หลังจากที่ เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง นำเสนอเรื่องราวการขับแบบชิมลางของ “โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ร็อคโค่” รุ่นปรับโฉมใหม่ 2020 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รอบนี้ถึงคิวของการนำเสนอบทความการทดลองขับแบบเต็มๆ ทั้งวิ่งในเมืองและทางยาวๆ ออกต่างจังหวัด ครบถ้วนในทุกรูปแบบอย่างที่เราต้องการ ผลลัพธ์เป็นอย่างไรบ้างเชิญติดตาม
เจาะลึกจุดเปลี่ยนแปลง
หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในคราวนี้ที่เราเรียกว่า Big Minorchange เนื่องจากทุกหัวข้อใหญ่มีการปรับปรุงใหม่ แน่นอนว่าไม่ถึงกับพลิกโฉม แต่ชิ้นส่วนหลายจุดได้รับการเสริมและเพิ่มเติมเข้ามา โดยเฉพาะเครื่องยนต์มีการปรับปรุงใหม่ ซึ่งผลงานทั้งหมดในการปรับโฉมรอบนี้เป็นฝีมือของ ทีมวิศวกรชาวไทย ดังนั้นจึงน่าจะตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าชาวไทยที่สุด
เครื่องยนต์ทั้งรุ่น 2.4 และ 2.8 ลิตรนั้น แม้จะเป็นรหัสเดิม ( 2GD และ 1GD ตามลำดับ) แต่ได้รับการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนและออกแบบระบบใหม่ (แบบเดียวกับที่ ปอร์เช่ ทำกับเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 3.0 ลิตรของเขา) เพื่อให้ได้อัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น โดยจุดเปลี่ยนสำคัญคือ หัวฉีดชุดใหม่
โดยหัวฉีดแบบใหม่ นั้นมีชื่อว่า i-ART ซึ่งจะทำงานร่วมกับปั๊มคอมมอนเรลแรงดันสูง 250 Mpa ทำให้การฉีดน้ำมันมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลโดยตรงให้อัตราการบริโภคน้ำมันดีขึ้นตั้งแต่ 6-16% แตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่นย่อยและรองรับน้ำมันดีเซล B10-B20 ได้
สำหรับกำลังในรุ่น 2.4 ลิตรจะเท่าเดิม แต่รุ่น 2.8 ลิตรนั้น มีกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 204 แรงม้า ที่ 3,400 รอบ/นาที แรงบิดเพิ่มเป็น 500 นิวตันเมตร ที่ 1,600-2,800 รอบ/นาที อันเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนเทอร์โบแปรผันชุดใหม่ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น (เฉพาะรุ่น 2.8 ลิตรขับเคลื่อน 4 ล้อ) ขณะที่ระบบส่งกำลังยังเป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดชุดเดิมอยู่
ส่วนภายนอก ร็อคโค่ โฉมใหม่ถูกทำให้แตกต่างจากรุ่นธรรมดา ทั้งกระจังหน้า ไฟหน้าและไฟท้าย รวมถึงชุดแต่งรอบคันที่จัดมาให้เต็มครบถ้วน ไม่จำเป็นต้องใส่เพิ่มแต่ประการใด ล้อและยางขนาด 18 นิ้ว แบบตัวหนังสือสีขาวเฉพาะรุ่นร็อคโค่เท่านั้น
ช่วงล่างเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการปรับใหม่โดยเปลี่ยนมาใช้แหนบแบบนุ่ม 3 ชั้น มิใช่การเอาแหนบเดิมออกไป แต่เป็นการใช้แหนบชุดใหม่ที่ออกแบบพิเศษสำหรับรุ่นยกสูงและขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้นมาใช้งานแทน เพื่อหวังลดความแข็งกระด้างลง เนื่องจากรถประเภทนี้ไม่เน้นในเรื่องของการบรรทุกหนัก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้แหนบจำนวนมาก
ภายในห้องโดยสาร มีการปรับเปลี่ยนจุดใหญ่ 2 อย่างคือ หน้าปัดใหม่มาพร้อมจอแสดงผลขนาด 4.2 นิ้ว ที่มีข้อมูลการขับขี่ครบถ้วนมากขึ้นกว่าเดิม และหน้าจอความบันเทิงขนาด 8 นิ้วรองรับ Apple CarPlay อย่างเป็นทางการและใช้งาน Android Auto ได้ (รอการรับรองอย่างเป็นทางการจาก Google อยู่)
ระบบความปลอดภัย จัดเต็มด้วย Toyota Safety Sense ที่มีครบ ABS, EBD, BA, VSC, TRC, TSC,HAC, DAC, DSC, DRCC, PCS และ LDA พร้อมถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่ง หน้า 2 / ข้าง 2 / ม่าน 2 และหัวเข่า 1 ตำแหน่ง พร้อมด้วยกล้องมองหลังแสดงผลผ่านหน้าจอที่คอนโซลกลาง
นอกจากนั้นยังมีการอัพเกรดระบบ T-connect ใหม่ เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยมากกว่าเดิม โดยแอพพลิเคชันใหม่นี้ มีฟังก์ชันครบทั้งการระบุตำแหน่งที่ตั้งรถ การตามหากรณีรถหาย การกำหนดขอบเขตพื้นที่ใช้งานรถหากมีการขับออกนอกพื้นที่จะแจ้งเตือนเจ้าของทันที รวมถึงการมีผู้ช่วยส่วนตัวสามารถโทรหาได้ตลอดเวลา และบริการช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน เรียกว่าอุ่นใจได้โตโยต้าพร้อมดูแลตลอดเวลา
