วัด เป็นปูชนียสถานสำคัญทางศาสนา และ เป็นสถานที่มีความมั่นคงถาวร วัดส่วนใหญ่จึงอยู่กันมาเป็นร้อยๆปี วัดที่สร้างมาก่อนกรุงศรีอยุธยา แม้กรุงศรีอยุธยาจะล่มสลายไปแล้ว แต่วัดก็ยังอยู่ และรุ่งเรืองมาจนบัดนี้ อย่าง วัดพนัญเชิง
แต่อะไรๆก็ต้องมีข้อยกเว้นกันได้ ตามสถานการณ์และความเหมาะสม วัดบางวัดได้กลายเป็นย่านทำเลทองทางธุรกิจ อยู่ไปก็ร้อนใจ เลยขายที่วัดให้ฝรั่ง แล้วย้ายวัดไปอยู่ที่ใหม่ซึ่งปรอดโปร่งโล่งใจกว่า อีกวัดหนึ่งก็ถูกบริษัทฝรั่งรุกเข้ามา เลยต้องยุบวัดให้ฝรั่งเช่าที่ไปทั้งหมด บอกบุญว่าวัดไหนอยากได้พระพุทธรูปก็ไปขนเอา จนเกิดเรื่องดังระดับโลก บางวัดถูกถนนผ่ากลาง ต้องยกซีกหนึ่งให้วัง อีกซีกไปรวมกับวัดข้างๆ ยุบวัดไป
หลายคนคงได้ยินชื่อ “สารพัดช่าง” ซึ่งตอนนี้มีวิทยาลัยชื่อนี้อยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ ความจริงชื่อนี้มาจากชื่อวัด สมัยก่อนที่จะมีวิทยาลัย ก็เคยเห็นโรงเรียนเล็กๆสอนวิชาช่างตั้งอยู่ตรงที่เคยเป็นที่ตั้งวัดนี้ หลังจากวัดถูกยุบไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้มาจากการตัดถนนท่าเกษม คือถนนที่ต่อจากถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ตรงบรรจบกับถนนสามเสน ต่อไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่ากลางวัดสารพัดช่างเข้าไป ทำให้โบสถ์ ศาลาการเปรียญ และเจดีย์ กับสังฆาวาสที่ตั้งของกุฏิสงฆ์ อยู่คนละฝั่งถนน กลายเป็นวัดอกแตก ไม่สะดวกกับพระทำกิจวัตร คณะสงฆ์เลยพิจารณายกที่ด้านโบสถ์ เนื้อที่ ๗๙๙ ตารางวา ให้วังบางขุนพรหมที่โอบล้อมส่วนนี้ไป ส่วนทางวังจะประทานเงินตอบแทนมาเท่าไร ก็ให้เป็นทุนทรัพย์ของวัดสามพระยาที่อยู่ติดกัน แล้วย้าย “หลวงพ่อสารพัดช่าง” พระประธานในโบสถ์ ไปเป็นรองประธานในโบสถ์วัดเอี่ยมวรนุช ด้านกุฏิไปเป็น “คณะสารพัดช่าง” อยู่ในวัดสามพระยา เช่นเดียวกับ “คณะรังษี”ในวัดบวรฯ ก็เป็นอนุสรณ์ของวัดรังษีสุทธาวาส ที่ถูกยุบรวมกับวัดบวรนิเวศในรัชกาลที่ ๖ เหมือนกัน
ส่วนวัดที่ต้องยุบแล้วให้ฝรั่งเช่าที่วัดไปทั้งหมด ก็คือ วัดโชตินาราม หรือ วัดพระยาไกร ที่ถนนตก ซึ่งสร้างมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ พอสมัยรัชกาลที่ ๕ ย่านบางคอแหลมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทำเลที่บริษัทฝรั่งเข้ามาทำท่าเรือกันมาก วัดพระยาไกรเลยถูกบุกรุกแคบลงทุกทีจนกลายเป็นวัดร้าง บริษัท อิสเอเชียติก จำกัด ได้ขอเช่าจากพระคลังเจ้าที่ และรื้อถอนเสนาสนะสงฆ์จนหมด ส่วนพระพุทธรูปขนาดย่อมมีวัดต่างๆอัญเชิญไป เหลือแต่พระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่ากัน ๒ องค์ ยากต่อการขนย้าย ในปี ๒๔๗๘ ทางคณะสงฆ์จึงมีบัญชาให้วัดไตรมิตรวิทยารามกับวัดไผ่เงิน อัญเชิญไปรักษาไว้ ทางวัดไผ่เงินไปก่อน จึงเลือกพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ไป
