที่ลิงค์นี้)
หลังจากชมนิทรรศการกันเสร็จแล้ว ก็สามารถที่เข้ามายังถนนบางลำพู เพื่อไปเที่ยวชมและไหว้พระ กันได้ที่ “วัดสังเวชวิศยาราม” แต่ก่อนจะถึงวัดก็จะต้องข้าม “สะพานฮงอุทิศ” ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพและบรรยากาศของบ้านเรือนริมคลองบางลำพู เป็นอีกหนึ่งวิวทิวทัศน์สบายตา เดินตรงเข้ามาไม่ไกลมากก็จะพบกับวัดสังเวชฯ มุมสงบของย่านแห่งนี้
วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า “วัดสามจีนเหนือ” และต่อมาชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเรียกว่า “วัดบางลำพู” จนกระทั่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ด้านภาษา และมีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา จึงได้ทางพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อจากวัดบางลำพูโดยมีชื่อใหม่ว่า “วัดสังเวชวิศยาราม” โดยคำว่า “สังเวช” นั้น มาจากรากศัพท์ “สังเว” แปลว่า กระตุ้นเตือน , ปลุกเร้า , คึกคัก คือปลุกเร้ากระตุ้นเตือนให้นึกถึงความจริงของชีวิต
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อได้มาเยือนย่านพระอาทิตย์คือ การเดินชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณทางเดินริมแม่น้ำ โดยเป็นทางเดินที่ทอดยาวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ สวนสวนสันติชัยปราการไปจนถึงท่าเรือข้ามฟากสะพานพระปิ่นเกล้า ตลอดเส้นทางนั้นสามารถที่จะเห็นวิวทิวทัศน์ ได้อย่างกว้างไกล รวมไปถึงเรือนานาชนิดแล่นผ่านไปมา อีกทั้งยังสามารถเห็นสะพานพระปิ่นเกล้าและสะพานพระราม8 ขนาบซ้ายขวาอีกด้วย แต่ขอแนะนำให้มาเดินช่วงยามเย็น เพราะเป็นจังหวะที่แดดร่มลมตก สามารถเดินชิลล์ๆ ได้อย่างสบาย ย่านพระอาทิตย์จึงเป็นอีกหนึ่งย่านที่น่าสนใจและไม่ควรพลาด และยังสามารถไปเที่ยวย่านอื่นๆ ในละเเวกใกล้เคียงได้อย่างสะดวก
ย่านท่าพระจันทร์(คลิกติดตามเรื่อง “ย่านท่าพระจันทร์” ได้ที่ลิงค์นี้)
ย่านข้าวสาร (คลิกติดตามเรื่อง “ย่านข้าวสาร” ได้ที่ลิงค์นี้)
การเดินทางมายังย่านพระอาทิตย์ รถโดยสารประจำทางสาย : 15,30,64,524,53,6,43,6 และเส้นทางน้ำ ใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา ลงท่าพระอาทิตย์ และสามารถใช้บริการเรือข้ามฟากจากฝั่งธนบุรี มายังฝั่งพระนครได้อีกด้วย โดยท่าเรือข้ามฟากนั้น จะอยู่ที่บริเวณใกล้กับสะพานพระปิ่นเกล้า
พิพิธบางลำพู เปิดให้เข้าชมฟรีเป็นเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. 2557 เข้าชมได้ทุกวันไม่มีวันหยุด เปิดตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com