กระแสตอบรับ หลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ “นิสสัน คิกส์” เรียกว่า ดีมากๆ ทั้งในภาพรวมของอุตสาหกรรมและผู้บริโภค โดยเฉพาะในหมู่ลูกค้าที่สนใจเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการปูทางสื่อสารการตลาดว่า นิสสัน คิกส์ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ที่ไม่ต้องชาร์จไฟ จึงจุดประกายความอยากรู้ได้อย่างง่ายดาย แต่ในมุมอีกด้านหนึ่งกลายเป็นการสร้างความสับสนได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ หลังการเปิดตัว จะมีการเชิญสื่อมวลชน เข้าร่วมทำการทดลองขับ ซึ่งทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ได้ตอบรับเข้าร่วมอย่างไม่รอช้า การขับคราวนี้จะเป็นการขับในสถานีจำลองสถานการณ์ต่างๆ แบบครบถ้วนอย่างที่อยากขับ ขาดไปเพียง การขับความเร็วสูงทางยาวๆ และอัตราการบริโภคน้ำมันเท่านั้นที่ไม่สามารถหาบทสรุปชัดเจนมานำเสนอได้
EV หรือ ไฮบริด
คำถามนี้ถ้าติดตาม เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง เป็นประจำคุณจะมีคำตอบในใจแล้ว แต่สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาชม เราขอสรุปสั้นๆ ดังนี้ ตามหลักวิชาการและเอกสารของภาครัฐระบุว่า นิสสัน คิกส์ คือ “ไฮบริด” (แบบซีรี่ส์) ด้วยหลักการทำงานที่ใช้เครื่องยนต์มาปั่นไฟให้มอเตอร์ขับเคลื่อน
ส่วนการเรียกว่า EV หรือรถยนต์ไฟฟ้านั้น เกิดจากฝ่ายการตลาดของนิสสันที่ต้องการสื่อสารให้ชัดเจนถึงคุณสมบัติของตัวรถ ที่ใช้มอเตอร์และระบบต่างๆ เหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง นิสสัน ลีฟ เพียงแค่มีแบตเตอรี่ขนาดเล็กกว่า และไม่ต้องหาที่ชาร์จไฟ โดยติดตั้งเครื่องยนต์มาทำหน้าที่ปั่นไฟให้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดทำงานได้
ฉะนั้นจะเรียกแบบไหน หรือเข้าใจอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่านผู้อ่านจะเป็นคนตัดสินใจเอง บรรทัดต่อจากนี้มาดูกันว่า เทคโนโลยีจากรถยนต์ไฟฟ้าที่กล่าวมานั้นมีอะไรบ้าง
เริ่มกันที่หัวใจของระบบขับเคลื่อน หยิบยกมอเตอร์ไฟฟ้า รหัส EM57 ตัวเดียวกับที่ใช้ในนิสสัน ลีฟ นำมาใช้งานโดยปรับพละกำลังให้เหมาะสมอยู่ที่ 129 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 260 นิวตันเมตร เรียกว่าเป็นรถที่มีแรงบิดสูงที่สุดในคลาสเดียวกัน ส่งกำลังด้วย Single Speed Gear Reduction หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ไม่มีเฟืองเกียร์ซับซ้อนหลายชิ้นแบบที่ใช้ในรถมีเครื่องยนต์ โดยเป็นการใช้เฟืองทดรอบชุดเดียวส่งกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าไปสู่เพลาขับ
ซึ่งห้องเกียร์นั้นจะเป็นระบบปิด ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ตลอดอายุการใช้งาน ตัดค่าบำรุงรักษาเกียร์ทิ้งได้เลย แบตเตอรี่เป็นแบบลิเทียม ไอออนขนาด 1.57 kWh ที่นิสสัน รับประกันยาวนานถึง 10 ปี หรือ 200,000 กม. ส่วนชุดแปลงไฟ (Inverter)และระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนทั้งหมดรับประกัน 5 ปี หรือ 100,000 กม.
