xs
xsm
sm
md
lg

เรือพยุหยาตราชลมารค ล้วนเป็นเรือรบมาก่อน! ถึงรบก็สลักลวดลายสวยงาม สร้างมาแต่สมัย ร.๑ ก็มี!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยที่ยิ่งใหญ่โอฬาร ก็จะปรากฏแก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย

ความงดงามตระการตาซึ่งไม่มีที่ใดในโลกนี้ ไม่เพียงสร้างความตื่นตะลึงในวันนี้ ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นที่ประทับใจของชาวต่างประเทศที่เข้ามาพบเห็น

นิโกลาส์ แชร์เวส นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ได้บันทึกถึงกระบวนเรือที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงจัดมารับราชทูตฝรั่งเศสว่า

“...ไม่สามารถเปรียบเทียบความงามใดๆกับกระบวนเรือที่มโหฬาร มีเรือกว่าสองร้อยลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเป็นคู่ๆ เรือพระที่นั่งใช้ฝีพายพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกมาจนชำนาญ ทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขนมีทองคำประกอบ เวลาพายจะพายพร้อมกันเป็นจังหวะ พายนั้นก็เป็นทองเช่นกัน เสียงพายกระทบน้ำเป็นเสียงประสานไปกับทำนองยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดิน...”

ส่วนบาทหลวง กีรฺ ตาชาร์ด บันทึกไว้เมื่อปี ๒๒๒๘ ถึงการที่สมเด็จพระนารายณ์จัดกระบวนเรือมารับเครื่องราชบรรณาการจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๒๔ว่า

“...มีเรือบังลังก์ขนาดใหญ่มาสี่ลำ แต่ละลำมีฝีพายแปดสิบคน ซึ่งเราไม่เคยเห็นอะไรเช่นนี้มาก่อน...ลำแรกหัวเรือเหมือนม้าน้ำ ปิดทองทั้งลำ เห็นมาแต่ไกลในลำน้ำเหมือนมีชีวิตชีวา...”

จากคู่มือเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ซึ่งจัดทำโดยกองวารสาร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเรือพระราชพิธีเหล่านี้ว่า

แรกเริ่มเดิมที “เรือพระราชพิธี” ในเมืองไทยนั้น ไม่ได้มีการจัดสร้างขึ้นโดยตรง จะมีก็แต่เรือรบโบราณซึ่งใช้ในน้ำและออกทะเลได้ ต่อมาการรบทัพจับศึกในแม่น้ำหมดความสำคัญลง เรือรบเหล่านี้ จึงกลายมาเป็นเรือใช้ในพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มาจนถึงทุกวันนี้

ในประวัติศาสตร์การรบของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ซึ่งแวดล้อมด้วยแม่น้ำลำคลอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เรือรบในแม่น้ำเป็นสำคัญ และในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงมียุทธวิธีที่จะรักษาพระนครโดยกำลังจากกองทัพเรือ จึงทรงประดิษฐ์เรือไชยและเรือรูปสัตว์ขึ้น ต่อมายังประดิษฐ์เรือกราบขึ้นอีกชนิดหนึ่ง เรือรบโบราณเหล่านี้ได้แบ่งประเภทเป็น ๔ ชนิด คือ

เรือแซ เป็นเรือโบราณที่ใช้ในแม่น้ำ เหตุที่ชื่อ “แซ” สำนักงานราชบัณฑิตสภาได้ให้คำอธิบายไว้ว่า สันนิษฐานมาจากคำว่า “เซ” ซึ่งพจนานุกรมภาษาลาวให้ความหมายว่า แม่น้ำสายเล็ก เช่น เซมูน คือแม่น้ำมูน ปากเซ คือเมืองที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำเซโดน เรือชนิดนี้ใช้ในการลำเลียงพล ศาสตราวุธ ยุทโธปกรณ์ เสบียงกรัง ใช้ตีกรรเชียงลำละประมาณ ๒๐ กรรเชียง เป็นเรือที่แล่นค่อนข้างช้า

