เรียกว่ายังคงเป็นเซกเมนต์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยสำหรับ รถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก หรือ B SUV ซึ่งการจำแนกรถในตลาดนี้จะอาศัยขนาดของตัวถังและราคาเป็นหลักในการเปรียบเทียบเนื่องด้วยเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ที่ก้าวหน้าไปอย่างมากของยุคปัจจุบัน ทำให้รถยนต์แต่ละยี่ห้อมีความหลากหลายด้านขนาดความจุของกระบอกสูบ และขออนุญาตตัดส่วนของรถที่มีระบบไฟฟ้าเกี่ยวเนื่องออกไปเหลือเพียงรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเท่านั้น
สำหรับรถที่อยู่ในเซกเมนต์ B-SUV ที่เรานำมาเปรียบเทียบในคราวนี้จึงประกอบไปด้วย เอ็มจี แซดเอส, ฮอนด้า เอชอาร์-วี, โตโยต้า ซี-เอชอาร์, ซูบารุ เอกซ์วี และ มาสด้า ซีเอ็กซ์-30
ทั้งนี้ความคึกคักของ B-SUV เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวใหม่ของ มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 ที่ได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาดท่ามกลางภาวะวิกฤตไวรัส โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ในเร็ววัน ด้วยยอดจองหลังการเปิดตัวถึงกว่า 2,000 คันในเวลาเพียงไม่ถึงสองสัปดาห์ นับว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม
ขณะเดียวกัน ผู้นำตลาดอย่าง เอ็มจี แซดเอส ที่สามารถก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งรถที่ขายดีที่สุดในเซกเมนต์ พร้อมกับนำพาให้เอ็มจีมียอดขายเติบโตอย่างเป็นกอบเป็นกำได้อีกด้วย ถึงเวลาขยับปรับเปลี่ยนโฉมแบบไมเนอร์เชนจ์ แต่แม้จะไม่ใช่การปรับใหญ่แต่มีหลายฟังก์ชันปรับเปลี่ยนชนิดที่นิยามได้ว่าของมันต้องโดน พร้อมกับราคาที่ขยับขึ้นมาเพียง 10,000 บาทต่อรุ่นเท่านั้น เรียกว่าเป็นความเคลื่อนไหวของ 2 รุ่นที่น่าจับตาซึ่งเราจะนำมาเปรียบเทียบเป็นหลักในคราวนี้
เริ่มกันที่มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 เรียกว่าเป็นความสดใหม่ล่าสุดของวงการยานยนต์ โดยมีที่มาจาก มาสด้า 3 ซึ่งแต่เดิมได้รับการคาดหมายว่าจะมาทำตลาดแทน มาสด้า ซีเอ็กซ์-3 แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ซีเอ็กซ์-3 ยังคงทำตลาดควบคู่กันต่อไป โดยมาสด้า ซีเอ็กซ์-30 นั้น เป็นรถรุ่นที่สองของรถในเจเนอเรชันที่ 7 ของมาสด้าที่พัฒนารถออกมา
นอกจากความสดใหม่ที่สุดแล้ว มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 ยังมาพร้อมกับจุดเด่นในเรื่องของระบบความปลอดภัยที่ใส่มาให้อย่างครบครัน โดยมีระบบที่เด่นที่สุดเหนือกว่ารุ่นอื่นๆ ได้แก่ ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS (Lane-keep Assist System) ที่ยังไม่มีรถรุ่นใดในเซกเมนต์นี้มีระบบที่ว่านี้ หันไปมองในส่วนของพละกำลัง มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 มาเป็นอันดับ 1 ด้วยพิกัดกำลัง 165 แรงม้า และแรงบิด 213 นิวตันเมตร จากเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.0 ลิตร ส่วนเอ็มจี แซดเอส จะมีกำลังน้อยที่สุด จากการเลือกคบหากับเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่สุดในคลาสที่ 1.5 ลิตรเทอร์โบ (ดูตารางประกอบ)
สำหรับอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ตามมาตรฐานการวัดเดียวกันของอีโคสติกเกอร์ โดยภาพรวมถือว่าใกล้เคียงกันห่างกันเพียงเล็กน้อย ฮอนด้า เอชอาร์-วี ประหยัดที่สุดด้วยตัวเลข 15.9 กม./ลิตร และซูบารุ เอ็กซ์วี ประหยัดน้อยสุดด้วยตัวเลข 14.3 กม./ลิตร ซึ่งมีเหตุผลมาจากการใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อตลอดเวลา ต่างจากคู่แข่งที่เหลือซึ่งใช้ระบบการขับเคลื่อน 2 ล้อหน้าเหมือนกันหมด ด้านระบบส่งกำลัง มีเพียง มาสด้า ซีเอ็กซ์-30 เท่านั้นที่ใช้เกียร์อัตโนมัติระบบทอร์คคอนเวิร์ดเทอร์ 6 สปีด ส่วนคู่แข่งที่เหลือจะใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ ซีวีที แต่จะแตกต่างในเรื่องของระบบการทำงานตามเทคโนโลยีของแต่ละค่าย และการบำรุงดูแลรักษา
ขณะที่ระบบช่วงล่างด้านหน้าจะเหมือนกันคือ เป็นแบบแม็กเฟอร์สันสตรัท ส่วนช่วงล่างด้านหลังจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ ทอร์ชันบีม (คานแข็ง) และดับเบิลวิชโบน (ปีกนกคู่) โดยระบบเบรกของทุกคันเป็น ดิสก์เบรก สี่ล้อทั้งสิ้น เช่นเดียวกับระบบความปลอดภัยมาตรฐานอย่าง ABS, BA, EBD ทุกคันจะมีติดตั้งเป็นพื้นฐานของทุกรุ่นย่อย ส่วนระบบเสริมความปลอดภัยแบบเทพนั้นจะมีเฉพาะรุ่นท็อปเท่านั้น
ส่วนของการรับประกันด้านระยะทาง เอ็มจี แซดเอส ให้มากที่สุดคือ 4 ปี หรือ 120,000 กม. และ ซูบารุ เอ็กซ์วี จะให้มากสุดในแง่ของระยะเวลาคือ 5 ปี หรือ 100,000 กม.
