หลังการเปิดตัวมาของ นิสสัน คิกส์ (Nissan Kicks) สร้างกระแสตื่นตัวในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยได้ไม่น้อย ด้วยการชูเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้านำหน้า แต่กลับเกิดกระแสที่มีข้อสงสัยและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่หลายประเด็น
ดังนั้นเพื่อความกระจ่างและลดความสับสน ทีมงาน เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง จึงนำทั้ง 3 รถยนต์ในเซกเมนท์นี้ได้แก่ นิสสัน คิกส์, โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด (Toyota C-hr) และ เอ็มจี แซดเอส อีวี (MG ZS EV) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มีระบบไฟฟ้าเกี่ยวเนื่องการขับเคลื่อนเข้ามาเปรียบเทียบสเปคกัน เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างว่าเป็นอย่างไรบ้าง
จำแนกตามหลักวิชาการ
อาศัยการอ้างอิงจากบทเรียนด้านวิชาการซึ่งเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างทั้งจากเวปไซต์ด้านยานยนต์และสารานุกรม รถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวเนื่องในการขับเคลื่อนทุกชนิดนั้นจะถูกรวมเรียกกันว่า EV (Electrified Vehicle)
ทั้งนี้จะมีการจำแนกประเภทย่อยไปตามแหล่งพลังงานและลักษณะการขับเคลื่อน ได้แก่ BEV รถไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่, HEV รถไฮบริด, PHEV รถปลั๊กอินไฮบริด และ FCV รถพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (รายละเอียดดูตารางประกอบ) โดยรถแบบไฮบริด มีการจำแนกย่อยลงไปอีก 3 ประเภท คือ แบบซีรี่ส์ (Series), แบบขนาน (Parallel) และแบบผสม (Series&Parallel)
สำหรับ เอ็มจี แซดเอส อีวี นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่ ซึ่งต้องใช้การชาร์จไฟฟ้าจากภายนอก ขณะที่ โตโยต้า ซี-เอ็ชอาร์ เป็นรถไฮบริดแบบผสม ส่วนนิสสัน คิกส์ เมื่อพิจารณาตามรูปแบบวิชาการแล้วคือ ไฮบริด แบบซี่รี่ส์ ที่ใช้เครื่องยนต์มาปั่นไฟเพื่อให้มอเตอร์ขับเคลื่อน เมื่อเป็นดังนี้แล้วเกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันได้อย่างไร
เนื่องจากนิสสัน เรียกเทคโนโลยีนี้ว่า อี-พาวเวอร์ (e-Power) ไม่ใช้คำว่า ไฮบริด และมีการสื่อสารการตลาดออกไปว่า เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ต้องชาร์จไฟ ซึ่งถือว่าไม่ผิดแต่ประการใด
เพราะถ้ามองจากมุมของการหยิบเอาเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าของนิสสัน ลีฟ มาใช้งาน แล้วติดตั้งเครื่องยนต์เพื่อปั่นไฟแทนการชาร์จไฟจากภายนอก ซึ่งก็จะคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าที่มี Range Extender แต่ต่างตรงที่รถยนต์ไฟฟ้าที่มี Range Extender นั้นใช้การชาร์จไฟจากภายนอกเป็นหลักในการขับเคลื่อน
ถ้าอ้างอิงจากภาครัฐผ่าน อีโค สติกเกอร์ จะระบุว่า นิสสัน คิกส์ เป็นรถยนต์ไฮบริด และเสียภาษีในพิกัด 4% เช่นเดียวกับรถยนต์ไฮบริดรุ่นอื่นๆ ดังนั้นตรงจุดนี้จึงน่าจะได้ข้อยุติคือ แล้วแต่ว่าคุณจะเรียกอย่างไร
เจาะเทคโนโลยี
มองไปเรื่องหัวใจของการขับเคลื่อนคือ มอเตอร์ไฟฟ้า หัวข้อนี้ เอ็มจี แซดเอส จะถือว่ามีกำลังมากที่สุดที่ 150 แรงม้า หรือ 110 กิโลวัตต์ (ดูตารางประกอบ) คิกส์มีกำลัง 129 แรงม้า (95 กิโลวัตต์) และโตโยต้าจะมีกำลังจากมอเตอร์น้อยที่สุด 53 กิโลวัตต์ แต่โตโยต้าจะใช้การขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์เป็นหลักในการขับขี่มากกว่าการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นไฮบริดแบบผสม
จุดเด่นในแง่ของการขับเคลื่อนของ เอ็มจี แซดเอส อีวี ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า100% ทำให้ทั้งอัตราเร่งและการตอบสนองดีเยี่ยม แต่จะมีข้อกังวลในเรื่องของการชาร์จที่ใช้เวลานานและหาจุดชาร์จยากในช่วงเวลานี้ ต่างจากโตโยต้า ที่จะมีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ในการออกตัวและจะเข้ามาเสริมเมื่อรถต้องการกำลังในจังหวะเร่งแซง โดยหัวใจสำคัญของระบบไฮบริดของโตโยต้ามีไว้เพื่อการประหยัดน้ำมัน และคงไว้ซึ่งการขับขี่ที่ดี