เรือไชย เป็นเรือที่ใช้ในการลำเลียงพลเช่นกัน แต่แล่นเร็วกว่าเรือแซ

เรือรูปสัตว์ เรือชนิดนี้หัวเรือจะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ มี ครุฑ พญานาค เป็นต้น ใต้รูปสัตว์จะมีช่องวางปืนใหญ่ ใช้เป็นเรือปืนด้วย

เรือกราบ มีลักษณะคล้ายเรือไชย แต่แล่นเร็วกว่า
เรือรบโบราณของไทยเราที่ตกทอดมาเป็นเรือพระราชพิธีนี้ แม้จะสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้ในการสงคราม แต่ก็เป็นเรือที่แกะสลักลวดลายปิดทองวิจิตรสวยงาม โดยเฉพาะหัวเรือและท้ายเรือจะเป็นส่วนที่สวยงามมาก บ้างก็เป็นรูปสัตว์ ยักษ์ ลิง และสัตว์ในวรรณคดี ส่วนลำเรือนั้นขุดจากซุงทั้งต้น ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้ตะเคียน เรือบางลำจะทำจากต้นไม้ที่ใหญ่มาก เช่นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือทุกลำต้องใช้ฝีพายจำนวนมากในการที่จะให้เรือเคลื่อนไปอย่างคล่องแคล่วราวมีชีวิต อย่างไรก็ดี เรือพระราชพิธีเป็นชื่อที่เรียกรวมถึงเรือชนิดต่างๆซึ่งใช้ประกอบในกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยที่เรือเหล่านี้ล้วนแบ่งลักษณะออกไปดังนี้ คือ

เรือพระที่นั่ง เป็นเรือสำคัญที่สุดในกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นเรือที่พระมหากษัตริย์ประทับ หากจะเทียบกับเรือรบโบราณแล้ว เรือชนิดนี้ก็คือเรือไชยนั่นเอง เรือพระที่นั่งทุกลำจะประดับประดาและสลักลวดลายวิจิตรยิ่ง มีข้อที่แตกต่างจากเรือลำอื่น คือเรือพระที่นั่งจะไม่มีการกระทุ้งเส้าให้จังหวะฝีพาย เปลี่ยนมาใช้กรับแทน นอกจากนี้เรือพระที่นั่งยังมีชื่อเรียกต่างกันไป คือ

เรือต้น เป็นเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งภายหลังหมายถึงเรือลำที่เสด็จพระราชดำเนินลำลอง เป็นการประภาสต้น

เรือพระที่นั่งทรงและเรือพระที่นั่งรอง เป็นเรือลำที่พระมหากษัตริย์ประทับ ขณะเดียวกันก็มีเรือพระที่นั่งสำรองไว้อีก ในกรณีที่เรือพระที่นั่งชำรุด

เรือพลับพลา เป็นเรือที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์เปลี่ยนเครื่องทรง

เรือพระที่นั่งกิ่ง เป็นเรือชั้นสูงสุดของเรือพระที่นั่ง ซึ่งจะสวยงามเป็นพิเศษ มีความเป็นมาว่า กษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่งได้ชัยชนะกลับจากสงคราม มีผู้หักกิ่งไม้มาปักที่หัวเรือ นับแต่นั้นมาก็มีการเขียนลายกิ่งไม้ประดับที่หัวเรือ และโปรดให้เรียกว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง”

เรือพระที่นั่งเอกไชย เป็นเรือพระที่นั่งเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง มีการแกะสลักลวดลายสวยงามเช่นกัน มักโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ประทับไปในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็แทบจะไม่ได้แบ่งแยกชั้นเรือพระที่นั่งกิ่งกับเรือพระที่นั่งเอกไชย

เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เป็นเรือที่มักดาดกัญญาด้วยสักหลาดทุกลำ ต่อมาเรียกเพียงสั้นๆว่า “เรือพระที่นั่งศรี” เรือชนิดนี้มักมีลวดลายสวยงามตลอดข้างลำเรือ ใช้สำหรับการเสด็จลำลอง ไม่ได้นำเข้ากระบวนพระราชพิธี แต่ต่อมาได้นำเข้ากระบวนพยุหยาตราด้วย
เรือพระที่นั่งกราบ เป็นเรือพระที่นั่งลำเล็ก ใช้สำหรับเปลี่ยนถ่ายเรือเมื่อเข้าคูคลองเล็ก

