ย้อนสยาม ตามรอย "สี่แผ่นดิน"
กับ "หม่อมน้อย, อ.เผ่าทอง, ตุ้ย ธีรภัทร"
สถานีโทรทัศน์ PPTV HD ช่อง 36 จัดกิจกรรม "ย้อนสยาม ตามรอยสี่แผ่นดิน" ให้คอละครได้เรียนรู้ ซึมซับ ประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่ปรากฏในละคร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-8 โดยมี "หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล, อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ, ตุ้ย ธีรภัทร สัจจกุล, ม.ล. วิสุมิตรา ปราโมช, คุณสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม" ร่วมพูดคุย ณ โรงแรมพระยาพาลาซโซ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พวกเราลงเรือ ย้อนอดีต ย้อนสยาม ตามรอยสี่แผ่นดิน มาที่บ้านบางยี่ขัน เรือนหอของ พระยาชลภูมิพานิช กับ คุณหญิงส่วน (สกุลเดิม อุทกภาชน์) ข้าหลวงในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ รัชกาลที่ 5 สร้างด้วยสถาปัตยกรรม Palladio ปัจจุบันคือ โรงแรมพระยาพาลาซโซ
"เขมทัตต์ พลเดช" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บ.บางกอกมีเดีย แอนด์บรอดคาสติ้ง จำกัด
"เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำละครเรื่อง "สี่แผ่นดิน" กลับมาออกอากาศอีกครั้ง 12 ปีผ่านไป บทประพันธ์ทรงคุณค่า เรื่องราว 64-65 ปีที่แล้ว การกำกับที่ละเมียดละไมในทุกเรื่อง ต้องขอบคุณ คุณณภัทร ภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ที่มองเห็น PPTV ทำอย่างไรที่จะทรงคุณค่าประวัติศาสตร์ไทยเอาไว้ ซึ่งความเป็นอมตะของละครเรื่องนี้มีเยอะมาก
เป็น 1 ในบทประพันธ์100เรื่องที่คนไทยต้องอ่าน เรื่องราวเชื่อมโยงแต่ละยุคสมัยบอกถึงวัฒนธรรม แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไรเราก็ต้องรองรับและอยู่ให้ได้ กรุงรัตนโกสินทร์ 234 ปีแล้วและยังคงอยู่อีกนาน นอกจากนี้ยังมีบทประพันธ์เรื่อง อยู่กับก๋ง, ตามรอยพ่อ, รักบ้านเรา จะเห็นชีวิตคนจีนที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมัยรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมจีนมีการสอดแทรกคุณธรรม, ความดี, การต่อสู้ และใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9
ความยากลำบากคือ ละครเหล่านี้ถ่ายทำด้วยระบบอนาล็อค เบต้าเดิม ต้องแปลงไฟล์ที่ใช้เวลานานมาก 1 Episode เท่ากับ 1 ชั่วโมงที่ออกอากาศ เพราะฉะนั้นการเรนเดอร์ก็ทำได้ไม่เร็ว ทุกสิ่งทุกอย่าง PPTV HD ได้รับความเอื้อเฟื้อจากทุกท่าน ทำให้บทประพันธ์เหล่านี้ได้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ทำให้คนไทยได้มาเห็นสิ่งดีๆ ในสมัยนี้
กว่าจะมาเป็นละคร สี่แผ่นดิน ใช้เวลานานแค่ไหนคะ
หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
"ถ้านับตั้งแต่เตรียมงานถึงถ่ายทำก็ 2 ปี 12 เดือนของการเตรียมงาน 12 เดือนของการถ่ายทำ มี 2 ประเด็นที่สำคัญมาก ประเด็นแรกเป็นวรรณกรรมของชาติ เรียกได้ว่าดีที่สุดของชาติ การเอามาทำต้องพิถีพิถันมาก พยายามรักษาคุณค่าไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ข้อที่สอง เราทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เฉลิมฉลอง 72 พรรษา ตอนนี้ผ่านไป 12 ปี พระองค์ท่าน 84 พรรษา เป็นนิมิตหมายที่ดี เฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ยังเป็นอีกรอบหนึ่งในการเฉลิมฉลองพรรษาของพระองค์ท่าน