สำหรับเครื่องยนต์เป็นแบบเบนซิน 3 สูบรหัส HR12DE ขนาด 1.2 ลิตร ตัวเดียวกับที่ใช้ในอีโคคาร์หลายรุ่น เช่น นิสสัน มาร์ช และนิสสัน โน๊ต เป็นต้น ตัวเลขพละกำลังและข้อมูลอื่นๆ ขออนุญาตไม่นำเสนอเพื่อลดความสับสนเนื่องจากเครื่องยนต์มีหน้าที่ปั่นไฟเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีส่วนใดๆ เชื่อมต่อกับการขับเคลื่อนตัวรถ
โดยหลักการทำงานคือ เครื่องยนต์ติดขึ้นเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าเมื่อแบตเตอรี่ลดต่ำถึงระดับ 40% และจะเติมกระแสไฟในแบตเตอรี่ได้สูงสุด 90% ส่วนเครื่องยนต์จะติดขึ้นเมื่อไรจะเป็นไปตามลักษณะของการใช้งาน หน้าที่หลักคือส่งกระแสไฟไปที่แบตเตอรี่ก่อนเสมอ แต่หากระบบพบว่ารถต้องการกำลังมากเป็นพิเศษ เมื่อใช้ไฟจากแบตเตอรี่แล้วไม่พอ เครื่องยนต์จะติดขึ้นปั่นกระแสไฟเพื่อเติมกำลังไฟให้เพียงพอกับความต้องการของมอเตอร์ในการขับเคลื่อน
สำหรับการออกแบบภายในดีไซน์ถือว่าสอบผ่าน ครบทั้งหน้าจอสัมผัส แอร์อัตโนมัติ พร้อมออปชันลูกเล่นหลายรายการ จะมีเพียงเรื่องของคุณภาพวัสดุที่เมื่อเรามองไปที่ราคาค่าตัวระดับ9แสน-1ล้านต้นๆ แล้วยังรู้สึกว่าน่าจะได้คุณภาพของพลาสติกที่ดีกว่านี้ หรือถ้าเปลี่ยนมาเป็นวัสดุประเภทอื่นได้จะดีเยี่ยม
ขับสนุก เหมาะขับในเมือง
การทดลองขับในรอบนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ต่างๆ หลายรูปแบบ โดยเริ่มจากการขับหาอัตราเร่ง บนเส้นทางตรง พบว่า เร่งดีทันใจ ไม่มีการรอรอบ เหยียบสุดเท้ารถพุ่งทะยานไปแบบที่ควรจะเป็น แถมมีแรงดึงเล็กน้อยไม่มากจนหลังติดเบาะ ได้ความรู้สึกแบบการขับรถยนต์ไฟฟ้าแท้ๆ ส่วนอัตราเร่งยังไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการมีเพียงตัวเลขที่จับเวลากันคร่าวๆ 0-100 กม./ชม. อยู่ที่ระดับ 8-9 วินาที นับว่าดีที่สุดในคลาสเดียวกัน
การขับช่วงแรกเป็นขับแบบรอบสนามใหญ่ได้ลองเข้าโค้งแรงๆ ลองเบรกหนักๆ พบว่า เป็นรถที่ขับสนุกตอบสนองทันใจ ช่วงล่างหนึบ เกาะถนนดีเกินกว่าที่คาดเอาไว้ โดยเฉพาะการเข้าโค้ง ทำได้ได้ประทับใจผู้เขียนที่ชอบช่วงล่างแบบแน่นๆ โยนตัวน้อย ดูดซับแรงสะเทือนได้ดีในระดับน่าชื่นชม ยกให้เป็นเบอร์ต้นๆ เมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน
พวงมาลัยเบามือ การบังคับควบคุมแม่นยำตามสไตล์พวงมาลัยไฟฟ้า น้ำหนักเหมาะกับการขับในเมือง และเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงหนักมือขึ้นแบบรู้สึกได้
สถานีสุดท้ายของรอบสนามนี้เป็นการหักหลบแบบหักซ้ายแล้วหักขวาในทันที เพื่อดูการโยนตัวของรถ รอบแรกเราขับที่ความเร็ว 50 กม./ชม. โยกซ้ายขวาแบบผ่านฉลุยง่ายดาย รอบที่สองเพิ่มความเร็วขึ้นเป็น 60 กม./ชม. รู้สึกถึงแรงเหวี่ยงที่เพิ่มขึ้นและต้องดึงพวงมาลัยไวกว่าเดิม รอบที่สาม เพิ่มเป็น 70 กม./ชม. รอบนี้ความสนุกมาทันที รถมีการโยนตัวแต่ไม่เสียการทรงตัว ดึงพวงมาลัยแก้อาการได้สบาย พร้อมกับได้ยินเสียงระบบช่วยควบคุมการทรงตัวทำงาน ทำให้เรายังอยู่ในช่องทางแบบอุ่นใจได้