เรือพระประเทียบ เป็นเรือที่นั่งสำหรับเจ้านายฝ่ายใน
เรือพระที่นั่งทุกลำจะต้องทอดบัลลังก์บุษบก ทอดบัลลังก์กัญญา หรือพระที่นั่งกง ตรงกลางลำเรือซึ่งเป็นที่ประทับ ส่วนบัลลังก์กัญญามีหลังคาเป็นประทุนรูปคุ่ม มีม่านทอด และที่สำหรับนั่งราบหรือที่นั่งห้อยเท้าอย่างเก้าอี้ก็ได้

เรือเหล่าแสนยากร เป็นเรือที่ประกอบอยู่ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค นอกจากเป็นเรือพระที่นั่งแล้ว ยังมีเรืออีกมากมายหลายชนิด ซึ่งมีลักษณะหน้าที่ต่างกันไป คือ

เรือดั้ง เป็นเรือทำหน้าที่ป้องกันกระบวนหน้า คำว่า “ดั้ง” หมายถึง “หน้า” เรือดั้งเป็นเรือที่มีส่วนหัวตั้งสูงงอนขึ้นไป เป็นเรือไม้ก็มี หรือเรือปิดทองก็มี

เรือพิฆาต เป็นเรือรูปสัตว์ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ทำหน้าที่นำกระบวนเรือเป็นอันดับแรก เรือพิฆาตแม้จะเป็นเรือรูปสัตว์เหมือนเรืออื่นๆ แต่เป็นเรือชั้นรอง จึงเขียนรูปด้วยสีธรรมดา ไม่ปิดทอง

เรือประตู เป็นเรือที่ใช้คั่นระหว่างกระบวนย่อย
เรือแซง เป็นเรือเล็กและเร็ว จัดเป็นเรืออารักขาพระมหากษัตริย์

เรือกัน เป็นเรือสำหรับป้องกันสัตรูมิให้จู่โจมมาถึงเรือพระที่นั่ง จึงใกล้ชิดยิ่งกว่าเรือแซง

เรือคู่ชัก เป็นเรือไชย หรือเรือรูปสัตว์ ทำหน้าที่ลากเรือพระที่นั่งซึ่งใหญ่และหนักมาก บางครั้งฝีพายไม่เพียงพอ เช่นน้ำเชี่ยว

เรือตำรวจ เป็นเรือพระตำรวจหรือข้าราชการในพระราชสำนักลงประจำ ทำหน้าที่เป็นองครักษ์

เรือรูปสัตว์ มีหัวเรือเป็นรูปศีรษะสัตว์ เรือเหล่านี้อาจเป็นเรือพิฆาต เรือเหล่าแสนยากร หรือเรือพระที่นั่งก็ได้ทั้งสิ้น สุดแต่ความโอ่อ่าของเรือ ซึ่งในสมัยต่างๆเคยมีเรือรูปสัตว์ดังต่อไปนี้คือ ราชสีห์ คชสีห์ ม้า เลียงผา นกอินทรี สิงโต มังกร นาค ครุฑ ปักษี หงส์ เหรา กระโห้ ฯลฯ

เรือกระบวนปิดทอง เป็นเรือที่มีหัวปิดทองเป็นรูปสัตว์ต่างๆ สวยงาม ในรัชกาลที่ ๑ เป็นเรือเอกไชยและเรือศีรษะสัตว์ทั้งสิ้น

เรือกลอง เป็นเรือสัญญาณที่ให้เรืออื่นหยุดพายหรือหยุดจ้ำ โดยใช้กลองเป็นสัญญาณ ต่อมาใช้แตรฝรั่งที่มีเดสียงดังไกลกว่าแทน แต่ยังคงเรียกว่าเรือกลองเหมือนเดิม

เรือพระราชพิธีชนิดต่างๆเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นเรือรบโบราณมาแต่อดีตเท่านั้น ยังมีคุณค่ายิ่งในด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีประวัติความเป็นมาของเรือสำคัญในพระราชพิธีนี้คือ

