xs
xsm
sm
md
lg

ใจหาย ! ตลาดรถเดือนมี.ค.ตก 41.7 % รถอเนกประสงค์หนักสุด 56.6 % เหตุจากโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตลาดรถยนต์เมืองไทยวิกฤตหนักจากพิษโควิด-19 ผู้บริโภคไม่มีอารมณ์ซื้อรถ หวั่นติดเชื้อ ส่งยอดขายรถเดือนมีนาคม รวมทั้งตลาดติดลบ 41.7 % เซกเมนท์รถยนต์นั่งและรถอเนกประสงค์หนักสุด 48.3 % และ 56.6 % ตามลำดับ จับตาเดือนเมษายน ตัวเลขจะดิ่งลงไปอีกเท่าไร





นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนมีนาคม 2563 มียอดการขายรวมทั้งสิ้น 60,105 คัน ลดลง 41.7% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 20,698 คัน ลดลง 48.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 39,407 คัน ลดลง 37.6% ขณะที่ รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 30,296 คัน ลดลง 41.8%













ตลาดรถยนต์เดือนมีนาคมมีปริมาณการขาย 60,105 คัน ลดลง 41.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 48.3% และตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 37.6% สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ด้วยหลายเหตุปัจจัยทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความสนใจในการซื้อรถใหม่จึงชะลอตัว และผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย




ส่วนตลาดรถยนต์สะสม 3 เดือน มีปริมาณการขาย 200,064 คัน ลดลง 24.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 23.6% ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตลดลง 24.4% เป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ช่วง 3.4 เดือนที่ผ่านมา









เอ็มจีอาร์ มอเตอริ่ง ลองมาดูตัวเลขแต่ละค่ายที่เห็นอาการหนักน่าจะเป็นค่ายโตโยต้า เพราะทุกเซกเมนท์ตัวเลขติดลบค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเดือนมีนาคมเทียบปี 63 กับปี 62 ยอดขายติดลบเกือบ 50 % คือ 48.9 % ตลาดรถยนต์นั่งติดลบไป 55.6 % ขณะที่รถปิกอัพติดลบ 41.6 % ส่วนรถพีพีวี เจอติดลบ 69.7 % เยอะสุด และหากมาดู 3 เดือน ม.ค.-มี.ค. เทียบกับปีที่ผ่านมา ติดลบไป 34.9 % แต่ค่ายที่ตัวเลขติดลบสูงสุดคือ ฟอร์ด 49.7 % แถมเดือนมีนาคม ค่ายฟอร์ด ยังติดลบมากสุดเช่นกัน 60.5 %




ด้านตลาดรถยนต์นั่งช่วงเดือนมีนาคม เทียบกับปีที่ผ่านมา ค่ายที่มีตัวเลขติดลบมากสุดคือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 69.5 % หากไม่รวมแบรนด์เล็กอย่าง วอลโว่และฟอร์ด รองลงมาเป็นเอ็มจีลบ 59.2 % บีเอ็มดับเบิลยูลบ 55.9 % แต่ถ้ามาดูช่วง 3 เดือนเทียบกับปีที่ผ่านมา ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ยังมีค่ายที่มีตัวเลขเป็นบวกเช่นกัน คือ ฮอนด้าบวก 6.4 % และอีกค่าย ซูซูกิ บวก 13.9 %









สำหรับตลาดปิกอัพนั้นแดงทั้งกระดาน แต่ค่ายที่ติดลบน้อยสุดคือ อีซูซุ 3 เดือนเทียบกัน ติดลบแค่ 2.5 % แต่ถ้าเฉพาะเดือนมีนาคมเดือนเดียวเทียบปีที่ผ่านมาติดลบ 19.7 % ส่วนค่ายที่ติดลบมากสุดเป็นเชฟโรเลตที่ประกาศยุติทำตลาดในไทยไปเมื่อต้นปี ลบ 77.7 % ยกเว้น ทาทา ที่ปกติขายได้น้อยอยู่แล้ว รองลงมาเป็นมาสด้า ซึ่งค่ายนี้กำลังรอเปิดตัวโฉมใหม่ที่ร่วมพัฒนากับอีซูซุปลายปีนี้ ตัวเลขเดือนมีนาคมติดลบ 72.7% จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ส่วนฟอร์ดนั้นเคยทำตัวเลขได้ดี แต่ครั้งนี้ติดลบถึง 63.7 % ส่วนตลาดรถอเนกประสงค์ พีพีวี ยอดเดือนมีนาคม เทียบกับปีที่ผ่านมา โตโยต้าติดลบถึง 69.7 % รองลงมาเป็นนิสสัน 63.1 % มิตซูบิชิ 49.3 % และ อีซูซุ 49.0 %












ถึงบรรทัดนี้ก็ต้องบอกว่า ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ยอดตกชนิดค่ายรถต้องกุมขมับ แต่อย่างไรก็ตามค่ายรถยนต์กำลังพยายามหามาตรการต่่าง ๆ ออกมาเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการนำเสนอผลิตภัณฑ์และกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ต้องดูตัวเลขในเดือนถัดไป





ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในเดือนเมษายนยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดและรอลุ้นว่าสถานการณ์จะติดลบไปมากกว่านี้หรือไม่อย่างไร เพราะช่วงเดือนเมษายน เป็นเวลาช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคุมโควิด-19 มีมาตรการออกมาหลากหลาย เช่นปิดห้าง ปิดร้านอาหาร ปิดสนามบิน เป็นต้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถของเดือนนี้เต็ม ๆ









กำลังโหลดความคิดเห็น