วัดไผ่เงิน เดิมชื่อ วัดเงิน สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ต่อมาในปี ๒๔๘๒ ทางราชการได้เวนคืนที่ดินวัดเพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ วัดเงินเลยต้องรื้อส่วนที่รื้อย้ายได้ไปรวมกับวัดไผ่ล้อม ที่ถนนจันทน์ เขตบางคอแหลม แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดไผ่เงิน พอได้หลวงพ่อสัมฤทธิ์มาจากวัดพระยาไกรหรือวัดโชตินาราม เลยเติมชื่อวัดเป็น วัดไผ่เงินโชตินาราม อนุสรณ์ ๓ วัดรวมกัน
ส่วนวัดไตรมิตร รับภาระอัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นที่ไม่มีใครต้องการ มาเก็บไว้ในเพิงสังกะสี บอกบุญว่าวัดไหนอยากได้ก็มาขนเอาไป แต่ไม่มีใครเอา เพราะนอกจากขนย้ายลำบากแล้วยังเทอะทะไม่สวย จนในปี ๒๔๙๘ มีการเตรียมงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในปี ๒๕๐๐ วัดไตรมิตรสงสารพระพุทธรูปที่ไม่มีใครเหลียวแล จึงสร้างวิหารให้เป็นที่ประดิษฐาน แต่ขณะขนย้ายเข้าวิหารในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๙๘ เชือกที่สอดใต้องค์พระขึ้นเกี่ยวกับกว้านยก ทานน้ำหนักไม่ได้เกิดขาด ทำให้องค์พระหล่นลงกระแทกพื้นคอนกรีต ปูนที่พอกกะเทาะออก เห็นเนื้อในเป็นทองคำสุกปลั่ง จึงจัดการกะเทาะออกทั้งองค์ พบว่าไม่มีรอยบุบสลาย
นั่นก็คือที่มาของพระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร ซึ่งมีนามเป็นทางการว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” และ กินเนสบุ๊คได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำใหญ่ที่สุดในโลก ตีราคาไว้ ๒๘.๕ ล้านปอนด์ ปัจจุบันคงต้องเปลี่ยนตัวเลขนี้ตามราคาทองคำอีกมาก
ส่วนอีกวัดหนึ่ง ถูกฝรั่งเข้ามาอยู่ล้อมวัดแล้วยังร้องทุกข์กล่าวโทษ จนต้องย้ายวัดหนี ก็คือ วัดแก้วแจ่มฟ้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงปากคลองผดุงกรุงเกษม เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยไหนไม่มีหลักฐาน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีฝรั่งเข้ามาอยู่อาศัยในย่านนี้มากจนล้อมวัด แล้วยังไปร้องทุกข์ต่อกระทรวงนครบาลว่า ทนเหม็นกลิ่นเผาศพไม่ไหว ส่วนเจ้าอาวาสก็ปรับทุกข์เหมือนกันว่า การเผาศพเป็นผลประโยชน์อย่างเดียวที่เลี้ยงวัด เพราะรอบวัดมีแต่คนต่างศาสนาไม่มาทำบุญ
ที่ดินของวัดแก้วแจ่มฟ้าเป็นของพระคลังข้างที่ เหมือนวัดพระยาไกรที่เพิ่งให้ฝรั่งเช่าไป การแก้ปัญหานี้เลยลงตัวที่ว่า ถ้าให้พระคลังข้างที่ลงทุนสร้างวัดแก้วแจ่มฟ้าในที่ใหม่ เอาที่เก่าทำประโยชน์ทางการค้า ก็จะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
ในที่สุดวัดแก้วแจ่มฟ้าเลยต้องย้ายไปสร้างใหม่ในปี ๒๔๕๐ ที่ถนนสี่พระยาซึ่งเพิ่งตัดใหม่ ส่วนที่เดิมของวัดกลายเป็นธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันคือโรงแรมรอยัลออร์คิดเชราตัน