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลำแรกต่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีชื่อว่า “เรือศรีสุพรรณหงส์” ซึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีเรือพระที่นั่งชื่อ “สุวรรณหงส์” มาแล้ว มาถึงรัชกาลที่ ๖ เรือศรีสุพรรณหงส์ได้ผุพังไป จึงทรงโปรดให้ต่อเรือลำใหม่ใหญ่กว่าเดิม พระราชทานชื่อว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์”

เรือพระที่นั่งลำนี้โขนเรือเป็นรูปหงส์ จำหลักลายปิดทองประดับกระจก ภายนอกเรือทาสีดำ ท้องเรือภายในสีแดง มีความยาว ๔๖.๑๕ เมตร กว้าง ๓,๑๗ เมตร ลึก ๐.๙๔ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร กำลัง ๓.๕๐ เมตร หมายถึงฝีพายจ้ำครั้งหนึ่งเรือแล่นไปได้ ๓.๕๐ เมตร ใช้ฝีพาย ๕๐ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน และคนเห่เรือ ๑ คน

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณลำเดิม เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทเรือรูปสัตว์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า “เรือมงคลสุบรรณ” โขนเรือจำหลักไม้เป็นรูปพญาครุฑเพียงอย่างเดียว ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณเพื่อความสง่างามของลำเรือ และให้สอดคล้องกับคติพราหมณ์ที่ถือว่า พญาสุบรรณเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์ พระราชทานนามเรือใหม่ว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ”

ส่วนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ นี้ กองทัพเรือได้จัดสร้างขึ้นใหม่ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๕๐ ปี เพื่อนำมาใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินกระบวนพยุหยาตราชลมารค โขนเรือเป็นรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ สร้างด้วยไม้ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์และมงกุฎยอดชัย ทรงยืนเหนือหลังพญาครุฑ พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีน้ำเงินเข้ม มี ๔ กร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง ๔ คือ ตรีคทา จักร สังข์ ถูกต้องตามเทพลักษณะ มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ใต้ตัวครุฑ ลำเรือเป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจกตลอดลำเรือ ภายในเรือทาสีแดงชาด ยาว ๔๔,๓๐ เมตร กว้าง ๓.๒๐ เมตร กินน้ำลึก ๑.๑๐ เมตร กำลัง ๒๐ ตัน ฝีพาย ๕๐ คน และเพิ่มความสูงของโขนเรือขึ้นอีก ๕๐ เซนติเมตร เพื่อให้พระนารายณ์ทรงสุบรรณพร้อมทั้งช่วงปืนลอยเด่นรับกับท้ายเรือ

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือลำนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “เรือพระที่นั่งบัลลังก์นาค ๗ เศียร” สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ และสร้างใหม่แทนลำเก่าที่ผุพังไปในรัชกาลที่ ๖ โขนเรือเป็นรูปนาคราช ๗ เศียร ปิดทองประดับกระจก จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งเช่นเดียวกับเรือสุพรรณหงส์ ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ท้องเรือภายในทาสีแดง มีความยาว ๔๔.๘๕ เมตร กว้าง ๓.๑๗ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๔ เมตร กำลัง ๓.๐๒ เมตร ฝีพาย ๕๔ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนเห่เรือ ๑ คน

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ จัดเป็นเรือพระที่นั่งศรี โขนเรือทวนสูงจำหลักลายนาคเกี้ยวกระหวัดนับพันตัว ส่วนบนสลักรูปนาคจำแลง ๗ เศียร ปิดทองประดับกระจก ลำเรือตกแต่งด้วยลายจำหลักนาคเกี้ยวตลอดลำ ลำเรือทาสีชมพู ท้องเรือภายในทาสีแดง ยาว ๔๕.๖๗ เมตร กว้าง ๒.๙๑ เมตร กินน้ำลึก ๐.๙๑ เมตร กำลัง ๓.๕๐ เมตร ใช้ฝีพาย ๖๐ คน นายท้าย ๒ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน คนเห่เรือ ๑ คน