ช้าได้นุ่ม เร็วยังนิ่ง
สำหรับการขับขี่แค่เพียงได้รถมาลงถนนใหญ่ เรากดคันเร่งแบบคิกดาวน์ก่อนเป็นสิ่งแรก พร้อมกับการลองขับหาอัตราเร่งในหลายย่านความเร็ว ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก เร่งขึ้นเนียนดี ตอบสนองฉับไว ทันใจ เกียร์เปลี่ยนนุ่มนวล โดยเฉพาะการกดเร่งแซงจากความเร็ว 60 กม./ชม.ไปที่ความเร็ว 120 กม./ชม. มีแรงดึงหลังติดเบาะเบาๆ แต่บางจังหวะมีการรอรอบบ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของรถใช้เทอร์โบแบบนี้
การทรงตัวเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ร็อคโค่ ทำได้ประทับใจเกินกว่าที่คาดเอาไว้ เมื่อขับด้วยความเร็วสูงเกินกว่า 100 กม./ชม. โดยปกติทั่วไปรถที่เซ็ตช่วงล่างไว้นุ่มนวลมักจะมีอาการยวบย้วยออกมาให้รู้สึกได้ แต่ร็อคโค่ แม้วิ่งไปแตะที่ 140 กม./ชม. ยังค่อนข้างนิ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าเร็ว มีเพียงเสียงลมประทะและเสียงเครื่องยนต์ที่ดังเข้ามาทำให้เรารู้ว่า เริ่มเร็วแล้ว ควรลดความเร็วลง
จังหวะการเปลี่ยนเลน รถทรงตัวได้ดี แต่มีสิ่งสำคัญคือ คุณจะต้องปิดระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน(LDA) เนื่องจากระบบดังกล่าวจะมาพร้อมกับการหน่วงกลับอัตโนมัติ ซึ่งจะใช้วิธีการเบรกที่ล้อฝั่งตรงข้ามทิศทางที่จะไป แทนการดึงพวงมาลัยกลับ (เพราะเป็นพวงมาลัยแบบไฮดรอลิก ไม่ใช่ไฟฟ้าจึงไม่สามารถใช้ระบบไฟฟ้าในการสั่งการได้)
โดยการเบรกดังกล่าวจะทำให้จังหวะในการเปลี่ยนเลนและแซงนั้นสะดุดได้ แนะนำให้ปิดระบบนี้ แต่หากใช้งานไฟเลี้ยวแบบสม่ำเสมออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปิดระบบดังกล่าวได้ เนื่องจากเมื่อเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวระบบจะปิดการทำงานเองทันที อีกมุมหนึ่งถือว่าดี ช่วยดัดนิสัยการเปลี่ยนเลนไม่เปิดไฟเลี้ยวไปได้ในตัว
ทั้งนี้ ระบบ LDA มีประโยชน์อย่างยิ่งเวลาที่ต้
อีกหนึ่งตัวช่วยที่ต้องกล่าวถึ
สำหรับการขับขี่แบบถนนทั่วไปความเร็วกลางๆ รถให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวลาที่ขับผ่านหลุมหรือฝาท่อระบายน้ำ ช่วงล่างดูดซับแรงสะเทือนได้ดี ทั้งยังลดความรู้สึกกระด้างหรือกระเด้งเวลาขึ้นลงคอสะพานได้เช่นเดียวกัน นับว่าสิ่งที่โตโยต้า ปรับปรุงในรอบนี้ เห็นผลลัพธ์แบบสัมผัสได้ แน่นอนว่าอาจจะยังมีความรู้สึกเป็นรถปิกอัพอยู่บ้าง และเทียบความนุ่มกับรถเก๋งขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่เทียบกับเก๋งกลาง-เล็ก ได้สูสีแน่นอน
ส่วนพวงมาลัยที่โตโยต้าบอกว่ามีการปรับใหม่ เรารู้สึกว่าหากขับช้าหรือใช้งานในเมือง การหมุนจะหนักมือสักหน่อย แต่หากขับทางยาวๆ หรือถนนในต่างจังหวัดน้ำหนักพวงมาลัยจะพอดีมือ รวมถึงขนาดของตัวรถที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้ไม่คล่องตัวเวลาขับขี่ในเมือง โดยเฉพาะการเข้าที่จอดรถในตึกที่มีช่องจอดแคบ จะค่อนข้างกังวลใจไม่น้อย
ด้านอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงภาพรวมทั้งขับในเมืองรถติดๆ และวิ่งต่างจังหวัด ที่ใช้ความเร็วระดับ 100-120 กม./ชม.เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าขับใช้งานปกติในชีวิตจริง รวมระยะทางกว่า 400 กม. เราเห็นตัวเลขเฉลี่ยสุดท้าย 11.7 กม./ลิตร เทียบกับตัวเลขเคลมตามมาตรฐานอีโคสติกเกอร์ 13.5 กม./ลิตร ถือว่า ประทับใจ
เหมาะกับใคร
ด้วยคุณสมบัติดังที่กล่าวมาทั้งหมดกับค่าตัว 1,239,000 บาท ดูค่อนข้างสูง แต่โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ ร็อคโค่ ขับขี่ดีขึ้นในทุกด้าน เทียบส่วนต่างราคาปรับเพิ่มขึ้นมาจากโฉมก่อนราว 30,000 บาท บอกแบบชัดๆว่า คุ้มค่าแน่นอน โดยเฉพาะใครที่ต้องการรถใช้งานแบบซ่อมง่าย ทนทาน อะไหล่พร้อม บริการดี สมบุกสมบันลุยไปได้ทุกที่ไม่ว่าจะทุรกันดารขนาดไหน ตัวเลือกครบเครื่องแบบนี้มีไม่มาก และร็อคโค่ คือหนึ่งในรถที่เลือกแล้วไม่ผิดหวัง