มีอีกวัดหนึ่งที่ถูกรุกล้อมเหมือนกัน แต่จากทางราชการเอง พระจำพรรษาอยู่ก็แค่เฝ้าวัด ไม่มีใครมาทำบุญหรือฟังเทศน์ เลยต้องย้ายไปอยู่วัดอื่น ทิ้งแต่โบสถ์ไว้ ชื่อของวัดนี้คงไม่คุ้นหูกัน คือ “วัดวงศมูลวิหาร” อยู่ในกรมอู่ทหารเรือ ฝั่งธนบุรี นี่เอง
สถานที่สร้างวัดนี้ เดิมเป็นพระนิเวศน์ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ติดกับอู่กำปั่นหลวง เมื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จมาประทับพระบรมมหาราชวังที่สร้างใหม่ พระนิเวศน์เดิมจึงเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ต่อมาหลายพระองค์ องค์หนึ่งได้สร้างวัดขึ้นที่ด้านหลังพระตำหนัก เสร็จในปี ๒๔๑๘ รัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามว่า “วัดวงศมูลวิหาร” พระราชทานพระกฐินเป็นประจำทุกปี
ต่อมาในพ.ศ.๒๔๒๓ รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระราชนิเวศน์แห่งนี้เป็นที่ว่าการของกรมทหารเรือ แต่ก็ยังพระราชทานพระกฐินไปทอดที่วัดวงศมูลวิหารเป็นประจำ จนในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมัยรัชกาที่ ๖ ก็ไม่ปรากฏชื่อวัดวงศมูลวิหารอยู่ในบัญชีกฐินหลวงอีก ทั้งนี้ก็เพราะ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ขอพระบรมราชานุญาตยุบเลิกวัดวงศมูลวิหาร ด้วยทรงเห็นว่าถูกกองทัพเรือโอบล้อมอยู่ ๓ ด้าน ไม่เป็นที่ทำบุญฟังเทศน์บวชเรียนของมหาชนอย่างแต่ก่อน มีพระจำพรรษาอยู่ ๗-๘ รูป แต่ก็เป็นแค่อยู่เฝ้าวัด ไม่ได้ทำกิจให้เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา และถ้าไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากกระทรวงทหารเรือแล้ว น่าจะอยู่ไม่ได้ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถอนพระสงฆ์จากวัดวงศมูลวิหารไปอยู่วัดอื่น มอบวัดให้กระทรวงการทหารเรือ แต่ให้คงเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนาตามเดิม เสนาสนะอันจะรื้อไปปลูกที่วัดอื่นได้ก็จะรื้อไป ที่รื้อไม่ได้กระทรวงทหารเรือจะอาศัยใช้สอยทำพิธีทางศาสนาก็ได้ตามที่เคยเป็นมา แต่จะใช้ในทางเสียความเคารพไม่ได้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงมีพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นไปตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ กองทัพเรือได้ขอที่ดินของวัดวงศมูลวิหารจากกรมการศาสนา เพื่อขยายกรมอู่ซึ่งมีภาระมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างอู่ซ่อมเรือรบขึ้นอีกแห่ง ชิดหน้าโบสถ์วัดวงศมูลวิหารไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา โบสถ์ของวัดวงศมูลวิหารซึ่งเหลืออยู่โดดเดี่ยว แรกๆใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญของข้าราชการในกรมอู่ ปัจจุบันเปิดให้ข้าราชการตลอดจนชาวบ้าน ใส่บาตรทุกเช้าในวันราชการ เวลา ๐๗.๐๐ น.โดยนิมนต์พระสงฆ์ ๒ รูปมาจากวัดละครทำมารับบาตร
พระอุโบสถของวัดวงศมูลวิหาร ซึ่งมีอายุร่วม ๑๕๐ ปีแล้ว ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