เรือเสือทะยานชล และ เรือเสือคำรณสินธุ์
เรือสองลำนี้เป็นเรือพิฆาต สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ หัวเรือเขียนเป็นรูปเสือ ลำเรือภายนอกทาสีเหลืองลายเสือ ภายในท้องเรือทาสีแดง ยาว ๒๒.๒๗ เมตร กว้าง ๑.๗๔ เมตร ลึก ๐.๕๗ เมตร กินน้ำลึก ๐.๒๕ เมตร กำลัง ๒.๔๕ เมตร ฝีพาย ๒๖ คน นายท้าย ๑ คน นายเรือ ๒ คน นั่งคฤห์กัญญา ๓ คน พลสัญญาณ ๑ คน มีปืนบรรจุปากกระบอก ๑ กระบอก

เรือเอกไชยเหินหาว และ เรือเอกไชยหลาวทอง
เรือสองลำนี้เป็นเรือคู่ชัก ใช้นำหน้า หรือชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ เรือทั้งสองเป็นเรือกระบวนปิดทองที่วาดลวดลายเป็นรูปเหรา หรือจระเข้ ว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นกัน มีความยาวลำละ ๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๒.๐๖ เมตร ใช้ฝีพายลำละ ๓๘ คนเท่ากัน

เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือครุฑเตร็จไตรจักร
เรือทั้งสองมีหัวเรือเป็นรูปครุฑยุดนาคเหมือนกัน จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง คาดว่าสร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ทั้งสองลำมีความยาวเท่ากัน คือ ๒๘.๕๘ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร ใช้ฝีพายลำละ ๓๔ คน
เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง

ทั้งสองลำหัวเรือเป็นรูปพญาวานร หรือขุนกระบี่ เรือพาลีรั้งทวีปเป็นขุนกระบี่สีเขียว เรือสุครีพครองเมืองเป็นขุนกระบี่สีแดง จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีความยาวลำละ ๒๗.๔๕ เมตร กว้าง ๑.๙๕ เมตร ใช้ฝีพายลำละ ๓๔ คน
เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ และ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร
หัวเรือทั้งสองลำนี้เป็นรูปพญาวานร หรือขุนกระบี่ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์เป็นขุนกระบี่สีดำ เรือกระบี่ปราบเมืองมารเป็นขุนกระบี่สีขาว จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีความยาว ๒๘.๘๕ เมตร กว้าง ๒.๑๐ เมตร ใช้ฝีพาย ๓๖ คน

เรืออสุรวายุภักตร์ และ เรือสุรปักษี
เป็นเรือกระบวนปิดทองที่คาดว่าสร้างมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นกัน หัวเรือเป็นรูปนกหน้ายักษ์ เรืออสุรวายุภักตร์ใส่เสื้อสีม่วง มือและเท้าเป็นสีคราม ส่วนอสุรปักษี ใส่เสื้อข้างหน้าสีม่วง ข้างหลังสีเขียว มือและเท้าเป็นสีเขียว ความยาว ๓๐ เมตร กว้าง ๒ เมตร ใช้ฝีพาย ๔๐ คน

เรือเหล่านี้เมื่อไม่ได้ใช้งานพระราชพิธีจะตั้งแสดงอยู่ที่อู่เรือหลวง ริมคลองบางกอกน้อย ตรงข้ามกับสถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และอาจเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวที่เก็บรักษาสิ่งที่ยังคงใช้งานอยู่ พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกจะเก็บเฉพาะโบราณวัตถุที่หมดสภาพการใช้งานไปแล้ว

ในวันที่ ๑๒ ธันวาคมนี่ี เราชาวไทยและชาวโลก ก็จะได้มีโอกาสตื่นตาตื่นใจกับความวิจิตรโอฬารของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค วัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ถูกรักษาไว้คู่กับแผ่นดินไทยตลอดมาอีกครั้ง

แต่ถ้าจะชมเรือพระราชพิธีนี้ให้ใกล้ชิด ก็ต้องที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ในเวลา ๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.ทุกวัน





กำลังโหลดความคิดเห็น