ขณะที่นิสสัน คิกส์ การขับเคลื่อนนั้นจะได้อัตราเร่งและการตอบสนองแบบเดียวกับรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน 100% แต่จะแตกต่างตรงที่มีเครื่องยนต์ ซึ่งจะติดขึ้นมาเพื่อปั่นกระแสไฟโดยไม่เกี่ยวกับระบบการขับเคลื่อนแต่อย่างใด เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของการรอชาร์จไฟนานและหาที่ชาร์จไฟไม่ได้ของรถยนต์ไฟฟ้าชนิดBEV
ประเด็นเรื่องของแบตเตอรี่นั้น ในมุมเทคโนโลยี โตโยต้า ยังคงใช้งานแบตเตอรี่แบบ นิกเกิล เมทัล ไฮดราย ขนาด 1.3 kWh มีข้อดีคือทนทาน แต่เก็บไฟได้น้อยและมีขนาดใหญ่ อยู่ส่วนอีก 2 แบรนด์นั้นใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมไออน ที่เด่นในเรื่องของขนาดเล็กและเก็บไฟได้มากกว่า โดยเอ็มจี ใช้แบตขนาด 44.5 kWh และนิสสันมีขนาด 1.57 kWh
สำหรับหลักการทำงานของแบตเตอรี่จะแตกต่างกัน โดยเอ็มจีจะชาร์จได้เต็ม100%และใช้จนหมดได้จนเหลือถึงระดับค่าความปลอดภัยที่วิศวกรจะซ่อนเอาไว้เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแบตเตอรี่
ส่วนระบบไฮบริดโตโยต้า จะชาร์จไฟได้มากสุด 75% และจะชาร์จเมื่อเหลือไฟฟ้าในแบตเตอรี่25% ขณะที่นิสสัน คิกส์ จะชาร์จได้มากสุด 90% และจะชาร์จเมื่อไฟฟ้าเหลือในแบตเตอรี่ 40%โดยเป็นการคำนวณของระบบที่เราไม่สามารถกำหนดได้ ซึ่งลักษณะการชาร์จจะเป็นแบบเดียวกันคือ ใช้กำลังของเครื่องยนต์มาปั่นกระแสไฟ
ทั้งนี้ทุกคันมีระบบการชาร์จเมื่อปล่อยคันเร่งหรือเหยียบเบรกเพื่อเก็บสะสมไฟฟ้าเอาไว้ใช้งาน โดยสามารถเลือกระดับความหน่วงของการชาร์จได้
ระบบส่งกำลัง เอ็มจี แซดเอส อีวี และนิสสัน คิกส์ เป็นเกียร์แบบอัตราทดเดียวเพราะใช้มอเตอร์ในการขับเคลื่อน ส่วนโตโยต้า ซี-เอชอาร์ นั้นเป็นเกียร์แบบ ECVT เพราะยังต้องใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อน ซึ่งในแง่ของการตอบสนองจะช้ากว่าตามบุคลิกของเกียร์
การรับประกันแบตเตอรี่และระบบไฟฟ้านั้นยกให้ โตโยต้า ด้วยเงื่อนไขไม่จำกัดระยะทาง โดยระยะเวลาการรับประกันนั้นเท่ากับนิสสัน คิกส์ คือระบบไฟฟ้า 5 ปี และแบตเตอรี่ 10 ปี
ค่าใช้จ่าย
หัวใจสำคัญของการถือกำเนิดรถยนต์ไฟฟ้าคงเป็นเรื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นทำให้เราต้องตะหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า และปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยมลพิษที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในการทำให้รถยนต์ไฟฟ้าถูกเร่งพัฒนาให้ออกสู่ท้องตลาดมากยิ่งขึ้น
เมื่อหันไปดูในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่อหนึ่งกิโลเมตร คำนวณตามมาตรฐานของอีโคสติกเกอร์ จะเห็นได้ว่า เอ็มจี แซดเอส นั้นมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด และยังปล่อยมลพิษน้อยที่สุดด้วย เพราะไม่ปล่อยมลพิษจากปลายท่อไอเสียเลย ขณะที่ตัวเลขไอเสียของอีก 2 แบรนด์ที่เหลือนั้น อยู่ในระดับต่ำเทียบเท่ากับรถอีโคคาร์
ค่าบำรุงรักษา เอ็มจี แซดเอส อีวี จะต่ำที่สุด เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และตัดเรื่องการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ทิ้งไปทั้งหมด
ถึงบรรทัดนี้ รถทั้ง 3 รุ่นต่างมีราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ลักษณะของเทคโนโลยีนั้นแตกต่างกัน จุดเด่น จุดดับคนละด้าน ขึ้นกับว่าลักษณะการใช้งานของคุณต้องการรถแบบไหน
ถ้าชอบไฟฟ้าแบบไม่ห่วงการชาร์จ เน้นใช้งานในเมือง เลือก เอ็มจี แซดเอส อีวี ส่วนถ้าต้องออกต่างจังหวัดบ่อยเดินทางไกลๆ แต่ยังอยากใช้รถที่มีระบบไฟฟ้า โตโยต้า ซี-เอชอาร์ น่าจะเป็นคำตอบที่โดนใจ ส่วนนิสสัน คิกส์ ตอบโจทย์คนที่ใช้งานในเมืองเป็นหลัก เดินทางไกลได้ โดยได้ความรู้สึกการขับขี่แบบรถไฟฟ้า100% เลือกรถตามลักษณะการใช้งานแล้วคุณจะไม่ผิดหวังหลังตัดสินใจ