ในแง่ส่วนตัวแล้ว ผมอ่านบทประพันธ์นี้หลายครั้งมากตั้งแต่เด็ก ได้ชมละครโทรทัศน์ทุกครั้ง ละครเวทีทุกครั้งที่ได้ทำ ตอนมีคนขอให้ทำเรื่องนี้ก็คิดหนักอยู่เหมือนกัน ต้องมาศึกษาทุกๆ อย่าง เริ่มตั้งแต่อ่านใหม่อีกครั้ง จากที่เคยอ่าน 50 ครั้งตั้งแต่เด็ก ก็เอามาอ่านอีกครั้ง โชคดีที่คุณณภัทร ผู้อำนวยการสร้าง รวมถึงทีมงานทุกคนอยากจะทำ เพื่อถวายองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ด้วยพระบรมบารมีของท่าน ทำให้ทุกคนมาด้วยใจ นักแสดง ทีมงานทุกคนไม่เคยเรียกค่าตัวเลย เท่าไรก็ได้ ทำด้วยจิตศรัทธาจริงๆ
ตัวผม นอกจากว่าจะถวายพระองค์ท่านแล้ว ก็เคารพบทประพันธ์นี้เท่าชีวิต กับคุณชายคึกฤทธิ์ ถือว่าเป็นบรมครูของชาติ จะเอางานของท่านมาทำชุ่ยๆ ไม่ได้ ที่สำคัญ ตอนนั้นเราไม่ได้ทำเพื่อการค้า สี่แผ่นดินครั้งนี้จึงไม่ใช่ชีวิตของแม่พลอยคุณเปรมอย่างที่เขาทำมา ไม่ได้ทำเพื่อบันเทิง แต่ทำเพื่อรักษาอรรถรสของหนังสือเอาไว้ อย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในการทำจึงทำในเชิง Documentary Drama ไม่ใช่ Drama ละครชีวิต แต่เป็นละครชีวิตกึ่งสารคดี
เราจะต้องรักษาคุณค่าทางวรรณกรรม อันที่หนึ่ง การใช้ภาษา ซึ่งยากมาก ทุกไดอะล็อกเป็นภาษาที่คุณชายคึกฤทธิ์ท่านเขียน ผมมีหน้าที่ถ่ายทอดภาพของท่านออกมา จากตัวหนังสือมาเป็นภาพ แก่นแท้ของท่านพยายามพูดอะไรเราต้องรักษาเอาไว้ รวมถึงชีวิต ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ของประเทศ
สี่แผ่นดิน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-8 ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองอย่างสูงมาก จนมีผลต่อรัชกาลที่ 9 ที่เรามีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ พูดได้ว่าเป็นวรรณกรรมที่พูดถึงประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยที่กำลังมีชีวิตอยู่ ณ ร่มโพธิสมภารในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 เราเป็นมายังไง เราเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ เป็นเพราะ สี่แผ่นดิน เป็นผลที่พระมหากษัตริย์ของเราท่านมีพระอัจฉริยภาพในการปกครอง ในการวางหลักการทางการเมือง การปกครองประเทศ ทำไมเราต้องแต่งตัวครึ่งไทยครึ่งฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะต้องการให้เห็นว่า บ้านเราไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน พยายามรักษาประเทศเอาไว้ให้เรามีเอกราชในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่การทำกันเล่นๆ
เมื่อกลัวว่าจะผิด เกรงว่าจะไม่ดีเท่าวรรณกรรม จึงต้องเชิญที่ปรึกษามากมาย อ.เผ่าทอง ที่ปรึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เรื่องผ้า อ.เผ่าทองเอาภาพถ่ายมาให้ดูเลยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5-6-7-8 ภาพที่ออกมาจึงเหมือนภาพถ่ายสมัยโบราณที่เคลื่อนที่ได้ แสงเป็นอย่างไร ลักษณะของคนในยุคนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องใช้จินตนาการ เพราะภาพยุคนั้นไม่มีสี เป็นขาวดำหมด โชคดีเหลือเกินที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านอธิบายสีไว้ในนั้น ทำให้เรายึดสีจากที่ท่านอธิบายได้
เสื้อผ้านี่ปรึกษา อ.เผ่าทอง ว่าการแต่งกายที่ถูกในยุคนั้นเป็นอย่างไร นอกเหนือจากคำอธิบายในหนังสือ ฉากแต่ละฉากจะต้องทำอย่างไร โชคดีที่ตอนนั้นได้พระบรมราชานุญาตได้เข้าไปชมพระราชฐานชั้นใน จะได้จำลองออกมาให้เหมือนจริงที่สุดเท่าที่จะเหมือนจริงได้ ตรงไหนที่สามารถถ่ายที่จริงได้ก็ถ่าย ตรงไหนไม่ได้ก็สร้างฉาก เช่น ประตู กำแพงพระบรมมหาราชวัง เช่น ประตูช่องกุด ประตูศรีสุดาวงษ์ นอกนั้นเราสร้างฉากเอง