จุดต่อไปเป็นสถานีของการหักหลบฉุกเฉิน และการขับแบบสลาลม เราขับลองตรงจุดนี้รวมๆ แล้วเกือบสิบรอบ โดยช่วงแรกเป็นพื้นผิวแห้ง และช่วงหลังเป็นพื้นผิวเปียกเนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักมาก (จึงทำให้ต้องหยุด เพื่อความปลอดภัย) ส่วนผลลัพธ์การขับแบบสรุปเข้าใจง่ายคือ การหักหลบฉุกเฉิน ที่ความเร็ว 70 กม./ชม. รถแทบไม่เสียการทรงตัว เรายังควบคุมได้ เพราะระบบเสริมความปลอดภัยที่ใส่เข้ามาให้นั้นทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ทั้งพื้นผิวแห้งและเปียก มั่นใจได้ และแน่นอนว่าตอนที่ขับพื้นผิวเปียกนั้นการยึดเกาะน้อยกว่า แต่ยังมั่นใจว่าเอาอยู่
ส่วนการขับแบบสลาลมความเร็วที่ทีมงานนิสสันแนะนำคือ 50 กม./ชม. เราขับตามนั้น คิกส์ทำผลงานได้ประทับใจอีกครั้ง ทั้งการทรงตัวและการเติมคันเร่งรักษาความเร็ว จังหวะต่างๆ ในการหักเลี้ยวเนียนดีจริง และเมื่อพ้นแนวออกมาจะมีพื้นที่สำหรับลองระบบเบรกได้ ซึ่งตรงจุดนี้เราได้ลองใช้งาน one pedal ด้วย
ระบบone pedal จะคล้ายคลึงกับ e pedal ในนิสสัน ลีฟ คือใช้เพียงแป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียวในการขับ โดยเมื่อถอนคันเร่ง รถจะมีแรงหน่วงมาเบรกให้ ซึ่งน้ำหนักในการหน่วงนั้นจะขึ้นกับโหมดในการขับขี่ โดยโหมดปกติ จะไม่มีแรงหน่วงเลย , โหมด อีโค(Eco) จะมีแรงหน่วงเยอะที่สุด รวมถึงมีการตัดกำลังขณะเร่งด้วย และโหมด เอส(Smart) จะมีแรงหน่วงปานกลาง แต่ไม่มีการตัดกำลังเวลาเร่ง
ซึ่งจากการลองขับทั้ง 3 โหมดในสนามแบบเปรียบเทียบกันรอบต่อรอบ เรารู้สึกประทับใจโหมดเอสที่สุด ได้ทั้งอัตราเร่งที่ดีและการเบรกโดยใช้แป้นคันเร่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะมีส่วนในเรื่องของอัตราการบริโภคน้ำมันที่ดีกว่าโหมดปกติอีกด้วย ดังนั้นถ้าถามเราว่าขับโหมดใดดีที่สุด เราจะแนะนำให้ใช้ โหมดเอส
สำหรับอัตราการบริโภคน้ำมัน ไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างเป็นทางการ มีเพียงการบอกเล่าจากทีมงานนิสสันว่า ภายใต้การขับขี่แบบที่กล่าวมาข้างต้นที่เหยียบกันอย่างไม่ยั้งในสนามนั้น ตัวเลขคร่าวๆคือ 8-9 กม./ลิตร ส่วนตัวเลขเคลมตามมาตรฐานอีโคสติกเกอร์คือ 23.8 กม./ลิตร
ทั้งนี้ ตัวเลขอัตราการบริโภคน้ำมันแบบขับขี่ในเมืองจะประหยัดกว่าขับขี่ทางยาวๆ นอกเมือง สอดรับกับลักษณะทางวิศวกรรมที่นิสสันออกแบบมาให้ คิกส์ นั้นจะมีการสะสมพลังงานกลับคืนเมื่อเกิดการเบรก ดังนั้นการขับขี่ในเมืองจึงสามารถสร้างพลังงานไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบได้มากกว่าการขับขี่แบบทางยาวที่มีการเบรกน้อยนั่นเอง
ส่วนการขับแบบปกติทั่วไปในชีวิตประจำวันเราขอติดเอาไว้ หากได้ลองขับจริงๆจังๆ อีกครั้งจะมานำเสนอ
เหมาะกับใคร
โดดเด่นที่สุดในแง่ของสมรรถนะเมื่อเทียบกับรถในคลาสเดียวกัน เหมาะกับการใช้งานในเมือง ตัวรถไม่ใหญ่จนเกินไป ช่วงล่างแน่น เบาะหลังนั่งสบาย ขับง่ายคล่องตัว ใครก็ตามที่อยากสัมผัสถึงสมรรถนะของรถยนต์ไฟฟ้าว่าเป็นอย่างไรแต่ติดปัญหาคือไม่สามารถหาที่ชาร์จไฟได้ “นิสสัน คิกส์” คือคำตอบของคุณ