อีกหนึ่งปัจจัยที่ถือว่าน่าจะสำคัญที่สุดในใจใครหลายๆ คนนั่นคือ ราคา เมื่อหันไปมองเราจะเห็น เอ็มจี แซดเอส มีความโดดเด่นที่สุด ด้วยราคาค่าตัวที่เบากว่าใครเพื่อนในระดับ 3-4 แสนบาทต่อรุ่น ขณะที่ออปชันต่างๆ ที่ให้มาไม่ได้น้อยหน้าแต่อย่างใด ยิ่งโฉมไมเนอร์เชนจ์ที่ออกมาใหม่ล่าสุดนั้น มีการปรับเพิ่มออปชันอีกหลายรายการดังนั้นหากมองในมุมความคุ้มค่าต่อราคาเป็นหลัก เอ็มจี แซดเอส เป็นคำตอบที่ใช่ และสิ่งนี้คือเหตุผลที่ทำให้ แซดเอส สามารถขึ้นมายืนในตำแหน่งรถที่ขายดีที่สุดของเซกเมนต์ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นรายอื่นๆในตลาด ต่างมีความเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ไล่เรียงตั้งแต่ ฮอนด้า เอชอาร์-วี ที่แม้ปีนี้จะเป็นปลายอายุการทำตลาด ดังนั้นจึงต้องมีการขยับเพิ่มออปชันมาช่วยกระตุ้นยอดขาย ก่อนที่ปีหน้าจะเป็นคิวของการขยับปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ตามอายุโมเดลที่เข้าสู่ปีที่ 6 โดยมีกระแสข่าวเกี่ยวกับโมเดลใหม่ของฮอนด้า วีเซล (Vezel) คู่แฝดของเอชอาร์-วี ที่ทำตลาดในญี่ปุ่นเริ่มหลุดออกมาบ้างแล้ว
ส่วนพี่ใหญ่อย่าง โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ที่เริ่มต้นด้วยการออกรุ่นพิเศษแบบลิมิเต็ด อิดิชัน โดยเป็นการจับมือกับดีไซเนอร์ระดับโลก Karl Lagerfeld นำเอา ซี-เอชอาร์ ตัวท็อปสุด HV Hi เฉพาะไฮบริด มาตกแต่งพิเศษพร้อมจำหน่ายแบบจำนวนจำกัด ที่ราคา 1,219,000 บาท
อีกหนึ่งแบรนด์ที่ลืมไม่ได้คือ ซูบารุ เอ็กซ์วี ที่โดดเด่นกว่าใครด้วยการเป็นรถเพียงคันเดียวในเซกเมนต์นี้ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อตลอดเวลา เรียกว่า หากธงแรกในการเลือกคบหาคือต้องการรถขับเคลื่อน 4 ล้อแล้ว ซูบารุ เอ็กซ์วี จะเป็นคำตอบเดียวของคุณในทันที โดยไม่จำเป็นต้องมองคันอื่นให้เสียเวลา ส่วนการกระตุ้นตลาดคาดว่า จะมีรุ่นพิเศษออกมาตามเทรนด์นิยมอย่างไม่ต้องสงสัย
เหนืออื่นใด ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่สุด ที่กำลังจะเปิดตัวร่วมชิงเค้กในเซกเมนต์นี้ด้วย เริ่มที่ “นิสสัน” เตรียมที่จะเปิดตัว
“คิกส์” (Kicks) โดยแผนแรกกำหนดเปิดตัวในวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งรุ่นที่พร้อมจะเปิดตัวแล้ว “เปอโยต์ 2008” โดยแรกเริ่มมีการวางแพลนเปิดตัวเอาไว้ในงานมอเตอร์โชว์ช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่เมื่อมอเตอร์โชว์เลื่อนออกไป การเปิดตัวของ เปอโยต์ 2008 จึงต้องเลื่อนออกไปโดยยังไม่สามารถระบุเวลาการเปิดตัวที่แน่นอนได้
ถึงบรรทัดนี้ ตลาดรถยนต์ไทย น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไม่ต้องสงสัย ส่งผลให้อารมณ์ในการออกรถยนต์ใหม่ของผู้บริโภคหายไป และคงต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่าจะฟื้นตัวได้ ดังนั้น เวลานี้พวกเราทำได้เพียงเอาใจช่วยทุกคน ด้วยการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แล้วเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง จึงค่อยมาตัดสินใจกันอีกครั้งก็ยังไม่สาย