ฝ่ายศิลป์ก็ต้องศึกษาว่าเครื่องประกอบฉากสมัยนั้นเป็นอย่างไร พระราชฐานชั้นในเป็นอย่างไร การแต่งกายของข้าราชบริพารฝ่ายใน (ฝ่ายผู้หญิงในพระบรมมหาราชวัง) แต่งอย่างไร ในหนังสือเขียนไว้ว่า ใน 7 วัน แต่งสีตามวัน ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ฝ่ายวัสดุต้องย้อมทั้งหมด เสื้อผ้าทุกตัวในเรื่องนี้แม้กระทั่งเอ็กซตร้าไม่มีการหยิบยืมหรือเช่า ทุกอย่างสร้างใหม่หมดจากแบบ แล้วฝ่ายคอสตูมเขาก็ศึกษาแบบ อย่างเสื้อแขนหมูแฮม เขาไปถึงอังกฤษเพื่อหาซื้อแบบสมัยวิคทอเรียนจริงๆ มาก็อปปี้เพี่อไม่ให้ผิดเพี้ยน การศึกษาเสื้อผ้าไม่ได้มองเฉพาะคนไทย มองว่ายุคนั้นแฟชั่นของยุโรปเป็นเช่นไร ทุกอย่างละเอียดมาก เจาะลึก
นักแสดงทุกคนที่เป็นฝ่ายใน ต้องไปเรียนที่วิทยาลัยในวัง ในพระบรมมหาราชวังทั้งหมด ไปเรียนกันจริงๆ ทั้ง อุ้ม, คุณน้ำผึ้ง,แดงธัญญาก็ต้องไป ไปเรียนวิธีการทำอาหาร การร้อยมาลัยแบบชาววัง ไปเรียนกันเป็นเดือนๆ เราเตรียมงานกันเป็นปีก่อนถ่ายทำจริงๆ ไม่นับการซ้อมให้เข้าถึงบทบาทที่เล่น ไม่มีนักแสดงคนไหนไม่มาซ้อม เพราะตกลงกันว่า ถ้าไม่ซ้อมก็ไม่ต้องเล่น มีกฎกติกา
เป็นครั้งแรกที่ สี่แผ่นดิน มีการถ่ายทำที่ต่างประเทศ เราถ่ายทำที่ประเทศอังกฤษ และ ฝรั่งเศสด้วย เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ไม่มีใครทำ ที่อังกฤษ เราถ่ายทำกันในลอนดอน, ออกซ์ฟอร์ด สิ่งที่อั้นไปเรียนอยู่ ถ่ายที่เซาท์แธมป์ตันด้วย ที่ฝรั่งเศส ถ่ายมหาวิทยาลัยปารีสจริงๆ ถ่ายที่จริงทั้งหมด เราโชคดีตอนนั้น คงเป็นเพราะพระบารมีองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่กระทรวงต่างประเทศให้ความร่วมมือมาก ท่านเอกอัครราชทูตทั้งสองประเทศช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ แม้แต่ชาวต่างประเทศเองที่ร้านอาหารคาเฟเดลาเปที่นักการเงินทั้งหลายมาพูดคุยกันแล้วมีฉากสำคัญที่อั้นเข้าไปตรงนั้น เราก็ไปติดต่อ ถ่ายที่นั่น ค่าเช่าคงแพงมาก แต่ทางเจ้าของเขาก็ให้ถ่าย เหตุผลคือเขารู้ว่าเราทำเพื่อ Queen Of Thailand
ที่อังกฤษเอง โรงเรียนที่เซาท์แธมปตั้น ที่อ๊อดวัยเด็กต้องไปเรียน มีฉากหนึ่ง ที่เด็กเล็กในโบสถ์ร้องเพลงประสานเสียง ผมปลื้มใจครูมาก ขณะที่ซ้อม ครูแก่แล้วผู้ชาย This Queen of Thailamd ผมขนลุกเลย แล้วเด็กทุกคนร้อง เพราะทุกคนรู้ว่าเราทำเพื่อองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ อุปสรรคต่างๆ ไม่ว่าการเตรียมงาน หรือการถ่ายทำ ก็เหนื่อยกันมาก ต้องทำความเป็นพีเรียดให้สมบูรณ์ที่สุด ตอนนั้น 4G ก็ยังไม่มี ถ้าทำสมัยนี้ก็จะง่ายขึ้น Computer Graphic ก็ยังไม่มีใช้ ต้องทำเหมือนจริงที่สุด คนที่ทำส่วนใหญ่ ก็ไม่รับงานไหนเลย ทำเรื่องนี้เรื่องเดียว ทำด้วยจิตศรัทธา เคารพอย่างสูงสุด เพราะฉะนั้นเลยผ่านไปได้เหมือนฝันไป 12 ปีผ่านมาเหมือนฝันไป อยู่จนกระทั่ง ทุกขั้นตอน ตัดต่อเอง เทคนิคเอง อะไรเองหมด
ก็ปลื้มใจมากนะครับ ที่ทาง PPTV นำมาฉายอีก แนะนำว่านอกจากเฉลิมรัตนโกสินทร์แล้ว น่าจะเฉลิมองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ ด้วย สิงหานี้ด้วยจะดีมากเพราะครบ 12 ปี 1 รอบ เป็นนิมิตหมายที่ดี ส่วนเรื่องการเตรียมงานอย่างละเอียดแต่ละยุคแต่ละสมัยคงไม่มีใครรู้ดีเท่า อ.เผ่าทอง ที่ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายศิลป์อย่างเดียว ในเรื่องบทด้วย ราชประเพณีด้วย"
(อ่านต่อได้ใน "ย้่อนสยาม ตามรอย สี่แผ่นดิน" 2)
ติดตามละครเรื่อง "สี่แผ่นดิน" ได้ทุกวันพุธ-พฤหัส เวลา 19.30-21.00 น ทาง PPTV HD ช่อง 36